บทวิเคราะห์ : มองข้ามช็อต"ยุบสภา"

ใบตองแห้ง 15 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2064 ครั้ง

สมมติร่างรัฐธรรมนูญผ่าน รัฐบาลก็อาจฉวยโอกาสยุบ เพื่อกลับมาพร้อมวุฒิชุดใหม่ ที่จะเลือกตั้งในเดือนมีนาคม หรือถ้าศาลรัฐธรรมนูญยับยั้ง ทำให้ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย รัฐสภาต้องลงมติยืนยัน 2 ใน 3 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นโอกาสยุบ ชูธงประชาธิปไตยหาเสียงอย่างแหลมคมได้อีกครั้ง

ถ้าเงินกู้ 2.2 ล้านล้านผ่าน รัฐบาลก็ชูคำขวัญ 8 ปีสร้างอนาคต ถ้าไม่ผ่าน ยิ่งหาเสียงสนุก เลือกเพื่อไทยเพื่ออนาคตประเทศ ไม่ใช่เลือกแมลงสาบกัดแข้งกัดขา ฯลฯ

ถามว่าทำไมต้องยุบ ไม่ยุบไม่ได้หรือ เหลืออีกตั้ง 2 ปี โห 2 ปี เกิดอะไรได้ตั้งเยอะ อย่าลืมว่าที่ผ่านมาในแง่การบริหาร รัฐบาลอยู่ในช่วง “ขาลง” เพียงได้เปรียบในกระแสการเมือง ที่พวกสุดขั้วสุดโต่งพยายามล้มรัฐบาลนอกวิถีประชาธิปไตย หวังล้มด้วยม็อบ หวังล้มด้วยศาล หวังล้มด้วยทหาร ซึ่งสังคมไม่เอาด้วย

แต่ในภาคการทำงานจริง ในภาคเศรษฐกิจจริง แม้แต่มวลชนเสื้อแดงก็ยอมรับว่าของแพง ทำมาหากินฝืดเคือง นโยบายจำนำข้าวก็พ่นพิษ หนี้ท่วมหัว ไม่รู้จะเอาตัวรอดทางไหน จำนำต่อไปก็ยิ่งเจ๊ง ไม่จำนำก็เจอม็อบชาวนา เศรษฐกิจโลกปีหน้าใช่ว่าจะดี ปัญหาของรัฐบาลเรื่องโน้นเรื่องนี้จะมีโผล่มาเรื่อยๆ

เอาเป็นว่ารัฐบาลไม่มีทางทำได้ดีกว่านี้แล้วละ มีแต่จะเตี้ยลงๆ โอเค ไม่ยุบก็อยู่ได้ แต่หันไปมองเงื่อนไขหลายด้านประกอบกัน มันน่ายุบเสียกระไร ดูฝ่ายรัฐบาลเอง แม้ดูแย่ แต่ถามจริงว่ายิ่งลักษณ์ช้ำไหม ไม่ช้ำนะครับ ยังขายได้ เหมือนใหม่ ๆ ซิง ๆ โพลล์ส่วนใหญ่ออกมาดี แม้จะด่ารัฐบาล ด่าพรรค แต่คะแนนนิยมยิ่งลักษณ์ยังสูง

ที่สำคัญอย่าลืมว่าเดือนธันวาคมนี้ บ้านเลขที่ 109 จะเป็นอิสระ อิสระที่บรรหาร ศิลปอาชา กับลูกชายลูกสาวรอมานาน ฝั่งเพื่อไทยก็มีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อรวมกับบ้านเลขที่ 111 ที่ครั้งนี้มีโอกาสสมัคร ส.ส. ถ้าไม่ยุบสภาก็มีแรงกดดันภายใน ถ้ายุบสภา ก็จะได้ขุนพลคับคั่ง

หันไปดูคู่แข่งบ้าง พรรคประชาธิปัตย์กำลังตกต่ำ เปลี่ยนจากพระเอกหนุ่มหล่อมาเป็นนางอิจฉาในละครหลังข่าว เล่นนอกกติกา ถ่อย เถื่อน ทั้งในและนอกสภา จนนิวยอร์คไทม์ประจานข้ามโลก

ในสายตาประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่เหลืองแดง กำลังเบื่อทั้งสองฝ่าย แต่ไม่รู้จะไปทางไหนดี พรรคที่สามก็ไม่สามารถเกิด แน่นอนสภาพเบื่อทั้งสองฝ่ายอาจทำให้คะแนนลด แต่ก็ลดทั้งสองฝ่าย โค้งสุดท้ายพรรคเพื่อไทยยังช่วงชิงเสียงข้างมากได้อยู่ดี อย่าลืมว่า 2 ปี เพื่อไทยกุมกลไกราชการได้เกือบหมด แม้แต่ทหารก็ไม่เป็นปรปักษ์ เราจะไม่เห็น ผบ.ทบ.ออกมาต่อต้านพวก “ล้มเจ้า” อีกแล้ว ขณะที่แวดวงธุรกิจ เงินกู้ 2.2 ล้านล้านขายฝันได้ ตั้งแต่กลุ่มทุนทุกกลุ่มไปถึง SME

รัฐบาลจึงมีโอกาสยุบสภาในต้นปีหน้า หรือในครึ่งปีหน้า โดยไม่จำเป็นต้องรอครบ 4 ปี กองเชียร์พรรคเพื่อไทยไม่ต้องตกใจ นี่เป็นเรื่องปกติในวิถีประชาธิปไตย การยุบสภาไม่ใช่แสดงว่ารัฐบาลย่ำแย่ ในประเทศแม่แบบอย่างอังกฤษ เมื่อเห็นฝ่ายค้านเพลี่ยงพล้ำ รัฐบาลก็รีบยุบสภา

อำนาจต่อรองกลับมา

ถ้าวิเคราะห์สถานการณ์อย่างนี้ ประเด็นสำคัญคือ มวลชนแต่ละสี แต่ละข้าง จะมีท่าทีอย่างไร ต้องเตรียมการอย่างไร ให้สมกับที่เป็นยุค “การเมืองมวลชน”

มวลชนเสื้อเหลืองคงไม่มีปัญหา เพราะถึงเวลาก็ชูป้าย Vote No แต่เอาเข้าจริงโค้งสุดท้ายเลือก ปชป.เพราะกลัวเพื่อไทยชนะ

มวลชนเสื้อแดงก็มีด้านที่คล้ายกัน แท็กซี่เสื้อแดงบ่นว่าของแพง ทำมาหากินฝืดเคือง แต่โค้งสุดท้าย จะเอาอภิสิทธิ์หรือยิ่งลักษณ์ ต่อให้บ่นกะปอดกะแปดอย่างไรก็ต้องเลือกเพื่อไทย

ส่วนคนที่ห่างออกไป ไม่มีสีหรือสีจางๆ ก็อาจเบื่อหน่ายจนไม่ไปเลือกทั้งสองข้าง

นี่เป็นปัญหาที่ต้องข้ามให้พ้น ต้องเลิก “ถูกบังคับ” ให้เลือก ไหน ๆ จะเลือกแล้ว มวลชนก็ควรมีส่วนร่วม ตั้งแต่การกำหนดตัว ส.ส.หรือ Primary Vote ที่เคยเรียกร้องกัน ไปจนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย หรือมีส่วนร่วมปฏิรูปพรรค

พูดว่าสองสี แต่ความจริงคือเสื้อแดงเป็นหลัก อ้าว ก็เสื้อเหลืองบอกไม่เอาเลือกตั้งไงครับ ไม่เอาทั้งสองพรรค ด่าประชาธิปัตย์โครม ๆ จะไปร่วม Primary Vote หรือปฏิรูปพรรคกับเขาได้ไง ถึงเวลาเลือกตั้งก็เลือก ปชป.ด้วยความเกลียดทักกี้เท่านั้นเอง

คนที่จะปฏิรูปประชาธิปัตย์จึงมีแค่หยิบมือ เพราะพวกคนใต้เอาใครก็ได้ ขอให้พะโลโก้ ชวน หลีกภัย ฉะนั้น ต้องให้อลงกรณ์ พลบุตร หรือ อ.สมเกียรติ อ่อนวิมล ไปปฏิรูปกันเอง

หันมาดูพรรคเพื่อไทยบ้าง ปฏิรูป ปชป.ว่ายากแล้ว ปฏิรูป พท.ยิ่งแสนเข็ญ เปล่า ไม่ได้พูดแบบพวกพันธมิตรฯ ว่าเป็นพรรคของ “นายใหญ่” สั่งซ้ายหันขวาหัน ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงอาจจะดีกว่านี้ก็ได้ แต่ความเป็นจริงคือพรรคเพื่อไทยเละกว่านั้น ทั้งความสับสนของอำนาจ คุณภาพนักการเมือง และการหาประโยชน์ของกลุ่มก๊วน

นั่นทั้ง ๆ ที่เพื่อไทยได้ชัยชนะมาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดง แต่ยังไม่มีความเป็น “พรรคของมวลชน” แม้กระผีก อย่าพูดถึงแกนนำ นปช.ที่เข้าไปเป็น ส.ส. เพราะกลายเป็นเรื่องของ นปช. ลงมาถึงมวลชนน้อยมาก

ทำอย่างไรจะให้มวลชนมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งถ้ามียุบสภา ก็จะเร็วขึ้นเพราะต้องเลือกตั้งใน 60 วัน ต้องคิดและเตรียมกันตั้งแต่ตอนนี้

พูดเช่นนี้ไม่ใช่ยุให้แย่งชิงอำนาจ แต่มวลชนเสื้อแดงต้องตระหนักว่า พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งและได้ความชอบธรรมทางการเมือง จากชีวิตเลือดเนื้อมวลชนเสื้อแดง แต่รัฐบาลเพื่อไทยกลับย่ำแย่เพราะนักการเมือง และความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหาร

ปัญหาของรัฐบาลเพื่อไทยมีหลายด้าน ข้อแรก ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มีความสามารถเท่าทักษิณ มีความพร้อมน้อยกว่าทักษิณ เจอปัญหาหนักกว่าทักษิณ และไม่มีทีมงานที่ดีเหมือนทักษิณ ซึ่งเข้ามาพร้อมกับนโยบาย มีไอเดียไว้หมดว่าจะทำอะไร และมีคนเก่งรอบตัว เช่นมีหมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นเลขานายกฯ

ยิ่งลักษณ์ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในพรรคเหมือนทักษิณ เมื่อปี 2544 แน่นอน เพราะมีทั้งพี่ชาย พี่สาว พี่สะใภ้ แต่ พ.ศ.นี้ทักษิณก็ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ พรรคไม่เป็นเอกภาพ ข้อหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐธรรมนูญ 2550 รัฐมนตรีไม่ต้องลาออกจาก ส.ส.ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทำให้รัฐมนตรีกลัวทักษิณหงอ อีกข้อหนึ่งอาจเป็นเพราะการต่อสู้ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2554 ทำให้ทักษิณมีแผลเต็มตัว ต้องเป็นหนี้บุญคุณ ต้องพึ่งพาอาศัยกลุ่มต่าง ๆ ในพรรค และต้องต่างตอบแทน

รัฐมนตรียุคยิ่งลักษณ์ จึงเหมือนตัดเค้กแบ่งกระทรวง ใครอยากทำอะไรทำได้ตามใจชอบ และแต่งตั้งเข้ามาแบบผิดฝาผิดตัวตลอด

การปูนบำเหน็จ ให้ความดีความชอบ ของพรรคเพื่อไทยก็มีปัญหา ตั้งแต่ระดับบนสุดจนถึงล่างสุด ผู้ที่เคยต่อสู้ร่วมกันมาถูกทอดทิ้ง ผมไม่ได้บอกว่าต้องตั้งจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นรัฐมนตรี เพราะถ้ามีคนมีความสามารถกว่า ก็ไม่ควรตั้งจตุพร ณัฐวุฒิ แต่พรรคให้ความสำคัญกลุ่มก๊วน กลุ่มทุน กลุ่มตระกูล มากกว่าคนมีคุณภาพ ทั้งตำแหน่งการเมืองและราชการ ซึ่งได้คนสอพลอหาผลประโยชน์เสียตั้งเยอะ

ระดับล่างสุด มีอดีตสหายที่เชียงใหม่ เป็นแดง บ่นให้ฟังว่ามวลชนอุตส่าห์วิ่งช่วยหาเสียงเลือกตั้งซ่อม แต่ชนะแล้วกลับไปโอ๋หัวคะแนนในระบบเก่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.กลุ่มแม่บ้าน ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามเสียเยอะ

พูดก็พูดเถอะ ส.ส.เพื่อไทยบางคนยังไม่ตระหนักเลยว่า ชนะเพราะมวลชน บางคนยังเชื่อเหมือนพวกพันธมิตรฯ ว่าตัวเองชนะเพราะซื้อเสียง เพราะหัวคะแนน ทั้งที่มีบทเรียนพิสูจน์ในหลายพื้นที่ นักการเมืองกเฬวรากบางคน ชนะเลือกตั้งเพราะมวลชนจำต้องเลือกพรรค แต่พอส่งลูกส่งเมียลงนายก อบจ.หรือนายกเทศมนตรี กลับแพ้ย่อยยับ

ถ้าจะรักษาชัยชนะของประชาธิปไตย ก็ต้องทำให้พรรคเพื่อไทยมีความเป็นพรรคของมวลชนมากขึ้น

“พรรคทักษิณ” + พรรคมวลชน

การเรียกร้องให้ทำพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคของมวลชนไม่ใช่เรื่องง่าย ที่เรียกร้องให้ทำ Primary Vote คงมีไม่กี่เขตทำได้ เพราะมวลชนเสื้อแดงเองก็ไม่เป็นเอกภาพ แต่ละพื้นที่ก็มีหลากหลายกลุ่ม ซึ่งเห็นต่างกัน แกนนำส่วนหนึ่งก็กลายเป็นหัวคะแนน ส.ส.เหมือนหัวคะแนนในระบบเก่า

แต่อย่างน้อยก็ต้องตั้งเป้าว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึง มวลชนต้องมีสิทธิมีเสียง มีการเสนอความเห็นต่อตัว ส.ส.หรือผู้สมัครของพรรค แสดงปฏิกิริยาออกมา ถ้าไม่ต้องการ ส.ส.คนเดิม แน่นอนว่าจะเกิดความขัดแย้ง แต่ต้องยอมรับความขัดแย้ง มวลชนจะต้องต่อสู้ถึงที่สุด แต่เมื่อมีข้อยุติว่าพรรคเลือกใคร ก็ต้องยอมรับและต้องสนับสนุน

เวลาพูดนะพูดง่ายแต่เวลาทำจริงยาก นิสัยคนไทยถ้าทะเลาะกันเสียแล้วอาจไม่มองหน้ากัน เรื่องไรกรูจะช่วยเมริง

ข้อสำคัญคือพรรคต้องยอมรับการดำรงอยู่ของมวลชนเสื้อแดง ที่อาจจะมี 3-4 กลุ่มใน 1 เขตเลือกตั้ง บางกลุ่มอาจไม่เอา ส.ส.ที่พรรคหรือเสียงส่วนใหญ่เลือก ก็ต้องให้พวกเขาต่อสายตรงกับพรรค มีข้อต่อรองกับพรรค ว่านี่มวลชนเลือกพรรค ไม่ได้เลือกผู้สมัคร เมื่อชนะแล้วพรรคต้องฟังมวลชนกลุ่มนี้ด้วย ไม่ใช่ ส.ส.ริบอำนาจเป็นผู้แทนพรรคแต่ผู้เดียวในเขตนั้น

พูดง่ายแต่ทำยากอีกนั่นแหละ เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้เข้มแข็ง ไม่มีคนทำงานซักเท่าไหร่ ก่อน “พี่อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย เข้าไปเป็นเลขาฯ พรรคเพื่อไทย ก็เป็นเหมือนตึกร้าง มีแต่ “เด็จพี่” ให้สัมภาษณ์อยู่คนเดียว คนอื่น ๆ หนีไปเป็นรัฐบาลหมด

คนทำหน้าที่แทนพรรคในเรื่องนี้ที่ผ่านมาคือทักษิณ ซึ่งว่ากันว่ามีเบอร์โทร ต่อสายตรงถึงแกนนำทั่วประเทศ

คำถามคือเป้าหมายขั้นต้น ควรช่วงชิงพรรคเพื่อไทยให้เป็นพรรคของมวลชนในระดับใด ถ้าเป็นพวกพันธมิตร ก็คงยุให้ “ก้าวข้ามทักษิณ” แต่ขั้นนี้ไม่จำเป็น เป้าหมายที่ควรจะเป็นคือทำอย่างไรให้เป็น “พรรคของทักษิณ” พร้อมกับ “พรรคของมวลชน” โดยลดอำนาจกลุ่มการเมืองทุนท้องถิ่นลงไป

มวลชนเสื้อแดงไม่ว่าก้าวหน้าแค่ไหน ก็ยังไม่ได้ปฏิเสธทักษิณ ไม่ได้ปฏิเสธยิ่งลักษณ์ แต่ที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือ “นักการเมือง”กลุ่มก๊วนที่เข้าไปเป็นรัฐมนตรี ไม่เว้นแม้กลุ่มก๊วนที่เป็นของเครือญาติทักษิณด้วย

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: