ธุรกิจ‘คลินิกความงาม’แม่เหล็กดูดหมอ ช่องโหว่ทำแพทย์สาขาจำเป็นขาดแคลน

พรรณษา กาเหว่า, กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 15 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 14344 ครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยวิเคราะห์ไว้เมื่อปี 2554 ว่า เดิมทีความสนใจดูแลรักษาผิวพรรณหน้าตาจะอยู่ในกลุ่มผู้หญิงวัยกลางคนที่มีกำลังซื้อสูง แต่ปัจจุบันความสนใจในการดูแลรักษาผิวพรรณ หน้าตา ขยายวงออกไปยังกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา และผู้ชายมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรยังได้วิเคราะห์ต่อไปว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะแรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ ที่มีการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกมากขึ้น ผู้คนส่วนใหญ่จึงต้องการมีรูปลักษณ์ที่ดูดี เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจและเสริมสร้างบุคลิก บวกรวมกับกระแสเกาหลีฟีเวอร์ก็ยิ่งผลักดันให้ตลาดการดูแลผิวพรรณหน้าตาขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ

ปัจจุบันตลาดคลินิกความงาม มีมูลค่ารวมประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท มีวุฒิศักดิ์คลินิกครองส่วนแบ่งตลาดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อปีสูงถึงร้อยละ 15-20 ตามความต้องการ ‘เป๊ะ’ ที่เพิ่มมากขึ้น เกิดคลินิกศัลยกรรมสไตล์เกาหลีในตลาดจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางที่ยังมีสาขาไม่มากนัก ขณะที่เจ้าตลาดอย่างวุฒิศักดิ์คลินิกมีสาขาประมาณ 120 สาขา ส่วนนิติพลคลินิกมีสาขาประมาณ 126 สาขา

ข้อมูลจากงาน ‘การศึกษาสถานภาพและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจบริการศัลยกรรมและศูนย์สุขภาพเพื่อความงามในประเทศไทย’ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า จากการศึกษาข้อมูลผู้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบการต่อกองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีการจัดเก็บข้อมูลของผู้ให้บริการคลินิกศัลยกรรมรวมอยู่ในกลุ่มคลินิกเวชกรรม มีผู้ประกอบการ ณ ปี 2552 จำนวนกว่า 6,000 ราย

เมื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “คลินิก” ความเข้าใจโดยทั่วไปคือ จะต้องมีแพทย์ประจำและควรเป็นแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง แต่เมื่อดูจากจำนวนแพทย์ด้านตจวิทยาหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังที่ได้รับหนังสืออนุมัติ-วุฒิบัตรจากแพทยสภาทั้งหมดจนถึงปี 2555 พบว่า มีจำนวนเพียง 514 คนเท่านั้น ความต้องการแพทย์ประจำคลินิกความงามจึงมีสูงกว่าจำนวนตจแพทย์ค่อนข้างมาก

คำถามที่น่าใคร่ครวญจึงอยู่ที่ว่า แล้วแพทย์ที่อยู่ประจำตามคลินิกความงามมาจากไหน

คลินิกความงามมีเป็นพัน แต่แพทย์ผิวหนังผลิตได้ปีละ 20 คน

การเป็นแพทย์ผิวหนัง (Dermatologist) ในประเทศไทยจะต้องผ่านการเรียนในคณะแพทยศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นเวลา 6 ปี เมื่อใช้ทุนครบ 3 ปีแล้ว จึงจะสามารถเลือกเรียนต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ซึ่งจะใช้เวลาอีกประมาณ 3-4 ปี ตามแต่ความยากง่ายของสาขาที่เลือก ส่วนการเลือกเป็นตจแพทย์ จะต้องเรียนต่อในสถาบันฝึกอบรมด้านโรคผิวหนัง ที่ปัจจุบันมีอยู่ 5 แห่ง ได้แก่

1.ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

2.สาขาวิชาตจวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3.หน่วยโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

4.แผนกผิวหนัง กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

5.สถาบันโรคผิวหนัง

นักศึกษาจะต้องใช้เวลาเรียน 4 ปี เริ่มตั้งแต่อายุรกรรมทั่วไป 1 ปี ส่วนอีก 3 ปีที่เหลือ จึงเป็นการเรียนเฉพาะด้านผิวหนัง เมื่อเรียนจบแล้วจึงจะสามารถสอบ เพื่อขอใบวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังจากแพทยสภาได้ โดยทั่วไปการผลิตแพทย์มักจะถูกกำหนดจากความต้องการแพทย์ในระบบและความสำคัญของแพทย์แต่ละสาขา สำหรับตจแพทย์ ในแต่ละปีจะมีการผลิตออกมาประมาณปีละ 20 คนเท่านั้น

เอกชนเปิดอบรมเอง ดูดแพทย์สาขาอื่นเข้าคอร์สความงาม

เมื่อจำนวนการผลิตตจแพทย์ไม่สัมพันธ์กับความต้องการของ ‘ตลาด’ จึงมีการดึงแพทย์สาขาอื่น ๆ มาทดแทน สิ่งที่พบเห็นทั่วไปคือ การหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “แพทย์โรคผิวหนัง” ของคลินิกความงามต่าง ๆ โดยเปลี่ยนไปใช้คำว่า “แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม หรือแพทย์ศัลยกรรมความงาม” เป็นต้น แต่การที่แพทยสภาไม่สามารถจัดการลงโทษได้ เนื่องจากช่องว่างของกฎหมายที่ยอมให้ผู้ที่เรียนจบปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถเปิดคลินิกรักษาโรคได้ ดังนั้นผู้ที่ไม่ใช่แพทย์ผิวหนัง จึงสามารถเป็นแพทย์ประจำคลินิกความงามได้โดยไม่ผิดกฎหมาย อีกด้านหนึ่ง บริษัทเอกชนก็ทำการเปิดอบรมด้านความงาม การฉีดฟีลเลอร์ โบท็อกซ์ แก่แพทย์ด้วยตนเอง

นักเรียนแพทย์จากมหาวิทยาลัยของรัฐคนหนึ่ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแพทย์หันไปเรียนด้านผิวหนังเพิ่มมากขึ้น เพราะช่องทางการทำงานในคลินิคเสริมความงามมีมากขึ้น เพียงมีใบประกอบโรคศิลป์ก็สามารถเข้าไปทำงานได้ แต่ในกรณีเฉพาะอย่างการฉีดฟิลเลอร์ การทำเลเซอร์ หรือการฉีดโบท๊อกซ์ จะต้องมีความรู้ ซึ่งแพทย์อาจจะต้องไปเรียนเพิ่มเติม ซึ่งก็มีการเปิดอบรมเป็นคอร์สระยะสั้น 3 เดือนมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ น.พ.จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เคยให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบัน แพทย์ที่ทำงานยังไม่ครบ 1 ปี มักจะถูกซื้อตัวจากคลินิกความงาม โดยที่แพทย์คนนั้นไม่มีความรู้เรื่องผิวหนัง เพียงแต่ทำยอดให้ได้ตามสั่ง ซ้ำยังไม่มีความรู้จริงในการแก้ไขโรค เช่น เมื่อพบความผิดปกติบนใบหน้าก็วินิจฉัยว่าเป็นสิวหรือฝ้าไปหมด

แพทย์ความงามกำลังล้นเกิน แพทย์สาขาที่จำเป็นกำลังขาดแคลน

ตัวเลขจำนวนแพทย์ประเทศไทยจากการจัดเก็บของแพทยสภา ณ เดือนธันวาคม ปี 2555 ระบุว่า มีแพทย์ที่ยังมีชีวิตทั้งสิ้น 43,408 คน การขยายตัวของคลินิกความงาม ที่จำเป็นต้องมีแพทย์ประจำคลินิกไม่ว่าจะเป็นแบบเต็มเวลาหรือไม่เต็มเวลา ย่อมหมายถึงการดึงแพทย์จากสาขาอื่น ๆ ออกไป แรงจูงใจสำคัญคือค่าตอบแทนที่ได้รับระหว่างการเป็นแพทย์ของรัฐและเอกชนแตกต่างกันค่อนข้างมาก

การสำรวจค่าตอบแทนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2554 พบว่า ค่าตอบแทนของแพทย์ที่ทำงานกับภาครัฐ เงินเดือนรวมเริ่มต้นอยู่ที่ 30,000-100,000 บาท ขณะที่ภาคเอกชนอยู่ที่ 62,520 - 150,000 บาท น.พ.จิโรจน์ ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ข่าว TCIJ ว่า

               “นับเป็นการดึงคนออกจากระบบ เพราะค่าตอบแทนสูง อย่างลูกศิษย์ผมทำมาประมาณ 2-3 ปี เงินเดือนประมาณ 300,000 บาท มันทำให้จำนวนแพทย์ที่จะต้องไปทำงานในส่วนภูมิภาคสูญเสียไป หรืออย่างบางคนควรจะทำ 3 ปี แต่ทำได้ 1 ปี 2 ปี ก็ลาออก ทำให้การประมาณการณ์ด้านกำลังคนของภาครัฐเสียไป เพราะภาครัฐก็ถือเป็นผู้ที่ใช้กำลังคนด้านนี้มากที่สุด โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศก็ต้องการแพทย์ มีปัญหาขาดแคลนกำลังคนอยู่เป็นประจำ”

น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า การขาดแคลนแพทย์มองได้ทั้งในแง่ของจำนวนและการกระจาย ซึ่งในแง่ของจำนวนโดยภาพรวมแล้ว ประเทศไทยยังมีแพทย์ไม่เพียงพอ ส่วนในแง่ของการกระจายแยกเป็น 2 รูปแบบ คือการกระจายเชิงพื้นที่พบว่า มีการกระจุกตัวของแพทย์ในเมืองมากกว่าในชนบท อีกแบบคือการกระจายตามสาขาความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

              “เราเพิ่งมีการดูว่าจริง ๆ แล้ว เราต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายสาขาเป็นจำนวนเท่าไหร่ โดยดูจากปริมาณงาน พบว่าตอนนี้แพทย์บางสาขาเริ่มเพียงพอ เช่น สาขาสูติกรรมกับเด็ก เพราะคนเริ่มคลอดน้อยลง จำนวนเด็กลดลง แต่สาขาที่ขาดและเห็นได้ชัดคือหมอศัลยกรรมและหมอศัลยกรรมทางสมอง ทั้งสองสาขานี้ทำงานหนัก มีอุบัติเหตุเลือดออกในสมองปุ๊บต้องผ่า หมอเหล่านี้ทำงานหนัก ไม่ได้หลับได้นอน เพราะอุบัติเหตุเกิดได้ทุกเมื่อ เราพบว่าอัตราการขาดของ 2 สาขานี้เยอะมาก และเรากำลังดูอยู่ว่ามีสาขาใดที่มีแนวโน้มจะเกิน ซึ่งก็พบว่าคือด้านโรคผิวหนังและความสวยความงาม เดี๋ยวนี้หมอที่หน้าตาดีๆ ไปเรียนกันเยอะ ขณะที่หมอที่รักษาชีวิต ความเป็นความตาย กลับมีคนเรียนน้อย” น.พ.พงษ์พิสุทธิ์กล่าว

นักวิจัยระบุคลินิกความงามยิ่งผุด ยิ่งดึงแพทย์ที่จำเป็นออกจากระบบ

ผลการศึกษาเรื่องความต้องการกำลังคนทางด้านสุขภาพ ของระบบการให้บริการสุขภาพระดับทุติยภูมิและตติยภูมิในประเทศไทย โดยศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่า ปัจจุบันแพทย์ไทยที่ทำงานในระบบราชการยังขาดแคลนอยู่จำนวนมาก ทั้งแพทย์ทั่วไปที่ขาดประมาณ 1,700 คน และแพทย์เฉพาะทาง โดยเฉพาะแพทย์สาขาอายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ ประสาทศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ รวมกันขาดแคลนประมาณ 7,000 คน ส่วนแพทย์ในสาขาอื่่น ๆ ได้แก่ กุมารแพทย์ แพทย์ออโธปิดิกส์ สูตินรีแพทย์ โสต ศอ นาสิกแพทย์ จักษุแพทย์ ก็อยู่ในภาวะขาดแคลนเช่นกัน สาเหตุเกิดจากการปรับตัวของโครงสร้างประชากรที่มีอัตราการเกิดลดลงและจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งจะตามมาด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ทำให้ความต้องการแพทย์เฉพาะทางสาขาในอนาคตมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอายุรแพทย์และศัลยแพทย์

                 “การที่ทั้งแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทางขาดแคลนทำให้คาดการณ์ได้ว่า การเปิดคลินิกเสริมความงามจำนวนมาก ซึ่งต้องการแพทย์ประจำคลินิคทั้งในลักษณะเต็มเวลาและไม่เต็มเวลา จะทำให้แพทย์ที่ไม่พอต่อการให้บริการสุขภาพอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเขตชนบท ตัดสินใจออกจากระบบไปสู่การให้บริการในคลินิคดังกล่าว ที่มีแรงจูงใจที่เป็นตัวเงินด้วยรายได้หลักแสน ดีกว่าการใช้ทุนในโรงพยาบาลรัฐ จากการสอบถามพบว่า การทำงานที่คลินิคเสริมความงามเพียงไม่กี่เดือนก็สามารถใช้ทุนได้แล้ว

                “ประเทศไทยใช้นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือรัฐบาลหาบริการสุขภาพให้กับประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งแพทย์ไม่เพียงพออยู่แล้ว และในอนาคตแพทย์บางสาขา เช่น อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ จะยิ่งมีความต้องการมากขึ้น ประกอบกับการผลิตแพทย์แต่ละคนใช้เวลานาน ปัจจัยเหล่านี้น่าจะพอบ่งชี้ได้ว่า การที่แพทย์ไปทำงานคลินิคเสริมความงามจะทำให้ตลาดแรงงานแพทย์ที่ทำงานในการให้บริการสุขภาพจริงๆ ตามที่เรียนมายิ่งขาดแคลนมากขึ้น” ดร.พุดตาน พันธุเณร จากศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว

เร่งหามาตรการลดผลกระทบ ย้ำการผลิตแพทย์ต้องไม่ตอบโจทย์ตลาดจนเกินไป

ผลกระทบในระยะสั้นจะทำให้ประชาชนเข้าถึงแพทย์ได้ยากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในชนบทที่ไม่มีทางเลือกมากเท่ากับประชาชนในเขตเมือง นอกจากนี้จะทำให้คุณภาพการให้บริการของแพทย์ลดลง เพราะแพทย์ 1 คนจะมีภาระงานมากขึ้น ส่วนในระยะยาวจะส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการของแพทย์ในลักษณะที่รุนแรงขึ้น ประชากรในเมืองน่าจะหันไปสู่การใช้บริการเอกชนมากขึ้น เพราะความเชื่อถือในโรงพยาบาลรัฐลดลงและยอมจ่ายเงินเอง ขณะที่ภาระเรื่องการลงทุนในการผลิตแพทย์เป็นของรัฐจะเพิ่มขึ้น แต่เอกชนได้ประโยชน์มากขึ้น ยิ่งประชาชนมีความต้องการใช้บริการคลินิคเสริมความงามมากขึ้น ความต้องการแพทย์เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนนี้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ทำให้โรงเรียนแพทย์ต้องผลิตแพทย์มากขึ้นเพื่อชดเชยการขาดแคลนของแพทย์ เนื่องจากเกิดความไม่สมดุลของตลาดแรงงานแพทย์ ในระยะยาวจำนวนแพทย์ในระบบบางสาขาที่เรียนยาก ใช้เวลาเรียนนาน และทำงานหนักก็อาจจะขาดแคลนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลทั้งในเรื่องปริมาณและคุณภาพการให้บริการ

ดร.พุดตาน แสดงทัศนะต่อประเด็นการลดผลกระทบเรื่องนี้ว่า การออกมาตรการจำกัดความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจคลินิกความงาม และผู้รับบริการเป็นเรื่องค่อนข้างยาก การจะให้ภาครัฐแข่งกับเอกชนเพื่อสร้างแรงจูงใจทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินก็ยากเช่นกัน ขณะนี้รัฐก็จ่ายสูงกว่า แต่คนที่ได้ประโยชน์เป็นภาคเอกชนอยู่แล้ว ดังนั้นประเด็นนี้ควรต้องเริ่มจากขั้นตอนการผลิตแพทย์เสียก่อน คือต้องรู้ความต้องการแพทย์ตั้งแต่ต้นทางให้ชัดเจน แล้วใช้การบังคับแบบสมัครใจมากขึ้น คือให้นิสิตเลือกโดยอาจจะให้ทุนเรียน แต่บังคับใช้ทุนสูง ในกลุ่มที่ชัดเจนว่า จะไม่เป็นแพทย์ที่คลินิคเสริมความงามในช่วง 5 ปีแรก ส่วนแพทย์ที่ต้องการไปทำคลินิคเสริมความงาม ควรให้จ่ายเงินลงทุนด้วยตัวเองสูงขึ้น หรืออีกแนวทางคือรัฐกับเอกชนต้องร่วมมือกันผลิตแพทย์ให้มากขึ้น ให้เกิดการแข่งขันกันเองในตลาดแรงงาน

                “การลดผลกระทบด้านลบของการมีแพทย์ด้านเสริมความงาม ต่อการเข้าถึงบริการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นธรรม ต้องการการจัดการจากหลายภาคส่วน ไม่เพียงแต่กระทรวงสาธารณสุขเพียงแห่งเดียว ภาคส่วนการผลิตควรต้องมีแผนการผลิต ที่สอดคล้องกับความต้องการของระบบ ไม่มุ่งเน้นตอบโจทก์ทางการตลาดเกินไป แพทยสภาและราชวิทยาลัยต่าง ๆ ต้องเข้ามาช่วยในการดูแล ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเองก็ต้องพยายามกระจายแพทย์ให้ไปอยู่ในส่วนที่ควรอยู่ให้มากที่สุด” ดร.พุดตาน อธิบาย

อย่างไรก็ตาม แม้การขยายตัวของคลินิกความงาม จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เป็นหลักหมื่นล้าน แต่เมื่อการผลิตแพทย์เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขของประเทศ ความกล่าวของ ดร.พุดตานที่ว่า การผลิตแพทย์ไม่ควรมุ่งตอบโจทย์ทางการตลาดมากจนเกินไป จึงเป็นประเด็นที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องรับฟัง ค้นหามาตรการที่จะรักษาแพทย์ให้อยู่ในระบบ และป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: