จี้รัฐบาลดูแลปาก ‘ปลอดประสพ’ ขวางปชช.-เอ็นจีโอร่วมจัดการน้ำ ปปช.จับตากบอ.ใช้งบ3.5แสนล.

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 15 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2327 ครั้ง

 

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้ง หลังจาก นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระหว่างที่ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดการจัดการประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2  ระหว่างวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2556 ที่ศูนย์การประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จ.เชียงใหม่ ระบุว่า “หากมีภาคประชาชน เอ็นจีโอ เข้ามาประท้วงจะสั่งให้จับกุมผู้ประท้วงทั้งหมดไปดำเนินคดี และขอเตือนว่า ไม่ให้มีการชุมนุมประท้วงเด็ดขาด เพราะสถานที่จัดการประชุมครั้งนี้ไม่ใช่สถานที่จัดการประท้วง จะไม่จัดสถานที่ไว้ให้ มีแต่จัดคุกไว้ให้เท่านั้น และจะไม่มีการเจรจาใด ๆ ทั้งสิ้น มีแต่จับอย่างเดียว และคนเชียงใหม่ก็ไม่ควรปล่อยให้คนพวกนี้ที่เหมือนขยะมาเกะกะด้วย”

 

จนเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคประชาชนทั้งในสายสิ่งแวดล้อม และสังคม ที่เห็นว่าการออกมากล่าวอย่างรุนแรงของนายปลอดประสพเช่นนี้ นอกจากจะไม่ได้ทำให้เกิดการยุติการชุมนุมแล้ว อาจจะสร้างความไม่พอใจให้กับภาคประชาชน จนกลายเป็นความรุนแรงได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้รัฐมนตรีลุอำนาจ รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

 

 

ล่าสุดในการเสวนาเรื่อง “ส่อง 3.5 แสนล้าน ผ่านแว่นวิชาการ” ที่ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดย สำนักงานปฏิรูปประเทศไทย ศ.สุริชัย หวันแก้ว  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า การแสดงออกและพูดจาอย่างรุนแรงของนายปลอดประสพ ถือว่าเป็นการแสดงวุฒิภาวะทางอารมณ์ ที่ไม่ควรจะเป็นการแสดงออกของผู้นำในระดับผู้บริหารประเทศ และลืมไปว่า อำนาจหน้าที่ที่ได้รับมานั้น เป็นสิ่งที่ได้รับมาจากประชาชน แต่กลับแสดงท่าทีเหยียดหยาม การแสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่พยายามจะแสดงความคิดเห็น ต่ออนาคตของประเทศเช่นเดียวกัน รัฐบาลเองก็จะต้องตระหนักว่าบรรยากาศแบบนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความปรองดองอย่างที่ทุกคนเรียกร้อง แต่กลับจะเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม

 

 

            “การที่มีรัฐมนตรีคนหนึ่งออกมาพูดจา ที่แสดงความลุแก่อำนาจ โดยไม่มองเห็นว่า อำนาจนั้นก็ได้มาจากประชาชน แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะทางอารมณ์ว่า ไม่ควรจะเป็นผู้ที่อยู่ในระดับบริหารประเทศ ถือว่าเป็นการแสดงอำนาจที่เลยเถิดไปแล้ว รัฐบาลเองก็ควรจะต้องรับผิดชอบ และพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย เพราะโครงการต่าง ๆ  ที่จำเป็นจะต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบถึงประชาชนด้วย ก็ควรจะให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เครือข่ายวิชาการต่าง ๆ ที่เสนอแนะ การออกมาพูดแบบปากพาไปอย่างนี้ ถือว่าเป็นอันตราย” ศ.สุริชัยกล่าว

 

 

 

 

 

ศ.สุริชัยกล่าวต่อว่า ขณะนี้สังคมไทยอยู่ระหว่างทางแพร่งของความเสี่ยง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายและภาวะการเป็นผู้นำ ว่าจะให้ประเทศไทยไปในทิศทางใด เสี่ยงน้อยลง หรือเสี่ยงมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยได้เรียนรู้มาจากความหวังในเรื่องต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ยังมองไม่เห็น เป็นเรื่องของอนาคต ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน รวมถึงภาควิชาการ เครือข่ายมหาวิทยาลัยด้วยที่จะต้องออกมาให้ความคิดเห็นเสนอแนะ เพื่อไม่ให้ประเทศอยู่ในความเสี่ยงที่มากขึ้น แต่หากรัฐบาล หรือผู้นำไม่สนใจก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ความไม่พอใจย่อมสะสมอยู่เรื่อย ๆ และรอเพียงวันปะทุขึ้นมาเท่านั้นเอง

 

 

ภาคประชาชนไม่กลัวเดินหน้าเคลื่อนไหวต่อ

 

 

ขณะที่นายหาญณรงค์  เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า การที่นายปลอดประสพออกมาพูดจาเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ทุกคนกลัว แต่กลับเหมือนการยั่วยุให้เกิดความต้องการที่จะไปเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมากขึ้น เพราะประชาชนเองก็มีสิทธิที่จะแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ การปิดกั้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนของนายปลอดประสพเช่นนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องพิจารณา เพราะมีคนที่เป็นถึงรองนายกรัฐมนตรีแต่กลับดูหมิ่นประชาชนว่า เปรียบเหมือนขยะ นายปลอดประสพเองก็ต้องพิจารณาตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่เหมาะสมหรือไม่

 

ส่วนการเคลื่อนไหวในระหว่างการประชุมนั้น นายหาญณรงค์กล่าวว่า ภาคประชาชนยืนยันที่จะเคลื่อนไหวต่อไป ในลักษณะของการตั้งโต๊ะแถลงข่าวแสดงจุดยืนของภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวมาโดยตลอด โดยเฉพาะการใช้งบประมาณในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลจำนวน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้การทำงานของ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ (กบอ.)กำลังดำเนินการแบบผิดทิศผิดทาง และผิดหลักการที่ควรจะเป็น และไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขณะเดียวกันจะมีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความมั่นคงทางน้ำระหว่างประเทศ โดยจะมีการสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ไปยังผู้นำด้านน้ำจากประเทศต่าง ๆ ด้วย

 

 

 

ปลอดประสพสั่งติดต่อ ‘ริชชี่’ แสดงละครคู่

 

 

การให้สัมภาษณ์อย่างเผ็ดร้อนของนายปลอดประสพ เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางไปเตรียมการจัดการประชุมผู้นำด้านน้ำที่จะมีผู้นำในระดับประธานาธิบดี รัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงจากประเทศต่างๆ ในแถบเอเซียแปซิฟิกเข้าร่วมประชุมรวมกว่า 50 ประเทศ จำนวน 2,000 กว่าคน โดยใช้ศูนย์การประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จ.เชียงใหม่ เป็นสถานที่จัดประชุม และในการประชุมครั้งนี้นายปลอดประสพ จะร่วมแสดงละครเป็นพญาเม็งราย ให้กับผู้นำได้ชมในระหว่างงานเลี้ยงต้อนรับด้วย ทั้งนี้รายงานข่าวระบุว่า ได้มีคำสั่งให้ฝ่ายผู้จัดงานติดต่อไปยัง น.ส.อัมราวดี ดีคาบาเรส หรือ “ริชชี่” เพื่อให้มารับบทนำ คู่กับนายปลอดประสพในการการแสดงครั้งนี้ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมด้วย

 

นอกจากนี้การออกมาแสดงท่าทีแข็งกร้าวของนายปลอดประสพต่อภาคประชาชน และเอ็นจีโอ ซึ่งมีกำหนดการจะจัดเวทีคู่ขนาน พร้อมกับเดินทางไปยื่นหนังสือแถลงการณ์ เกี่ยวกับข้อกังวลต่อโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ โดยยืนยันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการ แม้ว่าจะถูกนายปลอดประสพออกมาต่อว่าผ่านสื่อก็ตาม

 

 

จี้รัฐบาลทบทวนโครงการน้ำ3.5แสนล้าน

 

 

อย่างไรก็ตามสำหรับข้อคิดเห็นต่อประเด็นโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของกลุ่มนักวิชาการนั้น ในเวทีเสวนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ต้องการให้รัฐบาลทบทวน และรับฟังความคิดเห็นทั้งภาควิชาการ และ ภาคประชาชนซึ่งขณะนี้ พบว่ามีบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่น เขื่อน คันกั้นน้ำ ที่เริ่มมีการก่อสร้างแล้ว เช่น ในพื้นที่ จ.อุทัยธานี ที่เริ่มมีการสร้างเขื่อนริมแม่น้ำ โดยใช้วิธีโยนหินลงไปในแม่น้ำ ก่อนที่จะยกคันกั้นสร้างเป็นกำแพงเขื่อน ส่งผลให้แม่น้ำตื้นเขิน การคมนาคมทางน้ำทำไม่ได้ และยังส่งผลต่อระบบนิเวศในแม่น้ำด้วย  แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ว่าไม่เห็นด้วย เพราะนอกจากจะเป็นโครงการขนาดใหญ๋ของรัฐบาลแล้ว ยังเกรงกลัวต่ออิทธิพลของการเมืองท้องถิ่น ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้รับเหมาในการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ให้อำนาจนักการเมืองท้องถิ่น-ผู้รับเหมา จะกลายเป็นระเบิดเวลา

 

 

ในประเด็นนี้  ศ.สุริชัยกล่าวว่า นอกจากประเด็นเรื่องการรับฟังความคิดเห็นจากสังคมที่รัฐบาลควรจะหันกลับมาให้ความสนใจแล้ว ยังเห็นว่าหลายโครงการของรัฐบาลที่ต้องการดำเนินการอย่างเร่งด่วน หรือนโยบายที่ถูกกำหนดขึ้นอาจจะเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะแน่นอนว่าหากมุ่งจะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยไม่ฟังเสียงประชาชน ย่อมทำให้ประเทศเข้าสู่ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ  เช่น กรณีของโครงการบริหารจัดการนำ 3.5 แสนล้านบาทนี้ จะเห็นได้ว่า หลายชุมชนที่ได้รับผลกระทบกำลังอยู่ในภาวะของความกลัว ในขณะที่รัฐบาลเองไม่เปิดโอกาสให้พวกเขา ซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องได้รับผลกระทบโดยตรงได้แสดงความคิดเห็น แต่กลับให้อำนาจไปกับกลุ่มผู้รับเหมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอิทธิพลในพื้นที่ เป็นกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น ทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความรู้สึก หรือความต้องการของตัวเอง ซึ่งในที่สุดก็จะกลายเป็นความรุนแรงที่ถูกเก็บไว้ เป็นความรุนแรงเงียบ ๆ ที่แฝงเร้นไปด้วยความกลัว และกำลังระอุอยู่ในหลายพื้นที่ที่โครงการและวันหนึ่งก็อาจจะระเบิดออกมา

 

 

รัฐทำหน้าที่จัดการน้ำ แต่ประชาชนก็ควรตรวจสอบได้

 

            “แม้ว่าขณะนี้ฝ่ายบริหารจะมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ แต่ในกรณีของโครงการ 3.5 แสนล้านนี้ ประชาชนกลับไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้เลย ต้องยอมรับว่า 6-7 ปีที่ผ่านมานี้ อำนาจในการบริหารมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศอย่างเร่งด่วน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐจะลุแก่อำนาจ นั่นคือ จะต้องมีการตรวจสอบได้ แต่ทำไมโครงการนี้กลับไม่มีการให้รายละเอียด ไม่เปิดเผยว่าจะทำอะไรอย่างไร เพราะอำนาจที่รัฐได้รับล้วนมาจากประชาชน ดังนั้นประชาชนจะต้องตรวจสอบได้ ในส่วนของภาควิชาการ เตรียมที่จะรวมตัวกันในเครือข่ายวิชาการ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่จะต้องช่วยออกมาแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะในเชิงวิชาการ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ เป็นแนวทางในการร่วมกันตัดสินใจของสังคม แม้ว่ารัฐบาลจะปฏิเสธที่จะรับฟังก็ตาม” ศ.สุริชัยกล่าว

 

 

 

สอดคล้องกับนายหาญณรงค์ที่ระบุว่า แม้ว่าตอนนี้รัฐบาลจะพยายามเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำที่ผิดทิศผิดทาง ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อน ทำให้ขณะนี้หลายพื้นที่ชาวบ้านไม่รับกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำ เพราะคนที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มรับเหมาที่รับมาทำแล้ว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของประชาชน อย่างกรณีการสร้างคันกั้นน้ำในหลายพื้นที่ เป็นการแก้ไขมติ ครม.วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ที่ประกาศพื้นที่ชุ่มน้ำ 112 แห่ง โครงการใด ๆ ที่จะดำเนินการจะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันการสร้างคันเขื่อนทำให้ต้องไปยกเลิกแม่น้ำต่าง ๆ ที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อจะได้มีการสร้างคันได้ ซึ่งจะทำให้แม่น้ำต่าง ๆ แคบลง การสร้างแบบนี้จะทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยน ซึ่งตนคิดว่าน่าจะนำไปสู่ความรุนแรง ขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกรณีการสร้างเขื่อนของผู้รับเหมา ที่จ.อุทัยธานี ชาวบ้านเพียงแค่ไปยืนถ่ายรูป ก็ถูกห้าม และชาวบ้านเองก็กลัว เพราะผู้รับเหมามีอิทธิพลในชุมชนมาก ประชาชนที่แท้จริงไม่ได้รับประโยชน์ แต่นักการเมืองในพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์

 

 

เผยปปช.กำลังตรวจสอบ โครงการ 3.5 แสนล้าน

 

 

ด้าน รศ.ชัยยุทธ สุขศรี ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สำหรับโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลตอนนี้เริ่มมีคนตั้งคำถามเรื่องกระบวนการที่รัฐบาลกำลังใช้อยู่ และ ปปช.เองก็กำลังตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเท่าที่ดูแล้ว ไม่ได้เป็นการดำเนินการในเชิงวิชาการ ซึ่งหากเป็นการจัดการในต่างประเทศ รัฐจะต้องคาดการเรื่องของการลดความเสี่ยง แล้วมาสอบถามประชาชน ตัดสินใจร่วมกันว่ายอมรับความเสี่ยงได้เท่าไหร่ แล้วจึงกำหนดขอบเขตในการป้องกัน ขณะเดียวกันจะต้องร่วมกันปรับพฤติกรรมต่าง ควบคุมทางกฎหมายร่วมกันไปด้วย

 

แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ใช้ตำราเดียวกัน เพราะโดยปกติแล้ว ก่อนที่จะดำเนินการใดจะต้องมีการวางคอนเซปชวลเป็นเกณฑ์ ก่อนที่จะไปกำหนดว่าจะทำอะไร แต่รัฐบาลกลับกำหนดทุกอย่างไว้ในโมดูลแล้ว จึงเรียกคนมาทำคอนเซปชวลแพลน โดยมีเงินเป็นตัวตั้ง เมื่อถึงตอนนี้ก็ไม่รับฟังความเห็นของประชาชน เมื่อเกิดเป็นแบบนี้ สิ่งที่จะทำต่อไปสำหรับผู้ไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร นอกจากฟ้องศาลปกครอง แต่ส่วนใหญ่ก็พบว่าจะเจอยกฟ้อง เพราะถูกระบุว่าไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรง เป็นอุปสรรคที่ผู้ได้รับผลกระทบจะต้องเจอ เพราะส่วนใหญ่พิสูจน์ยากอยู่แล้วว่า เป็นผู้เสียหายโดยตรง

 

 

            “ตอนนี้สิ่งที่จะต้องติดตามคือ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการจะไปเติมอย่างไร แต่การเสนอในเชิงวิชาการก็ทำได้ในวงที่ค่อนข้างจำกัดมาก แต่เมื่อมาเจอการปฏิเสธ สกัดกั้นแบบนี้ก็จะให้ทำอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามในฐานะนักวิชาการก็คงจะต้องทำ เมื่อเห็นว่าอะไรที่จะเสนอแนะได้ ก็ทำแต่รัฐบาลจะรับหรือไม่นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง” รศ.ชัยยุทธกล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: