จากกรณีศูนย์ข่าว TCIJ นำเสนอข่าวอุตสาหกรรมปลาป่นที่ส่งผลกระทบต่อท้องทะเลไทย โดยต้นทางของปัญหาคือเรือประมงอวนลาก อวนรุน ผิดกฎหมายที่ก่อให้เกิดการทำประมงแบบทำลายล้าง และจับลูกปลาเศรษฐกิจปะปนขึ้นมากับปลาเป็ดที่ใช้ในอุตสาหกรรมปลาป่นเป็นจำนวนมาก โดยเนื้อความตอนหนึ่งพาดพึงถึงซีพี ซึ่งเป็นผู้รับซื้อปลาป่นรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทยถึงกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณปลาป่น จึงสามารถเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อปลาป่น
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2556 นายโรบิน พี แมคอินทอช จูเนียร์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (ซีพีเอฟ) เปิดเผยว่า ขณะนี้ซีพีเอฟทำการสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดซีพีเอฟได้คิดค้นเทคโนโลยีการผลิตอาหารกุ้งที่ใช้ ‘โปรตีนจากถั่วเหลืองและธัญพืช’ ทดแทนปลาป่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจากการทดสอบการใช้อาหารกุ้งที่ปราศจากปลาป่น พบว่า อัตราการเติบโตของกุ้งอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งขณะนี้มีการผลิตอาหารสัตว์ที่ใช้โปรตีนจากพืชดังกล่าวตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (Made to order) บางส่วนแล้ว
“ซีพีเอฟมีความโดดเด่นอย่างมากในด้านการวิจัยพัฒนา และการใช้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ จึงได้นำจุดแข็งนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดการทำประมงอย่างยั่งยืนในประเทศไทย ซึ่งการสรรหาวัตถุดิบอื่นมาทดแทนปลาป่น จะส่งผลให้ลดการใช้ปลาป่น จากการจับปลาของเรืออวนลากที่ผิดกฏหมายได้ นอกจากนี้ที่ผ่านมาซีพีเอฟได้สร้างแรงจูงใจโดยให้ราคาพรีเมียม 3 บาทต่อกิโลกรัม แก่โรงงานปลาป่นที่ใช้วัตถุดิบปลาจากแหล่งที่มาที่ถูกต้อง มีเอกสารหลักฐานรับรองและผ่านการตรวจสอบของกรมประมง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี” นายโรบินกล่าว
การสรรหาวัตถุดิบทดแทนปลาป่น และการให้ราคาพรีเมียมเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสนับสนุนการทำประมงอย่างยั่งยืนของซีพีเอฟที่มีแผนดำเนินการอยู่หลายด้าน อาทิ การเร่งผลักดันการใช้ปลาป่นที่มาจากผลพลอยได้จากการแปรรูปทูน่าและซูริมิ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพในการผลิตอาหารกุ้ง ซึ่งผลพลอยได้นั้น เป็นวัตถุดิบที่มีเอกสารรับรองแหล่งที่มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้ว ขณะเดียวกันโรงงานอาหารสัตว์น้ำทั้ง 4 แห่งของซีพีเอฟ จะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน Best Aquaculture Practices (BAP) และ Aquaculture Certification Council (ACC) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในการรับรองแหล่งที่มาของปลาป่นอย่างมีความรับผิดชอบและยั่งยืน รวมถึงการคัดเลือกผู้ผลิตปลาป่นที่มีใบอนุญาตถูกต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรฐานกรมประมง และยึดถือแนวทางประมงอย่างยั่งยืนตามหลักการใหม่ของกรมประมง ซึ่งจะมีการประกาศใช้ในปี 2557 ครอบคลุมถึงเรื่องการไม่รุกล้ำพื้นที่เขตอนุรักษ์สัตว์น้ำและขยายขนาดตาอวน เป็นต้น
ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ไทยมีโอกาสพบเจอปัญหาการกีดกันทางการค้าได้เสมอ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวโยงกับสิ่งแวดล้อม มนุษย์ สัตว์ และพืช ซึ่งภาคเอกชนต้องเตรียมความพร้อมที่จะรับมือ โดยร่วมมือกับภาครัฐในการจัดการปัญหาต่าง ๆ เช่น ต้องลดผลกระทบประเด็นความยั่งยืน โดยร่วมจัดการปัญหาเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิตของธุรกิจ เพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้าที่จะมีรูปแบบใหม่ ๆ เข้ามาอีก
“วันนี้ต้องยกกรณีของปลาป่นเป็นตัวอย่างที่ทุกภาคส่วน ตลอดห่วงโซ่การผลิตเข้ามาร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนเอ็นจีโอ เพื่อลดผลกระทบในระยะยาว ถ้าเราลดใช้ปลาป่นจากเรืออวนลากจนเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ได้ก็เป็นเรื่องที่ดี จะทำให้ไม่มีการจับปลาพลอยได้ ซึ่งเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย ชาวประมงพื้นบ้านก็จะไม่ได้รับผลกระทบ ภาคธุรกิจเองก็ได้ลดต้นทุน และลดการกีดกันทางค้าจากต่างประเทศ เรียกว่า Win-Win ด้วยกันทุกฝ่าย” นายพรศิลป์กล่าว
นายพรศิลป์กล่าวด้วยว่า การนำร่องของซีพีเอฟที่ให้ราคาพรีเมียมแก่ปลาป่น ที่ได้มาอย่างถูกต้องนั้น เป็นแนวทางสร้างแรงจูงใจที่ได้ผล ทำให้สมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ซึ่งประกอบด้วยบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์รายอื่น ๆ เริ่มเห็นด้วยและทยอยเดินตามแนวทางนี้เช่นกัน โดยคาดว่าสมาชิกทุกรายจะพร้อมสนับสนุนการทำประมงยั่งยืนได้ภายใน 2 ปี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ