เมื่อวันที่ 14 กันยายน ผู้สื่อข่ายรายงานว่า หลังจากภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ แถลงการณ์เรื่องปฏิเสธความช่วยเหลือจากรัฐบาล ส่งผลให้เมื่อ 17.00 น.ได้มีชาวสวนยางปิดถนนทั้งขาขึ้นและล่อง บริเวณบ้านเตาปูน อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากไม่พอใจต่อการแก้ปัญหาราคายางของรัฐบาล
ทั้งนี้แถลงการณ์ดังกล่าวสรุปว่า เพราะรัฐบาลไม่แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าได้ ทางภาคีเครือข่ายฯ จึงขอประกาศว่า “ข้อเสนอและข้อตกลงใด ๆ ต่อรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นอันยกเลิก” หลังจากนี้หากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใด ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นความรับผิดชอบของพวกท่านทั้งนั้นสำหรับภาคีเครือข่ายฯ โดยยึดเอาจิตวิญญาณของท่านพุทธทาส และของเหล่าวีรชนสามัญทั่วทั้งภาคใต้ โดยเฉพาะพ่อจ่าดำ ขอประกาศยกระดับทางจิตใจขั้นสูงสุดด้วยการ “เสียสละ และต่อสู้อย่างถึงที่สุด” เพื่อพี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศ เราได้มอบของขวัญจากการหลั่งเลือด และเสียชีวิตของเหล่าวีรบุรุษ และวีรชนชาวสวนยางภาคใต้ เพื่อให้ดอกผลตกถึงมือชาวสวนยางทุกคน เรายินดีให้ท่านเหยียบเลือด และคราบน้ำตาพวกเรา เพื่อไปรับผลประโยชน์ และความช่วยเหลือของรัฐบาล
นอกจากนี้ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะตัวแทนฝ่ายรัฐบาล เดินทางมาตามนัดหมาย เพื่อทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับแกนนำภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัด ประกอบด้วย 14 จังหวัดภาคใต้ และประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี นำโดย นายอำนวย ยุติธรรม แกนนำภาคีเครือข่าย นายศักร์สฤษฎิ์ ศรีประศาสตร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฝั่งอันดามัน และนายกาจบัณฑิต รามมาก ผู้ประสานงานจากสงขลา
บันทึกข้อตกลงเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมหารือร่วมกัน เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา ที่โรงแรมทวินโลตัส อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อหาข้อยุติร่วมกันระหว่างคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราของรัฐบาลและตัวแทนภาคีเครือข่ายเกษตรกรสวนยาง โดยเครือข่ายเกษตรกรสวนยอมรับแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ และจ่ายเงินช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิต 2,520 บาทต่อไร่ไม่เกิน 25 ไร่
อย่างไรก็ตาม การหารือครั้งนี้ตั้งแต่ 11.00 น. จนถึง 14.00 น.ไม่สามารถตกลงกันได้ โดยตัวแทนรัฐบาลได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงก่อนทันที มีตัวแทนเครือข่ายยอมลงนาม 5 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส ส่วนอีก 11 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ไม่ยอมลงนาม เพราะไม่เชื่อว่า พล.ต.ต.ธวัช จะมีอำนาจเต็มในการดำเนินการ และยังระบุว่าฝ่ายที่ยอมทำบันทึกข้อตกลงไม่ใช่เกษตรกรชาวสวนยางตัวจริง แต่เป็นนักการเมืองในระดับท้องถิ่น อาจเป็นการสมยอมกันทางการเมือง และเห็นว่ารัฐบาลอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงเนื่องจากรัฐบาลอาจมีอายุไม่เกินเดือนตุลาคมนี้
จากนั้น นายศักร์สฤษฎิ์ ศรีประศาสตร์ ผู้ประสานงานฝั่งอันดามัน พร้อมตัวแทนกลุ่มเกษตรกรสวนยาง 11 จังหวัด แถลงสาเหตุที่ไม่ลงนามว่า เนื่องจากไม่มั่นใจในตัวของผู้แทนรัฐบาลว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ และยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องของเอกสารสิทธิต่างๆ ของเกษตรกร และเรื่องของคดีความผู้ชุมนุม พร้อมเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจแท้จริง เช่น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารามาดำเนินการด้วยตัวเอง
ต่อมา พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายภาณุ อุทัยรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอนันต์ คลังจันทร์ นายอำนวย ยุติธรรม นายสายัณห์ ยุติธรรม นายอภินันท์ เชาวลิต ร่วมแถลงข่าวถึงความสำเร็จในการลงนามทันที โดยระบุว่า เป็นสิทธิของเกษตรกรที่จะลงนามหรือไม่ลงนามก็ได้ และยืนยันว่าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา มีอำนาจเต็มในการทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ และยืนยันว่ารัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด
นายสมพงษ์ ราชสุวรรณ กรรมการเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย หนึ่งในแกนนำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์ม จ.สงขลา เปิดเผยว่า ภาพรวมของชาวสวนยางพอใจกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ทั้งเรื่องค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท รวมถึงราคายางขณะนี้ที่ใกล้ถึงกิโลกรัมละ 90 บาท รวมถึงน้ำยางสดก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท แต่อยากให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือเพิ่มเติม ให้มีการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกจ้างกรีดยางวงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี เนื่องจากลูกจ้างกรีดยางเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากนโยบายของรัฐบาล
ขอบคุณข่าวจากคมชึกลึก
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ