นโยบายรัฐบี้'อุตสาหกรรมหนังสือ' ดิจิตอลดึง-คนอ่านหนังสือน้อยลง สำนักพิมพ์เล็กปิดแล้วกว่า60แห่ง

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 15 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 2632 ครั้ง

 

ชี้ธุรกิจหนังสือขยายตัวน้อย ทุ่มตลาดวัยรุ่นเพิ่มยอดขาย

 

ข้อมูลจาก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ระบุว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ ปี 2554 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.52 เปอร์เซนต์เท่านั้น นับว่าลดต่ำลงกว่าอัตราการขยายตัวของรายได้ในปี 2553 ค่อนข้างมาก ซึ่งปี 2553 ขยายตัวถึง 11.57เปอร์เซนต์  ทั้งนี้ปัจจัยหลักเกิดจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ ความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนมหาอุทกภัยในไตรมาสที่ 4 ในปี 2554 ของประเทศไทย ทำให้อุตสาหกรรมหนังสือได้รับผลกระทบอย่างมาก การผลิตหนังสือใหม่ลดลง การขนส่งหนังสือทำได้ยาก ทำให้ธุรกิจโดยรวมหยุดชะงัก

 

 

ดังนั้นมูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ ในปี 2554 จึงอยู่ประมาณ 21,500  ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสัดส่วนของมูลค่าตลาดสำนักพิมพ์ เทียบกับมูลค่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ (GDP) แล้ว ได้สัดส่วนมูลค่าตลาดต่อ GDP ที่ 0.21 เปอร์เซนต์ ซึ่งยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่าน ๆ มา

 

นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) กล่าวในเวทีเสวนา “ธุรกิจหนังสือไทย อยู่อย่างไรให้รุ่งในยุคดิจิตอล และเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน” ว่า ในปีนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังสือกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 7 เปอร์เซนต์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 24,200 ล้านบาท โดยหากมีผู้ผลิตที่สามารถผลิตหนังสือที่กลุ่มเป้าหมาย เช่น วัยรุ่นให้ความสนใจมาก อาจจะทำให้ธุรกิจหนังสือโตขึ้นกว่านี้ เนื่องจากกลุ่มผู้อ่านที่เป็นวัยรุ่นมีขนาดใหญ่ ตัดสินใจซื้อง่าย และให้เวลาในสิ่งที่ตนเองสนใจ แม้ว่าอุตสาหกรรมหนังสือจะเจอปัจจัยลบรุมล้อม และลดกำลังซื้อในภาคครัวเรือนลงก็ตาม

 

 

แท็บเลตเข้ามา งบซื้อหนังสือหายไป
 

 

อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2555 ธุรกิจหนังสือเล่ม มีการขยายตัวค่อนข้างดี อาจจะมาจากภาวะการหยุดชะงักของธุรกิจจากสถานการณ์น้ำท่วม เมื่อปลายปี 2554 ทำให้มีการซื้อหนังสือมากขึ้นในต้นปี 2555 ซึ่งสังเกตได้จาก งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 40  ในปี 2555 ที่มีผู้เข้าชมจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล มีผลกระทบชัดเจน และมีนัยสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค และจะทำให้เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับแนวบันเทิง ซึ่งไม่ใช่ความจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

 

 

 

            “แม้ว่ายอดขายเมื่อต้นปี 2555 จะเพิ่มขึ้น แต่จากนโยบายรถคันแรก นโยบายการศึกษาที่ต้องการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหนังสือ เพราะการใช้จ่ายเงินเพื่อซื้อหนังสือของประชาชนได้หดหายไป พร้อม ๆ กัน”

 

 

นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ งบประมาณจัดซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดลดลง เนื่องจากรัฐบาลใช้งบประมาณเพื่อซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียนจำนวนมาก รวมถึงการตัดงบประมาณทุกหน่วยงาน เพื่อการฟื้นฟูน้ำท่วม ดังนั้นภาพรวมธุรกิจหนังสือ ปี 2555 คาดการณ์ว่าจะมีอัตราเติบโตเพียง 5-6 เปอร์เซนต์

 

อย่างไรก็ตามหนังสือที่ตลาดยังคงต้องการคือ หนังสือที่เป็นคู่มือวิชาการ แบบเรียนต่าง ๆ  และหนังสือนิยายรัก ยังเป็นธุรกิจหนังสือที่ยังอยู่ในความต้องการของตลาด แต่ยังมีปัญหาว่าไม่สามารถเพิ่มราคาต่อปกของหนังสือดังกล่าวได้ เนื่องจากงบประมาณมีจำกัดและยอดสั่งซื้อไม่ขยายตัว

 

 

หนังสือปรับราคาผลพวงค่าแรง 300 บาท

 

ส่วนหนังสือเล่ม นอกจากภาระต้นทุนสูงขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำ คือต้นทุนการผลิต การเพิ่มขึ้นของราคากระดาษในปีที่แล้ว และยังขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 บาท ยังกระทบกับส่วนงานที่ยังมีบุคลากรที่ใช้แรงงานขั้นต่ำอยู่ ถึงแม้จะไม่มาก เช่น คลังสินค้า ธุรการ การจัดการต่าง ๆ สำนักพิมพ์ต้องมีภาระค่าจ้างขึ้น โดยส่วนที่กระทบหนักที่สุดคือ ปลายน้ำ ตั้งแต่ส่วนกระบวนการขนส่งไปยังร้านหนังสือ การจัดจำหน่าย และร้านหนังสือ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปแบบการขอขึ้นค่าขนส่ง ของร้านหนังสือค่ายใหญ่ 2 ค่าย ค่าใช้จ่ายทางด้านขนส่ง การใช้บุคคลากรจำนวนมาก ในส่วนของร้านหนังสือ ยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เห็นแนวโน้มของการขึ้นราคาของหนังสือไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเพื่อชดเชยต้นทุนแฝงต่างๆ และความอยู่รอดของทั้งกระบวนการ

 

สิ่งเหล่านี้ทำให้การเลือกซื้อสินค้า มีความระมัดระวังมากขึ้น เช่น การเลือกซื้อหนังสือจากค่ายหนังสือที่โดดเด่นตรงใจเท่านั้น การซื้อต่อครั้งที่ลดลง การเลือกซื้อที่ใช้เวลายาวนานมากขึ้น ทำให้ทั้ง สำนักพิมพ์ และร้านหนังสือต้องปรับตัว ทำสินค้าให้ตรงใจผู้อ่านมากยิ่งขึ้น และยังไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้มากนัก ต้องการอาศัยการขยายฐานจำนวนคนอ่านให้มากขึ้นแทน

 

 

 

ธุรกิจหนังสือเดือด สำนักพิมพ์เล็กปิดตัวกว่า 60 แห่ง

 

            “ปัจจุบันตลาดธุรกิจหนังสือแข่งขันกันอย่างรุนแรง เห็นได้จาก ในปี 2555-2556 สำนักพิมพ์ขนาดเล็กจำนวนมากกว่า 60 แห่งต้องปิดตัวลง ขณะเดียวกันยังมีผู้เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจนี้ยังสามารถเติบโตได้โดยอาศัยช่องว่างของตลาดที่ยังมีอยู่มาก การทำซ้ำ การเลียนแบบ หรือการทำตาม ๆ กันในรูปแบบของหนังสือแนวเดียวกัน หรือรูปลักษณะเดียวกัน เช่น นวนิยาย หรือ หนังสือเรื่องความเชื่อ หากไม่มีความแตกต่าง หรือ มีเอกลักษณ์ มักจะไม่สามารถอยู่รอดได้” นายวรพันธ์กล่าว

 

 

อย่างไรก็ตาม ในภาวะการปิดตัวลงของสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก แต่อีกมุมหนึ่งยังมีผู้นำในส่วนนี้ที่ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สำนักพิมพ์ขนาดเล็ก สามารถขยับเป็นสำนักพิมพ์ขนาดกลางได้อย่างมั่นคงหลายแห่ง สำนักพิมพ์ขนาดกลางสามารถขยับไปเป็นสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ ซึ่งหากมองย้อนไปจะพบว่าเป็นสำนักพิมพ์เหล่านี้มีการปรับตัว ทำหนังสือให้ตรงแนวกับทางการตลาดมากยิ่งขึ้น มีความแม่นยำในการเจาะกลุ่มเป้าหมาย ใช้การตลาด การสร้าง Branding มากยิ่งขึ้น สะท้อนออกมาจากจำนวนหนังสือที่ผลิตออกมาเป็นแนวที่ตลาดต้องการไม่ใช่แนวที่สำนักพิมพ์ถนัด รวมทั้งเป็นการสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัวเท่านั้น

 

 

            “หมวดสินค้าที่ยังเป็นที่นิยมในตลาด ก็มี นิยายวัยใส นิยายผู้ใหญ่ แนวแฟนตาซี ที่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ เข้ามาผลิตจำนวนหนังสือมากขึ้นในตลาดนี้ หนังสือหมวดอื่น ๆ เริ่มขยับตัวเล็กน้อย แนวกำลังใจ หนังสือ How To โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับหุ้น การลงทุนต่าง ๆ หนังสือการ์ตูนความรู้ ถึงแม้ตลาดจะดูไม่ขยับมากนัก แต่คาดว่าปีนี้จะมีผู้ผลิตรายใหม่ ๆ เข้ามากระตุ้นตลาดให้มีการขยายตัวได้อีกครั้ง เพราะเป็นตลาดที่ผู้อ่านยังสามารถสร้างฐานการอ่านได้อีกจำนวนมาก”

 

 

นอกจากนี้การที่กรุงเทพมหานคร ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก การจัดการประชุม IPA Congress 2014 ที่ประเทศไทย ล้วนเป็นตัวกระตุ้นทางหนึ่งให้ตลาดมีการตื่นตัวทั้งทางด้านผู้ผลิต คือ สำนักพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย ร้านหนังสือ การจัดสรรงบประมาณของภาครัฐในการสั่งซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด หากสามารถทำเป็นรูปธรรมร่วมกับการสนับสนุนกิจกรรมของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยในการผลักดันวัฒนธรรมการอ่าน ตลอดจนการนำหนังสือไทยออกสู่ตลาดโลกเพื่อขายลิขสิทธิ์ จะสามารถขยายฐานผู้อ่านให้เพิ่มมากขึ้นได้อีกมากในอนาคต

 

 

สื่อดิจิตอลดึงคนไทยอ่านหนังสือน้อยลง

 

 

ในส่วนของอี-บุ๊ค นายวรพันธ์มองว่าตลาดอี-บุ๊คจะเป็นเพียงตัวเสริมทางด้านสื่อในการอ่านเท่านั้น และยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถทดแทนตัวหนังสือเล่มได้ ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ขณะนี้ในประเทศไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ หากเทียบกับสิงคโปร์ที่มีผู้ใช้อินเตอร์เนทถึง 50 เปอร์เซ็นต์

 

 

           “ไทยยังมีการติดตามและทดลอง ทั้งในส่วนของผู้ผลิต คือ สำนักพิมพ์ ผู้จำหน่าย เช่น ร้านหนังสือ อย่าง AIS ยังคงอยู่ในช่วงทดลองตลาดและเทคโนโลยี ยังมีหนังสือจำนวนน้อยที่ทำการขายบนอี-บุ๊คอย่างจริงจัง น้อยกว่า 0.01เปอร์เซนต์ หนังสือดิจิตอล อาจไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจหนังสือล้มหาย แต่สื่อดิจิตอลอื่น ๆ ต่างหากที่ทำให้คนสนใจหนังสือน้อยลง คำตอบของการอยู่รอดในอนาคตที่คนทำหนังสือต้องคิดคือ นิยามตัวเองใหม่ที่ต้องเป็นมากกว่าหนังสือ”

 

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าห่วงก็คือ การรักษาผู้อ่านให้คงอยู่กับการอ่าน เพราะอินเตอร์เน็ต สื่อออนไลน์ โทรศัพท์มือถือ สังคมสมัยใหม่ ทำให้คนอยู่กับตัวเองน้อยลง อยู่กับคนอื่นมากขึ้น สมาธิสั้นลง ซึ่งจากการสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร ปี 2554 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สำหรับผู้อ่านหนังสือที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปทั้งหมด ใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน และนอกเวลาทำงานเฉลี่ย 35 นาทีต่อวัน ลดลงจากปี 2551 ที่ใช้เวลาอ่านเฉลี่ย 39 นาทีต่อวัน หรือลดลงประมาณร้อยละ 10

 

ส่วนการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 นั้นถือเป็นโอกาสสำคัญที่ ผู้ผลิตหนังสือในฐานะสื่อการเรียนรู้จะหาทางสร้างสรรค์งานเพื่อตอบสนองความอยากรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน  นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องสนับสนุนด้านศูนย์การแปล เพื่อเป็นตัวเร่งให้เกิดการแลกเปลี่ยนงาน และยังเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียนด้านสื่อสิ่งพิมพ์ ยกระดับการอ่าน ความรู้ ความเข้าใจ ระหว่าง คนอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: