แฉ‘อวนลาก’กวาดทะเลเกลี้ยงกว่า50ปี ดึงชุมชนเร่งฟื้นชายฝั่ง-สัตว์น้ำอินทรีย์

พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 13 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 4237 ครั้ง

ปัจจุบันคนหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ต้องการรับประทานอาหารที่ปลอดจากสารพิษ ซึ่งในปัจจุบันมีอาหารทางเลือกเกิดขึ้นมากมายในภาคการเกษตร แต่ “ปลา” สัตว์น้ำที่คนนิยมรับประทานกลับไม่มีความหลากหลาย คนรู้จักพันธุ์สัตว์น้ำที่ขายอยู่ในตลาดเพียงไม่กี่ชนิด และไม่ได้รับประทานอาหารที่สดใหม่ อีกทั้งในทะเลยังมีการทำประมงอย่างไม่รับผิดชอบ และผู้บริโภคก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลโดยไม่รู้ตัว

มูลนิธิสายใยแผ่นดินจึงริเริ่มโครงการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของชาวประมงขนาดเล็ก โดยการพัฒนาสินค้าประมงอินทรีย์ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสาธารณชนในการเปลี่ยนแปลงนโยบายประมงหรือ “โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์” เพื่อให้เกิดการทำประมงอย่างรับผิดชอบ ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของทุกฝ่าย ทั้งประมง และผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และการสนับสนุนวิถีประมงพื้นบ้าน ผ่านสินค้าสัตว์น้ำที่มีคุณภาพโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

มหาชัยแหล่งอาหารทะเลแห่งเดียวที่ผู้บริโภครู้จัก

          “ในปัจจุบันผู้บริโภค รู้จักเฉพาะปลาทับทิม ปลานิล หรือปลาที่มีขายในท้องตลาดเท่านั้น และทราบเพียงว่า ตลาดมหาชัยเป็นแหล่งขายอาหารทะเลเพียงแหล่งเดียว แต่ไม่ทราบว่าประเทศไทยมีพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลาย และสัตว์น้ำคุณภาพ สดใหม่และปลอดสารเคมี ไม่ถึงมือผู้บริโภคคนไทย แต่กลับถูกนำไปขายยังประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์” ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าว

ดร.สุภาภรณ์กล่าวว่า มูลนิธิสายใยแผ่นดินจึงริเริ่มโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ เพื่อให้เกิดการทำประมงอย่างอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้นยังให้ผู้บริโภคอาหารทะเล ได้รับประทานอาหารจากท้องทะเลไทยที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วย

เรืออวนลากทำลายทะเลมาตั้งแต่ปี 2504

เนื่องจากการการทำประมงในประเทศไทยมี 2 ลักษณะคือ 1.การทำประมงแบบทำลายล้าง ใช้อวนลาก อวนรุน อวนล้อมปั่นไฟ เรือคราดหอย หรือเครื่องมือทำการประมงที่มีขนาดตาถี่อื่น ๆ กวาดจับสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตทุกชนิดใต้ท้องทะเลทั้งปลา ปะการัง กัลปังหา ถือเป็นการทำประมงอย่างไม่รับผิดชอบ ซึ่งในระยะเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา สัตว์น้ำในท้องทะเลลดลงอย่างมาก จากงานวิจัยของกรมประมงพบว่า อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของการทำประมงอวนลากลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2504 การจับสัตว์น้ำของอวนลากได้ชั่วโมงละ 297.6 กิโลกรัม แต่ในปี พ.ศ.2525 ลดลงเหลือชั่วโมงละ 49.2 กิโลกรัม ในปี พ.ศ.2534 จับสัตว์น้ำได้เพียงชั่วโมงละ 22.78 กิโลกรัม และในปี พ.ศ.2549 อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของอ่าวไทยตอนบนเหลืออยู่เพียงชั่วโมงละ 14.126 กิโลกรัม และพบว่า ผลผลิตจากเรืออวนลาก เป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องการมีเพียงร้อยละ 33.3 ที่เหลือเป็นปลาเป็ดร้อยละ 66.7 และ 30.1 ของปลาเป็ดเป็นสัดส่วนของสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ภาพจาก GREENPEACE

2.การทำประมงพื้นบ้าน มีวิถีประมงที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศทางทะเล เช่น ใช้อวนลอยที่มีขนาดตาอวนเหมาะสมกับชนิดของสัตว์น้ำเป้าหมาย ไม่ไล่ล่าสัตว์น้ำ เลือกจับเฉพาะชนิดและโตเต็มวัยที่เหมาะสมที่จะบริโภค

หลายขั้นตอนกว่าจะถึงผู้บริโภคก็ไร้คุณภาพ

ดร.สุภาภรณ์กล่าวต่อว่า ด้วยระบบขนส่งอาหารทะเลของไทยที่ยังมีปัญหาอยู่มาก ทำให้อาหารทะเลที่มีคุณภาพจากประมงพื้นบ้าน ต้องไปรวมกับสินค้าที่มาจากเรือประมงขนาดใหญ่ ที่มีความสดน้อยกว่าและอาจมาจากการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง การขนถ่ายที่ต้องพักระหว่างทาง (การประมูลสัตว์น้ำที่มหาชัย หรือแพปลากรุงเทพฯ) ทำให้ต้องใช้เวลาหลายวัน กว่าที่สัตว์น้ำจะถึงมือผู้บริโภค จึงใส่สารบางชนิดผสมลงในน้ำแข็งที่ดองปลา เพื่อคงสภาพความสด เพราะถ้าไม่ใช้สารในการคงสภาพสินค้าจะสู้คู่แข่งในการประมูลไม่ได้ หรือการรับซื้อของพ่อค้าคนกลาง

          “หมึกมักจะใส่ยาทันใจ หรือโซดาไฟ เพื่อให้ตัวขาวและรักษาสภาพที่ดีที่สุด ปลาทูสดก็เช่นกัน การแช่ฟอร์มาลีนจะทำให้ปลาทูกลับมาอยู่ในสภาพที่ดีได้อีกครั้ง” น.ส.กรพินธุ์ จิตรจำลอง ประมงพื้นบ้านอ่าวขั้นกระได จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าว

เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงวิถีประมงพื้นบ้าน ผ่านสินค้าสัตว์น้ำที่มีคุณภาพโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง รวมถึงให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล จึงเกิดเป็นสินค้าประมงอินทรีย์ โดยใช้มาตรฐานสินค้าสัตว์น้ำอินทรีย์ ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ที่กำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ในการจับสัตว์น้ำจากแหล่งแหล่งน้ำธรรมชาติไว้ 5 ประการ คือ 1.การจับสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ อาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีระยะปรับเปลี่ยน 2.สัตว์น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่สามารถรับรองได้ ต้องจับจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีบริเวณ สามารถกำหนดขอบเขตได้อย่างชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้ 3.พื้นที่ที่ทำการจับต้องอยู่ห่างจากแหล่งมลพิษและฟาร์มเกษตรเคมี ที่อาจมีผลกระทบให้เกิดการปนเปื้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อบริเวณที่จับเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร 4.ไม่อนุญาตให้ใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิดในการจับ การขนส่ง จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค 5.เครื่องมือ อุปกรณ์และวิธีการที่ใช้ในการจับสัตว์น้ำ ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของระบบนิเวศ และทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นน้อยที่สุด

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่รู้จักปลาพื้นบ้าน

น.ส.สุลักษณา เป็กทอง ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการประมงพื้นฐาน-สัตว์น้ำอินทรีย์ กล่าวว่า โครงการได้ออกสำรวจข้อมูลการบริโภคอาหารทะเล จากกลุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ จำนวน 300 ชุด ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.8 เข้าใจว่า ‘อาหารทะเลสด’ หมายถึง สัตว์ทะเลที่ยังมีชีวิต ร้อยละ 32.38 หมายถึง อาหารทะเลที่ที่แช่น้ำแข็ง ร้อยละ 18.14 หมายถึง อาหารทะเลแช่แข็ง และร้อยละ 34 ซื้ออาหารทะเลสดเดือนละ 1-2 ครั้ง โดยมีเหตุผลในการเลือกซื้อเพราะความชอบ ร้อยละ 58.1 ขณะที่เลือกซื้อเพราะคุณค่าจากอาหาร ร้อยละ 27.98 มีเพียงร้อยละ 1.7 เท่านั้นที่ไม่ซื้ออาหารทะเลสดรับประทาน เนื่องจากเห็นว่าไม่สะดวก ยุ่งยาก แฉะ และรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย และอาหารทะเลสดที่นิยมเลือกมากที่สุดคือ กุ้งแชบ๊วย ปลาทู ปลาแซลมอน กุ้งก้ามกราม และปูม้า

และที่สำคัญพบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่รู้จักอาหารทะเลพื้นถิ่น ร้อยละ 80-90 ไม่รู้จัก ปลาโฉมงาม ปลาสร้อยนกเขา ปลาหัวอ่อน ปลาจวด และปลาบุตรี และสถานที่ที่กลุ่มตัวอย่างนิยมซื้ออาหารทะเลสด คือ ตลาดสดใกล้บ้าน ร้อยละ 37.23 รองลงมาคือซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 35.08

ตลาดระดับบนและล่างคุณภาพและราคาสินค้าแตกต่าง

นอกจากนี้ยังได้มีการออกสำรวจภาพรวมตลาดสินค้าสัตว์น้ำ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่  ตลาดสดสะพานสอง ตลาดสดสามย่าน อตก. ห้างแมคโคร Golden place และซุปเปอร์มาร์เก็ต ของห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั้ง ห้างเซ็นทรัลชิดลม ห้างสยามพารากอน ห้างเอ็มโพเรียม พบว่า ตลาดบนอย่าง ซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างสยามพารากอน เอ็มโพเรียม ห้างเซ็นทรัลชิดลม อตก. คุณภาพสินค้าค่อนข้างดี ราคาสูง ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ขณะที่ตลาดกลางอย่าง Golden place ตลาดสามย่าน คุณภาพสินค้าค่อนข้างดี ราคาปานกลาง ผู้บริโภคมีกำลังซื้อปานกลาง และตลาดล่าง เช่น ตลาดสะพานสอง และห้างแมคโคร สินค้ามีราคาถูก คุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร ผู้บริโภคมีกำลังซื้อน้อย

น.ส.สุลักษณากล่าวต่อว่า อาหารทะเลเกือบทั้งหมดไม่มีการระบุแหล่งที่มา และจากการสอบถามพบว่า เป็นสินค้าที่มาจากมหาชัยหรือภูเก็ต ที่เป็นศูนย์กลางขายอาหารทะเล แต่ไม่พบสินค้าที่มีการระบุว่ามาจากชาวประมงโดยตรง สินค้าที่มีการระบุแหล่งที่มา พบว่าเป็นสินค้าที่มาจากการเพาะเลี้ยงหรือฟาร์มเลี้ยง แต่ไม่มีการให้ลายละเอียดของฟาร์มผู้ผลิต นอกจากนี้ยังไม่มีระบุวิธีการทำประมง จากการสำรวจพบเพียง TOP ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างเซ็นทรัลชิดลมเท่านั้น ที่มีการระบุว่า ปลาอินทรีย์มาจากการทำประมงแบบรับผิดชอบ (long line fishing หรือ ปลาเบ็ด) ซึ่งมีราคาสูงกว่าปลาอินทรีย์ที่ไม่ระบุวิธีการทำประมง

ด้านคุณภาพและความสดสินค้า จากการสำรวจพบว่า สินค้าที่อตก.สดที่สุด รองลงมาคือ ห้างสรรพสินค้า ซึ่งการจัดวางและปริมาณน้ำแข็ง มีผลต่อคุณภาพความสดของสินค้า และตลาดสะพานสองมีความสดน้อยที่สุด และสินค้าบางชนิดไม่เหลือความสดอยู่เลย โดยพบว่า สินค้ามักวางเรียงกันในถุงพลาสติก ไม่มีน้ำแข็ง เพื่อรักษาสภาพสินค้า

ดึง 5 ชุมชนนำร่องฟื้นฟูประมงชายฝั่ง

กลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ 5 แห่ง คือ กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แพปลาชุมชนต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี แพปลาชุมชนบ้านหินร่วม ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา แพปลาชุมชนบ้านช่องฟืน ต.เกาะหมาก อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง แพปลาชุมชนบ้านคุขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา เพื่อร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดินในการอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล โดยวิถีประมงพื้นบ้านด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เช่น

การจัดทำเขตอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่ง ซึ่งมีทั้งการกำหนดโดยชุมชน และกำหนดเขตร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่น กลุ่มแพปลาชุมชนบ้านช่องฟืน มีการกำหนดเขตชายตลิ่งเป็นพื้นที่ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ และเขตด้านนอกเป็นพื้นที่ห้ามทำประมงด้วยวิธีล้อมกระทุ้งน้ำ

การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นการนำสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งทางกลุ่มซื้อมา หรือได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาปล่อยลงสู่ทะเลเพื่อขยายพันธุ์ เช่น แพปลาชุมชนบ้านคูขุด ทำงานเชื่อมต่อกับกลุ่มออมทรัพย์ชุมชน โดยการจัดสรรผลกำไรส่วนหนึ่งเป็นทุนในการซื้อพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อนำมาปล่อยลงสู่ทะเลสาบสงขลา

การจัดทำธนาคารกุ้ง ธนาคารปู นับเป็นการอนุรักษ์ที่เชื่อมต่อกับการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเป็นการรณรงค์ให้ชาวประมงนำกุ้งไข่หรือปูไข่ที่ติดมากับอวน มาปล่อยในกระชังหรือภาชนะที่เตรียมไว้ให้ปูหรือกุ้งทำการเขี่ยไข่ เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

ปกป้องชายฝั่งและรณรงค์ลดประมงทำลายล้าง

การจัดทำปะการังเทียมหรือการทำซั้งกอ ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการนำทางมะพร้าว ไม้ไผ่ เชือกมาร้อยกับแท่งซิเมนต์หรือหินถ่วงน้ำหนัก แล้วนำมาวางเป็นกอง ๆ เพื่อเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แหล่งหลบภัยของสัตว์น้ำ

การรณรงค์และปกป้องทรัพยากรชายฝั่งจากการทำลายล้างของการทำประมงพาณิชย์ ที่มีการจับสัตว์น้ำโดยไม่เลือกประเภทและขนาดของสัตว์น้ำ และใช้วิธีการไล่ล่าให้ได้สัตว์น้ำในปริมาณที่มากที่สุด เพราะฉะนั้นการทำประมงประเภทนี้จึงเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการทำลายสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ

การรณรงค์ให้มีการขยายเขตอนุรักษ์ทรัพยากรทรัพยากรชายฝั่งในพื้นที่ทะเลทั่วประเทศ ซึ่งทางโครงการฯร่วมกับสมาคมสมาพันธุ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศขยายเขตจากเดิม 3,000 เมตร เป็น 3 ไมล์ทะเล โดยพื้นที่จ.ประจวบคีรีขันธ์เป็น 1 ใน 8 พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จแล้ว และการรณรงค์ปกป้องชุมชนให้ปลอดภัยจากแหล่งมลพิษ ด้วยการยับยั้งโครงการพัฒนาขนาดใหญ่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: