ค้านกต.ส่งไม้พะยูงคืนลาว

 

 

จากกรณีกระทรวงการต่างประเทศเรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หลังจากสถานเอกอัครราชทูตสปป.ลาว ประจำประเทศไทย โดยสำนักงานฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า ได้หยิบยกประเด็นการจับกุมไม้พะยูง 11 ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 1,664 ท่อน 155 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท ที่อ้างว่านำเข้าจาก สปป.ลาว และถูกยึดไว้ที่สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง (ด่านลาดกระบัง) เมื่อปี พ.ศ.2549 โดยมีการฟ้องร้องดำเนินคดี และสำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7 (พระโขนง) มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องบริษัท พี แอล เอ็นเตอร์ไพรส์ และไม่ขอให้ศาลริบไม้พะยูงของกลางดังกล่าวด้วย โดย สถานทูตเอกอัครราชทูตลาว ได้ส่งหนังสือมายังกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของและขอรับไม้ของกลางทั้งหมดกลับประเทศ ก่อนที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย จะมีมติให้คืนไม้พะยูงดังกล่าวให้กับ สปป.ลาว โดยให้นำหลักฐานบ่งชี้ความเป็นเจ้าของมายืนยันให้ฝ่ายไทยดำเนินการต่อไป  พร้อมให้เหตุผลว่า เพื่อคำนึงถึงมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และไม่ให้ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นขยายตัวจนสร้างความเข้าใจผิดกับสปป.ลาว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แม้ประเด็นนี้กระทรวงการต่างประเทศจะมีมติไปแล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับมีเสียงไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะในฟากฝั่งของผู้ที่ทำงานด้านการปราบปรามการบุกรุก และลักลอบตัดป่าไม้อย่างผิดกฎหมาย เพราะหลังแม้ว่าสำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7 (พระโขนง) จะมีคำสั่งไม่ฟ้อง แต่หลังจากนั้น กรมป่าไม้มีหลักฐานเพิ่มเติมเป็นหนังสือยืนยันจากสปป.ลาว เกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร เพื่อดำเนินการตามพิธีการทางศุลกากร กรมป่าไม้จึงได้แจ้งความดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอีก 1 ข้อหา ทำให้คดียังไม่สิ้นสุด กรมป่าไม้ โดยนายบุญชอบ สุทธมนัสวงศ์ อธิบดีกรมป่า จึงทำหนังสือคัดค้านไปยัง กระทรวงการต่างประเทศ อัยการที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ รวมทั้งแจ้งความว่า หนังสือรับรองและใบผ่านทางสำหรับการขนส่งไม้พะยูงดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม เพื่อคัดค้านอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะมีการคืนไม้ดังกล่าวให้รัฐบาลลาว

 

 

            “เรามั่นใจว่า ยังมีสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง ข้อที่เห็นได้ง่าย ๆ คือ ทางลาวบอกมาว่า ไม้ทั้งหมดเป็นไม้ของเขา แต่หากเป็นไม้ของลาว ทำไมจะต้องขนเข้ามาในประเทศไทยก่อน ซึ่งลำบากวุ่นวายมาก แล้วจึงข้ามไปที่จีน ทั้ง ๆ ที่ส่งไปจีนเลยไม่ง่ายกว่าหรือ และยังมีขั้นตอนที่จะต้องดูอีกว่า การออกเอกสารจากทางศุลกากรออกมาได้อย่างไร ดังนั้นเมื่อยังไม่มีความชัดเจน ก็ไม่ควรจะส่งไม้พะยูงนี้กลับคืนไปให้ลาว และเราจะไม่ยอมคืนให้เด็ดขาด” นายบุญชอบกล่าว

 

 

ขณะที่นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมาแถลงข่าวคัดค้านการตัดสินใจของกระทรวงการต่างประเทศ และแสดงตัวชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจคืนไม้พะยูงของกลางให้กับสปป.ลาวในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน  โดยเขียนบทความเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับพร้อมตั้งข้อสังเกตต่อความผิดปกติในประเด็นนี้ พร้อมกับแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน และเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทยทบทวนเรื่องนี้ ก่อนที่จะดำเนินการส่งคืนไม้พะยูงดังกล่าว และยังตั้งข้อสังเกตว่า ความพยายามที่จะเร่งคืนไม้ให้กับ สปป.ลาวนั้นมีเบื้องหลังอื่นใดที่เกี่ยวของกับขบวนการค้าไม้ที่ผิดกฎหมายหรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ย้อนรอยคดีไม้พะยูง 11 ตู้คอนเทนเนอร์

 

 

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 พบว่ามีประเด็นที่น่าสังเกตหลายประการ โดยหากตรวจสอบจากเอกสารรายงานข้อมูลคดีนี้ จากหลายหน่วยงาน รายงานความเป็นมาของเหตุการณ์ตรงกันว่า บริษัท ทีแอล เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) นำไม้พะยูง จำนวน 13 รายการ บรรทุกแพขนานยนต์ ข้ามแม่น้ำโขงบริเวณบ้านงาน้อย ต.มุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร ซึ่งเป็นไม้เครื่องเรือน มาจากแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว พร้อมทำเอกสารไม้ผ่านแดนที่ด่านศุลกากรมุกดาหาร จากนั้นมีการบรรจุไม้พะยูงที่ฝั่งไทย โดยอ้างว่าไม้ได้ถ่ายลำมาจากการขนส่งมาจาก สปป.ลาว พร้อมบรรทุกรถยนต์เดินทางมุ่งหน้ายังด่านศุลกากรลาดกระบัง เพื่อเตรียมตัวส่งต่อไปยังประเทศจีน

 

แต่ระหว่างขบวนรถตู้คอนเทนเนอร์ขนไม้ทั้งหมด ผ่านมาถึงด่านหินกอง จ.สระบุรี เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเห็นว่า น่าจะเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง จึงไม่ออกเอกสารผ่านด่านให้ พร้อมทั้งควบคุมไม้พะยูงทั้งหมดนำมาควบคุมไว้ที่ด่านลาดกระบัง ขณะที่กรมป่าไม้ทำเรื่องดำเนินคดีกับบริษัทขนส่งไม้ดังกล่าว แต่ต่อมาสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 7(พระโขนง) มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท พี แอล เอ็นเตอร์ไพรส์ 1991 จำกัด และยังไม่ริบไม้ของกลาง โดยให้เหตุผลว่า จากพยานหลักฐานไม้ของกลางมีแหล่งกำเนิดจากสปป.ลาว ถูกนำผ่านแดนไทยเพื่อส่งต่อไปยังประเทศจีน ซึ่งไม่ใช่ไม้ในป่าท้องที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรไทย ตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 ที่ให้เป็นไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484

 

 

‘ดำรงค์’ชี้ตั้งข้อหาผิด อัยการจึงสั่งไม่ฟ้อง

 

 

อย่างไรก็ตามในประเด็นของการตั้งข้อหานี้ ด้านของนายดำรงค์เห็นว่า มีข้อน่าสนใจคือ ในการตั้งข้อหาน่าจะมีความผิดพลาด โดยผู้ถูกกล่าวหาถูกตั้งข้อหาว่า มีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครอง ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งข้อหาที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม้พะยูงถ้าหากถูกนำมาจากสปป.ลาว ควรจะตั้งข้อหาว่า มีไม้แปรรูปเกิน 0.20 ลบ.ม. ไว้ในครอบครอง ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้อัยการสั่งไม้ฟ้อง เช่นเดียวกับอัยการจังหวัดมุกดาหาร ที่มีคำสั่งไม่ฟ้อง ตามที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดมุกดาหาร มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2549 คดีอาญาที่ 893/2549 หลังพบว่าเป็นเอกสารปลอม กระทั่งกรมป่าไม้ทำหนังสือไปยังสปป.ลาว เพื่อขอให้ตรวจสอบเอกสารการนำเข้าไม้ดังกล่าว กระทั่งมีหนังสือตอบกลับมาระบุว่า

 

 

1.ใบอนุญาตสินค้าผ่านแดน ฉบับเลขที่ 2420 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 ที่ระบุประเภทไม้ไว้ในใบอนุญาตดังกล่าว เป็นประเภทไม้เครื่องเรือน ไม้ผสมเครื่องเรือน และไม้แดงเครื่องเรือน ซึ่งมีจำนวน 347,949 ท่อน รวมปริมาตร 255 ลูกบาศก์เมตร (สองร้อยห้าสิบห้าลูกบาศก์เมตร) มีเป้าหมายส่งไปยังประเทศไทยเป็นเอกสารที่ถูกต้อง

 

2.ใบอนุญาตสินค้าผ่านแดน ฉบับเลขที่ 2420 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 ที่ระบุว่า เป็นไม้พะยูงท่อนจำนวน 1664 ท่อน ปริมาตร 155 ลูกบาศก์เมตร โดยมีเป้าหมายส่งไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นมาโดยไม่ถูกต้อง เนื่องจากทางการลาวไม่ได้เป็นผู้ออกเอกสารดังกล่าว จึงสามารถยืนยันว่าเป็นเอกสารที่ถูกปลอมแปลงขึ้น

 

 

            “คดีนี้มีชัดเจนว่า มีการปลอมเอกสารแน่นอน จากที่ต่อมาได้มีหนังสือยืนยันจากสปป.ลาว โดยการนำส่งของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งในทางคดีแล้วถือว่าการปลอมเอกสารส่งออกของลาว แล้วนำเอกสารปลอม มาเพื่อใช้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรเป็นไม้ผ่านแดนไทย-ลาว เจ้าหน้าที่ศุลกากรไทยจึงต้องตรวจสอบเอกสารที่มีผู้นำมายื่น ว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องหรือชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และสปป.ลาวก็แจ้งว่า สปป.ลาวไม่ได้ส่งไม้ท่อนออกนอกประเทศ เป็นลายลักษณ์อักษร แสดงว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรมุกดาหารในขณะนั้น ต้องทราบนโยบายและข้อตกลงในการขนส่งสินค้าในข้อนี้เป็นอย่างดี แต่ยังกลับดำเนินการออกเอกสารสินค้าผ่านแดน ให้กับผู้ที่นำมายื่น”

 

 

            “แสดงว่าเจ้าหน้าที่มีเจตนาที่ดำเนินการไม่ให้เป็นไปตามกฎหมาย และข้อตกลงระหว่างประเทศ  ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายกับทรัพยากรป่าไม้ ที่ถูกขบวนการค้าไม้พะยูงลักลอบตัดไม้ในป่า เข้ามาสวมเป็นไม้ผ่านแดน ที่เป็นปัญหาหนักของไทยอยู่ในขณะนี้” นายดำรงค์ระบุระหว่างการแถลงข่าว

 

 

นอกจากนี้นายดำรงค์ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันขบวนการค้าไม้พะยูง ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายไทยแต่อย่างใด เนื่องจากจีนยังมีความต้องการไม้พะยูงอีกจำนวนมาก มีการลักลอบนำไม้พะยูงข้ามฝั่งจาก จ.บึงกาฬ ไปยัง สปป.ลาว อยู่ตลอดเวลา แม้หน่วยงานต่าง ๆ จะพยายามจับกุม แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งได้ กลับทำให้ราคาไม้พะยูงที่ไม่ถูกกฎหมายมีราคาสูงขึ้นอีก ขบวนการดังกล่าวมีการแปรสภาพ จากขบวนการที่มีรูปแบบ เป็นขบวนการที่ไม่มีรูปแบบ เป็นแบบกองทัพมด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กต.เอาใจลาวเตรียมคืนให้ไม่ติดใจเรื่องผิดกฎหมาย

 

 

อย่างไรก็ตามหลังจากสั่งไม่ฟ้อง และไม่ขอริบไม้พะยูงของกลางทั้งหมด ปรากฎว่าได้มีผู้ยื่นเอกสารอ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของไม้พะยูง 3 ราย คือ สถานเอกอัครราชทูตลาวประจำประเทศไทย ในฐานะผู้แทนรัฐบาลลาว นายสมสัก แก้ผาลี และนายอรัญญา อุบัติสิงห์ ผู้แทนบริษัท พงสะหวันค้าไม้ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ส่งออกไม้ของสปป.ลาว แต่ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศกลับเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีมติเตรียมจะคืนไม้ของกลางทั้งหมดให้กับรัฐบาล สปป.ลาว ตามที่ได้ทำหนังสือร้องขอมา โดยให้แจ้งทางฝ่ายลาวว่า ให้แต่งตั้งผู้ได้รับมอบหมายให้รับไม้คืน พร้อมนำข้อมูลหลักฐานบ่งชี้ความเป็นเจ้าของไม้ เพื่อจะได้ส่งไม้พะยูงของกลางทั้ง 11 ตู้คอนเทนเนอร์กลับคืนไปให้ต่อไป โดยระบุเหตุผลการคืนไม้ของกลางทั้งหมดว่า

 

 

            “จากการพิจารณา กระทรวงการต่างประเทศ โดยพิจารณาจากหลักฐานแล้วไม่มีฝ่ายใดมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าได้ไม้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อพิจารณาตามหลักฐานที่พนักงานอัยการสอบสวนแล้ว เป็นที่น่าเชื่อได้ว่า ไม้พะยูงของกลางดังกล่าวเป็นไม้ที่มาจากสปป.ลาว แต่การกระทำของผู้ต้องหาไม่ใช่การมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครองตามกฎหมายไทย แต่เป็นการนำไม้ผ่านแดนไทยมาจากสปป.ลาว เพื่อส่งต่อไปยังจีน โดยอาศัย Barcelona Convention ค.ศ.1921 มิใช่การนำเข้าไม้ ดังนั้นการได้มาของไม้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ก็มิใช่ประเด็นที่ฝ่ายไทยจะติดใจอีกต่อไป ในกรอบของกฎหมายไทย เนื่องจากคดีนี้ในไทยสิ้นสุดลงแล้ว ประกอบกับหากเมื่อพิจารณาในแง่ความสัมพันธระหว่างประเทศด้วยแล้ว จึงเห็นควรคืนไม้ของกลางให้แก่รัฐบาล สปป.ลาว ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่เป็นธรรมและเหมาะสมที่สุด ทั้งในแง่ตามหลักทางกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คาใจทส.ไม่แจ้งกรมป่าไม้ประชุมด้วย

 

 

            “สำหรับการที่กระทรวงการต่างประเทศ มีมติคืนไม้พะยูงทั้งหมดกลับไปให้กับสปป.ลาวนั้น เป็นเรื่องใหญ่ เพราะจากข้อมูลเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ในคดีนี้ก็เห็นแล้วว่า เป็นขบวนการที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบตัดไม้พะยูงของไทย อีกทั้งขณะนี้ไม้ของกลางดังกล่าวถือว่ายังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดี ต้องรอให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดก่อน จึงยังไม่ควรคืนไม้พะยูงของกลางให้กับลาว และอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การเรียกประชุมของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ส่งถึง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น แต่กลับมาถึงกรมป่าไม้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ซึ่งการประชุมเสร็จสิ้นไปแล้ว โดยกรมป่าไม้ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง ไม่ได้มีตัวแทนเข้าไปประชุมด้วย มติจึงออกมาแบบนี้ จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า มีขบวนการอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่” นายดำรงค์กล่าว พร้อมกับตั้งข้อสังเกตอย่างต่อเนื่องว่า

 

จากคดีนี้เห็นได้ว่า ขบวนการดังกล่าวใช้ช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในการขอคืนไม้ โดยอ้างว่าเป็นไม้ที่ลักลอบตัดจาก สปป.ลาว ซึ่งการอ้างดังกล่าวเป็นการอ้างลอย ๆ จึงไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างประเทศไทยกับสปป.ลาว ไปร่วมตรวจสอบว่า ไม้พะยูงที่กล่าวอ้างนั้นตัดมาจากจังหวัดหรือส่วนไหนของประเทศ หากยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิสูจน์ทราบแหล่งที่มาของไม้แล้ว ก็อาจจะสงสัยว่า ไม้พะยูงของกลางเป็นไม้พะยูงของประเทศไทย ที่ตัดไว้เตรียมบรรจุ เพื่อสวมเป็นไม้พะยูงของลาวตามที่มีผู้กล่าวอ้าง

 

 

            “สำหรับคดีนี้ข้อที่น่าสังเกตที่น่าจะรู้กันแล้วก็เห็นชัดว่า ไม้ที่ถูกนำขึ้นจากลาวที่ด่านมุกดาหาร พบว่ามีเครื่องหมาย ดวงตรา ตรงถูกต้องเรียบร้อยดี หากเมื่อเดินทางมาถึงปลายทางที่ด่านลาดกระบัง กลับพบว่าไม้จำนวนมาก กลับไม่มีเครื่องไม้ ดวงตราที่ถูกต้อง ดังนั้นไม้พะยูงเหล่านี้จะเป็นไม้ที่เดินทางมาจากสปป.ลาวได้อย่างไร” นายดำรงค์กล่าว

 

 

ห่วงไม้พะยูงไทยเหลือที่เดียวในโลก ปั่นราคาสูงลิบ

 

 

ปัจจุบันไม้พะยูง กลายเป็นไม้ที่มีราคาสูงที่สุดในโลก เนื่องจากความต้องการที่มีสูงขึ้น โดยเฉพาะจากประเทศจีน เนื่องจากมีความนิยมที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ไม้ชนิดนี้ถูกนำไปซ่อมแซมพระราชวังต้องห้าม ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในปี 2551 ต่อมามีการดัดแปลงนำไม้พะยูงไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ วัตถุมงคลและของแต่งบ้านชิ้นเล็ก ๆ เช่น ตัวปี่เซียะ เทพเจ้า ฮก ลก ซิ่ว แทน ทำให้ไม้พะยูงกลายเป็นสินค้าที่มีราคาและเป็นที่ต้องการของตลาดจีนที่มีขนาดใหญ่ สวนทางกับปริมาณที่หลงเหลืออยู่ในธรรมชาติ และอาจถือได้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในโลก ที่ยังเหลือไม้ชนิดนี้อยู่ เพราะแม้ก่อนหน้านี้จะเคยมีในสปป.ลาว แต่ก็ถูกตัดส่งขายจนไม่มีอีกแล้ว

 

ประกอบกับความต้องการที่สูงขึ้น สวนทางกับปริมาณที่มีอยู่ ทำให้ไม้พะยูงกลายเป็นไม้ที่มีราคาสูงที่สุดในโลก แซงหน้าไม้สักที่เคยครองตำแหน่งนี้ไปแล้ว โดยจากราคาโลกปัจจุบัน ราคาพุ่งสูงมากถึงตับละ 50,000บาท โดยไม้ 1 ตับ จะมีขนาดหน้าไม้ 20x40 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร หรือราคาลูกบาศก์เมตรละ 250,000-300,000 บาท หรือ หากคิดเป็นต้นขนาด 1 คนโอบ ราคาจะมีตั้งแต่ 300,000 บาทขึ้นไป จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง จนกลายเป็นคดีจำนวนมากในระยะหลัง โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าภาคอีสาน เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก จ.สุรินทร์ และอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ.อุบลราชธานี และเขาพระวิหาร ที่ยังเป็นแหล่งไม้พะยูงที่สมบูรณ์ ที่แม้จะมีความพยายามปราบปรามอย่างหนัก แต่กลุ่มผู้กระทำผิดก็ยังลักลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง

 

 

รัฐบาลยังไม่รู้จัดการอย่างไรกับไม้ 9 หมื่นล้าน

 

 

จากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สถิติการจับกุมในการกระทำความผิดเรื่องไม้พะยูงมีมากกว่า 3,000 คดี สามารถยึดไม้พะยูงได้ 178,609 ท่อน/แผ่น ที่น่าตกใจเป็นอย่างมากคือ ในช่วง 9 เดือนแรก ของปีงบประมาณ 2554 สถิติจับกุมสูงถึง 786 คดี ยึดไม้พะยูงได้ 6,780 ท่อน/แผ่น ไม้พะยูงที่ยึดมาได้ทั้งหมดนี้ หากขายในตลาดโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 90,000 ล้านบาท  โดยไม้พะยูงที่ยึดมาได้มีปริมาตรราว 6.3 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งประเมินกันว่า หากตัดจากต้นพะยูงที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง  50 เซนติเมตร พะยูงน่าจะหายไปจากป่าไม่น้อยกว่า 600,000 ต้น

 

อย่างไรก็ตามไม้พะยูงของกลางเหล่านี้ รัฐบาลไทยก็ยังไม่มีนโยบายแน่ชัด ว่าจะเอาไปทำอะไร หรือจัดการอย่างไร เพราะหากขายทอดตลาดก็เกรงว่าจะถูกกลุ่มนายทุนมาซื้อกลับไป ไม้จำนวนมากเหล่านี้จึงยังถูกเก็บอยู่ที่โกดังต่อไป

 

นอกจากนี้ ล่าสุดในการประชุมไซเตส ครั้งที่ 16 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อเร็ว ๆ นี้  ไทยนำเสนอให้บรรจุไม้พะยูง เข้าสู่บัญชีอนุสัญญาไซเตส 2  เพื่อควบคุมเกี่ยวกับการค้า การเสนอขอขึ้นบัญชีไม้พะยูงให้อยู่ในบัญชีหมายเลข 2 ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่อนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องควบคุมไม่ให้ลดปริมาณอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ป่าที่เป็นแหล่งกำเนิดของไม้พะยูงเริ่มเข้าสู่ขั้นวิกฤติจากการลักลอบตัดไม้และนำไปจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย

 

 

ขอบคุณภาพจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน ประชาคม


ป้ายคำ
Like this article:
Social share: