มธจ.-จุฬา-ธรรมศาสตร์ ผ่านประเมินวิจัยเยี่ยมสกว.

14 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1699 ครั้ง

 

ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดศึกษาในประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม และประกาศผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศในปี 2554 โดยในปีนี้มีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนและมหาวิทยาลัยนานาชาติ เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 34 แห่ง โดยข้อมูลที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย บทความวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ หรือ Proceedings ของการประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2552-2553 และสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรที่ได้รับการอนุมัติในปี พ.ศ.2553-2553โดยมีการถ่วงน้ำหนักบทความที่ตีพิมพ์และประเภทสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรด้วย โดยตัวชี้วัดในการประเมินมี 4 ตัวได้แก่ ตัวชี้วัดที่ 1 Equivalent International Journal Publication/Faculty Member แสดงถึงความสามารถของอาจารย์ในการผลิตผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เทียบเท่ากับวารสารวิชาการระดับนานาชาติ โดยวัดจำนวนบทความต่ออาจารย์ ท่าน ซึ่งบทความแต่ละประเภทจะให้น้ำหนักต่างกันตั้งแต่ 1 ลงมาถึง 0.125โดยบทความที่มีผู้เขียนหลายคนจะให้ปริมาณงานเฉลี่ยตามจำนวนผู้เขียนด้วย

 

ตัวชี้วัดที่ 2 Journal Impact Factor/Faculty Member แสดงถึงความสามารถของอาจารย์ในการผลิตผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีคุณภาพในด้านการได้รับการอ้างอิง โดยวัดจากค่า Journal Impact Factor ต่ออาจารย์ 1 ท่าน ตัวชี้วัดที่ 3 Equivalent International Journal Publication/Discipline แสดงถึงความสามารถของสาขาวิชาในการผลิตผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เทียบเท่ากับวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ตัวชี้วัดที่ 4 Journal Impact Factor/Discipline แสดงถึงความสามารถของสาขาวิชาในการผลิตผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีคุณภาพในด้านการได้รับการอ้างอิง โดยวัดจากค่า Journal Impact Factor

 

โดยในปี 2554 นี้ กลุ่มสาขาวิศวกรรมศาสตร์และกลุ่มสาขาเทคโนโลยี คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการประเมินในระดับ 5 (ระดับดีเยี่ยม) มากที่สุดในแต่ละกลุ่มสาขา/กลุ่มสาขาแพทย์สาสตร์-ทันตแพทยศาสตร์และกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพได้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย /กลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตรและสัตวแพทย์ศาสตร์ได้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนสถาบันมีจำนวนหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยมากที่สุดในปี2554 คือมหาวิทยาลัยมหิดล

 

ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสารรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ Times Higher Education World Rankings เพิ่งจัดลำดับให้ มจธ. เป็น 1  ใน 400 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกปี 2012-2013 และเป็นมหาวิทยาลัยไทยเพียงแห่งเดียวที่ติดอยู่ในกลุ่ม 351-400 กล่าวว่า ผลจากการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาไทยในปี  2556 นี้เป็นผลมาจากนโยบายของมจธ.ในด้านการมุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย และเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฉะนั้นการที่มจธ.มีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นระดับบัณฑิตศึกษาโดยเฉพาะ จึงช่วยให้งานวิจัยของมจธ.มีความเข้มแข็ง อีกทั้งการเน้นเรื่องคุณภาพงานวิจัยทำให้มีผู้นำความรู้จากงานวิจัยมาตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้ผู้อื่นนำไปอ้างอิงไปใช้งานได้ต่อไปจำนวนมาก

 

ซึ่งผลของการประเมินครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า งานวิจัยของมจธ.มีคุณภาพและปริมาณอยู่ในระดับที่ดี ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยของเรามีอาจารย์จำนวนน้อย ทำให้เห็นว่านักวิจัยมีผลิตภาพต่อคนสูง ซึ่งนอกจะนำมาซึ่งชื่อเสียงด้านงานวิจัยของประเทศแล้วยังเป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่ามจธ.เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งชาติที่ Times Higher Education World Rankings ให้ลำดับแรงกิ้ง กับมจธ.เป็นหนึ่งใน 400ไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ ซึ่งมีความสอดคล้องกันกับการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาไทย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ครั้งนี้ อย่างไรก็ตามทิศทางข้างหน้าของมจธ.ยังต้องพัฒนาต่อไป เพราะในบางสาขายังสามารถพัฒนาเพิ่มระดับคุณภาพของงานวิจัยได้อีก โดยมหาวิทยาลัยจะให้การสนับสนุนส่งเสริมให้ทุก ๆ สาขาในมหาวิทยาลัยค่อย ๆ ไต่ระดับยิ่ง ๆ ขึ้นไป รวมทั้งนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม

 

ด้านศ.ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า โครงการการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับสาขาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยเกิดขึ้นเพื่อสำรวจและประเมินคุณภาพงานวิจัยเชิงวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ซึ่งข้อมูลที่ได้จะทำให้ทราบถึงระดับความเข้มแข็งและพัฒนาการของงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสาขาวิชาต่าง ๆ ในสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการสนับสนุนการวิจัยในด้านที่เกี่ยวของของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือสกว.ต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: