จวกรัฐเมินแก้ ‘บังคับคนสูญหาย’ ชี้นโยบายเป็นเหตุ-จี้ออกกม.ลูกรับ ระบุการเยียวยาก็เหมือนแค่ให้ทาน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 16 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1618 ครั้ง

จากกรณีการหายตัวไปอย่างมีร่องรอย ของนายสมบัด สมพอน นักพัฒนาอาวุโส เจ้าของรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขา ผู้นำชุมชน ประจำปี 2548 ซึ่งทำงานเคลื่อนไหวร่วมกับเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2555 จนกลายเป็นประเด็นเรียกร้องจากเครือข่ายเอ็นจีโอนานาประเทศ เพื่อขอให้รัฐบาลลาวออกมาแสดงท่าทีรับผิดชอบ เนื่องจากมีหลักฐานภาพถ่ายจากกล้อง CCTV ระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลลาว เกี่ยวข้องกับการหลายตัวไปของนายสมบัด อย่างชัดเจน พร้อมกันนี้ยังเห็นว่า รัฐบาลลาวควรแสดงความจริงใจ ในการสืบหาตัวนายสมบัดอย่างจริงจัง แต่จนถึงวันนี้ดูเหมือนการเคลื่อนไหวต่าง ๆ จะไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลลาวแต่อย่างใด จากการวางท่าทีนิ่งเฉย จนเสมือนว่าการหายตัวไปของนายสมบัดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

และจากท่าทีที่วางเฉยของรัฐบาลลาว ต่อข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของนานาชาติ ประกอบกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เงียบสนิทของสื่อมวลชนในลาว น้ำหนักที่เชื่อว่าการหายตัวไปของนายสมบัด สมพอน รัฐบาลน่าจะมีส่วนสำคัญ และอาจจะเป็นต้นเหตุในครั้งนี้จึงเพิ่มมากขึ้น โดยมีการวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้นายสมบัด ถูกลักพาตัวไป โดยมีคนของรัฐบาลมาเกี่ยวข้องด้วยนั้น หลายฝ่ายเชื่อว่าน่าจะมาจากความไม่พอใจของรัฐบาลต่อการเคลื่อนไหวของนายสมบัด ในการเป็นหนึ่งในแกนนำในการเปิดเวทีให้กับประชาชนชาวลาว ได้แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายของรัฐอย่างชัดเจน หลังถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นตลอดมา ในการประชุมภาคประชาชน  Asia-Europe Peoples Forum : AEPF ซึ่งเป็นการจัดคู่ขนานกับการประชุม ASEM หรือ Asia-Europe Meeting ครั้งที่ 9 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ จนกลายเป็นที่มาของการ “ถูกบังคับให้เป็นบุคคลสูญหาย”โดยเชื่อว่ารัฐบาลลาวมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร้องออกกฎหมายรองรับอนุสัญญาฯ ป้องกันบุคคลสูญหาย

 

 

 

ก่อนหน้านี้รัฐบาลลาว และไทยได้เคยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearances) ซึ่งได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 และเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2553 โดยมีประเทศต่าง ๆ ให้สัตยาบันแล้วจำนวน 31 ประเทศด้วยกัน

 

ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearances) ได้นิยามการบังคับบุคคลสูญหายไว้ โดยระบุว่าหมายถึง การจับกุม ควบคุมตัว ลักพาตัว หรือวิธีการอื่นใด ในการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพ ที่กระทำโดยตัวแทนของรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่กระทำไปโดยการให้อำนาจ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และโดยที่รัฐปฏิเสธที่จะรับทราบว่ามีการทำให้สูญเสียเสรีภาพนั้น หรือ โดยปกปิดชะตากรรม หรือ สถานที่อยู่ของผู้หายสาบสูญดังกล่าว โดยที่สถานที่อยู่ของบุคคลผู้หายสาบสูญนั้น กฎหมายไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้

 

นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ เลย แม้แต่ในสภาวะสงคราม หรือภัยคุกคามของสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้น ที่จะใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อความชอบธรรมในการบังคับให้บุคคลสูญหายได้

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่ารัฐบาลของ ไทย จะลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน และยังไม่ได้เริ่มขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบังคับใช้ตามอนุสัญญา ก่อนการให้สัตยาบัน ทำให้ “การบังคับให้บุคคลสูญหาย” ยังคงเกิดขึ้น แม้จะมีความพยายามของกลุ่มสิทธิมนุษยชน ให้เร่งดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยในระยะยาวให้กับบุคคล ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นโยบายรัฐเป็นสาเหตุบังคับให้คนสูญหายมากที่สุด

 

 

ในประเทศไทยการถูกบังคับให้บุคคลสูญหายยังคงเกิดขึ้น แม้กระทั่งถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ทางการเมือง โดยข้อมูลในรายงานเรื่อง “การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย” จัดทำโดย มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ซึ่งทำการศึกษากรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555 ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่บุคคลถูกบังคับให้กลายเป็นบุคคลสูญหาย ล้วนเกิดจากผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล โดยจากการวิเคราะห์พบว่า นโยบายของรัฐอย่างน้อยสองประการ ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหาการบังคับบุคคลให้สูญหาย ได้แก่ การต่อต้านการก่อความไม่สงบด้วยกำลังทหารในภาคใต้ของไทย และ นโยบายการปราบปรามยาเสพติดที่ดำเนินการในปี 2546 ขณะที่ในปีหลัง ๆ ช่วงหลังการปราบปรามการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน และพฤษภาคม 2553 ที่กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ ที่ยังคงมีการร้องเรียนคนหายจากญาติของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมอยู่อีกจำนวนหนึ่ง

 

 

‘อังคณา’ จวกการเยียวยาก็เหมือนให้ทาน แต่รัฐต้องค้นหาความจริงด้วย

 

 

นางอังคณา นีละไพจิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกบังคับสูญหายครบ1 ปีเต็ม แต่ยังมองไม่เห็นความพยายามของรัฐบาลไทย ในการให้เกิดการเปิดเผยความจริง หรือสนับสนุนเหยื่อ ที่จะเข้าถึงความยุติธรรม นอกจากการให้การเยียวยาครอบครัวของเหยื่อ จากการลักพาตัว และสูญหายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงครอบครัวของนายสมชาย นีละไพจิตร แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินไม่ได้เป็นการสร้างให้ชีวิตกลับคืนมาได้ เพราะสิ่งที่ครอบครัวเหยื่อต้องการคือ ความจริง การรับผิดของผู้กระทำความผิดคือความยุติธรรม เพราะนั่นหมายถึงศักดิ์ศรีของเหยื่อที่ถูกกระทำ

 

 

 

                 “คำถามคือ ได้เงินแล้ว แล้วยังไง เมื่อชีวิตมันพินาศหมดไปแล้ว ถ้าพูดแบบชาวบ้านต้องบอกเลยว่าชีวิตฉิบหายหมดไปแล้ว แล้วอย่างไร เด็กหลายคนไม่มีพ่อ ไม่ได้เรียนหนังสือ มีชีวิตอยู่กับความหวาดกลัวมาโดยตลอด ได้เงินแล้วอย่างไรต่อ การเยียวยาที่รัฐให้นั้นก็เป็นเหมือนการให้ทาน การสงเคราะห์ แต่ไม่ใช่การคืนศักดิ์ศรี เนื่องจากการเยียวยาของรัฐไม่เคยพูดถึงเรื่องการเข้าถึงความจริง ไม่เคยพูดถึงเรื่องของการเข้าถึงความยุติธรรม ไม่เคยพูดถึงการยอมรับผิดของผู้กระทำผิด ไม่เคยพูดถึงวิธีการที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก ไม่เคยพูดถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม หรือการที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การยอมรับในความต่างในความคิดเห็น การยอมรับในเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น เหล่านี้เป็นต้น การเยียวยาที่ผ่านมาจึงไม่มีอะไรนอกเสียจากการที่รัฐรู้สึกดีว่าได้ทำแล้ว” นางอังคณากล่าว

 

 

นักกฎหมายสากลชี้รัฐต้องเยียวยาครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก

 

 

จากกฎบัตรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้ระบุสิทธิด้านการเข้าถึงการเยียวยาของเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิด้านมนุษยชนเอาไว้ โดยจากการวิเคราะห์ของคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลพบว่า การเยียวยาควรดังกล่าวควรครอบคลุมสิทธิ์ 4 ประการได้แก่ การสอบสวน, ความจริง, การระงับหลักประกันว่าจะไม่เกิดซ้ำ และการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน การฟื้นฟูและความพึงพอใจ ซึ่งสิทธิเหล่านี้ก็ได้รับการรับรองในอนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการป้องกันมิให้บุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ด้วยเช่นกัน

 

ทั้งนี้คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลยังเห็นด้วยว่า การเยียวยาจะต้องปฏิบัติได้จริง เป็นผล ไม่ชักช้า และเข้าถึงได้โดยเป็นการปฏิบัติของหน่วยงานอิสระ มีความสามารถที่จะให้การสงเคราะห์รวมทั้งการชดใช้ และชดเชย และยังต้องมีการสอบสวนโดยไม่ชักช้า เป็นผล และไม่ลำเอียง และหน่วยงานที่ให้การเยียวยาจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างรวดเร็วและมีความสามารถ

 

 

               “รัฐบาลไทยลงนามอนุสัญญาการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ซึ่งถือเป็นการพัฒนาในเชิงบวก ในตอนนี้รัฐบาลจะต้องเริ่มขั้นตอนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบังคับใช้ตามอนุสัญญาก่อนการให้สัตยาบัน อย่างไรก็ตามการขาดเจตจำนงทางการเมืองของเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูง เป็นเหตุผลสำคัญซึ่งทำให้การบังคับบุคคลให้สูญหายยังดำรงอยู่ในประเทศไทยต่อไป และเป็นเหตุผลของความไม่ใส่ใจสอบสวนกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย และการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ที่รับผิดชอบ ทั้งยังเน้นให้เห็นปัญหาการชดเชยต่อญาติ ตราบที่ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาล ซึ่งมุ่งมั่นที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การแก้ปัญหาเชิงเทคนิคเกี่ยวกับการเยียวยาและการชดเชย ย่อมไม่อาจส่งผลให้ยุติการบังคับบุคคลให้สูญหายได้ อนุสัญญาการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย ควรเป็นแนวทางที่ช่วยให้รัฐบาลทำงานตามเจตจำนงทางการเมือง ที่จะยุติการบังคับบุคคลให้สูญหาย และให้การเยียวยาต่อปัญหาการสูญหายของบุคคลที่เกิดขึ้นมาแล้ว” รายงานของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพระบุ

 

 

 

 

เชื่อการทำให้คนสูญหายเป็นอาชญากรรมคุกคามมนุษยชาติ

 

 

ผู้อำนวยการมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ยังกล่าวด้วยว่า เรื่องของสิทธิมนุษยชนและเรื่องของความยุติธรรมไม่มีพรมแดน การบังคับให้คนต้องสูญหายไม่ใช่อาชญากรรมปกติ ไม่ใช่การละเมิดสิทธิมนุษยชนธรรมดา แต่เป็นอาชญากรรมที่คุกคามมนุษยชาติ ความกลัวเป็นสิ่งซึ่งรัฐบาลไม่ว่าจะในประเทศไหนก็ตาม ใช้เป็นเครื่องมือในการที่จะปิดปากประชาชน ไม่ต่างจากกรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีของนายสมบัด ซึ่งผู้ร่วมงานต้องทบทวนว่า อาจจะต้องชะลอการทำงาน ซึ่งไม่ต่างจากกรณีนายสมชาย ที่หลังจากการหายตัวไปของเขา เพื่อนร่วมงานที่เป็นทนายความบางคนต้องหลบไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน หลายคนก็หลบไปอยู่ในที่ต่าง ๆ กัน ในขณะที่คนบางส่วนหายไป แต่ก็มีอีกหลายส่วน โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนด้วยกันเอง ภาคประชาชน ภาคประชาสังคมที่ยังพร้อมจะเป็นเพื่อน พร้อมที่จะให้กำลังใจ แล้วทั้งหมดก็จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง

 

 

“จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยุติอาชญากรรมนี้ โดยการสร้างกลไกคุ้มครองทางกฎหมายให้เกิดขึ้นจริง การลงนามของประเทศไทย จะไม่มีความหมายเลย ถ้าประเทศไทยไม่มีการปรับแก้กฎหมาย ให้ความผิดฐานการลักพาตัว และการทำให้สูญหายเป็นอาชญากรรม และต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นใครก็ตาม ที่ผ่านมาแม้ประเทศที่พัฒนามามากอย่างประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงที่จะคุ้มครองบุคคลไม่ให้สูญหาย และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แต่จากประสบการณ์ส่วนตัว ดิฉันสามารถพูดได้เลยว่า รัฐบาลไม่เคยมีความเต็มใจ ที่จะให้การคุ้มครองและยกระดับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนให้ดีขึ้น โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยในสังคม มันก็ยังเป็นความเหลื่อมล้ำที่ยังเกิดขึ้นอยู่” นางอังคณากล่าวในตอนท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

วอนอาเซียนจี้ลาวหาตัว ‘สมบัด’ เชื่อรัฐบาลมีเอี่ยว-สื่อปิดปากเงียบ แนะเลิกตกลง-ไม่แทรกแซงสิทธิฯ

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: