เปิดปฏิทิน 'การเมือง-เศรษฐกิจ' ขยับแก้รัฐธรรมนูญ-ผุดอภิโปรเจค ปูทางกวาดส.ส.เลือกตั้งคราวหน้า

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 14 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1545 ครั้ง

 

ตั้งแต่ไตรมาสแรก ถึงคิวไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2556-2557 รัฐบาลมีแผนอนุมัติการลงทุนโครงการยักษ์ทุกระยะ

 

เช่นเดียวกับทุกไตรมาส จะมีจังหวะทางการเมืองที่มีการขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน

 

ตามตารางเศรษฐกิจ ในไตรมาสแรกมีการเร่งทำแผนโครงการลงทุนระบบน้ำ 3.5 แสนล้าน

 

ในตารางการเมือง ไตรมาสแรกก็มีการเร่งเครื่องการลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 และการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

การขึ้นเค้าโครงเศรษฐกิจ-การเมือง ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงถูกจัดจังหวะ วางอีเวนต์ ไว้อย่างเป็นระบบ

 

โดยครึ่งปีแรก 6 เดือน จะโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ เรื่องแผนการลงทุนโครงการยักษ์ ทั้งรถไฟฟ้า 4 สาย โครงการทวายโปรเจกต์ โครงการรถไฟความเร็วสูง มูลค่าการลงทุนประมาณ 3 ล้านล้านบาท

 

 

 

พร้อมกับการเดินหน้าตั้งเวทีประชาเสวนา ระดมฟังความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเดินหน้ากฎหมายปรองดอง

 

ทุกอีเวนต์ ทุกมติ ที่ถูกชงเสนอเพื่อการอนุมัติ ตั้งเป้าแบบเล็งผลเลิศในการอยู่บริหารครบ 4 ปี อย่างน้อยกว่าจะลงทุนลุล่วงทั้ง 3 ล้านล้าน ก็ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปีงบประมาณ

 

เช่นเดียวกับแผนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 เดือน

 

ทั้งรัฐธรรมนูญหมวดเพื่อไทย ที่จะนำไปสู่การทูลฯเกล้าฯ อาจล่วงเข้าไปในช่วงปลายปี 2557 หรืออย่างช้าต้นปี 2558

 

การเลือกตั้งครั้งหน้า หากไม่มีอุบัติหตุการเมือง พ.ศ.2558 พรรคเพื่อไทยจะลงสนามเลือกตั้งแบบครบเครื่อง

 

ทั้งโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ทั่วทุกหัวเมือง ที่หว่านเม็ดเงินลงพื้นที่ กระจายไปทั่ว และการมีรัฐธรรมนูญแบบที่ฝ่ายเพื่อไทย ต้องการ “ธง” พร้อมกับการโฆษณาต่อยอด นโยบายประชานิยม 16 ข้อ แบบแจกเพิ่ม-ลดอีก-จ่ายให้ และไม่ต้องจ่าย

 

แผนการใช้เงินลงทุน เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ การขับเคลื่อนทางการเงิน ควบคู่การได้คะแนนทางการเมือง จะมีทั้งรูปแบบ แผน พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และกรอบงบประมาณประจำปี 2557 โดยมีแผนการเบิก-จ่ายอย่างรวดเร็ว-พิเศษ เป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ

 

 

 

ปฏิทินการจ่ายงบลงทุนโครงการยักษ์ จึงเริ่มต้นชัดเจน มีกรอบการนำเสนอ แบบเดือนต่อเดือน ดังนี้

 

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ทุกหน่วยงานจัดทำคำขอ การเตรียมความพร้อมของแผนงานให้กับสำนักงบประมาณ

 

วันที่ 23 กุมภาพันธ์- 15 สิงหาคา ทำตัวเลขประมาณราคากลาง กำหนดทีโออาร์ แก้ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน

 

วันที่ 15 สิงหาคม – 31 ตุลาคม ประกาศทีโออาร์และประกาศประกวดราคา

 

วันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 พฤศจิกายน ดำเนินการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง

 

จากนั้นในเดือนธันวาคม 2556 จนกระทั่งสิ้นสุดปีงบประมาณเดือนกันยายน 2557 เริ่มการอก่อสร้างและติดตั้งครุภัณฑ์

 

หากเป็นไปตามตารางปฏิทินการเงินนี้ จะทำให้รัฐบาลเบิกจ่ายทะลุเป้า เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าเป้าหมายทุกปีที่ผ่านมา

 

ไม่นับรวมตารางเงิน “นอกงบประมาณ” ที่เบิกพิเศษ ผ่าน พ.ร.ก. และ พ.ร.บ.การกู้เงิน หลากรูปแบบ  ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อใช้จ่ายในการลงทุน

 

ทั้งเพื่อป้องกันการครหา การตรวจสอบของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลจึงวางกรอบยุทธศาสตร์ การใช้เงินเพื่อขับเคลื่อน 2 ทาง ทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจ หาเสียง ไปพร้อมกัน ด้วยยุทธวิธี 4 ประเด็น อาทิ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลาง, ลดความเหลื่อมล้ำ, เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และปรับระบบบริหารจัดการภายในภาครัฐ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้การทำเรื่องขออนุมัติเงินต้องผ่านเกณฑ์ ครอบคลุมกฎอีก 8 ข้อ  คือ

 

1.การสร้างฐานเศรษฐกิจและสังคมที่มั่นคงอย่างยั่งยืน 2.ความมั่นคงแห่งรัฐ 3.การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ 4.การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมกันในสังคม 5.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6.การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม 7.การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 8.การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี รายการค่าดำเนินการภาครัฐ

 

โดยสรุปแผนการลงทุนของรัฐบาลเพื่อไทย ในช่วงอีก 2 ปีงบประมาณ ทั้งแผนใน-นอกงบประมาณอาจทะลักถึง 5 ล้านล้าน เพียงพอที่จะใช้เงินจากฐานภาษีของคนทั้งประเทศ ไปต่อยอดนโยบายการหาเสียงในสมัยหน้า

 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ตกหลุมอุบัติเหตุทางการเมือง ที่อาจเกิดขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กระบวนการจะเริ่มต้นและขับเคลื่อนควบคู่กับการเดินหน้าแผนการลงทุนของรัฐบาล

 

 

 

ตารางที่คณะทำงาน 11 คน จากพรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรค คือเพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา และพลังชล ร่วมกันจัดทำขึ้นเป็นพิมพ์เขียว 50 หน้า มีแนวโน้ม ดังนี้

 

วันที่ 1 มกราคม - 30 มกราคม 2556 คณะทำงานศึกษาแนวทางการทำประชามติ กำหนดประเด็นถามความเห็นประชาชน เพื่อใช้ในการทำประชามติ

 

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2556 ให้คณะรัฐศาสตร์-นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-จุฬาฯและรามคำแหง ไปสำรวจความคิดเห็น จากประชาชน  รณรงค์ – ทำความเข้าใจประชาชน จนถึงการออกเสียงประชามติ โดย กกต.

 

กลางเดือนวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 กกต. ประกาศผลการทำประชามติว่า “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน”

 

วันที่ 18 เมษายน - 31 กรกฎาคม 2556 ปิดสมัยประชุมสภา ไม่สามารถลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ได้

 

วันที่ 1 สิงหาคม 2556 เปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปวันแรก และลงมติวาระ 3 ตามคำให้สัมภาษณ์ของนายสมศักดิ์ เกียรติ์สุรนนท์ ประธานสภา ที่ระบุว่า โหวตวาระ 3 ในสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม

 

ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2556 ออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และคัดเลือกจากที่ประชุมร่วมสภา 22 คน

 

กลางเดือนสิงหาคม – ต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 กระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ที่ร่างแก้ไขมาตรา 291/15 กำหนดให้ กกต.จัดการเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 75 วัน

 

 

 

ประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2556 เห็นโฉมหน้าของ ส.ส.ร. 99 คน

 

ประมาณต้นเดือนธันวาคม 2556 ประชุม ส.ส.ร.ครั้งแรก ภายใน 30 วัน นับจากวันเลือกตั้ง เพื่อเลือกประธาน และ รองประธาน ส.ส.ร. 2 คน

 

ต้นเดือนธันวาคม 2556 – ต้นเดือนสิงหาคม 2557 (รวม 240 วัน หรือ 8 เดือน) เป็นระยะเวลาที่ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

จากนั้นส.ส.ร.ส่งร่างรัฐธรรมนูญที่ทำเสร็จแล้ว ไปให้กับประธานรัฐสภาเพื่อให้กกต.นำไปทำประชามติ โดยขั้นตอนทางธุรการ ใช้เวลาไม่เกิน 14 วัน

 

ประมาณกลางเดือนตุลาคม 2557 กกต.จะต้องจัดให้มีการทำประชามติภายใน 45-60 วัน และให้รับรองผลการทำประชามติภายใน 15 วัน

 

คาดว่าประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2557 หากผ่านการทำประชามติ กกต.จะแจ้งผลกลับไปยังประธานรัฐสภา เพื่อให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อตราเป็นกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่ และมาตรา 291/14 กำหนดให้ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

 

ทั้งแผนการลงทุน แผนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้วนมีเป้าหมายเดียว คือ เป็นเครื่องมือสำหรับชิงชัย ในการเลือกตั้งสมัยหน้า 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: