จับตา‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’ หวั่นครม.สัญจรไฟเขียว

14 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1377 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 14 มกราคม จากกรณี นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่จ.แพร่ และ นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าฯแพร่ ได้ระดมชาวบ้านมาร่วมกันทำฝายกั้นแม่น้ำยม ที่ต.ห้วยหม้าย อ.สอง จ.แพร่ โดยมีเกษตรกรนำโดยนายสมบูรณ์ ใจเศษ ยื่นหนังสือให้อธิบดีกรมชลประทาน ขอให้เร่งสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ผ่านมานั้น

 

นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เรียกร้องให้อธิบดีกรมชลประทาน ยุติพฤติกรรมการปลุกระดมชาวบ้าน มาสนับสนุนเขื่อนตามแผนงานของกรมชลประทาน ว่า ชาวสะเอียบยืนยันที่จะคัดค้าน ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เพราะเราได้ให้เหตุผลไปแล้วว่า ทั้ง 3 เขื่อนนี้ไม่สมควรสร้าง แก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็ไม่ได้ แก้ไขปัญหาน้ำแล้งก็ไม่ได้ และยังกระทบต่อชุมชนและป่าสักทองอย่างมาก เราเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไป 12 ข้อ ไปถึงนายกรัฐมนตรีหลายครั้งแล้วทำไมไม่ทำ หรือเป็นเพราะใช้งบประมาณน้อยเกินไป จึงไม่สนใจที่จะทำ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม ต้องมองปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทั้งลุ่มน้ำ ไม่ใช่เขื่อนเท่านั้นที่เป็นเป้าหมาย การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การรักษาป่าที่เหลืออยู่ การป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั่งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอนช่วยลดโลกร้อน รวมทั้งฟอกอากาศให้ออกซิเจน เป็นแนวทางที่ยั่งยืนที่สุด การรักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน การรักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด การปลูกต้นไม้เพิ่ม สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ

 

การพัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน การฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ การเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายสมมิ่งกล่าวต่อว่า การทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่เก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบประมาณ 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า การพัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม การสนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

 

การกระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ การทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู การส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม แนวทางเหล่านี้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่รัฐพึงตระหนักและให้ความสำคัญเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม

 

 

 

                “รัฐบาลอย่าคิดว่ามีอำนาจแล้วจะใช้อำนาจรังแกประชาชน เราคนสะเอียบคงไม่ยอม และขอเตือนไปยังผู้ว่าแพร่ ว่าอย่าคิดว่าเป็นเพื่อนกับรัฐมนตรีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล แล้วจะรวมหัวกันมารังแกชาวบ้านได้ เราจะจารึกบุคคลเหล่านี้ไว้ ทั้งอธิบดีกรมชลฯ, รัฐมนตรีกระทรวงวิทย์ฯ, ผู้ว่าแพร่ รวมหัวกันรังแกชาวบ้าน เราจะตามจองล้างจองผลาญเจ็ดชั่วโคตร ขอให้สำเหนียกไว้” นายสมมิ่งกล่าว

 

 

 

ด้านนายวิชัย รักษาพล แกนนำชาวบ้านบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ,สอง จ.แพร่ กล่าวว่า อธิบดีกรมชลประทาน มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ แอบมาเมืองแพร่ แถมยังมาปลุกระดมชาวบ้านให้เชียร์เขื่อนที่ตัวเองอยากได้ ทั้งที่สถานการณ์แล้ง น้ำแล้ง เกิดขึ้นทั่วประเทศ ประกาศงดทำนาปรังกันทั่วประเทศ ทำไมไม่ไปลงพื้นที่ที่อื่นบ้าง แอบมาเมืองแพร่หวังอยากได้เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง คงไม่ง่าย ต้องไปรบกับนายปลอดประสพ ที่อยากได้เขื่อนแก่งเสือเต้น เราชาวสะเอียบ จะไม่ยอมให้คนพวกนี้มาทำลายป่าสักทองของคนทั้งประเทศ เรายืนยันจะต่อสู้คัดค้านจนถึงที่สุด เพราะเขื่อนยมล่างก็ท่วมป่าสักทองเหมือนเดิม แค่ขยับจุดสร้างเขื่อนเท่านั้นเอง

 

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ มีมติให้ชาวบ้านตั้งฐานที่มั่นที่จุดหัวงานที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และติดป้ายประกาศ “ห้ามบุคคล หรือ หน่วยงานที่ผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากพบเห็นจะไม่รับรองความปลอดภัย”โดย ชาวบ้านต.สะเอียบ และยังให้ชาวบ้านทำเพิงที่พัก จัดเวรยามเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น

 

นายศรชัย อยู่สุข แกนนำชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า เราประกาศไปหลายรอบแล้ว ห้ามผู้ไม่หวังดีเข้าพื้นที่ ถ้ายังดื้อดึง ยังไม่ฟัง ก็คงต้องใช้ไม้แข็ง อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เหตุผลต่างๆ ทางออก ทางแก้ไขปัญหาก็เสนอไปหมดแล้ว หากยังดันทุรังอยู่ก็ต้องข้ามศพคนสะเอียบไปก่อน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐบาลอาจนำเรื่องโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เข้าพิจารณาใน ครม. สัญจรภาคเหนือ ที่จ.อุตรดิตถ์ ในวันที่ 21 มกราคม 2556 นี้ ส่วนโครงการเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) นั้น ยังอยู่ในขั้นการศึกษาความเป็นไปได้ และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงเดือนตุลาคม 2556 นี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: