เมื่อไม่นานมานี้ ประเทศไทยตกเป็นข่าวดังไปทั่วโลกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานข่าวการเสียชีวิตของสามีภรรยาชาวอังกฤษ นักปั่นจักรยานรอบโลก ที่มาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ทำให้มีคำเตือนเกิดขึ้นในหลายประเทศ เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ว่า นอกจากความปลอดภัยที่ต้องระวังเกี่ยวกับเรื่องปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ แล้ว การเดินทางในประเทศไทยนักท่องเที่ยวยังจะต้องระวังเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ที่จะสามารถเกิดได้ทุกเวลาในประเทศไทยอีกด้วย
ไทยติดอันดับ 2 เมืองอันตรายบนถนน รองจากฮอนดูรัส
ก่อนหน้านี้ปีพ.ศ.2554 มูลนิธิเอฟไอเอ (FIA Foundation) ได้จัดทำรายงานชื่อ Bad Trips International Tourism and Road Deaths in Developing World ระบุว่า อุบัติเหตุเป็นสาเหตุหลักของการตายที่ไม่เป็นธรรมชาติอันดับที่ 1 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันเสียชีวิต ในขณะท่องเที่ยวในระหว่าง พ.ศ.2548-2550 โดยในกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนา ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 2 รองจากประเทศฮอนดูรัส ที่มีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันของกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต เนื่องจากอุบัติเหตุมากที่สุด ในอัตราสูงถึง 48 คน ต่อประชากรนักท่องเที่ยว 100,000 คน สาเหตุสำคัญ คือ ประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่กลับไม่ให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบาย และมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการจัดการความปลอดภัยทางถนนให้นักท่องเที่ยว ปล่อยให้เป็นภาระของภาคเอกชนและธุรกิจท่องเที่ยว ต้องลงทุนด้านความปลอดภัยเอง รวมทั้งขาดระบบติดตามกำกับในเรื่องนี้
นอกจากนี้จากข้อมูลด้านการประกันภัย สำหรับผู้ประสบอุบัติเหตุของบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ยังพบว่า แนวโน้มผู้ประสบภัยที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมูลค่าการจ่ายค่าชดเชย ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในพ.ศ.2551 จำนวน 464 คน เป็น 2,183 คน ในปี พ.ศ.2555 หรือเพิ่มสูงขึ้น 4.70 เท่า เมื่อจำนวนผู้ประสบภัยเพิ่มขึ้น จำนวนเงินชดเชยก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย เห็นได้จากปี พ.ศ.2551 จำนวนเงินชดเชยอยู่ที่ 4,980 ล้านบาท เมื่อมาถึง พ.ศ.2555จำนวนเงินในส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้นไปถึง 21,285 ล้านบาททีเดียว ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่า ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนยังคงเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศไทยอยู่ในขณะนี้
นักวิชาการชี้อุบัติเหตุทำนักท่องเที่ยวขยาด
ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก หัวหน้าคณะวิจัย “ความปลอดภัยในการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทย” เปิดเผยว่า ปัญหาความไม่ปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นปัญหาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย เนื่องจากพบว่า ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีละ 7.51 เปอร์เซนต์ แต่ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของไทยยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางของนักท่องเที่ยวมากที่สุด ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ยังไม่มีรูปธรรมที่เด่นชัด หากเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
จากสถานการณ์ล่าสุดพบว่า มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากประสบอุบัติเหตุทางถนนจนเสียชีวิตในประเทศไทยอยู่เป็นระยะ เช่น นางแบบสาวชาวออสเตรเลีย ที่ประสบอุบัติเหตุจากรถมอเตอร์ไซค์ ที่เกาะสมุย, การเสียชีวิตของนักศึกษาชาวอังกฤษ จากอุบัติเหตุรถตู้ชนรถบัสใน จ.กำแพงเพชร หรือล่าสุดการเสียชีวิตของ สองสามีภรรยานักปั่นจักรยานรอบโลก ที่จ.ฉะเชิงเทรา ส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในประเทศไทย รวมไปถึงปัญหาเรื่องความไม่เข้มงวด ด้านการบังคับใช้กฎหมายด้านความปลอดภัยจราจรในประเทศไทยด้วย
“กรณีของนักศึกษาชาวอังกฤษ 2 คน ที่มาเสียชีวิตจากการขึ้นรถตู้โดยสารที่ถนนข้าวสาร กรุงเทพฯ เพื่อเดินทางไป จ.เชียงใหม่ แต่ต้องประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเนื่องจากคนขับรถ ขับย้อนศร กลายเป็นข่าวดังในประเทศอังกฤษ เพราะหลังจากการเสียชีวิต ครอบครัวของนักศึกษาดังกล่าวได้จัดตั้งมูลนิธิเกี่ยวกับการดูแลเรื่องความปลอดภัยทางถนนขึ้น พร้อมมีการให้ข้อมูลกับสำนักข่าวบีบีซีว่า รถตู้ในประเทศไทยจำนวนมากไม่มีกฎหมายควบคุมเรื่องความปลอดภัย และหลายแห่งเป็นการลักลอบใช้รถผิดประเภท โดยขาดการควบคุมทางกฎหมาย ทำให้เกิดอุบัติเหตุง่าย โดยไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้ ซึ่งหากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นต่อไป นอกจากผลกระทบด้านภาพลักษณ์ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว ที่สำคัญจะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินจากอุบัติเหตุที่ประเมินค่าไม่ได้ด้วย” ดร.ทวีศักด์กล่าว
นักท่องเที่ยวตายช่วงเทศกาลมากเหมือนคนไทย
ดร.ทวีศักดิ์กล่าวว่า จากการวิจัย ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเป็นที่ทราบกันว่า ในช่วงเทศกาล ของไทยมักจะเป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เช่น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา มีรางงานจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประสบอุบัติเหตุทางถนนเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 415 ราย โดยที่เกิดเหตุเป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต (เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 95 ราย),สุราษฎร์ธานี เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 98 ราย,สงขลา เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 8 ราย ,เชียงใหม่ บาดเจ็บ 49 ราย,ชลบุรี บาดเจ็บ 42 ราย กระบี่ บาดเจ็บ 17 ราย ประจวบคีรีขันธ์ บาดเจ็บ 13 ราย แม่ฮ่องสอน บาดเจ็บ 13 ราย ,ตราด บาดเจ็บ 8 ราย และตาก บาดเจ็บ 10 ราย
นอกจากนี้ความเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวยอมรับ ซึ่งนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยในช่วงเทศกาล พบว่า จักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บ ของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุด สูงถึง 95 เปอร์เซนต์ รองลงมาคือ การไม่สวมหมวกนิรภัย และการดื่มสุรา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรของไทย ผิดกับการอยู่ในประเทศของตนเอง
รถตู้ผิดประเภทตัวการทำคนตายบนถนนมากสุด
ส่วนการเดินทางกับรถโดยสารที่ไม่ปลอดภัย เคยมีการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติ นิยมใช้บริการของรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทาง เช่น รถเช่าเหมาเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่รถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดถึงร้อยละ 71 รถที่นำมาให้บริการมีอุปกรณ์ชำรุด คนขับหลับใน อยู่ที่ร้อยละ 3 จากข้อมูลสัมภาษณ์ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยของคนขับรถเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย เช่น กรณีอุบัติเหตุที่อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร คนขับรถย้อนทางเพื่อกลับรถ ทำให้รถจอดอยู่ในตำแหน่งอันตราย เมื่อเกิดอุบัติเหตุทำให้วัยรุ่นชาวอังกฤษเสียชีวิต 3 คน ในขณะที่ปัญหาเรื่องการหลับในนั้น จากการสืบสวนอุบัติเหตุในหลายกรณีพบว่า ส่วนหนึ่งจะพบมากในรถโดยสารประเภทเช่าเหมา เนื่องจากการใช้ผู้ขับรถคนเดียวไม่มีคนขับสลับเปลี่ยน ทั้งที่เป็นการขับรถในเส้นทางไกล ซึ่งทางกฎหมายกำหนดให้ต้องมีคนขับเปลี่ยนระหว่างการขับ เพื่อป้องกันปัญหาความอ่อนล้าซึ่งนำไปสู่การหลับใน
“ปัญหานี้เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าไปดู และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะจะพบได้ว่าไม่เพียงแต่รถโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้น ที่ปฏิบัติเช่นนี้ แต่รถโดยสารประเภทรถตู้ทั่วไปก็มักจะทำผิดกฎหมาย โดยจะพบทั่วไปทั้งในละแวกที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเช่น ถนนข้าวสาร ที่มีรถตู้ที่ไม่ใช่รถตู้โดยสารสาธารณะ แต่เป็นรถตู้ที่จดทะเบียนส่วนบุคคลมารับส่งผู้โดยสารไปยังจังหวัดท่องเที่ยวไกล ๆ ในราคาที่ถูกกว่ารถที่ถูกกฎหมาย ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกใช้บริการ แต่ในระหว่างการเดินทาง คนขับรถก็ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของรถยนต์สาธารณะ เพราะไม่มีกฎหมายควบคุมถึง เช่นจะต้องมีการเปลี่ยนมือคนขับ แต่กลับขับคนเดียวทำให้เกิดความอ่อนล้า จนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแต่กับนักท่องเที่ยว แต่ก็ส่งผลถึงผู้โดยสารชาวไทยทั่วไปด้วย”
หลากปัญหาการจัดการ ทำเกิดข่าวเชิงลบหลังกลับประเทศ
งานวิจัยฉบับดังกล่าวยังศึกษาถึงภาระที่เกิดขึ้นหลังอุบัติเหตุพบว่า นักท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุในประเทศไทยส่วนใหญ่ประสบปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอนในการจัดการต่าง ๆ ตั้งแต่ขณะเกิดเหตุ หลังเกิดเหตุ หรือช่วงเยียวยา ที่มักจะสร้างความยุ่งยากกับนักท่องเที่ยว ครอบครัวของนักท่องเที่ยวที่เกิดอุบัติเหตุทั้งในด้านความช่วยเหลือ การรักษา การสื่อสาร ค่าใช้จ่าย ค่าชดใช้ การติดตามเรื่องคดีความ เอกสาร ตลอดจนการขอรับความช่วยเหลือในด้านการหาข้อมูลในประเทศไทย ทำให้ผลที่สะท้อนกลับมาจากปัญหาความยุ่งยากนี้คือ การเกิดความไม่พอใจและกลายเป็นข่าวในเชิงลบมากขึ้นกับประเทศไทย ที่เกิดจากการสูญเสียเหล่านั้น
จากการที่ลงพื้นที่ศึกษาของทีมวิจัย เรื่องการยกระดับความปลอดภัยในการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติตามมาตรฐานสากล ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสภาวิจัยแห่งชาติ ในอุบัติเหตุจราจรทางถนน ที่เกิดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากขั้นตอนการจัดการหลังการเกิดอุบัติเหตุของประเทศไทย มีความยุ่งยากและไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว หรือครอบครัวของนักท่องเที่ยวในด้านด้านต่างๆ ได้เท่าที่ควร เช่น กรณีของครอบครัวชาวอังกฤษที่สูญเสียลูกชายอายุ 19 ปี ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย และรถทัศนาจรคันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปัญหาความไม่ปลอดภัยของยานพาหนะ ครอบครัวต้องประสบปัญหาในการหาความช่วยเหลือในเชิงวิชาการ และการช่วยเหลือในเชิงการฟ้องร้อง
ส่วนอีกกรณีเป็นอุบัติเหตุรถตู้นักท่องเที่ยวชาวจีน เกิดอุบัติเหตุแหกโค้งข้ามช่องจราจร ไปชนกับรถบรรทุก กรณีนี้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนได้รับบาดเจ็บ 11 คน และจากการลงสืบสวนเชิงลึกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของคดีทราบว่า ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนของเจ้าของบริษัทรถตู้ชาวไทยที่ให้เช่า รวมถึงค่าชดใช้จากประกันภัยต่าง ๆ ซึ่งอุปสรรคที่พบอีกประการหนึ่งคือ การสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ ทั้งในส่วนของโรงพยาบาล ซึ่งต้องใช้ในการสอบถามอาการขณะรักษาและรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสอบปากคำนักท่องเที่ยวด้วย
ร.พ.รัฐซวยแบกรักค่ารักษาเพราะติดต่อญาติไม่ได้
นอกจากนี้พบว่า ยังมีปัญหาเรื่องของภาระในการแบกค่ารักษาพยายาลของโรงพยาบาลที่ต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลแทนนักท่องเที่ยวที่ประสบเหตุในหลาย ๆ ครั้ง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามารับการรักษา ระบุว่า หลายครั้งที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประสบอุบัติเหตุและส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งบาดเจ็บเบาบาง บาดเจ็บสาหัสและในรายที่เสียชีวิต บางกรณีทางโรงพยาบาลไม่สามารถเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากผู้ประสบเหตุได้ และแม้แต่ครอบครัวของผู้ประสบเหตุ เนื่องจากบางรายที่เสียชีวิต และไม่สามารถตามหาญาติหรือครอบครัวให้มาชดใช้ค่ารักษาแทน ในกรณีที่มีการดำเนินการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไปแล้ว ทางโรงพยาบาลต้องแบกรับภาระไป แม้บางกรณีจะมีบริษัทประกันภัยมาจ่ายค่าใช้จ่ายแทน แต่เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลเกินวงเงินที่ผู้ประสบเหตุได้รับ บางรายค่ารักษาพยาบาลมีวงเงินในหลักล้านบาท แต่โรงพยาบาลจะได้รับคืนจากค่าประกันภัยที่ผู้ประสบเหตุได้ทำไว้ แต่ก็ไม่เพียงพอกับค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง และยิ่งในกรณีที่เสียชีวิต ไม่สามารถติดต่อญาติหรือครอบครัวของนักท่องเที่ยวที่เสียชีวิตได้ ส่วนต่างที่ได้รับชดเชยจากการประกันภัยทางโรงพยาบาลจำเป็นต้องเป็นฝ่ายแบกรับ เนื่องจากไม่สามารถทำอะไรได้
“ปัจจุบันกรณีแบบนี้มีมากขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวนิยมมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ยิ่งในช่วงเทศกาลก็จะยิ่งมีปัญหาในลักษณะนี้มากขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลจำเป็นต้องรับภาระเหล่านี้อยู่เป็นประจำ” เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรายหนึ่งกล่าว
ชี้นโยบายไม่ชัด หน่วยงานเจ้าภาพไม่มี
ในรายงานการวิจัยฉบับนี้ ยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาด้านการจัดการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบว่าเป็นเรื่องของการขาดความชัดเจนด้านหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพ ในการดูแลเรื่องนี้โดยตรง และยังขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทย จะมีการจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน โดยมีศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเป็นหน่วยงานหลัก ที่รับผิดชอบด้านการจัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนทั้งหมด โดยตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน พ.ศ.2554 สำหรับระเบียบดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ชุด คือคณะกรรมการระดับนโยบายที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีกับปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ซึ่งมีหน้าที่ในการวางนโยบายและกำกับ ติดตามการทำงานตามแผน และคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และผู้บริหารจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยทางถนน ซึ่งมีหน้าที่ในการดำเนินงานตามแผนและนโยบายที่ได้รับมอบหมาย ตลอดจนแต่งตั้งคณะทำงานในประเด็นที่สำคัญ จากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีด้านความปลอดภัยทางถนน พบว่าไม่มีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวอยู่ในกรรมการทั้ง 2 ชุด ทำให้ขาดความชัดเจนด้านหน่วยงานเจ้าภาพและบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในการจัดการเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานวิจัยยังได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ด้วย ดังนี้ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ความหมายของความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวควรให้ครอบคลุมไม่เพียงแต่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่ให้รวมไปถึงความปลอดภัยในการเดินทางด้วย
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ควรจัดทำแผนความปลอดภัยทางถนน ของนักท่องเที่ยว โดยเชื่อมโยงกับแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน แผนแม่บทการท่องเที่ยว และแผนงานของหน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวง คมนาคม สำนักงานตำรวจแหงชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พร้อมทั้ง กำหนดให้จังหวัด หรือเมืองท่องเที่ยว (ภูเก็ต เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ เมืองพัทยา แม่ฮ่องสอน ฯลฯ) ได้ดำเนินการจัดทำแผนด้านความปอลดภัยทางถนน ควบคู่ไปด้วย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ทท่ท.สตช. ศปถ. เร่งจัดทำระบบข้อมูลสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งวิเคราะห์สาเหตุเชิงลึก ในทุกรายที่มีการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บรุนแรง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ผลักดันให้มีกองทุนช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ประสบอุบัติเหตุ รวมทั้งกำหนดให้รถสาธารณะที่นำมาบริการนักท่องเที่ยว (รถทัศนาจร) ต้องมีประกันภัยชั้นหนึ่ง ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เจ้าของรถ (ผู้ประกอบการ) และ หรือ บริษัทัวร์ ต้องเข้ามามีส่วนร่วมดูแล และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ปล่อยให้เป็นภาระของนักท่องเที่ยว
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และกรมการขนส่งทางบก ส่งเสริมมาตรฐานการจัดการรถโดยสารที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ISO 39001 Road Traffic Safety Management Systems เพื่อเป็นข้อมูลในการคัดเลือกรถโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวของผู้ให้บริการท่องเที่ยว
จัดทำสื่อเอกสาร คู่มือ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัยในเมืองไทย ได้แก่ คู่มือการเลือกเส้นทาง ยานพาหนะในการเดินทาง กฎหมายที่เกี่ยวข้อง แนวทางการใช้รถ ใช้ถนนที่ปลอดภัยในเมืองไทย คู่มือให้ความรู้สำหรับครอบครัวของนักท่องเที่ยว กรณีที่ประสบอุบัติเหตุ และเสียชีวิตว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ติดต่อประสานงานอย่างไร
ส่วนข้อเสนอแนะในประเด็นหลักสำคัญ ที่ควรมีการดำเนินการโดยเร่งด่วน คือ เข้มงวดกับร้านเช่า/เหมา รถจักรยานยนต์ ที่ให้บริการกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเน้น ให้เช่า/เหมา เฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ พร้อมทั้ง กวดขันเรื่อง การใช้หมวกนิรภัย ไม่ดื่มแล้วขับ เนื่องจากรถจักยานยนต์ในเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ จะเป็นที่นิยมในการเช่า เหมา เพื่อขับขี่ท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการบางส่วนขาดการจัดการเรื่องคตวามปลอดภัย เช่น ไม่มีการตรวจสอบใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่ได้กวดขันให้นักท่องเที่ยวสวมหมวกนิรภัย
สำหรับกรณีนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยรถสาธารณะ ควรมีการจัดการด้านความปลอดภัย ในประเด็นสำคัญ ดังนี้
ให้กรมการขนส่งทางบก กวดขันและดำเนินการกับรถสาธารณะที่ “ใช้รถผิดประเภท” ได้แก่ การนำรถทัศนาจรหรือรถส่วนบุคคล มารับนักท่องเที่ยวในลกัษระของรถประจำทาง ซึ่งจุดที่พบว่าเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ จะเป็นจดรวมของนักท่องเที่ยว อาทิ เช่น ถนนข้าวสาร
บริษัททัวร์ ควรเลือกรถสาธารณะที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน มีเข้มขัดนิภัยทุกที่นั่ง (พร้อมทั้ง มีมาตการที่ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวคาดเข็มขัดนิรภัย ขณะโดยสารรถ) และกรณีที่มีการเดินทางเกิน 400 กม.ควรมีพนักงานขับรถอีก 1 คน กรณีที่เดินทางในเส้นทางลาดชัน ควรหลีกเลี่ยงการใช้รถบัส 2 ชั้น
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ