เยาวชนวอนเลิกกม.พิเศษ ชี้ไฟเขียวจนท.ซ้อมทรมาน

อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ ศูนย์ข่าว TCIJ 15 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2308 ครั้ง

กลุ่มเยาวชน “ดรีมเซาท์” จัดกิจกรรมทบทวนเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หวังคนกรุงฯ เข้าใจสถานการณ์ที่แท้จริง ชี้กฎหมายพิเศษละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง เปรียบเสมือนใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงต่อประชาชนโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่เอื้อต่อบรรยากาศการพูดคุยสันติภาพ  เผยที่ผ่านมาคนในพื้นที่ใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวง

เยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่ม “ดรีมเซาท์” เดินทางไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร เพื่อจัดกิจกรรม “ดรีมเซาท์ อนาคตชายแดนใต้กำหนดได้ด้วยเยาวชน” ระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายนนี้ รวมตัวกันจัดกิจกรรมทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ย้อนหลังสิบปีแห่งความรุนแรง และคัดค้าน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและกฎอัยการศึก ที่บริเวณลานด้านหน้าของหอศิลปและวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ที่อุทยานการเรียนรู้ TK Park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กลุ่มเยาวชนเรียกร้องให้รัฐศึกษาความเป็นไปได้ ที่จะยกเลิกกฎหมายพิเศษดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมามีอาศัยช่องโหว่ที่กฎหมายให้อำนาจ มีการซ้อมทรมาน และใช้ความรุนแรงที่เกินกว่าเหตุต่อประชาชน อาทิ เหตุการณ์ตากใบและกรือเซะ ซึ่งมีประชาชนได้รับผลกระทบทั้งทางกายภาพและจิตใจ มีผู้เสียชีวิต พิการ และเด็ก ๆ ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้าเป็นจำนวนมาก จากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เจ้าหน้าที่ไม่เคยต้องรับผิดจากเหตุการณ์ความผิดพลาดดังกล่าวแม้แต่กรณีเดียว เผยประชาชนไม่มีเสรีภาพในการคิดหรือพูดคุย ขาดพื้นที่แสดงออก ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อบรรยากาศการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐและขบวนการผู้เห็นต่างจากรัฐที่กำลังดำเนินอยู่

นายดันย้าล อับดุลเลาะ ตัวแทนกลุ่มเยาวชน กล่าวกับประชาชนผู้สนใจว่า พวกตนเดินทางมาไกลจากพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง อยากอธิบายให้คนกรุงเทพฯ ได้เข้าใจว่า มีอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่ พวกตนก็คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ และยินดีที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่านวุฒิสภา แต่ในพื้นที่ที่พวกตนอาศัย มีพ.ร.ก.ฉบับหนึ่ง คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎอัยการศึกที่ประกาศใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก 4 อำเภอ ของจ.สงขลา มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2548 และขยายกำหนดเวลามาแล้วถึง 33 ครั้ง ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย เพื่อสอบสวนโดยไม่ต้องมีการออกหมาย

ที่ผ่านมาคนในพื้นที่ต้องทนทุกข์กับกฎหมายพิเศษ อยากร้องขอให้รัฐพิจารณายกเลิกกฎหมายพิเศษดังกล่าว เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมีกฎหมายพิเศษคุ้มครองจึงมีความย่ามใจ ไม่มีความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เท่าที่ควร บางครั้งปฏิบัติงานผิดพลาดทำให้ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อ แต่ไม่เคยต้องรับผิดชอบ เหตุการณ์ตากใบมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต เพราะเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม จับถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง และซ้อนทับกันบนรถจนเสียชีวิต แต่กระบวนการยุติธรรมกลับไม่สามารถเอาผิดใครได้

ดันย้าลกล่าวต่อว่า ปัจจุบันรัฐหันมาใช้วิธีพูดคุยกับผู้เห็นต่าง ตนและคนในพื้นที่เกือบทุกคนสนับสนุนวิธีการทางสันติภาพที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ทุกวันนี้คนในพื้นที่ยังไม่สามารถถกเถียง พูดคุยเรื่องการเมืองได้อย่างเสรี เนื่องจากหวาดกลัวเจ้าหน้าที่ เพราะเพียงแค่เจ้าหน้าที่สงสัย ก็มีอำนาจที่จะทำตามอำเภอใจได้โดยมีกฎหมายคุ้มครอง

นอกจากนี้ นายดันย้าลยังกล่าวถึงการทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลัก ที่นำเสนอแต่เหตุการณ์ความรุนแรง ขณะที่ในพื้นที่มีสิ่งที่ดีเกิดขึ้นมากมาย แต่ไม่เคยได้รับพื้นที่ของสื่อเหล่านั้น ตนจึงเรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ เพราะสื่อมีความสำคัญอย่างมาก ในการสร้างความเข้าใจสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนต่อคนนอกพื้นที่

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: