จีนรับเละสะพาน'ลาว-เชียงของ' ทุนยักษ์รอเขมือบ-ท้องถิ่นตาปริบ จีนขวางสินค้า-ส่ง'จีเอ็มโอ'ตีไทย

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 14 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 3043 ครั้ง

กลางเดือนมิถุนายน ปีนี้ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมต่อระหว่างเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว กับ อ.เชียงของ จ.เชียงราย จะเปิดใช้อย่างเต็มรูปแบบ สำหรับการคมนาคมขนส่งเชื่อมต่อระหว่างกัน โดยเป้าหมายสำคัญคือการเปิดเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ ในพื้นที่ชายแดนในเขตภาคเหนือ ที่ว่ากันว่า จะสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับทั้งประเทศไทย ลาว และ กลุ่มประเทศอาเซียน ที่กำลังจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวในปี 2558 ทำให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคมากขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลที่ใช้เวลาดำเนินการมาหลายปี

 

 

ราคาที่ดินเชียงของพุ่ง นายทุนต่างถิ่นกว้านซื้อเก็งกำไร

 

 

ความตื่นตัวในการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย ลาว แห่งที่ 4 ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในระยะหลัง หรือในช่วงก่อนสะพานจะเสร็จ หากแต่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นมากนัก ที่ดินจำนวนมากในพื้นที่ อ.เชียงของ รวมไปถึงตลอดเส้นทางขนส่ง ในหลายอำเภอของ จ.เชียงราย ที่มองแล้วว่าจะเป็นจุดเชื่อมต่อต่าง ๆ ของเส้นทางคมนาคมเส้นใหม่ เริ่มถูกนายทุนต่างถิ่น หรือแม้กระทั่งรายที่เป็นนอมินีต่างชาติ ทะยอยกว้านซื้อจากชาวบ้าน และล้อมรั้วไว้โดยไม่ทำประโยชน์อื่นใด พร้อมห้ามชาวบ้านเข้าไปใช้พื้นที่อย่างเด็ดขาด มีเป้าหมายหวังทำกำไร จากการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จนทำให้ที่ดินที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกพืชเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านร่อยหรอแทบจะไม่มีให้คนในพื้นที่ได้ประกอบอาชีพดั้งเดิม จนกำลังกลายเป็นปัญหาของหลายอำเภอใน จ.เชียงรายในขณะนี้

 

สำหรับใน อ.เชียงของ นอกจากราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งริมเส้นทางที่มุ่งสู่ สะพานแห่งใหม่ ซึ่งปัจจุบันได้ถูกจับจองหมดแล้ว และกำลังจะถูกพัฒนากลายเป็นศูนย์รับส่งสินค้าขนาดใหญ่ จุดจอดรับส่งตู้คอนเทนเนอร์ ที่เชื่อว่าจะเข้ามาใช้เส้นทางนี้จำนวนมากแล้ว ห้างสรรพสินค้า ประเภทไฮเปอร์มาเก็ตขนาดใหญ่ของต่างชาติ ก็กำลังเตรียมผุดขึ้นบนพื้นที่นี้อีกไม่ต่ำกว่า 2 แห่ง ไม่นับรวม ตลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ และธุรกิจบริการอื่น ๆ ที่เตรียมจะเปิดให้บริการอีกนับไม่ถ้วน

 

 

จีนผุดคาสิโน รับเมืองการค้าแห่งใหม่ ริมฝั่งแม่น้ำโขง

 

 

ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง บริเวณเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ก็มีข้อมูลว่า กำลังถูกพัฒนาไปอย่างเต็มที่ อาคารตึกขนาดใหญ่ถูกสร้างขึ้นหลายแห่ง ขณะที่รัฐบาลลาวให้สัมปทาน นักธุรกิจชาวจีนเข้าพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะชาวจีนตระกูลเหว่ย กลุ่มทุนธุรกิจคาสิโนยักษ์ใหญ่ เตรียมก่อสร้างอาคารห้างสรรพสินค้าทันสมัย และคาสิโนเต็มรูปแบบ ลงบนเกาะกลางแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามกับเมืองเชียงของพอดิบพอดี เพื่อรองรับการหลั่งไหลเข้ามาของนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่คาดว่าจะใช้สะพานแห่งนี้เป็นเส้นทางหลักในการเดินทางไปมาในภูมิภาค

 

หากมองเผิน ๆ จึงดูเหมือนว่า เมืองเชียงของที่เคยเงียบสงบแห่งนี้ กำลังจะพลิกโฉมสู่เมืองเศรษฐกิจชายแดนอันคึกคักอย่างรวดเร็วในอีกไม่ช้านี้ และคงจะมีเงินตราสะพัดในพื้นที่ สร้างความมั่งคั่งให้กับเชียงของ มากกว่าที่เคยเป็นเพียงเมืองท่าเล็ก ๆ ที่แทบจะไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อนในอดีต

 

 

คนเชียงของได้ประโยชน์อะไรจากสะพานข้ามโขงแห่งใหม่

 

 

ท่ามกลางความตื่นเต้นดีใจกับการเกิดขึ้นของสะพานแห่งใหม่ กลับมีชาวเชียงของทั้งในส่วนของชาวบ้านทั่วไป และนักธุรกิจท้องถิ่นบางกลุ่ม เกิดคำถามขึ้นว่า สะพานแห่งนี้จะนำการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับชาวเชียงของ ไปสู่ จ.เชียงราย หรือแม้กระทั่ง ประเทศไทยได้จริงหรือ

 

เพราะหากพิจารณาจากข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ ทั้งที่มาจากทางภาครัฐเอง หรือข้อมูลความเป็นจริงจากพื้นที่โดยตรงที่ดูเหมือนว่า เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจกลับไม่ได้มุ่งให้ความสำคัญกับคนพื้นที่มากนัก แต่เป็นการมองข้ามไปถึงภาพรวมของเศรษฐกิจระดับใหญ่มากกว่า จนทำให้ไม่แน่ใจ ว่าสะพานแห่งนี้ จะนำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวเชียงของ หรือจะเป็นเพียงหนึ่งยุทธศาสตร์การค้าของจีน ในการเชื่อมต่อภูมิภาคทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการค้าขายกับตลาดโลกเท่านั้นเอง

 

 

            “ตอนนี้เราอาจจะกำลังเห็นการพัฒนามากมาย ในพื้นที่ อ.เชียงของ เลยไปถึง จ.เชียงรายโน่น ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นมาก แต่ในมุมของผมในฐานะนักธุรกิจ และเป็นคนเชียงของ เรายังมองไม่เห็นว่า คนเชียงของจะได้อะไรจากตรงนี้ นอกจากเงินเล็กๆ น้อยๆ จากการที่มีคนเข้ามาใช้จ่ายบ้าง แต่หากมองในภาพรวมแล้ว คนเชียงของไม่ได้อะไรเลย นอกจากปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังจะถูกนำมาทิ้งไว้ในบ้านของเรา ในขณะที่ผลประโยชน์น่าจะไปตกอยู่กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ และเศรษฐกิจในระดับสูงมากกว่า” สงวน ซ้อนศรีสกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ในฐานะนักธุรกิจชาวเชียงของโดยกำเนิด เปิดฉากแสดงความคิดเห็น เมื่อถูกถามถึงการพัฒนาที่กำลังจะเข้ามาสู่บ้านเกิด กับช่องทางเศรษฐกิจใหม่ที่นักธุรกิจต่างถิ่นกำลังตื่นตาตื่นใจ

 

 

เชื่อจีนใช้สะพานคุ้ม ส่งสินค้าตีตลาดอาเซียนถึงตลาดโลก

 

 

สงวนบอกว่า หลายคนอาจจะมองว่า การเปิดเส้นทางใหม่ โดยเฉพาะสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างไทยกับลาว ในพื้นที่ภาคเหนือของไทยแห่งนี้ จะทำให้เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้การค้าของไทย โดยเฉพาะการซื้อขายของภาคเหนือ ขยายตัวไปสู่ตลาดจีนมากขึ้นนั้น ดูเหมือนจะไม่ถูกต้องนัก โดยเฉพาะภาคการเกษตร ทางภาคเหนือ เพราะหากได้เข้ามาคลุกคลีในวงการค้าในแถบนี้แล้ว จะเห็นได้ว่าสินค้าและผลผลิตจากไทยยังคงถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายหลายประการ แม้จะมีสะพานอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงการค้า แต่ก็คงไม่สามารถฝ่าด่านมาตรการทางกฎหมายของจีนเข้าไปได้ง่ายนัก

 

 

ขณะเดียวกันการติดต่อซื้อขายที่เคยเป็นการติดต่อผ่านนักธุรกิจท้องถิ่น ของ จ.เชียงราย ก่อนส่งต่อไปยังกรุงเทพฯ ก็จะหายไป เป็นการติดต่อโดยตรงไม่ผ่านท้องถิ่นอีกต่อไป ดังนั้นจึงเชื่อว่า สะพานแห่งนี้ไม่เพียงจะไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ และกลุ่มเกษตกรไทยไม่ได้ประโยชน์เท่านั้น แต่จะกลับกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจจีน ในการนำสินค้าเข้าสู่ประเทศไทยได้มากขึ้นกว่าเดิมมากกว่า

 

ที่สำคัญกว่านั้น จีนยังมองช่องทางยาวไกล ผ่านการเปิดเส้นทางใหม่นี้มากไปกว่าการนำสินค้ามาขายในไทย หรือกลุ่มประเทศอาเซียน หลังการรวมตัวกันในปี 2558 ภายใต้กรอบการตกลงต่าง ๆ ระหว่างจีนกับอาเซียน ที่เอื้อต่อการค้าขายระหว่างกัน แต่จีนยังมองว่าจะสามารถขยายตลาดสินค้าออกไปยังเกือบทุกภูมิภาคของโลกได้ แบบไม่ต้องลงทุนอะไรมากนักอีกด้วย

 

 

ห่วงผลผลิตการเกษตรถูกกีดกัน พืชผักจีเอ็มโอจีนทะลักเข้าไทย

 

 

ปัจจุบันหากพิจารณาจากจำนวนการส่งสินค้าเกษตรของไทยไปยังประเทศจีนจะพบว่า มีจำนวนการส่งออกที่แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ก็มีอัตราส่วนที่น้อยลงเรื่อย ๆ ด้วยกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่รัฐบาลจีนวางไว้อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตผลทางการเกษตรที่จะมีการตรวจตราทุกขั้นตอน กว่าผลผลิตจากไทยจะเข้าสู่ประเทศจีนได้จะต้องใช้เวลา และความยุ่งยากเป็นอย่างสูง หากเทียบกับการนำสินค้าจากจีนเข้าสู่ตลาดในเมืองไทย จากระเบียบของไทยที่อ่อนด้อยเกินไป

 

ดังนั้นสินค้าจีนเกือบทุกชนิดจึงเข้าตีตลาดไทยกระเจิง และคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไทยจะได้กินแตงโมลูกใหญ่ยักษ์ หรือ ผักจีนแปลก ๆ ที่หาซื้อได้ราคาถูกตามตลาดนัดทั่วไป ทั้ง ๆ ที่ชาวจีน และลาวไม่มี เพราะรัฐบาลจีนสั่งห้ามขายในประเทศของตัวเอง เนื่องจากเป็นผลไม้เหล่านี้ เป็นผลไม้ที่ดัดแปลงพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ จนเคยมีคนจีนที่กินเข้าไปเจ็บป่วยจนเป็นข่าวใหญ่โตในลาวและจีนมาแล้ว แต่ในเมืองไทยกลับนำเข้ามาขายเกลื่อนตลาด

 

 

 

นอกจากปัญหาการส่งสินค้าเกษตรของไทยเข้าสู่ตลาดจีน ที่แสนจะยุ่งยากนี้แล้ว สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง คือการเข้ามาของกลุ่มธุรกิจเกษตรชาวจีน ที่ อาจจะเข้ามาใช้พื้นที่ในประเทศไทยในการทำธุรกิจการเกษตร ในลักษณะของการเช่า หรือซื้อที่ดินทำการเกษตร เพื่อส่งกลับไปขายในจีน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว ในปัจจุบัน ที่มีนักธุรกิจชาวจีนจำนวนมาก เช่าพื้นที่จากใน สปป.ลาวทำเกษตรกรรม ปลูกกล้วยส่งไปกลับไปยังประเทศจีน  โดยนอกจากจะเช่าที่ดินปลูกแล้ว ยังจ้างให้เจ้าของที่ดินดูแลผลผลิตด้วย พร้อมให้ค่าตอบแทนจากการขายผลผลิต เพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 1 บาท ทำให้ขณะนี้หลายพื้นที่ในประเทศลาวล้วนแต่เป็นการลงทุนทำเกษตรกรรมโดยคนจีนเกือบทั้งสิ้น ซึ่งตามนโยบายของรัฐบาลลาวเองก็เอื้อให้เกิดการทำธุรกิจเช่นนี้ โดยพบว่าพื้นที่เกษตรกรรมในลาวกว่า 60 เปอร์เซนต์ ล้วนเป็นการเช่าทำเกษตรกรรมโดยคนจีนทั้งสิ้น

 

และหลายฝ่ายก็เชื่อว่าการเช่าที่ดินในการปลูกกล้วยส่งจีน ก็อาจจะเกิดขึ้นในที่ดินเกษตรกรรมฝั่งไทยในไม่ช้า แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายที่เข้มงวด แต่คนจีนก็เชื่อว่าอะไรก็เกิดได้ทุกอย่างในประเทศไทย ช่องทางการทำมาหากินแบบนี้ไม่ใช่เรื่องยาก หากรัฐบาลไทยยังไม่มีแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจนต่อการพัฒนาที่จะเข้ามาอย่างรวดเร็วนี้ พื้นที่เกษตรกรรมของไทยจำนวนมาก ก็อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในการปลูกพืชพันธุ์เกษตรส่งกลับไปเลี้ยงชาวจีนชองชาวจีนเอง แทนที่จะเป็นการค้าขายระหว่างกัน และเกษตรกรไทยจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

 

จีนส่งเสริมส่งออกสู่ตลาดไทย เพราะมั่นใจใช้เงินเบิกทางได้

 

 

นักธุรกิจชายแดนคนหนึ่ง สะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นผ่านประสบการ์ของตัวเองให้ฟังว่า จากการติดต่อธุรกิจกับพ่อค้าชาวจีนมากว่าสิบปี ด้วยเข้าไปเปิดบริษัทในสัญชาติลาว เพื่อเป็นใบเบิกทางค้าขายกับชาวจีน ทำให้เห็นได้ว่า รัฐบาลจีน ไม่ได้ให้ความเชื่อมั่นใจผลผลิตทางการเกษตรของไทย ตามที่หลายคนเข้าใจ เพราะสินค้าไทยหลายชนิดถูกกีดกันไม่ให้นำเข้าตลาดจีน ในขณะที่รัฐบาลจีนพยายามส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้า รวมไปถึงผลิตผลทางการเกษตรโดยชาวจีนเอง โดยให้เงินสนับสนุนถึง 30 เปอร์เซนต์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สินค้าจีนสามารถขายได้ในราคาถูกมาก ในขณะที่นักธุรกิจไทยทำไม่ได้ และรัฐบาลจีนยังส่งเสริมให้ส่งสินค้าเหล่านั้นออกขายในต่างประเทศ รวมทั้งไทยที่เป็นตลาดสำคัญด้วย หรือหากจะลงทุนในต่างประเทศ เช่น ไทย หรือลาว นักธุรกิจจีนก็จะได้สิทธิ์ของเงินส่งเสริมการลงทุนในลักษณะเดียวกัน

ปัจจุบันจีนส่งเสริมการส่งออกอย่างมาก จนทำให้มีตัวเลขการส่งออกขยายตัวอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก โดยจากตัวเลขยอดการส่งออกของจีนในปี 2555 พบว่า จีนมียอดส่งออกรวม เพิ่มขึ้น 7.9 เปอร์เซนต์ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

 

          “รัฐบาลจีนเขามองว่า ถ้าจะทำการค้าหรือทำอะไรกับไทย ไม่ใช่เรื่องยาก แค่ใช้เงินเอาลงไปแป๊บเดียวทุกอย่างก็ผ่านขั้นตอนจากไทยได้แล้ว เพราะไทยขึ้นชื่อเรื่องคอร์รัปชั่น มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ คุณลองดูสิ สินค้าไม่มีคุณภาพของจีนเข้ามาขายแสนถูก คนไทยก็ใช้กันสนุกสนาน ตอนนี้ผักผลไม้จีนเข้ามาเยอะแยะ แต่คนจีนเขาไม่กินกันหรอกพวกนี้ แต่คนไทยกินกัน เพราะการตรวจตราสินค้าของไทยมันง่าย ผ่านจากชายแดนก็วิ่งไปถึงตลาดไท ในกรุงเทพฯ แล้ว ไปดูสิที่ตลาดไทนั่นคนจีนทั้งนั้น แล้วเราจะไปสู้อะไรกับเขา ในขณะที่ผลไม้ไทย เข้าไปเมืองจีนยากมาก ถึงแม้จะมียอดนำเข้าไปสูง แต่คนจีนส่วนใหญ่ไม่กล้าซื้อหรอก มันแพง ถ้าบ้านไหนมีผลไม้ไทยวางไว้ในบ้าน นี่จะถือว่าสุดยอดนะ”

 

เขายังเล่าต่ออีกว่า ที่ผ่านมาได้ติดต่อทำธุรกิจกับชาวจีน จนมองเห็นมุมมอง และเล่ห์เหลี่ยมการพลิกแพลงของพ่อค้าชาวจีนได้ชัดเจนหลายอย่าง ซึ่งแน่นอนว่าหากตามไม่ทัน พ่อค้าไทยย่อมเสียเปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนของกลุ่มประเทศอินโดจีน ที่รัฐบาลไทยเองมองนักหนาว่า หากไทยสามารถเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งได้ ไทยจะมีรายได้จากช่องทางนี้มหาศาล โดยไม่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลภาคการเกษตรของไทย ซึ่งเป็นอาชีพสำคัญดั้งเดิม จนอาจลืมนึกไปว่า เกษตรกรไทยจะหลงเหลืออะไรให้ทำมาหากิน นอกจากการเป็นลูกจ้างแบกผักให้พ่อค้าจีน ส่งขึ้นรถตู้คอนเทนเนอร์ส่งไปขายทั่วโลก

 

            “จีนเขาไม่สนใจหรอก รัฐบาลคุณจะทะเลาะเรื่องอะไรก็ทะเลาะกันไป เพราะยังไงรัฐบาลไทยก็จะสร้างเส้นทางสำคัญ มันก็จะสะดวกยิ่งขึ้น ตอนนี้เขาเตรียมการไว้หมดแล้ว สะพานนี้เป็นจุดสำคัญ เพราะสินค้าผ่านช่องทางนี้ได้ง่าย ตอนนี้นอกจากตลาดไทแล้ว จีนยังไปสร้างตลาดที่บางนา กรุงเทพฯ ด้วย มันก็ส่งผ่านกันไปง่าย ยิ่งทวายเปิด คราวนี้เขาไปไกลแล้ว ขณะที่เกษตรกรไทยไม่มีที่ดินจะปลูก ผลผลิตก็ไม่มี จะไปขายจีนก็ยาก ต้องเข้าไปสวมโสร่งในเมืองลาวก่อน จึงจะเข้าไปตลาดจีนได้” นักธุรกิจชายแดนกล่าว

 

 

จับมือไทยสร้าง 4 เส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมทุกเส้นทาง

 

 

          “ตอนนี้เราจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงหลายเส้นทาง ที่จีนทำแผนไว้แล้ว จากทุกทิศทาง ซึ่งจะเชื่อมต่อเส้นทางกันหมด แต่นั่นหมายถึงว่า ธุรกิจที่เคยจะต้องมีคนกลางติดต่อซื้อขายให้ระหว่างพ่อค้าชาวจีนกับพ่อค้าในกรุงเทพฯ โดยผ่านคนในพื้นที่กำลังจะหายไป เพราะพ่อค้าชาวจีน เขาเข้ามาติดต่อเราก็แค่ในช่วงแรก แต่เมื่อเขาไปซื้อขายแล้ว เส้นทางสะดวกแล้ว ตอนนี้เขาใช้ช่องทางติดต่อกันเอง วิ่งลงไปถึงกรุงเทพฯ หรือไปไกลทั่วโลก ตอนนี้เศรษฐกิจในท้องถิ่นจะไม่เหลืออะไรอีกเลย” สงวน ซ้อนศรีสกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย แสดงความกังวลใจ เมื่อถูกถามถึงการพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ที่กำลังก้าวหน้าไปอย่างมากในขณะนี้ โดยระบุว่า แม้จะไม่ปฏิเสธถึงรายได้ที่จะเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น แต่รัฐบาลเองก็ต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กด้วย

 

ปัจจุบันรัฐบาลจีนประสานกับรัฐบาลไทย ในการร่วมมือสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 สาย คือ การสร้างรางรถไฟจากจีน สาย 1 ไปประเทศเวียดนาม เชื่อมตะวันออกของไทยที่ จ.ระยอง เชื่อม จ.ชลบุรี-แหลมฉบัง เพื่อต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย สายที่ 2 จากยูนนาน เข้าสปป.ลาว ทะลุ จ.ขอนแก่น เข้ากรุงเทพฯ สายที่ 3 จากประเทศจีนเข้าสู่พม่า เชื่อมต่อไปยังประเทศบังกลาเทศ มายังย่างกุ้ง เข้าสู่ประเทศไทย ผ่านภาคใต้ไปยังปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย และสายที่ 4 คือสายเหนือเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีอุโมงค์ประมาณ 3 แห่ง แต่ละแห่งมีระยะทางไม่เกิน 2-3 กิโลเมตร (หากเทียบกับประเทศจีนอุโมงค์ยาวถึง 30 ก.ม.) และอาจเชื่อมไปยัง จ.เชียงรายในระยะต่อไป โดยรูปแบบความร่วมมือยังอยู่ระหว่างการตกลง ทั้งในรูปแบบรัฐบาลจีน และไทยร่วมลงทุน หรือรัฐบาลจีนเป็นผู้ลงทุนเอง ล่าสุดมีการจัดทำร่าง TOR เรียบร้อยแล้ว

 

ดังนั้นหากมองจากเส้นทางคมนาคมที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งหมด ทำให้นักธุรกิจท้องถิ่นส่วนใหญ่ เชื่อว่าการเชื่อมต่อเส้นทางโลจิสติกส์ระดับประเทศเหล่านี้ อาจจะไม่ได้ส่งผลดีกับท้องถิ่นมากนัก หากไม่มีการจัดระบบและวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อให้มีการกระจายรายได้และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้าถึงชุมชนท้องถิ่น และคนในพื้นที่ มากกว่าการเป็นเพียงทางผ่าน และจุดแ วะพักของการขนส่งเท่านั้น

 

 

จี้รัฐช่วยธุรกิจท้องถิ่นก่อนธุรกิจขนาดเล็กล่มสลาย

 

 

“ผมว่าภาครัฐจะต้องมองยุทธศาสตร์ในส่วนท้องถิ่นด้วย ไม่ใช่การให้ต่างชาติเข้ามาใช้ประโยชน์บนแผ่นดินของเรา โดยที่เจ้าของพื้นที่ไม่ได้อะไรเลย หรือเข้ามาทำให้ชีวิตของคนท้องถิ่นล่มสลายในทุกภาค ทั้งการค้า เกษตรกรรม กลุ่มห้างขนาดใหญ่ที่มาตั้งที่เชียงของ เขามองที่กลุ่มเป้าหมายกำลังซื้อเป็นคนเชียงของหรือไม่ ไม่ใช่ แต่เขามองไปในกลุ่มชาวจีน การซื้อขายในระดับใหญ่ แต่การค้าระดับชุมชนจะยิ่งตาย อย่างที่ผ่านมาสินค้าของไทยจะถูกส่งไปขายในประเทศลาว ผ่านพ่อค้าแม่ค้าที่รับซื้อสินค้าผ่านเรือข้ามแม่น้ำโขง หรือที่เราเรียกว่ากองทัพมด แต่หากเกิดการค้าที่เป็นระดับสายตรง พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้จะหายไป เป็นการล่มสลายของการค้าในระดับท้องถิ่น อีกไม่นานลูกหลานก็คงจะต้องกลายไปหางานทำที่อื่น เพราะไม่สามารถสู้กับตลาดทุนระดับใหญ่ อย่างจีนหรือห้างของตะวันตกได้ ” รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวในตอนท้าย

 

ที่ผ่านมามีความพยายามรวมตัวกันของกลุ่มคนในภาคประชาชน ใน อ.เชียงของ เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ภาครัฐหันมาให้ความสนใจกับการบริหารจัดการ และเตรียมการเพื่อรับการเข้ามาของการพัฒนาอันรวดเร็วนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพลิกโฉมของเมืองท่าเล็ก ๆ สู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่ระดับชาติ และตั้งรับกับปัญหานานาประการที่จะมาพร้อมกับการค้าขายที่มียักษ์ใหญ่อย่างจีนเป็นแม่ทัพ ด้วยการขอให้รัฐบาลหันกลับมามอง และหาแนวทางช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจท้องถิ่น ในภาคต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ภาคการเกษตร แต่ต้องรวมไปถึงธุรกิจการค้าในทุกระดับ รวมถึงการรับมือในมิติของสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทุกระดับ พร้อมกับรักษาความเป็นเมืองเชียงของ เมืองเก่าในอดีตไว้ด้วย

 

แต่ก็ยังไม่มีเสียงตอบรับที่เป็นรูปธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากนัก ชะตากรรมของ เมืองเชียงของ หลังการเปิดใช้สะพานแห่งใหม่ จึงยังไม่มีใครตอบได้ว่า นอกจากวิถีชีวิตของชาวบ้านจะเปลี่ยนไปอย่างไรแล้ว เกษตรกร นักธุรกิจท้องถิ่น ร้านค้า ฯลฯ จะดำเนินอย่างไรต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: