ปัญหาวิกฤตทางทะเลเกิดขึ้นเนื่องจากนโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลไม่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในทรัพยากรได้อย่างอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม แต่กลับนำไปสู่การทำลายล้างระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างรุนแรง อีกทั้งยังเอื้อให้ประมงพาณิชย์กอบโกยทรัพยากร ทำลายวิถีชีวิตของชุมชนประมงพื้นบ้านและประมงท้องถิ่น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นโยบายประมงแบบเดิมไม่เอื้อต่อวิถีชาวประมง

 

 

นายสะมะแอร์ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นโยบายการทำประมงเดิมเป็นการละเมิดสิทธิของชาวบ้าน ที่ผ่านมาประชาชนร่วมกันต่อสู้คัดค้านและสามารถชะลอนโยบายบางอย่างไว้ได้

 

 

          “เช่นนโยบายการให้สิทธิประมงหน้าบ้าน ดูเหมือนจะให้ประโยชน์ แต่ความจริงแล้วเป็นการจำกัดเขตในพื้นที่ของตัวเอง เฉพาะจังหวัดของตนเอง ขัดต่อวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่ไปมาหาสู่กัน หรือจำกัดคนเฉพาะผู้สืบสันดานเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่มีสิทธิ์ในการทำประมง ถ้าผมมีลูก 4 คน ลูกผมคนเดียวเท่านั้นที่จับปลาได้ 3 คนที่เหลือต้องทำอาชีพอื่น หรืออย่างการจำกัดเครื่องมือในการทำประมง ถ้าใช้เครื่องมือจับกุ้งก็ต้องใช้เครื่องมือนั้นตลอดทั้งปี ใช้เครื่องมืออย่างอื่นไม่ได้ แต่นโยบายนี้ลืมไปว่าสัตว์น้ำอยู่ที่ฤดูกาล ฤดูกาลหากุ้ง ฤดูกาลจับปลาทู และจำกัดผลผลิต เช่นหากจำกัดการจับสัตว์น้ำที่ครอบครัวละ 1 ตันต่อปี ถ้าหากจับครบโควต้าในเดือนที่ 11 นั้นหมายความว่าจะต้องหยุดการจับทันที”

 

 

นอกจากนี้ยังมีนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน หรือโครงการ SEAFOOD BANK ที่ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเล และให้มีการออกโฉนดที่ดินในทะเล หรือโฉนดน้ำ นายสะมะแอร์เห็นว่า หากอนุญาตให้มีการออกโฉนดที่ดินในทะเลได้จริง ทะเลจะไม่ใช่พื้นที่สาธารณะอีกต่อไป และสุดท้ายนโยบายการขึ้นทะเบียนเรือของชาวประมงเพื่อความปลอดภัย โดยกรมเจ้าท่าให้ใช้เรือประมงได้ในเขตพื้นที่ที่จดทะเบียนเรือเท่านั้น ห้ามออกนอกพื้นที่ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นการทำกินและการไปมาหาสู่ของชาวประมง

 

ส่งเสริมกินสัตว์น้ำแบบผิดๆ ทำลายวัยอ่อน

 

 

 

 

 

ดร.สุภาภรณ์ อนุชีราชีวะ หัวหน้างานการปรับตัวรับมือโลกร้อนและการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่ง มูลนิธิสายใยแผ่นดิน กล่าวถึงนโยบายประมงภายในประเทศว่า ควรให้ความสำคัญ 3 ด้านด้วยกัน คือด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม การทำประมงทำลายล้างในทะเลไทย ยังมีอยู่ทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล ไม่ว่าจะเป็นอวนลาก คราดหอย อวนรุน อวนล้อมปลากะตักกลางวัน อวนล้อมปั่นไฟ เป็นต้น โดยที่การเจริญเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรมปลาป่น-อาหารสัตว์เป็นผลให้เรืออวนลากผิดกฎหมายยังไม่หายไปจากทะเล การทำประมงเร่ร่อนขนาดใหญ่ที่เข้ามาตักตวงทรัพยากรในพื้นที่โดยไม่เคารพกฎกติกา และไม่มีจิตสำนึกของการอนุรักษ์ส่งผลให้ชาวบ้านหมดกำลังใจในการอนุรักษ์

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หรือการขาดความรู้ของประชาชนและการส่งเสริมในทางที่ผิด เช่น การสนับสนุนให้รับประทานลูกปลาทูเพราะมีคุณค่าทางสารอาหารสูง ซึ่งถือเป็นการทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน ก่อให้เกิดเป็นการทำผิดกฎหมายซ้ำซากที่ไม่มีการควบคุมการครอบครอง การได้มา และการซื้อขายสัตว์น้ำวัยอ่อน อีกทั้งยังขาดประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและขาดระบบการพัฒนาที่ดี เนื่องด้วยกฎหมายพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 มีความล้าหลัง ทรัพยากรประมงจึงยังอยู่ในวังวนของ ‘มือใครยาว สาวได้สาวเอา’

 

ประการที่ 2 คือ ด้านเศรษฐกิจ รัฐไม่ควรพุ่งเป้าที่ตัวเลขการส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่ควรมุ่งความสนใจตลาดการบริโภคภายในประเทศและรายได้ของชาวประมงด้วย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า การรับประทานอาหารทะเลถือเป็นมื้อพิเศษ และเป็นเรื่องที่คนอยู่ไกลชายฝั่งเข้าถึงได้ยาก เพราะอาหารทะเลมีราคาแพง แต่ราคาอาหารทะเลจากแหล่งผลิตต่างจากอาหารทะเลในกรุงเทพฯ มาก เนื่องจากมีการกดราคาตั้งแต่แพปลาในชุมชน และมีการผูกขาดตลาดสินค้าสัตว์น้ำในประเทศ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระบบทุนผูกขาดการค้าอาหารทะเล

 

 

          “ทำไมปลาจะต้องถูกนำมาพักยังตลาดมหาชัย ก่อนส่งต่อไปยังพื้นที่อื่น ทำให้ชาวประมงไม่มีตลาด ไม่มีพื้นที่ของการปล่อยสินค้า และที่สำคัญปลาที่จับได้ถูกใส่สารเคมีตั้งแต่ในหมู่บ้านหรือแพปลาเพราะจะต้องถูกนำไปพักหลายที่ก่อนถึงมือผู้บริโภค และผู้บริโภคไม่รู้จักแหล่งผลิตแหล่งที่มาของสินค้าเกิดความสับสน ทำให้เราไม่คำนึงถึงการดูแลทรัพยากร และมองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว

 

ทางด้านสังคม ดร.สุภาภรณ์กล่าวว่า ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรบางครั้งเป็นอันตรายถึงชีวิต ชาวบ้านที่ออกไปช่วยตรวจจับเรือผิดกฎหมายถูกขู่ฆ่า รัฐจึงควรรับรองสิทธิ์ในการจัดการอนุรักษ์ของชาวบ้าน แต่ที่เป็นอยู่ชาวบ้านไม่มีสิทธิในทรัพยากรที่ตนเองพึ่งพา ไม่มีความมั่นคงในรายได้ และไม่มีสวัสดิการ ชาวประมงไม่มีตัวตนกับผู้บริโภค ในฐานะผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและผู้ดูแลทรัพยากร จึงต้องการให้เกิดนโยบายในเรื่องการจัดการทรัพยากรสาธารณะ เพื่อลดการแย่งชิงในพื้นที่ และนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการ

 

 

 

7 ประการเข้าใจผิด อุปสรรคสำคัญในการแก้ไขปัญหา

 

 

ทางด้าน ผศ.ประสาท มีแต้ม อนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในการฟื้นฟูทะเลไทยว่า ปัญหาด้านวิกฤตทะเลไทย ไม่เพียงแต่เรื่องการประมงเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับปัญหาทางสังคม ซึ่งผศ.ประสาทสรุปว่า เกิดจากความเข้าใจผิด 7 ประการ หนึ่ง-เรื่องการเมืองและประชาธิปไตย ประชาชนเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง แต่แท้ที่จริงแล้วประชาธิปไตยคือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อนำไปสู่ประโยชน์ของตน ขององค์กร หรือของประเทศ สอง-ประชาชนไม่เข้าใจพลังที่แท้จริงของตนเอง ไม่เชื่อว่าตนเองสามารถมีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ สาม-ประชาชนไม่สามารถจินตนาการได้ว่าทรัพยากรจะหมดไปจากทะเล

 

 

            “มีเรื่องเล่าของชายชราที่สะทิงพระว่า ตอนวัยหนุ่มขณะที่กำลังปลดปลาออกจากอวน ปลามากถึงขนาดที่ต้องเรียกคนในหมู่บ้านมาช่วยปลด มีคนเดินเข้ามาพูดว่า อีกไม่กี่ปีปลาจะถูกชาวญี่ปุ่นจับไปหมดทะเล ในขณะนั้นชายชราไม่คิดว่าจะเป็นจริงได้ เพราะทะเลนั้นกว้างใหญ่และไม่เชื่อว่าปลาจะหมดไปจากทะเล แต่ปัจจุบันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า มีโอกาสที่สัตว์ทะเลกำลังจะหมดไปในอีกไม่ช้า”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประการที่ 4 ประชาชนมองว่าทะเลเป็นเรื่องไกลตัว ทะเลคือการท่องเที่ยวที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเรา หน้าที่การดูแลและอนุรักษ์ทะเลไม่ใช่ส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ห้า-ความเชื่อว่าหากจับปลามาก รายได้จะเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง หก-ความไม่เข้าใจต่อปฏิสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติ การจับปลาเกินขนาดทำให้แมงกะพรุนและสาหร่ายในทะเลเพิ่มมากขึ้น ไม่เกิดสมดุลทางทะเล การขุดเจาะปิโตรเลียมในทะเลและอุบัติเหตุที่เกิดจากการขุดเจาะปิโตรเลียมในทะเล ก่อให้เกิดภาวะน้ำทะเลขุ่นส่งผลต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ปัญหาคราบน้ำมันตกค้างและสิ่งสกปรกทางทะเล ส่งผลให้สัตว์น้ำกลายพันธุ์ และประการสุดท้าย ประชาชนมองว่าการแก้ปัญหาเป็นเรื่องของรัฐสภา

 

 

          “ประชาชนฝากความหวังไว้กับการแก้กฎระเบียบต่างๆ โดยลืมนึกไปว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องของเราทุกคน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากความโลภ ความกระหายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และไม่สามารถจินตนาการถึงโลกของความไม่เห็นแก่ตัวได้”

 


ป้ายคำ
Like this article:
Social share: