ชี้40ปี14ตุลาทุนครอบสื่อ ข่าวถูกบิด-น่าเชื่อถือลดลง

13 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1990 ครั้ง

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และมูลนิธิ 14 ตุลา จัดราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “40 ปี 14 ตุลา เส้นทางเสรีภาพสื่อไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานมูลนิธิอิศรา อมันตกุล นายสำเริง คำพะอุ อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย นางบัญญัติ ทัศนียะเวช อดีตนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่น และนายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์  รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

นางบัญญัติกล่าวว่า การทำข่าวเหตุการณ์ 14 ตุลา ทำให้ค้นพบพลังมวลชน ที่ทำลายกำแพงเผด็จการทหารซึ่งสั่งสมมานาน ทำให้เรามั่นใจในพลังมวลชน เหตุการณ์นั้น ยังพบการปลุกจิตสำนึกสื่อในเรื่องเสรีภาพ จากที่สื่อต้องยอมจำนนต่อเผด็จการ เขียนข่าวด้านเดียว เป็นการรับใช้อำนาจเผด็จการโดยปริยาย

            “หลัง 14 ตุลา แล้ว สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนแบ่งบาน เป็นยุคที่น้ำลดตอผุด เรียกได้ว่าเป็นยุคที่รุ่งโรจน์ของสิทธิเสรีภาพสื่อฯ สะท้อนให้เห็นประชาธิปไตยที่เบ่งบาน แต่เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 กลุ่มที่เสียอำนาจในขณะนั้น เช่น กลุ่มกระทิงแดง วิทยุยานเกราะ ได้สร้างสถานการณ์ขึ้นมา จนทำให้เกิดการปฏิรูปการปกครอง แต่สิทธิเสรีภาพมืดมิด นายสมัคร สุนทรเวช รมว.มหาดไทย ในยุคนั้น สั่งปิดหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ สื่อฯต้องไปรายงานตัวที่กองบัญชาการทหาร เพื่อขอเปิดสำนักพิมพ์ แต่ต้องมีเงื่อนไขติดตัวมา เช่น นักข่าวหลายคนต้องถูกไล่ออก ยุคนั้นเป็นยุคที่มืดที่สุด ขณะเดียวกันก็มีการใช้วิธีการที่โหดเหี้ยมที่สุด กับนักศึกษาและสื่อฯ ทำให้ต้องหนีเข้าป่า” นางบัญญัติกล่าว

อดีตนายกสมาคมนักข่าว ปี 2535 กล่าวว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เกิดม็อบมือถือ ที่นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง วิทยุและโทรทัศน์ ที่ควบคุมโดยรัฐบาล รายงานข่าวดำเป็นขาว สมาคมนักข่าวฯ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นหนังสือพิมพ์ มีคำถามตลอดว่าทำไมหนังสือพิมพ์ และวิทยุ รายงานข่าวคนละด้าน ในครั้งนั้น มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการทำข่าว มีข่าววิทยุและโทรทัศน์ เริ่มรายงานข่าวต้นชั่วโมง เพราะขณะนั้นประชาชนหิวข่าว อยากทราบข้อมูลว่าลูกหลานของตนเองประสบเหตุการณ์อย่างไรบ้าง ถือเป็นการปฏิวัติการรายงานข่าวอีกยุคหนึ่ง

            “แต่ในยุคปัจจุบันนี้ มีความลำบากใจขึ้น ถือเป็นยุคที่มีการแตกแยกในวงการสื่ออย่างมาก ถึงแม้เผด็จการทางทหาร ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสื่อ แต่สื่อ ก็ยังมีทุนสามานย์ ที่ครอบครองสื่อ เวลานี้สื่อเป็นผู้รับใช้กลุ่มทุนเสียเอง ดิฉันจึงมองไม่เห็นทางออกในเรื่องนี้ หวังพึ่งพลังของประชาชนที่สั่งสมมานานตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นตัวช่วย ซึ่งคิดว่าเครือข่ายประชาชนกำลังเติบโต แต่ขาดการประสานงาน ดังนั้น เชื่อว่าหากมีเหตุการณ์ที่สุกงอมขึ้นมา เช่น เหตุการณ์14 ตุลาฯ ถึงเวลานั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อแน่นอน” นางบัญญัติกล่าว

ขณะที่ นายสำเริง ในฐานะอดีตนายกสมาคมนักข่าวปี 2530 กล่าวว่า หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ถือเป็นยุคมืดของเสรีภาพสื่อฯ เพราะเผด็จการครอบงำ แต่ทุกวันนี้มันมืดยิ่งกว่า สื่อเสนอข่าวไปคนละทิศคนละทาง ยุคที่มืดมิด นายสมัคร สั่งปิดหนังสือพิมพ์ แต่ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ไม่ปิด แต่สื่อต้องเลือกเองที่จะมีเสรีภาพ เสรีชน หรือเลือกที่จะเป็นทาส

            “เวลานี้ทุนกำหนดประเด็นข่าว จึงขึ้นอยู่กับคนทำหนังสือพิมพ์ อยู่ที่กองบรรณาธิการ และอยู่ที่ตัวนักข่าว ว่าสามารถรับนโยบายขององค์กรตนเองได้หรือไม่ ถ้ารับไม่ได้ก็ลาออก สมัยก่อน ถ้าไม่พอใจในนโยบายองค์กรก็ลาออก แต่ทุกวันนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะองค์กรสื่อ เข้าตลาดหลักทรัพย์ หากเราลาออก เขาก็จ้างคนใหม่ได้ ดังนั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่ที่ตัวเราว่าจะมีเสรีภาพหรือไม่

            “น่าแปลกใจว่า ปรากฏการณ์การเดินเท้าจากป่าแม่วงก์ 380 กว่าก.ม. แต่สื่อกระแสหลักแทบไม่นำเสนอข่าว แต่กลับมาเสนอตรวจสอบฝ่ายค้าน หนังสือพิมพ์เคยยอมรับไม่ได้กับการโกหกของพล.อ.สุจินดา คราประยูร ว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกฯ แต่ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ทนได้กับคนๆ หนึ่งที่บอกว่า จะไม่เกี่ยวข้องการนิรโทษกรรม เข้ามาบริหารประเทศเพื่อประชาชน หนังสือพิมพ์ทนเฉยได้กับการรับจำนำข้าวขาดทุนปีละ 2 แสนล้าน ทนกับการเป็นหนี้จากโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท”

นายสำเริงกล่าวด้วยว่า หนังสือพิมพ์พร้อมจะเสนอข่าวว่า เมื่อปี 2553 ทหารฆ่าประชาชน แต่ละเลยที่จะเสนอข่าวว่า มีคน ๆ หนึ่ง ฆ่าคน 2,000 กว่าคน ในนโยบายปราบปรามยาเสพติด ละเลยที่จะเสนอข่าวเหตุการณ์ในมัสยิดกรือเซะ มีประชาชนตาย 32 คน แต่หนังสือพิมพ์กลับสนใจว่าผู้ที่เสียชีวิต ตายด้วยน้ำมือของทหาร เพื่อจะบอกว่ารัฐบาลปราบปรามประชาชน แต่อีกรัฐบาลหนึ่งที่ปราบปรามประชาชน หนังสือพิมพ์กลับไม่พูดถึง นี่คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น อยู่ที่ตัวเราว่าเราจะสมัครเป็นทาส หรือเสรีชน ทำหน้าที่นักหนังสือพิมพ์อย่างเต็มภาคภูมิ เพื่อรับใช้ประชาชน หรือรับใช้กลุ่มทุนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก” นายสำเริงกล่าว

นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ในฐานะอดีตนายกสมาคมนักข่าวปี 2520 กล่าวว่า หลังรัฐประหาร 2500 หนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อความอยู่รอด แต่คนที่จะทำได้ คือคนรุ่นใหม่ ที่ต่อสู้ในบริบทของตนเอง ร่วมกันฟันฝ่าในการทำหนังสือพิมพ์ เล็ก 2-4 หน้า เพื่อตีแผ่ความจริงให้ปรากฏ ไม่ใช่ว่าคนในประเทศ ที่เห็นแม่น้ำ จากเหนือลงใต้ก็จบ แต่ไม่มีความคิดที่แตกต่าง คิดอย่างแยบยล ที่สามารถกำหนดทิศทางได้ นั่นคือหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกประเภท ถ้ายึดอาชีวะปฏิญาณ กฎเกณฑ์วิชาชีพ ก็จะไม่มีสื่อที่ตกเป็นทาส แน่นอน

            “หน้าที่ของสื่อ คือเสรีภาพในการรายงานข่าว และตัวกำหนดเสรีภาพให้อยู่ในกรอบ กติกา ขึ้นอยู่กับห้วงเวลานั้น ๆ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ สื่อไทย เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง เริ่มต้นจากขบวนการนักศึกษา ที่มีจิตวิญญาณในการต่อสู้ ของนักหนังสือพิมพ์ตัวเล็กๆ อย่าง “หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย” เป็นการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับอีก 7 สถาบัน แต่ทุกวันนี้สื่อ แทบจะไม่มีอาชีวะปฏิญาณ เดี๋ยวนี้  who what when where ยังไม่ครบ นับประสาอะไร จะไปพูดถึง why และ how เสรีภาพของสื่อไทย มีมากจนเลอะ กลายเป็นคอลัมน์นิสต์เปเปอร์ ไม่ใช่นิวส์เปเปอร์” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

นายเทพชัย หย่อง อดีตนายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า บทเรียน  40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เราต้องมองย้อนไป และแสดงความชื่นชม นักหนังสือพิมพ์ในยุคนั้น เชื่อว่าส่วนใหญ่ที่เข้ามาในวงการหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น มีเป้าหมายที่ชัดเจน และมีความพร้อมว่าจะต้องเจออะไร แต่ก็ตั้งใจเข้ามาเพื่อทำให้สังคมและคนรุ่นหลังรู้ว่าหลักการคืออะไร แม้วันนี้หลักการของคนทำสื่อ ไม่เปลี่ยนแปลง แต่การหาความจริงกลับเปลี่ยนไป เพราะประเด็นในการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยยังคงเหมือนเดิม การต่อสู้กับการทุจริต การเล่นพรรคเล่นพวก ยังคงอยู่ ที่ทำให้คนในสังคมก่อตัวขึ้นมา สื่อยังคงเปิดโปงการทุจริต แต่ความเข้มค้นในการตรวจสอบลดน้อยลง

            “ทุกรัฐบาลไม่มีใครอยากเห็นสื่อที่มีเสรีภาพจริง ๆ เพราะทุกรัฐบาลต้องการการเห็นสื่อที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งตรงข้ามกับหลักการของสื่อสารมวลชน ความพยายามในการแทรกแซงสื่อเกิดขึ้นแล้ว และจะเกิดขึ้นต่อไป คำถามคือ คำว่าเสรีภาพในการรายงานข้อเท็จจริงนั้น จะเชื่อได้หรือไม่ว่า ฝ่ายที่มีอำนาจจะไม่เข้ามาแทรกแซงได้ เนื่องจาก โลกของสื่อเปลี่ยนไปมาก เทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาท หนังสือพิมพ์จึงไม่อยู่ในสายตาของเด็กรุ่นใหม่ ที่เติบโตมาพร้อมกับแท็บเล็ต นี่คือความท้าทาย สื่อที่มีหลักการและมีมืออาชีพจริง ๆ จะยืนหยัดได้ยั่งยืนด้วยความแข็งแกร่งมากแค่ไหน หากเราลองนึกภาพทีวีดิจิตอล 24 ช่อง และสื่อใหม่ ที่มีอิทธิพลต่อการเข้าถึงข่าวรุนแรงมากขึ้น การสร้างกระแส การบิดเบือนประเด็น จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ที่พึ่งอย่างกสทช.จะควบคุมการกำกับการทำหน้าที่ของสื่อทีวีอย่างไร เพราะยิ่งมีสื่อหลายรูปแบบ ย่อมมีคนคอยจ้องหาช่องควบคุมสื่อ” นายเทพชัยกล่าว

ขณะที่ นายมานะกล่าวว่า ที่ผ่านมาศัตรูของเสรีภาพของสื่อไทย คือ อำนาจรัฐ หรืออำนาจเผด็จการทหาร แต่ในระยะหลังสื่อไทย กระโดดเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มากยิ่งขึ้น ภายหลังวิกฤติฟองสบู่แตก เมื่อปี 2540 ฝ่ายตลาด นำกองบรรณาธิการ เพียงเพื่อความอยู่รอดของหนังสือพิมพ์ เนื้อหาถูกกำหนดโดยฝ่ายการตลาดมากขึ้น จนทุกวันนี้เราแยกไม่ออกว่าข่าวที่ประชาชนควรรู้ หรือข่าวของการตลาดกันแน่ ปรากฏการเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เสมือนสื่อขายเสรีภาพ ขายจิตวิญญาณของสื่อเอง จึงทำให้โทนข่าวพลิกเปลี่ยนไป บทบาทของการตรวจสอบของสื่อมวลชนไม่เข้มข้นเหมือนเดิม บทบาทเหล่านี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนลดน้อยลงไปด้วย จึงไม่แปลกใจว่า ปรากฏการณ์การเดินเท้าหลายร้อยกิโลจากป่าสู่เมือง เพื่อชิงพื้นที่ความเป็นข่าวนั้น สื่อหลักกลับไม่ให้ความสำคัญ เพราะงบประมาณหรือรายได้ จากสปอนเซอร์สื่อยอมบิดการนำเสนอข่าว

            “เมื่อมีทีวีดิจิตอล เงินงบประมาณ เงินสนับสนุน จึงเป็นตัวกำหนดของสื่อไทย เสรีภาพของสื่อไทยก็จะหล่นลงเรื่อย ๆ ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนไทย ก็จะตกลงเรื่อย ๆ สื่อจะไม่เป็นตัวแทนปากเสียงของประชาชนเหมือนเมื่อก่อน และเมื่อถึงวันที่สื่อมวลชนถูกอำนาจเผด็จการที่ใหญ่กว่า ในการจัดระเบียบขึ้นมา ประชาชนจะทิ้งคุณ เพราะคุณไม่เคยสนใจประชาชน สื่อจึงต้องมองตนเองและยอมรับความจริงให้มากขึ้น อะไรที่ควรตรวจสอบต้องทำให้มากขึ้นหรือไม่” นายมานะกล่าว

ด้าน นายจักร์กฤษกล่าวว่า เราสามารถแบ่งยุคเสรีภาพของสื่อ ได้เป็น 3 ภาพ คือ หลัง 14 ตุลา หลัง 6 ตุลา และหลังพฤษภาทมิฬ 35  ยุค 14 ตุลาฯ เหมือนเป็นกาน้ำที่เดือด และพวยพุ่งออกมา เสรีภาพจึงเบ่งบาน และต้องยอมรับว่าสื่อมวลชนใช้เสรีภาพเกินขอบเขต จนกระทั่งนำไปสู่เงื่อนไขการปฏิวัติในเดือนตุลาคม 2519 สื่อมวลชนจึงกลับเข้าสู่ยุคมืดอีกครั้ง สำนักพิมพ์ถูกปิด นักข่าวถูกไล่ออก และหลังจากนั้นหากเราไปดูหนังสือพิมพ์จะพบว่า มีการนำเสนอข่าวการเมืองน้อยมาก แต่จะนำเสนอข่าวไร้สาระแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการแทรกแซงจากรัฐบาล

ดังนั้น ถ้าเราถือว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2517 เป็นแม่บทของเสรีภาพสื่อหนังสือพิมพ์ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็เป็นแม่บทของสื่อวิทยุและโทรทัศน์เช่นกัน เพราะภายหลังจากเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” นำมาซึ่งการก่อตั้งไอทีวี ทีวีสาธารณะ จากนั้นเมื่อปี 2540 ยุคฟองสบู่แตก ถือเป็นยุคที่ธุรกิจสื่อเริ่มต้น จนถึงขณะนี้ความเป็นสื่อไม่ได้มุ่งเน้นไปถึงหลักการ แต่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมสื่อ นักข่าวก็เป็นผู้ใช้แรงงาน เพราะทุกวันนี้องค์กรสื่อต้องคำนึงถึงผลประกอบการ เราต้องยอมรับว่า อิทธิพลของสื่อมีมากขึ้น ทำให้เราจำเป็นต้องยกเว้นสิทธิเสรีภาพสื่อให้กับพื้นที่โฆษณามากขึ้น

            “ทุกวันนี้ เรื่องการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ในนามเผด็จการทหาร หรือผู้มีอำนาจ ยังไม่เปลี่ยนไป แต่กลับมาอยู่ในรูปแบบอำนาจกลุ่มทุนโฆษณาของหน่วยงานรัฐ ถือเป็นการคุกคามรูปแบบใหม่” จักร์กฤษ ระบุ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: