เร่งใช้3.5แสนล้าน-หวั่นจัดการน้ำเหลว แฉรบ.ไล่บีบมหา’ลัยทำประชาพิจารณ์

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 16 ส.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1822 ครั้ง

หลังจากศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รัฐบาลกลับไปศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชน โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เนื่องจากโครงการบริหารจัดการน้ำทุกสัญญา (โมดูล) มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โมดูล A1 ว่าด้วยการก่อสร้างเขื่อนและ โมดูล A5 ว่าด้วยการก่อสร้างฟลัดเวย์ระบายน้ำ ซึ่งมีความไม่สอดคล้องต่อการดำเนินการ จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ จากการเปลี่ยนระบบลุ่มน้ำของประเทศไทย และวิถีชีวิตของประชาชนอย่างแน่นอน รวมถึงตามแผนการสร้างฟลัดเวย์ ยังจะส่งผลกระทบต่อผืนป่าตะวันตก และการเวนคืนที่ดินของประชาชนจำนวนมาก และที่ผ่านมารัฐบาลเองก็ไม่ได้มีความชัดเจนในเรื่องนี้ด้วย

ล่าสุดวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเสวนาเรื่อง “ตีแผ่ความไม่เหมาะสมโรงการผันน้ำ A 5 และเขื่อนแม่วงก์” ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเชิญนักวิชาการด้านการบริหารจัดการน้ำ รวมไปถึงสื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ โดยยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก

วสท.ยืนยันความเละเทะของโครงการน้ำ 3.5 แสนล้าน

ทั้งนี้ในวงเสวนา ประเด็นหลักที่ยังคงถูกกล่าวถึงในเวทีนี้ คือความไม่เหมาะสมในด้านต่าง ๆ ของโครงการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนการดำเนินการของรัฐบาล ที่นักวิชาการเห็นว่ามีความผิดพลาด ผิดขั้นตอนตามหลักวิชาการที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ ซึ่งหากพิจารณาจากระยะเวลาของโครงการที่กำหนดไว้ตามกรอบของรัฐบาลแล้ว แทบจะไม่มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้สำเร็จตามกำหนดอย่างแน่นอน หากสิ่งที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากภาควิชาการ และภาคประชาชน เพราะต้องการทำให้ได้ตามกรอบการกู้เงินวันที่ 30 มิถุนายน 2556 จึงเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ

            “ที่ผ่านมาหลายภาคส่วน ได้ออกมาแสดงความคิดเห็น ท้วงติงไปยังรัฐบาลแล้ว แต่ก็ปรากฎว่าไม่เคยได้รับความสนใจเลย โดยเฉพาะในด้านของวิศวกรรมการก่อสร้าง ในนามของ วสท.ที่เรามีวิชาชีพด้านนี้ และทำงานในเชิงวิชาการ มีหลักท้วงติงทางวิชาการที่ชัดเจน และยังมีประสบการณ์ด้านนี้มาโดยตลอด แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสนใจเลย ทั้งที่โครงการนี้ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่ อย่างไรก็ไม่มีทางทำการศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ได้ภายในระยะเวลา 9 เดือน เพราะแค่การก่อสร้างอาคารในหลัก 100-200 ล้านบาท เรายังต้องใช้เวลาศึกษา วางแผนเฉพาะด้านวิศวกรรมเป็นปี ๆ ไม่นับรวมผลกระทบด้านอื่น ๆ การใช้ระยะเวลาเพียงสั้น ๆ กับโครงการขนาดใหญ่นี้ จึงเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งกับประเทศชาติและประชาชน” นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแหงประเทศไทยฯ กล่าว

‘ปราโมทย์’แปลกใจครม.อนุมัติเขื่อนแม่วงก์ แสดงว่าไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรม

ในวงเสวนายังกล่าวถึงประเด็นกรอบแนวคิดของการดำเนินการโดยเฉพาะโมดูล A1 และ A5 ที่มีบริษัทต่างชาติ ได้รับคัดเลือกให้เข้าดำเนินการด้วย หลายฝ่ายโดยเฉพาะนักวิชาการด้านวิศวกรรมเห็นว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่า รัฐบาลจะให้เดินหน้าได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เพราะหลายโครงการต้องอาศัยระยะเวลาในการศึกษายาวนาน หลายโครงการดำเนินการมาแล้วเป็นสิบๆ ปี แต่ก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยนายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน แสดงความเห็นว่า หากพิจารณาการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะพบว่า มีการศึกษาเรื่องนี้มายาวนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ตนเป็นอธิบดีกรมชลประทานเสียอีก แต่ก็ยังไม่สามารถยุติได้ เพราะยังไม่มีความชัดเจนในทุกเรื่อง โดยเฉพาะภาพใหญ่ที่ระบุว่า จะป้องกันน้ำท่วมนั้น ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะไม่ได้ช่วยอะไร การศึกษาที่ไม่มีความชัดเจน จึงต้องทำให้ไม่ผ่านการพิจารณาของ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ ซึ่งส่วนตัวของตนก็ไม่เห็นด้วยในแง่ของวิศวกรรม เพราะการทำอะไรจะต้องตอบโจทย์ให้ได้ ได้รับการยอมรับจากสังคม และจะต้องไม่ดื้อดึง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย

            “เรื่องเขื่อนแม่วงก์นี่ผมแปลกใจมากที่ ครม.อนุมัติให้ก่อสร้าง แสดงว่าครม.ไม่รู้เรื่องการขับเคลื่อนงานด้านวิศวกรรมเลยว่า จะต้องทำอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบต่าง ๆ มากมาย มันเป็นเรื่องน่าตกใจที่มีการตัดสินใจโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นภายหลัง” นายปราโมทย์กล่าว

ขณะที่ นางรตยา จันเฑียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวเสริมว่า ขอยืนยันว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่คุ้มค่าอย่างแน่นอน เพราะจริง ๆ แล้วพื้นที่แม่วงก์อยู่ติดกับผืนป่าตะวันตก อยู่ติดห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นผืนป่าที่ใหญ่มาก มีเนื้อที่กว่า 12 ล้านไร่ และเป็นป่าที่ยังมีสัตว์ป่าอยู่มาก อุดมสมบูรณ์ปัจจุบันพบว่ามีเสือโคร่งอยู่ถึง 81 ตัว มีการเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่าในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ที่รัฐบาลบอกว่าเสียป่านิดเดียวจึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องอย่างแน่นอน

เผยเคยแนะกบอ.อย่าโยกความเดือดร้อน

นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง ที่นายปราโมทย์กล่าวในวงเสวนา คือกรณีรูปแบบของการก่อสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำทางผันน้ำ (Flood way) ซึ่งมีบริษัทต่างชาตินำไปเสนอจนได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลนั้น มีข้อมูลพบว่า รูปแบบต่าง ๆ ได้ถูกออกแบบศึกษาไว้แล้วโดยกรมชลประทาน

            “ผมเพิ่งมาทราบภายหลังว่า ที่มีการบอกว่ามีการเสนอแนวคิดจากหลายประเทศ ทั้งเนเธอร์แลนด์ ยุโรป แต่สุดท้ายก็ถอนตัวไป ทำให้เห็นว่าประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่เอาด้วย แล้วในที่สุดประเทศเกาหลีก็มาประมูลได้ไป ซึ่งรูปแบบ กรอบแนวคิดทั้งหมดนี่เป็นของคนไทยทั้งหมด เอาไปจากกรมชลประทาน มารวมกันแล้วก็อ้างว่าเป็นแนวคิดของตัวเอง กบอ.พยายามบอกว่า เป็นกรอบแนวคิดของคนต่างชาติ ซึ่งทั้งจีนและเกาหลีจะรู้ได้อย่างไรว่า ต้องผันน้ำออกไปยังแม่น้ำแม่กลอง เพราะเพิ่งมาประเทศไทยไม่นานนี่เอง” นายปราโมทย์กล่าว

อดีตอธิบดีกรมชลประทานระบุด้วยว่า ขั้นตอนการทำงานที่กลับหัวกลับหาง ผิดเพี้ยนไป ของกบอ.เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง และไม่เคยเห็นว่ามีที่ไหนทำกันมาก่อน เชื่อว่าจะไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาด้านน้ำของประเทศได้ หากดำเนินการไปแล้วต้องติดขัดแน่นอน ก่อนหน้านี้ได้พยายามให้บอกกับคนใน กบอ.ไปแล้วว่าทำไม่ได้ ควรจะถอย แต่ไม่มีใครฟังและยืนยันจะเดินหน้าต่อไป จนสุดท้าย โครงการฟลัดเวย์นี้บริษัทเควอร์เตอร์ของเกาหลีได้ไป ซึ่งทีโออาร์ระบุให้ศึกษาผลกระทบของโครงการเควอเตอร์ ก็ต้องใช้ที่ปรึกษาคนไทยในการศึกษาอยู่ดี เป้าหมายของรัฐบาลจะดูแลเขตเศรษฐกิจลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างใช่หรือไม่ อย่าไปปฏิเสธความจริง ถ้าเอากันเหมาะๆ ก็ให้แบ่งน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างให้ลงทะเลเร็วที่สุด โดยตัดยอดน้ำที่บริเวณเหนือหรือใต้ จ.พระนครศรีอยุธยาก็ได้ คือทำตามหลักการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยรับสั่งไว้ว่า อย่าโยกความเดือดร้อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง และตนก็ยึดถือมาตลอด แต่วันนี้รัฐบาลกลับกำลังโยกความเดือดร้อนของคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปให้คนลุ่มน้ำแม่กลอง

จี้จริยธรรมต่างชาติขโมยไอเดียกรมฯชลไปใช้

สำหรับประเด็นเรื่องของการนำกรอบแนวความคิดจากกรมชลประทานไปใช้ โดยระบุว่า เป็นความคิดของชาวต่างชาตินั้น เป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึง โดยนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ระบุว่า ทีระบุว่ารูปแบบโมดูลต่างๆ ที่รัฐบาลบอกว่าเป็นแนวคิดของชาวต่างชาติ ทั้งที่จริงเป็นการนำการศึกษาของกรมชลประทานมาใช้ทั้งหมด ถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย ต่างชาติมาเมืองไทยเพียงแค่ 5-6 เดือน จะรู้รายละเอียดของประเทศไทยได้อย่างไร ว่าจะต้องผันน้ำทางไหนไปทางไหน หรือพื้นที่ใดเป็นอย่างไร ดังนั้นเรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอายมากตามหลักวิศวกรรม เพราะเป็นสิ่งที่ผิดในเชิงของจรรยาบรรณวิชาชีพ และกฎหมายอาญาด้วย ทั้งนี้ในส่วนของสภาวิศวกรรมจะได้ติดตามการทำงานด้านวิชาการของวิศวกรที่เข้าไปช่วยงาน หรือไปรับใช้รัฐบาลในการทำงานโครงการนี้ ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร โดยจะมีการประกาศรายชื่อวิศวกรทั้งหมด เพราะหากผลออกมาดี ก็จะมีการยกย่องเชิดชูเกียรติในฐานะที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม ก็จำเป็นที่จะต้องติดตามตรวจสอบต่อไป เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องของประเทศชาติ ดังนั้นควรมีการให้ความเห็นที่เป็นจริง ตรงไปตรงมา

            “เรื่องนี้ก็เห็นอยู่ว่ารัฐบาลพยายามที่จะเร่งดำเนินการให้ทันกรอบการกู้เงินในวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ไม่มีการศึกษารายละเอียด แต่เราในฐานะนักวิชาการด้านวิศวกรรม เรามีหลักทางวิชาการ และศึกษามาก่อน แต่รัฐบาลไม่สนสิ่งที่เราพูด แต่อย่างไรก็ตามเราก็คงจะต้องติดตามต่อไปเพราะสิ่งสำคัญคือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ” นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยกล่าวฯ

แฉกบอ.บีบมหาวิทยาลัยรับทำประชาพิจารณ์

ด้าน นายบัญชา ขวัญยืน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เปิดเผยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้คือ ล่าสุดตนได้รับข้อมูลจากเพื่อนนักวิชาการด้วยกันว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ติดต่อมายังกลุ่มนักวิชาการในสถาบันการศึกษาหลัก ๆ ของประเทศ เพื่อขอให้เข้าไปร่วมทำงาน และพูดคุยเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน โดยเฉพาะการขอให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่โครงการ รับทำประชาพิจารณ์กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยการติดต่อนอกจากจะโทรศัพท์มาพูดคุยกับนักวิชาการแล้ว ยังส่งหนังสือติดต่อผ่านอธิการบดี เพื่อขอให้ส่งทีมเข้าร่วมประชุมกับรัฐบาล โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง ที่ดูเหมือนว่าจะหนักที่สุด ซึ่งสร้างความอึดอัดให้กับนักวิชาการส่วนใหญ่ เพราะทราบว่าในเชิงของวิชาการเป็นอย่างไร

            “ผมรู้สึกไม่สบายใจว่า หากนักวิชาการจะเข้าไปร่วมทำงานกับรัฐบาลจริง ๆ ก็ไม่น่าจะมีข้อมูลใดๆ ที่จะไปบอกเล่าให้กับประชาชนในพื้นที่ทราบได้ และเมื่อรับงานมา โจทย์ก็คือต้องทำให้ผ่าน ดังนั้นข้อมูลที่จะไปทำคืออะไร เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำงานตามขั้นตอน การศึกษาต่าง ๆ ยังไม่มี แล้วจะไปบอกชาวบ้านได้อย่างไร การเชื้อเชิญนักวิชาการเข้าไปร่วมทำงานเหล่านี้ เปรียบเสมือนเป็นการนำภาควิชาการเข้าไปเป็นตรายางปั๊มรับรองว่า ได้ผ่านการเห็นชอบจากฝ่ายวิชาการแล้วนั่นเอง

            “ผมก็รู้สึกว่า มันผิดและเตือนเพื่อน ๆ นักวิชาการด้วยกันว่า ต้องพิจารณาให้ดี เพราะการที่เข้าไปทำ โดยไม่มีข้อมูล หรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ก็อาจจะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความผิดพลาดเสียหายให้กับประเทศชาติได้ เพราะเสมือนกลายเป็นไปรองรับความชอบธรรมทางวิชาการให้กับโครงการที่ผิดเพี้ยนของรัฐบาลโครงการนี้” นายบัญชากล่าว

กรมชลประทานอ้างรัฐบาลห้ามให้ข่าว

ขณะที่ น.ส.ดาริน คล่องอักขระ ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งทำข่าวเกาะติดโครงการบริหารจัดการน้ำของ กบอ. กล่าวว่า ในฐานะสื่อมวลชน ได้พยายามนำข้อมูลต่าง ๆ มานำเสนอเพื่อประชาชนทราบ โดยถือความเป็นกลางไม่ได้มีเป้าหมายอื่น ๆ ทั้งนี้จากการลงพื้นที่สืบหาข้อมูล พบว่าข้อมูลหลายส่วนเช่น ข้อเท็จจริงจากกรมชลประทาน ที่เคยได้รับการตอบรับว่าจะมีผู้มาให้ข้อมูล ก็ถูกปฏิเสธในภายหลัง ซึ่งทราบว่าเป็นคำสั่งจากทางรัฐบาลไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลกับสื่อ ดังนั้นจึงไม่สามารถนำข้อมูลอีกด้านหนึ่งมาเผยแพร่ต่อประชาชนได้ แต่ในการทำงานก็ได้พยายามหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ต่อไป โดยเฉพาะการเข้าไปในพื้นที่โครงการต่าง ๆ ทำให้ทราบความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีโอกาสได้พูด ต่างก็แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ที่รวบรวมได้คือ ส่วนใหญ่ไม่รู้ข้อมูลว่ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง และจะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านของพวกเขา ซึ่งเป็นพื้นที่ในโครงการ ในขณะที่ในระหว่างการทำงานก็ยังถูกนักการเมืองท้องถิ่นลงมาตำหนิติเตียน แต่เมื่อตนบอกว่าขอให้แสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูล กลับถูกนักการเมืองเหล่านั้นปฏิเสธ

            “ในเมื่อสิ่งที่เราต้องการจะให้มีการให้ข้อมูลจากทุกด้าน ถูกปิดกั้นจากรัฐบาล ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องค้นหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ เอง ยืนยันว่าสิ่งที่ทำคือเราต้องการให้เกิดข้อมูลพิจารณารอบด้านที่สุดและทำงานในฐานะสื่อที่ไม่มีอคติแต่อย่างใด” น.ส.ดารินกล่าว

เควอเตอร์เชิญสื่อดูงานเกาหลีจะได้เห็นแต่ฟลัดเวย์สวยงาม

น.ส.ดารินกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ในประเด็นของบริษัทเค วอเตอร์ ฯ ซึ่งได้รับคัดเลือกให้ทำโครงการฟลัดเวย์นั้น ตนยืนยันว่าไม่ได้มีอคติเช่นกัน เพราะได้เดินทางไปดูการทำงานของบริษัทนี้ ถึงประเทศเกาหลี พร้อมนักวิชาการด้วยตัวเอง ซึ่งก็พบว่าฟลัดเวย์ต่าง ๆ ของประเทศเกาหลี มีความสวยงาม แต่ก็ได้รับข้อมูลว่าการสร้างในประเทศเกาหลีมีอุปสรรค และต้องใช้เวลาการทำความเข้าใจกับประชาชนยาวนานกว่า 10 ปี กว่าจะสร้างได้ และปัจจุบันภาพของฟลัดเวย์ก็ดูสวยงาม เป็นภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่ดี และเชื่อว่า ผู้สื่อข่าวที่จะเดินทางไปประเทศเกาหลี ตามคำเชิญของบริษัทเควอเตอร์ ก็จะได้เห็นภูมิทัศน์แบบนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตามหาพิจารณาแล้ว สภาพแม่น้ำของประเทศเกาหลี ไม่เหมือนกับประเทศไทย ผู้คนไม่ได้มีความผูกพันกับสายน้ำเหมือนคนไทย ดังนั้นความแตกต่างก็จะไม่เหมือนกัน

 

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google ประชาชาติธุรกิจ ไทยรัฐ โพสต์ทูเดย์ กรุงเทพธุรกิจ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: