เปิดสถิติคนว่างงานเพิ่มเป็น2.64แสนคน ป.ตรีแชมป์เตะฝุ่น-เหตุผลิตเกินต้องการ

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 14 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 8563 ครั้ง

สสช.เผยผลสำรวจภาวะการทำงานคนไทย ก.ย.56

สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ระบุว่า สํารวจแรงงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจําทุกปี โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2506 โดยในช่วงแรก มีการสํารวจเพียงปีละ 2 รอบ รอบแรกเป็นการสํารวจนอกฤดูเกษตร รอบที่ 2 เป็นฤดูเกษตร ต่อมาในปี 2527-2540 เพิ่มการสำรวจเป็นปีละ 3 รอบ โดยเพิ่มสํารวจช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงหลังการจบปีการศึกษา เพื่อดูแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ ในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน ว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และในปี 2541 ได้เพิ่มการสํารวจขึ้นอีก 1 รอบ ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตร ทําให้การสํารวจภาวะการทํางานของประชากรครบทั้ง 4 ไตรมาสของปี

สำหรับในการสำรวจเดือนกันยายน พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นการสำรวจล่าสุดนั้น ได้สรุปผลที่สําคัญ พบว่าจำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 55.13 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน หรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน 39.32 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ที่มีงานทำ 39.00 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.64 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล  6.5 หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน หรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 15.81 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น

ข้อมูล : สำนักงานสถิติแห่งชาติ

อาชีพขายส่ง ขายปลีก ซ่อมจยย.เพิ่มขึ้น ขณะราชการลดลง

สําหรับจํานวนผู้มีงานทํา 39.00 ล้านคน เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการทํางานของประชากร เดือนกันยายน 2556 พบว่า เป็นผู้ทํางานภาคเกษตรกรรม 15.68 ล้านคน หรือร้อยละ 40.2 ของผู้มีงานทํา (ชาย 9.06 ล้านคน และหญิง 6.62 ล้านคน) และทํางานนอกภาคเกษตรกรรม 23.32 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 59.8 ของผู้มีงานทํา (ชาย 12.34 ล้านคน และหญิง 10.98 ล้านคน) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2555 พบว่า ในภาคเกษตรกรรม มีจํานวนผู้ทํางานลดลง 1.0 หมื่นคน (จาก 15.69 ล้านคน เป็น 15.68 ล้านคน) และนอกภาคเกษตรกรรม มีจํานวนผู้ทํางานลดลง 1.4 แสนคน (จาก 23.46 ล้านคน เป็น 23.32 ล้านคน) ในจํานวนนี้เป็นการลดลงในสาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับมากที่สุด 2.0 แสนคน รองลงมาเป็นสาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร 1.6 แสนคน สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า 8.0 หมื่นคน สาขาการก่อสร้าง 6.0 หมื่นคน และสาขาการศึกษา 2.0 หมื่นคน

ข้อมูล : สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ส่วนสาขาที่เพิ่มขึ้นคือ สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 1.0 แสนคน สาขาการผลิต 9.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย 6.0 หมื่นคน สาขากิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดและซักแห้ง เป็นต้น และสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นเท่ากัน 3.0 หมื่นคน และสาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 2.0 หมื่นคน ที่เหลือกระจาย อยู่ในสาขาอื่น ๆ

ข้อมูล : สำนักงานสถิติแห่งชาติ

หากพิจารณาถึงจํานวนผู้ที่ทํางาน แต่ยังทํางานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นผู้ทํางาน แต่ยังมีเวลาและพร้อมที่จะทํางานได้อีก หรือเรียกคนทํางานในกลุ่มนี้ว่า ผู้ทํางานต่ำกว่าระดับ (Underemployment workers) จากผลการสํารวจพบว่า มีผู้ที่ทํางานต่ำกว่าระดับ 2.85 แสนคน หรือร้อยละ 0.7 ของจํานวนผู้ทํางานทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีงานทําแล้วก็ตาม แต่ยังมีเวลาว่างที่มากพอ และพร้อมที่จะทํางานเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการเพิ่มรายได้ให้กับตนเอง

ข้อมูล : สำนักงานสถิติแห่งชาติ

คนว่างงานเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอีก 1.7 หมื่นคน

สําหรับจํานวนผู้ว่างงานในเดือนกันยายน 2556 มีทั้งสิ้น 2.64 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.7 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 จํานวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.7 หมื่นคน (จาก 2.47 แสนคน เป็น2.64 แสนคน) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2556 จํานวนผู้ว่างงานลดลง 5.3 หมื่นคน (จาก 3.17 แสนคน เป็น 2.64 แสนคน)

จํานวนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทํางานมาก่อน 1.37 แสนคน เป็นเพศชาย 7.2 หมื่นคน และเป็นเพศหญิง 6.5 หมื่นคน ส่วนผู้ว่างงานที่เคยทํางานมาก่อนมีจํานวน 1.27 แสนคน ซึ่งลดลง 1.3 หมื่นคน จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 (จาก 1.40 แสนคน เป็น 1.27 แสนคน) โดยเป็นผู้ว่างงานจาก ภาคการบริการและการค้า 5.5 หมื่นคน ภาคการผลิต5.4 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.8 หมื่นคน ตามลําดับ

ส่วนการว่างงานตามกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มวัยเยาวชน หรือผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.7 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) มีอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.4 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 เป็นร้อยละ 2.7 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2556 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 3.7 เป็นร้อยละ 2.7

ปริญญาตรียังครองแชมป์ตกงานมากที่สุด

สําหรับระดับการศึกษาที่สําเร็จของผู้ว่างงานใน เดือนกันยายน 2556 พบว่า ผู้ว่างงานที่สําเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากที่สุด 1.04 แสนคน (ร้อยละ 1.5) รองลงมาเป็นมัธยมศึกษาตอนปลาย 5.9 หมื่นคน (ร้อยละ 1.0) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 5.1 หมื่นคน (ร้อยละ 0.8) ระดับประถมศึกษา 3.1 หมื่นคน (ร้อยละ 0.3) และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1.9 หมื่นคน (ร้อยละ 0.2) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 พบว่า จํานวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นในระดับอุดมศึกษา 4.6 หมื่นคน

ส่วนที่มีอัตราการว่างงานลดลงคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1.8 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 9.0 พันคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเท่ากัน 1.0 พันคน เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงาน เป็นรายภาค พบว่า กรุงเทพมหานคร ภาคกลางและภาคใต้ มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 0.8 รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 0.6 และภาคเหนือร้อยละ 0.3 เมื่อเปรียบเทียบอัตราการว่างงานกับเดือนกันยายน 2555 จะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้น และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคกลาง ตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ สําหรับภาคเหนืออัตราการว่างงานลดลง

ก.แรงงานระบุบัณฑิตตกงานเพราะ ผลิตเกินความต้องการ

ทั้งนี้ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เคยออกมาระบุว่า สาเหตุที่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีแนวโน้มที่จะว่างงานมากขึ้น มีอยู่ 2-3 สาเหตุคือ ในปัจจุบันแนวโน้มการผลิตกำลังคนระดับปริญญาตรี มีการผลิตเกิน เฉลี่ยระหว่างปี 2555-2559 ปีละ 47,256 คน โดยในปี 2555 จำนวน 48,914 คน ปี 2556 จำนวน 37,357 คน ปี 2557 จำนวน 33,966 คน ปี 2558 จำนวน 48,125 คน และปี 2559 จำนวน 67,923 คน ในขณะที่ในระดับ ปวช. ความต้องการของตลาดแรงงาน เฉลี่ยปีละ 21,750 คน

นอกจากนี้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการว่างงานในระดับปริญญาตรีในปี 2556 คือ กลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาใหม่ เนื่องจากนายจ้างเลือกจ้างแรงงานที่มีประสบการณ์และคุณสมบัติ สาขาตรงกับตำแหน่งงาน รวมถึงนายจ้างมีการชะลอการจ้างงานใหม่ ผลจากการปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการในระดับปริญญาตรี เป็น 15,000 บาท ทำให้ภาคเอกชนต้องปรับเงินเดือนตามไปด้วย และปัจจัยจากตัวแรงงานใหม่ ที่หางานไม่ได้จึงหันไปประกอบธุรกิจส่วนตัวแบบแรงงานนอกระบบ ที่ให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า อาทิ ขายของหาบเร่ แผงลอย ขายตรง จึงทำให้เกิดทั้งสภาพว่างงาน และสภาพตลาดขาดแคลนแรงงานรุนแรงขึ้น

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: