พบปรอทเกินค่าที่อ่าวพร้าว-อ่าวทับทิม  ‘ประมง’ยันอาหารทะเลระยองปลอดภัย

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 14 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2759 ครั้ง

แม้อุบัติเหตุท่อส่งน้ำมันดิบรั่วกลางทะเลอ่าวไทย ในพื้นที่ จ.ระยอง ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) จะผ่านมากว่า 3 สัปดาห์แล้ว และการดำเนินการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมภายนอก จะมีความคืบหน้าจนกระทั่งน้ำทะเลบริเวณชายหาดอ่าวพร้าว กลับคืนเกือบสู่สภาพปกติแล้ว แต่สำหรับผลการตรวจสอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลการตรวจสาเหตุของอุบัติในครั้งนี้ หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล กลับยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน

ข้อสงสัยของผู้ที่ติดตามข่าวจึงยังไม่คลี่คลายมีเพียงบางประเด็นเท่านั้นที่มีการวิเคราะห์ คาดคะเนทางวิชาการออกมาให้ทราบเป็นบางประเด็นเท่านั้น สำหรับสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า จะมีการเปิดเผยผลการสอบสวนในวันที่ 14 สิงหาคมนี้หลังจากที่เคยเลื่อนการแถลงมาแล้วจากสัปดาห์ก่อน และหลังจากการแถลงผลแล้วจะมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

คพ.เผยพบสารปรอทที่อ่าวพร้าว-อ่าวทับทิม

อย่างไรก็ตามในประเด็นผลการตรวจสอบสภาพแวดล้อม ซึ่งมีหน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับผิดชอบก็เริ่มทยอยเปิดผลการตรวจสอบออกมาอย่างต่อเนื่องแล้ว ล่าสุด นายวิเชียรจุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล ชายหาดและอ่าวต่าง ๆ รอบเกาะเสม็ด จ.ระยอง ว่า จากการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลเพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณรอบเกาะเสม็ด จำนวน 12 หาด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อมาตรวจสอบ ปรากฎผลว่า น้ำทะเลตัวอย่างมีความเป็นกรด-ด่าง ค่าออกซิเจนละลายน้ำ มีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้

ขณะที่ผลการตรวจโลหะหนัก ทั้ง 12 หาด พบว่า สารหนูมีค่าไม่เกินมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้คือ 10 ไมโครกรัมต่อลิตร แคดเมียมมีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล ที่กำหนดไว้ที่ 0.5 ไมโครกรัมต่อลิตร  ค่าปรอทส่วนใหญ่มีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้ 0.1 ไมโครกรัมต่อลิตร ยกเว้นที่อ่าวพร้าว มีค่า 2.9 ไมโครกรัมต่อลิตร  หรือ 29 เท่าจากค่ามาตรฐาน และอ่าวทับทิม มีค่า 0.25 ไมโครกรัมต่อลิตร

สำหรับผลการตรวจวัดโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) อยู่ในระดับค่าไม่เกินมาตรฐาน (มาตรฐานของ USEPA ที่กำหนดไว้ ระดับต่ำสุดที่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำ 300 ไมโครกรัมต่อลิตร) สำหรับผลการตรวจวัดปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน ( TPH) ในขณะนี้ยังวิเคราะห์ผลไม่แล้วเสร็จ และคาดว่าจะแถลงผลการตรวจวิเคราะห์ให้ทราบในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

แนะนำนักท่องเที่ยวอย่าเพิ่งลงเล่นน้ำทะเล

นายวิเชียรกล่าวต่อว่า ผลการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลครั้งนี้ เป็นการเก็บตัวอย่างครั้งแรก เมื่อวันที่ 3-4 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าตัวเลขสารต่าง ๆ น่าจะลดลงตามลำดับ แต่ก็ยอมรับว่า กรมควบคุมมลพิษแจ้งผลวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบช้า เนื่องจากติดช่วงวันหยุดยาว อย่างไรก็ตามคพ.ก็ขอแนะนำให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว ควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในพื้นที่อ่าวพร้าวและอ่าวทับทิม ของเกาะเสม็ดไปก่อน จนกว่าจะทราบผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำครั้งที่ 2 ที่เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่คาดว่าจะทราบผลในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ หรือจนกว่าผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลจะเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจากนี้ คพ.จะเร่งแถลงผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำทะเลและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้เร็วขึ้น

            “ในส่วนของอ่าวทับทิมที่มีค่าสารปรอทเกินค่ามาตรฐานนั้น ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของน้ำมันในอ่าวไทย แต่คาดว่าจะเกิดจากกิจกรรมการปล่อยน้ำเสียลงหาด ซึ่งคพ.จะติดตามตรวจสอบอย่างละเอียด และมีมาตรการดำเนินการอีกครั้ง ส่วนจะต้องปิดอ่าวห้ามนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่หรือไม่ ไม่ใช่อำนาจของกรมควบคุมมลพิษ แต่เป็นอำนาจของกรมอุทยานฯ ผมเห็นว่า ยังไม่ควรเปิดอ่าวพร้าวให้ประชาชนเข้าไปท่องเที่ยว ซึ่งกรมควบคุมมลพิษจะนำผลวิเคราะห์ครั้งนี้ ส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมประมง กรมเจ้าท่า ต่อไป” นายวิเชียรกล่าวและว่า ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษมีค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ และค่าตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำและอากาศแล้วประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งจะรวบรวมเพื่อเรียกค่าเสียหายคืนจากปตท.โกลบอล เคมีคอล ต่อไป นอกจากนั้นทางกรมควบคุมมลพิษจะดำเนินการเข้าสำรวจหาดทรายบริเวณอ่าวพร้าว อย่างละเอียดตลอดความยาว 400-500 เมตร โดยใช้วิธีขุดเจาะชั้นทรายความลึก 1 เมตรขึ้นไป เพื่อหาคราบน้ำมันและสารตกค้าง หากพบมีความผิดปกติทางพีทีทีซีจีต้องเข้ามาฟื้นฟูต่อไป

ทช.มั่นใจปะการังฟอกขาวมาจากน้ำมันรั่วแน่นอน

ด้านนายนิพนธ์ พงษ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสำรวจปะการังและสัตว์น้ำบริเวณพื้นที่ประสบเหตุ ระบุว่า จากการสำรวจปะการัง สำรวจพบปะการังเกิดการฟอกขาวใน 4จุด คือ อ่าวน้อยหน่าประมาณ  5 เปอร์เซ็นต์ อ่าวพร้าวด้านเหนือ 5-10 เปอร์เซ็น  อ่าวพร้าวด้านใต้ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นจุดที่น้ำมันมากองรวมกันมากที่สุดในช่วง 2-3 วันแรก และบริเวณอ่าวปลาต้ม 10-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางกรมจะตรวจสอบอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลาอีก 1 ปี เพื่อดูว่าปะการังที่ฟอกขาวเหล่านี้จะตายลงหรือไม่

            “ฟันธงว่าการฟอกขาวครั้งนี้เกิดจากน้ำมันรั่วแน่นอน เพราะไม่มีปัจจัยอื่นที่จะทำให้เกิดการฟอกขาว ซึ่งการฟอกขาวเกิดจากปะการังมีภาวะเครียด และมีฟองน้ำบางส่วนตาย แต่จำนวนยังไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทย เกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ เมื่อปี 2553 ทั้งในพื้นที่อ่าวไทยและทะเลอันดามัน เพราะอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นจาก 29 เป็น 31 องศาเซลเซียส แต่บริเวณที่เกิดการฟอกขาวครั้งนี้เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่มีน้ำมันอยู่ และไม่มีน้ำจืดหรือน้ำเสียไหลปนมา ก่อนหน้านี้ปะการังอยู่ในภาวะปกติไม่มีการฟอกขาวแต่อย่างใด หลังจากนี้จะมีการตรวจสอบเนื้อเยื่อปะการังว่า มีการสะสมของสารไฮโดรคาร์บอนซึ่งเป็นสารประกอบของน้ำมันดิบหรือไม่” นายนิพนธ์กล่าว

การเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการของ ทช.ครั้งนี้ ถือเป็นการตอบข้อมูลที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า สาเหตุการฟอกขาวของปะการัง ในพื้นที่ เกาะเสม็ดมีสาเหตุจากเหตุการณ์ที่น้ำมันรั่วลงทะเล หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เคยระบุว่า แม้ว่าจะพบความผิดปกติของปะการัง ภายหลังการสำรวจ แต่ก็ต้องพิสูจน์ต่อว่า เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เกิดจากคราบน้ำมันหรือไม่ โดยปะการังที่ได้รับผลกระทบนั้นแบ่งได้ 5 ลักษณะอาการ คือ ฟอกขาวบางจุด ผิวเป็นด่าง ฟอกขาวมากกว่าร้อยละ 50-80 สีปะการังซีดลง และมีเมือกปกคลุมมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นอาการป่วยเท่านั้น โดยกรมฯ จะนำทุ่นวางกั้นแนวปะการังที่มีปัญหา เพื่อไม่ให้ถูกรบกวน คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวเองได้อย่างน้อยภายใน 1 เดือน และจะติดตามผลกระทบต่อเนื่องอีก 1 ปี เพื่อประเมินและฟื้นฟูระบบนิเวศให้สมบูรณ์ตามปกติ ส่วนการฟ้องร้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากมีส่วนใดที่กรมฯ สามารถดำเนินการได้จะฟ้องร้องต่อไป

กรมประมงระบุอาหารทะเลปลอดภัย

ในส่วนของสัตว์ทะเลหลังเกิดเหตุได้มีความพยายามในการเรียกความมั่นใจของประชาชน กับการบริโภคอาหารทะเล โดยมีการนำสัตว์ทะเลในบริเวณพื้นที่เกิดเหตุไปตรวจสอบหาสารพิษจากน้ำมัน ว่าจะมีตกค้างอยู่ในสัตว์ทะเลหรือไม่ และมีการเปิดเผย โดยนายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง เป็นผู้แถลงโดยอ้างผลการตรวจสอบจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้วิเคราะห์สารไฮโดรคาร์บอนในตัวอย่างสัตว์น้ำที่กรมประมงได้จัดเก็บในพื้นที่ที่เกิดการรั่วไหลของน้ำมันในบริเวณเกาะเสม็ด ระบุว่า

ผลการวิเคราะห์ปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในรูปสมมูลย์ไครซีน (chrysene equivalent) ในสัตว์น้ำที่จับเมื่อวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2556 จากบริเวณที่คาดว่าได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน ทั้งบริเวณชายฝั่งและห่างฝั่งทั้งแหล่งประมงและแหล่งเพาะเลี้ยง ตั้งแต่นอกฝั่งหาดแม่รำพึง เขตอ.เมืองระยอง ไปจนถึงปากคลองลาวน เขตอ.แกลง

จากการสุ่มเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำจำนวน 24 ชนิด มาวิเคราะห์ประกอบด้วย ปลา 15 ชนิด กุ้ง 1 ชนิด หมึก 1 ชนิด ปู 3 ชนิด และหอย 4 ชนิด พบว่า มีค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน ในเนื้อเยื่อสัตว์น้ำ อยู่ระหว่าง 0.037 ถึง 1.444 ไมโครกรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง (ในรูปสมมูลย์ไครซีน) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.38 (หรือค่ากลาง 0.24) ไมโครกรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง ในรูปสมมูลย์ไครซีนเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลการศึกษาการปนเปื้อนของปิโตรเลียมไฮโรคาร์บอนในสัตว์ทะเลบางชนิด ที่ได้จากหน้าอ่าวศรีราชาและเกาะสีชังฝั่งตะวันออก เมื่อปี 2551-2552 พบว่า ค่าปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนที่ปนเปื้อนในเนื้อเยื่อสัตว์น้ำ ที่จับจากพื้นที่เกิดเหตุครั้งนี้มีค่าต่ำกว่ามาก โดยค่าที่พบในปลาจากพื้นที่ศรีราชาอยู่ระหว่าง 8.52-15.52ไมโครกรัมต่อกรัมน้ำหนักแห้ง ในรูปสมมูลย์ไครซีน อีกทั้งค่าที่ตรวจวิเคราะห์ได้ในครั้งนี้มีค่าใกล้เคียงกับค่าที่ตรวจวัดในสัตว์น้ำที่ได้จากอ่าวไทยตอนบนและชายฝั่งตะวันออก เมื่อปี 2526 (0.012 - 2.376 ไมโครกรัมต่อกรัม น้ำหนักแห้ง) ในรูปสมมูลย์ไครซีน ทั้งนี้ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับค่าของปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในเนื้อเยื่อสิ่งมีชีวิตในทะเล

            “ดังนั้นเมื่อเทียบปริมาณสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน ที่ตรวจวัดได้ในครั้งนี้กับที่เคยศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่ได้เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล พบว่ามีค่าใกล้เคียงกันถึงต่ำกว่าในบางตัวอย่าง จึงกล่าวได้ว่า ณ ขณะนี้ สารประกอบสำคัญในคราบน้ำมัน ยังไม่ได้ปนเปื้อนในสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตามกรมประมงจะติดตามผลในระยะยาว ที่อาจเกิดจากการถ่ายทอดตามห่วงโซ่อาหารต่อไป” อธิบดีกรมประมงกล่าว

สธ.ชี้สารปรอทในอาหารทะเลเป็นปกติ เพราะพบในธรรมชาติอยู่แล้ว

ขณะที่ น.พ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างอาหารทะเลประเภทหอยแมลงภู่สด ปลาสด จำนวน 8 ตัวอย่างจากตลาดเพ และต.แกลง ส่งตรวจหาสารโพลีไซคลิคอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน หรือสารพีเอเอช (PAH: Polycyclic Aromatic Hydrocarbon)และโลหะปนเปื้อน 4 รายการ ได้แก่ สารปรอท ตะกั่ว แคดเมียม และสารหนู ขณะนี้ทราบผล 2 รายการ คือ 1.สารพีเอเอช ไม่พบทุกตัวอย่าง 2.สารปรอท ไม่พบในหอย ส่วนในปลาพบระหว่าง 0.019-0.203 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ไม่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 98 พ.ศ.2529 ที่กำหนดให้อาหารทะเลมีปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม สารปรอทที่ตรวจพบในปลาทะเลนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เนื่องจากสามารถพบได้ในธรรมชาติและปนเปื้อนในอาหารได้อยู่แล้ว

 

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: