เหมืองทองเลยขวางร่วมประชาพิจารณ์ เจอ‘ไซยาไนด์’ปนเปื้อน-ป่วยทั่วหมู่บ้าน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 13 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2819 ครั้ง

ภาพข่าวการปะทะกันระหว่างนักศึกษา ที่เดินทางมาเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตประทานบัตรขยายเหมืองทองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในแปลงที่ 76/2539 บริเวณวัดโพนทอง บ้านหัวนา ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่เหมืองทองแห่งใหม่ ที่ต.นาโป่ง เผยแพร่ตามสื่อเมื่อหลายวันที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นเล็ก ๆ ของการชุมนุมกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคมมากนัก หากเทียบกับการชุมนุมในเชิงเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นมากมายในขณะนี้ หากแต่ความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่เล็ก ๆ นี้กลับไม่ได้แตกต่างจากความเดือดร้อนของการชุมนุมอื่น ๆ หรืออาจจะดูว่ามากกว่า เพราะเป็นความเดือดร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่โดยตรง

การเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่จ.เลย ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องแล้ว เพื่อคัดค้านการเข้ามาทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ของ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ที่เข้ามาดำเนินการในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2549 ที่ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยมีโรงประกอบโลหะกรรม ซึ่งมีบ่อเก็บกักหางแร่ที่มีไซยาไนด์ ตั้งอยู่บนภูทับฟ้า และหากมีการขยายการทำเหมืองทองคำของบริษัทฯ ในจ.เลยหรือใกล้เคียง (เช่นแปลง 76/2539 ในต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย) ก็จะนำสินแร่มาเข้าโรงประกอบโลหะกรรมที่ภูทับฟ้า

ไม่แก้ไขสารพิษปนเปื้อน แต่เตรียมขยายพื้นที่อีก

การดำเนินกิจการเหมืองแร่ที่มีส่วนประกอบของโลหะหนักดังกล่าว กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ชาวบ้านเชื่อว่าส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของพวกเขาเป็นอย่างมาก เพราะสารพิษจำนวนมากรั่วไหลปนเปื้อนลงไปในสิ่งแวดล้อม แหล่งอาหาร จนกระทั่งเข้าสู่ร่างกายชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอยู่ในละแวกใกล้เคียง ในชุมชนอย่างน้อย 6 หมู่บ้านรอบเหมือง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง กระทั่งมีการรวมตัวคัดค้านการดำเนินธุรกิจเหมืองทองคำดังกล่าว ต่อต้านเรียกร้องให้บริษัทฯ ยุติการดำเนินกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่าบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กลับเดินหน้าในการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่อขอขยายพื้นที่ทำเหมืองทองต่อไปอีก โดยกำลังดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตประทานบัตร ที่จะขยายเหมืองทองดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ที่บริเวณวัดโพนทอง บ้านหัวนา ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน โดยไม่อนุญาตให้กลุ่มผู้คัดค้านเข้าร่วมเวที

ระบุครม.สั่งให้ตรวจสอบสารพิษแต่หน่วยงานรัฐไม่ทำตาม

จากข้อมูลของกลุ่มผู้คัดค้านระบุว่า แม้ว่าตลอดการเปิดทำเหมืองทอง จะไม่มีรายงานสาเหตุการปนเปื้อนของสารพิษในพื้นที่อย่างเป็นทางการของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งที่มีการตรวจพบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและเลือดของชาวบ้านโดยหลายหน่วยงาน นับตั้งแต่เหมืองเริ่มดำเนินการ แต่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ระบุชัดว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องหาเหตุการปนเปื้อนในพื้นที่ดังกล่าวและประเมินความคุ้มค่าของการทำเหมืองเปรียบเทียบกับผลกระทบต่อชีวิตคนและสิ่งแวดล้อมก่อน จึงจะสามารถพิจารณาขยายเหมืองเพิ่มเติมได้ แต่กลับไม่มีการดำเนินการตามมติครม.แต่อย่างใด จนกระทั่งเกิดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว โดยกระบวนการจัดทำ EHIA (รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) เพื่อขออนุญาตขยายเหมืองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในพื้นที่จ.เลย กลับดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ

ก่อนหน้านี้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 ซึ่งชาวบ้านกลุ่มคัดค้านก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเวทีเช่นกัน โดยพบว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่กว่า 2,000 นาย เข้าดูแลการจัดเวที พร้อมป้องกันไม่ให้มีกลุ่มผู้คัดค้านเข้าไปร่วมเวทีด้วย ซึ่งเป็นการดำเนินการเช่นเดียวกับวันที่ 8 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ที่มีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรจและอาสาสมัครของเหมืองจำนวนมากเข้าดูแลเหตุการณ์

ชาวบ้านขอให้นำตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบ

นายสมัย ภักมี แกนนำกลุ่มชาวบ้าน กล่าวระหว่างนำชาวบ้านเดินทางคัดค้านการจัดเวทีดังกล่าวว่า หลังจากที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้ามาทำเหมืองทองคำตั้งแต่ปี 2549 ชาวบ้านเริ่มได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถดื่มน้ำฝน และนำอาหาร ปู ปลา จากลำห้วยขึ้นมารับประทาน เพราะกลัวปนเปื้อนสารไซยาไนด์ ที่อาจจะรั่วซึมลงมาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ  ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้พยายามที่จะเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐ นำตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยัน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่ ก่อนหน้านี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นนำตัวอย่างน้ำไปตรวจ โดยการว่าจ้างของทางผู้ประกอบการ ซึ่งหากดำเนินการเช่นนั้น ชาวบ้านเกรงว่าผลตรวจอาจจะไม่เป็นจริง และเกรงว่าจะไม่มีความเป็นธรรม พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจาะเลือดของชาวบ้านไปตรวจหาสารไซยาไนด์ ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านที่อยู่รอบเหมืองทอง เพราะขณะนี้ชาวบ้านเริ่มมีอาการเจ็บป่วยแปลก ๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอีกด้วย เช่น ตื่นเช้าขึ้นมาจะแสบตา มีผดผื่นคันตามร่างกาย เสียสุขภาพจิตจากเสียงระเบิด ทำให้นอนไม่หลับ เป็นต้น

เหมืองทุ่งคำอ้างทำตามขั้นตอนทุกประการ

ทางด้าน พล.อ.กิตติศักดิ์ รัฐประเสริฐ กรรมการบริหาร บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเดินทางไปชี้แจงกับกลุ่มชาวบ้านระหว่างการเดินทางไปชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดเลย ระบุว่า ทางเหมืองมีนโยบายที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว กว่าจะได้รับอนุญาตให้เปิดเหมือง ได้ผ่านขั้นตอนตามระเบียบกฎเกณฑ์ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทุกประการ ยึดหลักสากล และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ตามหลักสิทธิมนุษยชน โปร่งใส ตรวจสอบได้ตลอดเวลา มีการเชิญผู้นำชุมชนเข้าไปดูกระบวนการทำเหมืองทุกครั้งที่มีข้อข้องใจ แต่กลับมีชาวบ้านยังคงออกมาร้องเรียน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้กับบริษัทฯ ที่อาจจะต้องพิจารณาเรื่องการฟ้องร้องต่อไป

ฝ่ายคัดค้านจัดงานบุญประกาศเจตนารมณ์

อย่างไรก็ตาม ก่อนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ชาวบ้านในนามกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดกว่า 200 คนจาก 6 หมู่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหมืองทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ได้รวมตัวกันประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อทำบุญให้แผ่นดินแม่และประกาศเจตนารมณ์คัดค้านการขยายเหมืองทอง ปกป้องทรัพยาธรรมชาติของชุมชน พร้อมทั้งยืนยันจะสู้ไม่ถอยหากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ดื้อดึงจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อขยายเหมืองทอง โดยการจัดกิจกรรมดังกล่าวนับเป็นการแสดงสัญลักษณ์แสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของบริษัทฯ  โดยการทำบุญใหญ่ประจำปี บริเวณแยกทางเข้าเหมืองทองโดยใช้ชื่อ “ทำบุญภูทับฟ้า ต่อชะตาภูซำป่าบอน หาบคอนภูเหล็ก”

นางระนอง กองแสน ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านนาหนองบงคุ้มน้อย อธิบายที่มาของชื่องานว่า เกี่ยวเนื่องกับ 3 ภูเขาหลักของชุมชนว่า ภูทับฟ้า เป็นภูที่กำลังถูกทำร้ายมากที่สุด จากการทำเหมืองทองคำ จนไม่เหลือความเป็นภูเขาแล้ว ทั้งยังมีโรงถลุงแร่และบ่อไซยาไนด์ ตั้งอยู่เป็นต้นตอก่อมลพิษต่อชุมชน ภูซำป่าบอน เป็นภูที่โดนขุดเอาแร่ไปบางส่วนแล้วแต่ใบอนุญาตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าหมดอายุ และมีคำสั่งให้เหมืองออกจากพื้นที่ไปแล้ว แต่บริษัทก็ยังไม่ยอมฟื้นฟูระบบนิเวศ ส่วน ภูเหล็กซึ่งอยู่ทางทิศใต้ติดกับภูทับฟ้านั้น บริษัท ทุ่งคำ จำกัด พยายามขอประทานบัตรเพิ่มเติมมาหลายปีแล้ว

จี้เอาไซยาไนด์คืนไป เอาทรัพยากรคืนมา

นางระนองกล่าวต่อว่า ภูทั้งสามของชุมชนเราโดนเหมืองทองทำร้ายมานานหลายปี และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ยังไม่ยอมหยุดความโลภ พยายามขยายการทำเหมืองไปยังพื้นที่ ทั้งที่ชาวบ้านที่นั่นยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบจากการทำเหมืองทองอย่างแท้จริง แต่ 7 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดตำบลเขาหลวง ได้พบกับความไม่แยแสของบริษัททุ่งคำและหน่วยงานรัฐ ชาวบ้านคงจะไม่ยอมให้เหมืองทองทำร้ายชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมไปมากกว่านี้

ขณะที่ พระอาจารย์ประเสริฐ แห่งวัดป่านาหนองบง กล่าวระหว่างการเทศนาธรรมหลังการตักบาตรว่า การมาของชาวบ้านไม่ได้มารบ แต่มารวมตัวกันปกปักรักษาบ้านเกิด แผ่นดินเกิด เพราะเมื่อมีเหมืองทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วย มีแต่ความทุกข์ ทำให้ในน้ำและอาหารมีสารพิษปนเปื้อน การดับทุกข์ที่แท้จริง เหมืองควรเอาไซยาไนด์คืนไปและเอาทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ของชาวบ้านคืนมา เอาทองคำคืนไว้ใต้ผืนแผ่นดิน

นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า ประสบการณ์ที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดถูกทหาร-ตำรวจกว่า 2,000 นาย พร้อมด้วยรถบรรทุกของเหมืองและรั้วลวดหนามกีดกันไม่ให้เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์ ประกอบการขอขยายเหมืองทองที่ภูเหล็ก (แปลง 104/2538) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ไม่มีความจริงใจในการให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และที่แย่กว่านั้นคือหน่วยงานรัฐเองก็เอื้ออำนวยให้บริษัททำไม่ถูกต้องเช่นนี้

นักศึกษาปะทะเจ้าหน้าที่วันเปิดเวที

กระทั่งเช้าวันที่ 8 กันยายน 2556 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จำนวน 800 คน ร่วมกับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เดินทางไปยังวัดโพนทอง ต.นาโป่ง อ.เมือง จ.เลย ซึ่งเป็นสถานที่จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ อันเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำรายงาน EHIA เพื่อประกอบการขอประทานบัตรแปลงที่ 76/2539 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อแสดงเจตจำนงค์คัดค้านกระบวนการดังกล่าว แต่ถูกปิดกั้นจากตำรวจกว่า 600 นาย ไม่ให้เข้าร่วมเวที จึงจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างสันติ ท่ามกลางสายฝนกว่า 3 ชั่วโมง พร้อมทั้งให้ข้อมูลกับชาวบ้านต.นาโป่ง ถึงผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำที่บริษัทไม่ได้กล่าวถึง

บริษัทไม่เปิดเวทีฟังปัญหาให้รอบด้าน

ทั้งนี้กลุ่มผู้คัดค้าน ระบุว่า การอ้างว่าจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ทั้งที่ปิดกั้นการเข้าร่วมของผู้ได้รับผลกระทบทางลบโดยตรง และการดำเนินการอย่างไม่ตรงไปตรงมา ในการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการขออนุญาตทำเหมือง แสดงถึงการขาดธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของบริษัท ทุ่งคำจำกัด โดยมีหน่วยงานรัฐสนับสนุน เสมือนให้ตราประทับส่งเสริมอุตสาหกรรมสกปรก  เฉพาะในแง่กระบวนการ การจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ควรเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดเข้าร่วมและแสดงความเห็นได้อย่างอิสระ โดยอยู่บนพื้นฐานของการได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน เพื่อประกอบการตัดสินใจ  แต่เมื่อวันที่ 8 กันยายน กลับเป็นในทางตรงข้าม

ขัดขวางชาวบ้านทุกทางหวังดึงเวลาไม่ให้เข้าร่วม

การเข้าร่วมของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดซึ่งเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับโครงการ ถูกสกัดตลอดทางด้วยด่านตรวจหลายด่านและรถปิ๊กอัพเก่า ๆ ขนาดใหญ่ที่ทำทีเสมือนประสบอุบัติเหตุคว่ำกีดขวางช่องถนนประมาณ 5 กิโลเมตรก่อนไปถึงสถานที่จัดเวที จนชาวบ้านและนักศึกษาต้องลงไปเข็นรถ เพื่อเปิดช่องทางจราจรเอง และเมื่อไปถึงหน้าวัดโพนทองอันเป็นสถานที่จัดงาน ทางเข้าวัดทุกทางถูกปิดด้วยกรงเหล็กมีเจ้าหน้าที่เฝ้า ทางเข้าวัดด้านหน้าซึ่งเป็นทางเข้าหลัก ถูกปิดกั้นด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 50 นาย ขณะที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดตั้งขบวนเพื่อเจรจาขอเข้าร่วมเวที แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากผู้จัดงานยื่นเงื่อนไขให้ต้องลงทะเบียน ซึ่งทางกลุ่มประเมินว่า เป็นการถ่วงเวลาให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าร่วมได้ครบมากกว่า เนื่องจากคนจำนวน 800 คน ไม่สามารถลงทะเบียนให้เสร็จทันได้

การมีส่วนร่วมแบบเลือกมาแล้ว

ขณะเดียวกัน เป็นที่รับรู้ของชาวบ้านในพื้นที่ว่า ผู้ที่สามารถผ่านด่านเจ้าหน้าที่ตำรวจทางประตูหลังของวัดเพื่อเข้าร่วมเวที จะต้องมีใบผ่านทางสีชมพู ซึ่งมีการตระเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้วกับผู้นำชุมชนบางส่วนในพื้นที่ต.นาโป่ง และบริเวณใกล้เคียง  ขณะที่ชาวบ้านต.นาโป่งเอง ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเวทีและอยู่ทางด้านหน้าให้ความสนใจกับข้อมูลและประสบการณ์ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด และร่วมปราศรัยแสดงความกังวลต่อการทำเหมืองในชุมชน

แฉบริษัทให้ข้อมูลไม่ครบ-ไม่ตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ในเอกสารประกอบการประชุม 57 หน้า ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ไม่มีการให้ข้อมูลกระบวนการทำเหมืองและผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ที่อาจเกิดจากการทำเหมือง ข้อมูลในส่วนที่ระบุว่า “การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)” เริ่มต้นที่หน้า 47 และให้ข้อมูลเพียงแค่วิธีการและขั้นตอนการจัดทำรายงานเท่านั้น  ทั้งนี้บริษัทไม่ได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า แปลงที่ 76/2539 เป็นเพียงแปลงเดียวในพื้นที่ 10,000 ไร่ ในต.นาโป่ง ซึ่งบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ยื่นขอสัมปทานแล้ว แต่กลับชี้แจงด้วยวาจาในเวทีว่า จะทำเหมืองแปลงดังกล่าว เพียงแปลงเดียว แต่หากบริษัทต้องการขยายต่อไป ก็จะต้องทำเวทีแบบนี้อีก การให้ข้อมูลกำกวมเช่นนี้ แสดงถึงความไม่ตรงไปตรงมา ไม่จริงใจในการชี้แจงข้อมูล และเพิ่มความสับสนให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมไม่อาจตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องได้

การจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่จัดขึ้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความพยายาม ขยายพื้นที่การทำเหมืองทองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในจ.เลย และแม้เวทีจะผ่านไปแล้ว ก็มิใช่การยืนยันว่าบริษัทมีความชอบธรรมที่จะทำเหมืองต่อไป ในทางกลับกัน ชุมชนสามารถแสดงสิทธิที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของชุมชน ผ่านอำนาจที่ให้ไว้ในรัฐธรรมนูญ และสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีในแง่ความไม่ชอบธรรมของการดำเนินการของบริษัทและหน่วยงานรัฐที่ผ่านมาได้

            “การต่อสู้ด้วยสันติวิธีของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดต.เขาหลวงที่ผ่านมา และในการคัดค้านเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นและกำหนดขอบเขตแนวทางการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การขยายเหมืองทองในครั้งนี้ รวมถึงการประกาศใช้ “ระเบียบชุมชน ว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก” ใน 6 หมู่บ้านในต.เขาหลวง ผ่านการทำประชาคมหมู่บ้านเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2556 โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการห้ามรถบรรทุกเกิน 15 ตัน และการขนสารเคมีอันตรายในถนนชุมชน เป็นสัญญลักษณ์ แสดงถึงเจตจำนงค์ที่จะปกป้องแผ่นดินเกิด ด้วยสิทธิและอำนาจหน้าที่ของชุมชน เพราะหมดหวังกับการพึ่งพาอำนาจรัฐและการบังคับใช้กฎหมายของส่วนกลางเพื่อปกป้องชุมชนจากการคุกคามของเอกชน” ตัวแทนกลุ่มผู้คัดค้านกล่าว

ยันค้านต่อไปเพื่อรักษาทรัพยากรบ้านเกิด

แม้เหตุการณ์การปะทะกันจะผ่านไปพร้อม ๆ กับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของบริษัทฯ ก็ผ่านไปด้วยตามขั้นตอน จึงเป็นไปได้ว่า การจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของเขตประทานบัตรขยายเหมืองทองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในแปลงที่ 76/2539 เดินหน้าต่อไป แต่ชาวบ้านยังคงมีความหวังและยืนยันจะคัดค้านต่อไป ท่ามกลางกระแสการชุมนุมหลากหลายรูปแบบในขณะนี้

            “เราคัดค้านเพราะได้รับผลกระทบจริง เราต้องการเพียงบ้านที่อยู่อาศัย ทำกิน อย่างปลอดภัยเท่านั้น แม้เรื่องของเราจะเป็นเรื่องเล็กๆ ในสายตาคนอื่น แต่สำหรับพวกเรามันเป็นเรื่องใหญ่ เพราะที่นี่คือบ้านของเรา ทรัพยากรของเรา ก็คงจะเดินหน้าต่อสู้ให้ถึงที่สุด” ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าว

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Roengrit Kongmuang

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: