คนไทยจ่ายค่าเหล้าลดลง ประหยัดเงินได้5หมื่นล้าน

16 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 1701 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 7 หัวข้อ“นโยบายแอลกอฮอล์เป็นเรื่องของทุกคน: Ownership in alcohol policy” มีทั้งตัวแทนในระดับพื้นที่ ประชาคมจากทั่วประเทศ และนักวิชาการจากต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 600 คน เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ข้อมูลด้านวิชาการใหม่ ๆ และทบทวนกฎหมายการบังคับใช้ที่ผ่านมา

 

ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุน สสส. ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศไทยได้บังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาครบ 5 ปี ทำให้เกิดกลไกการทำงานบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่ในระดับจังหวัด ผ่านคณะกรรมการและภาคีเครือข่าย เพื่อนำนโยบายระดับชาติทั้งมาตรการการจำกัดการเข้าถึง การทำการตลาด และการปรับเปลี่ยนบริบทของการบริโภค ลงไปปฏิบัติงานต่อ ทำให้แต่ละพื้นที่แก้ปัญหาได้ตรงประเด็นด้วยทุนทางสังคมของตนเอง และเกิดการมีส่วนร่วมในการทำงานทำให้เกิดความเข้มแข็งขึ้น

 

 

            “ประเทศสหรัฐอเมริกามีการประกาศสงครามกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์มากว่า 40 ปี ส่วนไทยมีการประกาศต่อสู้กับยาเสพติดมานานแล้วเช่นกัน แต่ในเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจยังพูดอย่างกว้างขวางเพียงไม่กี่ปี แต่พบว่า มีการต่อสู้จากธุรกิจแอลกอฮอล์ทั้งใต้ดินและบนดิน ซึ่งผู้ที่ทำงานในด้านนี้หากมีความเข้มแข็งจะสามารถปกป้องเยาวชน และประชาชนได้” ศ.นพ.อุดมศิลป์กล่าว

 

 

ท.พ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสนับสนุน ประสานร่วมมือกับบุคคล องค์กรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความตระหนัก และลดพฤติกรรมเสี่ยงการบริโภคสุรา และยาสูบ ถือเป็นวัตถุประสงค์ของ สสส. ตั้งแต่เริ่มแรก ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้พลังปัญญา สังคม นโยบายร่วมกัน เช่น การรณรงค์งานบุญปลอดเหล้า การงดเหล้าเข้าพรรษา ที่ทำให้เกิดกระแสสังคมหันมาลด ละ เลิก ในช่วงเข้าพรรษาได้กว่าครึ่ง และลดการบริโภคต่อเนื่องไปจนถึงออกพรรษาได้ หรือการเปลี่ยนกระแสสังคมโดยจัดงานสวดมนต์ข้ามปี เพื่อให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมจากการเฉลิมฉลองด้วยแอลกอฮอล์เป็นการทำบุญ สวดมนต์สร้างสมาธิ ซึ่งถือเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนได้มีกิจกรรมสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น

 

 

           “จากการรณรงค์ในโอกาสต่าง ๆ ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้คนไทยเสียเงินซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงอย่างต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว จาก 154,998 ล้านบาท ในปี 2550 ลดลงเหลือ 137,059 ล้านบาท ในปี 2554 เท่ากับสามารถประหยัดเงินค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เกือบ 18,000 ล้านบาท แต่หากไม่มีการรณรงค์ลดดื่มแอลกอฮอล์ ค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อคำนวณแล้วเท่ากับ ใน 5 ปีที่ผ่านมา สามารถประหยัดเงินค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เกือบ 50,000 ล้านบาท รวมทั้งอัตราการดื่มแบบอันตรายมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 9.1 ในปี 2546-2547 เหลือร้อยละ 7.3 ในปี 2551-2552 โดย สสส.จะทำหน้าที่เป็นน้ำมันหล่อลื่นเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปัญหาใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” ทพ.กฤษดา กล่าว

 

ด้าน น.พ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า การจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ ไม่สามารถทำได้เพียงลำพังเพียงกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคม เพราะผลจากการดื่มอย่างไม่มีการควบคุม จะสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งต่อตัวผู้ดื่ม บุคคลรอบข้าง และสังคมโดยรวม จึงจำเป็นต้องสร้างความเป็นเจ้าของ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วม จากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะในหน่วยงานระดับพื้นที่และจังหวัด สามารถเป็นคานงัดจุดเปลี่ยนอนาคตปัญหาแอลกอฮอล์ของสังคมไทย การประชุมวิชาการสุราระดับชาติครั้งนี้

 

ทั้งนี้ ภายในงาน ศ.นพ.อุดมศิลป์ ได้มอบรางวัลยกย่องบุคคลผู้มีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำนวน 3 รางวัล คือ 1.นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าฯ จ.นครศรีธรรมราช จากภาคราชการ 2.นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ จากภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 3.นางสมควร งูพิมาย สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลพิมาย จ.นครราชสีมา จากภาคประชาสังคม

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: