ดัชนีการต่อต้านคอร์รัปชั่นของไทยตกต่ำลงเรื่อย ๆ จนมาอยู่ที่อันดับ 102 จาก 177 ประเทศในปีนี้ สะท้อนความรุนแรงของปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข เพราะปัญหาคอร์รัปชั่นไม่เพียงมีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นปมใหญ่ของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศไทยที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ จากที่เคยอยู่อันดับที่ 59 เมื่อหลายปีก่อนและมาอยู่อันดับที่ 88 ในปีที่ผ่านมาและปีนี้ตกลงมาอยู่ที่อันดับ 102 จาก 177 ประเทศ แย่กว่าประเทศโคลอมเบีย ซึ่งมีภาพลักษณ์ของดินแดนมาเฟีย มีปัญหาค้ายาเสพติด และต่ำกว่าอีกหลายประเทศในเอเชียที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของเรา
แน่นอนว่า การมีคอร์รัปชั่นมากขึ้นจะส่งผลต่อประเทศหลายอย่าง ที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจซึ่งเป็นห่วงก้นว่าจะทำให้นักลงทุนไม่อยากมาลงทุน และยังมีผลกับปัญหาทางการเมือง ที่เป็นความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ที่เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากนักการเมืองมีปัญหาคอร์รัปชั่น ถ้าคอร์รัปชั่นหนักข้อขึ้น ประชาธิปไตยก็เป็นปัญหา และที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จะต้องพูดถึงคือ คอร์รัปชั่นมีผลบั่นทอนจริยธรรมของคนในสังคมด้วย
ไม่มีประเทศใดเลยในโลกที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาแล้วก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วขึ้นมาได้ หากมีคะแนนการต่อต้านคอร์รัปชั่นอยู่อันดับแย่ ๆ เช่น ต่ำกว่า 4 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งประเทศไทยไม่เคยได้คะแนนเกิน 4 คะแนนเลย ปัจจัยชี้ขาดที่จะทำให้ประเทศรายได้ปานกลางอย่างประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ นั่นคือ จะต้องปราบคอร์รัปชั่นให้ได้ แต่ปัญหาที่เราเจอกันอยู่คือการเอาผิดกับผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นทำได้ยากมาก โดยเฉพาะผู้มีตำแหน่งสูง เท่าที่จำได้มีเพียงกรณีทุจริตยาของ นายรักเกียรติ สุขธนะ เท่านั้นที่มีการลงโทษได้ ขณะที่นักการเมืองอีกหลายคนที่มีคดีเกี่ยวกับการทุจริต เช่น นายวัฒนา อัศวเหม ในคดีคลองด่าน นายประชา มาลีนนท์ ในคดีรถดับเพลิง หรือกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีหลายคดีเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชั่น บุคคลเหล่านี้ยังอยู่ต่างประเทศทั้งสิ้นยังไม่ต้องมาชดใช้กับเรื่องของคดีที่ตัวเองทำไว้
ดร.สมเกียรตินำเสนอแนวคิดสมการคอร์รัปชั่นของ ศาสตราจารย์ Robert Klitgaard ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจปัญหาคอร์รัปชั่น และมีโอกาสแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในประเทศไทยได้มากขึ้น โดยระบุว่า คอร์รัปชั่น (Corruption) จะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ ดุลพินิจ(Discretion) การผูกขาด (Monopoly) และ กลไกความรับผิดชอบ (Accountability) เช่น ความโปร่งใส หรือสมการ C=D+M-A กล่าวคือ หากดุลพินิจเยอะ คอร์รัปชั่นก็จะเยอะ ขณะเดียวกันหากการผูกขาดมาก มีโอกาสที่จะมีกำไรมหาศาล ล่อให้เกิดคอร์รัปชั่นได้ ส่วนกลไกความรับผิดชอบ หากมีกลไกความรับผิดชอบสูง มีความโปร่งใสมาก โอกาสจะเกิดคอร์รัปชั่นก็จะน้อย แต่ข้อนี้ประเทศไทยยังติดลบอยู่
ดังนั้นการลดคอร์รัปชั่นจึงต้องจัดการกับ 3 ตัวนี้ ซึ่งเสนอว่า ควรลดดุลพินิจ โดย กำหนดกรอบเวลาและจัดทำคู่มือพิจารณาใบอนุญาต กรณีไม่อนุญาตก็ต้องอธิบายและเปิดเผยเหตุผลการไม่อนุญาต ควรลดการผูกขาดด้วยการเปิดเสรี ลดการผูกขาดเศรษฐกิจ ยกเลิกโควตานำเข้าสินค้าต่าง ๆ รัฐควรเลิกผูกขาดทางการค้าเช่น การค้าข้าว ด้านกลไกความรับผิดชอบ ควรให้คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นองค์กรอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงโดยนักการเมืองจึงช่วยลดคอร์รัปชั่นได้
นอกจากนี้ต้องเพิ่มความโปร่งใส โดยการแก้ไขกฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการให้เปิดเผยข้อมูลของรัฐมากขึ้น ถ้าประชาชนรู้เห็นอะไรแบบรัฐโอกาสทุจริตก็จะยากขึ้น รัฐควรเปิดให้สังคมเข้าตรวจสอบได้ เช่น ยอมรับข้อตกลงคุณธรรมในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นได้เสนอว่าเวลารัฐจะทำโครงการขนาดใหญ่ของให้ภาคสังคมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดูด้วย อีกข้อเสนอที่สำคัญคือ แก้กฎหมายให้คดีคอร์รัปชั่นไม่มีอายุความ ซึ่งจะทำให้นักการเมืองซึ่งทำผิดแล้วหนีออกไปต่างประเทศแล้วหวังว่าเมื่อหมดอายุความแล้วจะกลับมาจะได้ไม่ทำแบบนี้อีก
ดร.สมเกียรติ เสนอแนวคิดที่สำคัญด้วยว่า ประเทศไทยควรเข้าเป็นสมาชิกของอนุสัญญาต่อต้านการให้สินบนของ OECD ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศแห่งหนึ่งที่มีกระบวนการในการตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นข้ามประเทศได้ดี หากประเทศไทยเข้าไปเป็นสมาชิกขององค์กรนี้ เราก็จะถูกตรวจสอบด้วย การทุจริตคอร์รัปชั่นก็จะทำได้ยากขึ้น และน่าสนใจว่า ตอนนี้ประเทศอย่างโคลอมเบียก็ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของสัญญาต่อต้านคอร์รัปชั่นของ OECD เรียบร้อยแล้วในปีนี้ และที่จะตามมาก็คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านเรา ซึ่งจะเป็นคู่แข่งของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะหากเขาเข้าไปเป็นสมาชิกก็จะมีความน่าเชื่อถือในเรื่องความโปร่งใสดีขึ้นนักลงทุนก็จะเลือกไปลงทุน กรณีประเทศไทยหากปล่อยไว้อย่างนี้ตนคิดว่าประเทศไทยก็จะหมดเสน่ห์และคนไทยจะเดือดร้อนจากเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น
ขอบคุณภาพประกอบข่าว รูปเด็กถือป้าย จาก ASTV
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ