เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556 บริเวณ ริมแม่น้ำสาละวิน ม.บ้านสบเมย ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ลุ่มน้ำสาละวินซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่าประมาณ 200 คน ร่วมกันบวชป่าเฉลิมพระเกียรติ พร้อมทั้งทำพิธิสืบชะตาแม่น้ำสาละวิน เนื่องจากวันหยุดเขื่อนโลก ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันจัดงานต่อเนื่องมาเป็นเวลา 8 ปี เพื่อสืบสานวัฒนธรรมชุมชน ในการแสดงความเคารพและดูแลธรรมชาติ ที่สำคัญคือสะท้อนความไม่เห็นด้วยในโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน
นายเดชา ศรีสไวดาวเรือง ผู้ใหญ่บ้านสบเมย กล่าวว่า ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำและป่ามานาน การจัดพิธีกรรมครั้งนี้เป็นการต่ออายุของป่าชุมชน หรือ ป่าเฉลิมพระเกียรติ รวมทั้งแม่น้ำที่ชาวบ้านหลากชาติพันธุ์ร่วมกันปกป้องรักษา เพราะทุกคนทราบดีว่า ป่าและแม่น้ำมีพระคุณกับชาวบ้านที่เอื้อเฟื้อทรัพยากรแก่ผู้อาศัย แม้ว่าคนภายนอกจะมีการกล่าวหาว่าชาวเขาทำลายป่า เผาป่า บุกรุกป่าก็ตาม แต่ทุกคนรู้ดีว่า ควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในการอาศัยอยู่
“ผมอยากให้ชาวบ้านรับรู้ว่า เราโชคดีที่อยู่ในป่า มีทรัพยากรให้พึ่งพา ต่างจากเมือง มีแต่ควันพิษ ที่ไม่ใช่ควันพิษจากธรรมชาติ แต่เป็นสารก่อมะเร็ง เช่น เรื่องของควันจากท่อไอเสีย ดังนั้นเมื่อเราโชคดี ที่มีทรัพยากรใช้อย่างเพียงพอ เราก็ควรมีความเคารพต่อสิ่งที่มี” นายเดชากล่าว
ด้านนานตริณ ศรีอมรมารี ชาวบ้านสบเมย กล่าวว่า หมู่บ้านสบเมยมีแม่น้ำสาละวิน เป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่าน แล้วมาบรรจบกับแม่น้ำเมย ซึ่งติดอยู่กับชายแดนพม่า แต่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หลวง ชาวบ้านส่วนมากมีอาชีพทำการเกษตร เช่น ปลูกข้าว ทำไร่ผัก และยาสูบ โดยอาชีพที่สร้างรายได้มากที่สุด คือ ยาสูบ ที่ชาวบ้านต่างจับจองพื้นที่เพื่อทำเกษตรตามความถนัดของครัวเรือน โดยชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์ต่างมีการจัดการทรัพยากรด้วยตนเองอย่างลงตัว
“แต่เดิมนั้น มีการทำเกษตรในพื้นที่กว้างขวาง แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่หลวง รัฐก็มีการส่งเสริมการปลูกป่าสักเข้ามา พื้นที่เกษตรก็น้อยลง ชาวบ้านมีข้อจำกัดในเรื่องการจัดการทรัพยากรมากขึ้น อยากปรับปรุง เปลี่ยนแปงพื้นที่ก็ลำบาก เพราะมีความรู้เรื่องกฎหมายน้อย” นายตริณกล่าว
นายตริณกล่าวด้วยว่า นอกจากปัญหาพื้นที่เกษตรลดลงแล้ว ข่าวการสร้างเขื่อนฮัตจี ในพื้นที่แม่น้ำสาละวินนั้นเป็นอีกภัยคุกคามที่ สร้างความกังวลแก่ชาวบ้าน เพราะโดยสัญชาตญาณ ชาวบ้านรู้ดีว่า หากเขื่อนเข้ามาน้ำจะต้องท่วมหมู่บ้านสบเมยอย่างแน่นอน แม้ว่าเขื่อนฮัตจีจะมีแผนการสร้างในพม่าก็ตาม แต่ก็ห่างจากตัวหมู่บ้าน 47 กิโลเมตร ซึ่งหากเขื่อนสร้าง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมน้ำ ทั้งปะกากะญอ กะเหรี่ยง และอีกหลายชาติพันธุ์ ก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย
นายนุ ชำนาญคีรีไพร ผู้นำเครือข่ายจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน กล่าวว่า ขณะนี้แม้ยังไม่เห็นภาพชัดว่าโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน มีการเดินหน้าไปอย่างไรบ้าง แต่ชาวบ้านต่างรู้ดีว่ายังมีความพยายามที่จะสร้างเขื่อนอยู่ เพราะบางหน่วยงานได้มาลงพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้สร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้านมาโดยตลอด ที่สำคัญคือชาวบ้านแทบไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลใดๆจากทางการเลย ทั้งๆที่เป็นผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชนลุ่มน้ำสาละวิน
“ผมอยากให้รัฐบาลใส่ใจความรู้สึกของชาวบ้านมากกว่านี้ เราไม่อยากรู้ตัวอีกที เมื่อมีการลงมือสร้างเขื่อนแล้ว ทุกวันนี้เราพยายามปกป้องดูแลป่าและแม่น้ำ ไม่ให้ใครมาทำลาย ผมอยากเห็นความชัดเจนว่า เขาจะเอาอย่างไรกันแน่ เพื่อที่เราจะได้หาข้อสรุปที่จะเดินหน้าอย่างไรต่อไป”นายนุกล่าว
ทั้งนี้จากข้อมูลของเครือข่ายสาละวินวอชต์ (Salwin Watch) ระบุว่า พม่าได้แจ้งความคืบหน้าต่อรัฐสภา ว่า ได้อนุมัติโครงการสร้างเขื่อนทั้งหมด 6 โครงการจากเดิมเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีมากถึง 13 โครงการ ได้แก่ เขื่อนสาละวินตอนบน หรือกุ๋นโหลง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน ใกล้ชายแดนจีน มีกำลังการติดตั้ง 1,400 เมกะวัตต์ และไฟฟ้า 1,200 เมกะวัตต์ ซึ่งหากสร้างเสร็จจะส่งขายแก่ประเทศจีน เขื่อนมายตงหรือท่าซางมีงบประมาณลงทุนมากถึง 3.6 แสนล้านบาท จะนำไฟฟ้าไปขายแก่ กฟผ.ไทย เขื่อนหนองผา เขื่อนมานตอง และเขื่อนยวาติ๊ด เป็นการลงทุนโดยบริษัทจีน 5 แห่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต อินเตอร์ ของประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทพม่า 3 แห่ง ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนนั้นจะกระทบผู้คนมากถึง 13 ชาติพันธุ์ เช่น ลีซู นู ตู่หลง ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ฯลฯ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ