น่าแปลกที่แม้จะมีนโยบายหลายอย่างค่อนไปในทางประชานิยมเหมือนกัน รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับไม่ถูกวิจารณ์แบบเดียวกันนี้ หรือมีในขอบเขตที่เบาบางมาก จนเทียบกับคุณทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้เลย
ประชานิยมของคุณยิ่งลักษณ์ต่างจากประชานิยมของคุณทักษิณหรือไม่? คำตอบคือมีทั้งส่วนที่ต่างกันและส่วนที่เหมือนกัน
เอาเฉพาะตรงที่เหมือนกันก่อน คุณทักษิณและคุณยิ่งลักษณ์ล้วนให้ความสำคัญกับนโยบายสาธารณะที่เน้นการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่นกองทุนหมู่บ้าน, พักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย, หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์, จำนำข้าว,ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท, คืนภาษีรถคันแรก, คืนภาษีบ้านหลังแรก, ลดภาษีนิติบุคคล , โครงการรถไฟความเร็วสูง, โครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ขณะที่ประชานิยมของคุณทักษิณมีทิศทางที่เห็นได้ชัดว่ามุ่งทำให้เกิด Multiple Effects หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าทวีคูณยิ่งกว่าเม็ดเงินที่อัดฉีดเข้าไป ตัวอย่างคือกองทุนหมู่บ้านหรือโอท็อปนั้นมุ่งเพิ่มเงินหมุนเวียนในชนบท จนเกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นแน่ ๆ ผลก็คือเศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นตามไปด้วย แม้จะมีผู้โต้แย้งว่าการเติบโตมาจากภาคส่งออกมากกว่าภาคเศรษฐกิจภายในก็ตาม
อนึ่ง น่าสังเกตว่านโยบายประชานิยมของคุณทักษิณ เชื่อมโยงกับหนึ่งในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่เป็นหัวใจของรัฐบาลทักษิณ นั่นคือยุทธศาสตร์เพื่อสร้างการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ (Consumption-Led Strategy) และยุทธศาสตร์นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจแบบ Dual Track ที่ต้องการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งจากการเพิ่มอุปทานภายในประเทศและจากการขยายตัวของการส่งออกไปพร้อม ๆ กัน
ประชานิยมของคุณยิ่งลักษณ์ไม่มีทิศทางชัดเจนแบบนี้ นโยบายที่ใกล้เคียงเรื่องนี้ที่สุดคือจำนำข้าวและค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งมีเวลาน้อยเกินกว่าจะประเมินผลเรื่องการทวีคูณของมูลค่าได้ หรืออาจไม่จำเป็นต้องประเมินให้เสียเวลาเลยก็ได้ ถ้าคำนึงว่ารัฐบาลประกาศไว้แล้วว่าจะไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปอีกสามปี ส่วนจำนำข้าวก็เผชิญแรงกดดันทางการเมืองและความผันผวนทางการบริหารจนเป็นนโยบายที่ปราศจากความแน่นอน
รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายภาษีหลายอย่าง แต่การลดภาษีรถและบ้านหลังแรกก็ล้วนเป็นนโยบายปีเดียวจบ จึงไม่มีผลอะไรอีก ซ้ำยังตอบได้ยากด้วยว่า ระหว่างการกระตุ้นเศรษฐกิจกับการมีฉันทาคติทางนโยบายกับอุตสาหกรรมยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ อะไรเป็นด้านหลักมากกว่ากัน เช่นเดียวกับการลดภาษีนิติบุคคล ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าส่วนลดจะถูกใช้เพื่อการลงทุนหรือเป็นการเพิ่มเงินเก็บในบัญชีของคนรวย
ความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกเรื่องคือ การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐผ่านนโยบายบริหารจัดการน้ำและรถไฟความเร็วสูง ปัญหาคือการเพิ่มรายจ่ายภาครัฐไม่ได้ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากอย่างที่คิดเสมอไป ซ้ำในบางกรณียังมีผลน้อยกว่าปัจจัยภายนอกอย่างการขยายตัวของการส่งออกหรือการท่องเที่ยวอีกด้วย นโยบายเหล่านี้เป็นความหวังในเวลาที่รัฐบาลมีเครื่องมือทางนโยบายเหลือน้อย แต่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันผลของนโยบาย
ความเป็นรัฐบาลที่ใช้นโยบายประชานิยมแบบที่คล้ายไม่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจอะไรเลย คือเส้นแบ่งซึ่งทำให้ประชานิยมยุคคุณยิ่งลักษณ์แตกต่างจากประชานิยมยุคคุณทักษิณอย่างมีนัยยะสำคัญ
นอกเหนือจากความแตกต่างในด้านการกำหนดนโยบายประชานิยมดังที่ได้กล่าวไปแล้ว คุณยิ่งลักษณ์กับคุณทักษิณยังมีความแตกต่างในด้านการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประชานิยมกับประชาธิปไตยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าจำกัดขอบเขตของประชานิยมไว้แค่นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม
หนึ่งในการถกเถียงเรื่องประชานิยมที่สำคัญที่สุดในโลก คือประชานิยมเป็นประโยชน์ หรือเป็นโทษต่อระบอบประชาธิปไตย ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าเป็นโทษ เพราะประชานิยมมักเติบโตพร้อมกับผู้นำที่เปี่ยมด้วยบารมีส่วนบุคคล ซึ่งเจนจัดในการใช้ความโกรธแค้นทางสังคม ไปเป็นฐานของขบวนการที่อ้างว่าตัวเองเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน จนโน้มเอียงจะมองข้ามสถาบันการเมือง ที่เป็นทางการของประชาธิปไตยแบบตัวแทนทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์นั้นบอกว่าประชานิยมเป็นตัวแทนของคนกลุ่มที่ไม่มีปากเสียงหรือถูกกีดกันจากสังคมได้ หากเป็นประชานิยมที่ผลักดันนโยบายเพื่อความเท่าเทียมในสังคม นอกจากนั้นคือประชานิยมสร้างความเป็นการเมืองขึ้นมาท้าทายรัฐและสถาบันการเมืองที่เฉื่อยชาจนไม่สนองความต้องการของสังคมด้วย ประชานิยมแบบนี้เป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาประชาธิปไตย
นักวิชาการบางคนเสนอว่าประชานิยมไม่มีความหมายในตัวเอง จะเป็นประชาธิปไตยก็ได้ หรือจะเป็นเพื่อชนชั้นนำก็ได้อีก จะเป็นประชานิยมแบบซ้ายก็ได้ หรือจะเป็นประชานิยมหรือแบบขวาก็ได้เช่นกัน
ประชานิยมแบบซ้ายสร้างการเมืองบนฐานของการคิดถึงประชาชนแบบไม่เป็นกลุ่มก้อน เอาอนาคตเป็นตัวตั้ง มีที่มาโดยไม่คำนึงถึงชาติพันธุ์ สีผิว ศาสนา เพศ ฯลฯ รวมทั้งมีข้อเรียกร้องที่ไม่ได้ขึ้นต่อใครหรือกลุ่มใดเพียงกลุ่มเดียว ส่วนประชานิยมแบบขวามีฐานอยู่ที่บางเชื้อชาติบางสีผิว รวมศูนย์ที่ผู้นำ และมุ่งผลักดันให้ชนชั้นนำใหม่จากคนส่วนน้อยแทนที่ชนชั้นนำเสรีนิยมที่ถูกทำให้เป็นพวกคอรัปชั่นและไร้ประสิทธิภาพในการทำงาน
นักวิชาการอีกกลุ่มมองว่า ประชานิยมไม่ได้เป็นเรื่องของขบวนการการเมืองแบบไหนเลย สาระสำคัญของประชานิยม คือความเป็นการเมืองในปริมณฑลทางสังคม ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมือง ประชานิยมเกิดขึ้นเมื่อข้อเรียกร้องซึ่งมีท่าทีแบบประชาธิปไตยเรื่องใดก็ได้ตั้งแต่ประกันสังคม บริการสุขภาพถ้วนหน้า ลดภาษี ฯลฯ เชื่อมโยงจนทำให้มวลชนที่กระจัดกระจายกลายเป็น “ประชาชน” ที่มีความหมายขึ้นมา
ถึงที่สุดแล้ว การประเมินความสัมพันธ์ระหว่างประชานิยมกับประชาธิปไตยจึงเป็นภาพสะท้อนของการนิยามว่าอะไรคือประชาธิปไตย
แน่นอนว่าทั้งคุณทักษิณและยิ่งลักษณ์ล้วนผลักดันนโยบายประชานิยมเหมือนกัน อย่างไรก็ดี วิธีที่แต่ละคนดำเนินนโยบายกลับต่างกันมาก ซ้ำความแตกต่างนี้อาจเป็นร่องรอยความเข้าใจประชาธิปไตยที่ไม่เหมือนกัน
คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีผู้ที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อฝ่ายตรงข้าม จนได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม แต่น่าสังเกตว่า คุณทักษิณกลับดำเนินนโยบายประชานิยมหลายเรื่องผ่านช่องทาง 3 ข้อ ข้อแรกคือให้ประชาชนรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อนเพื่อสิทธิในการเข้าถึงนโยบาย (กรณีกองทุนหมู่บ้าน) ข้อสองคือผลักดันนโยบายผ่านกลไกการรวมตัวที่มีอยู่แล้ว (กรณีพักชำระหนี้) และข้อสามคือทำให้มวลชนที่ไม่มีตัวตนในปริมณฑลนโยบายสาธารณะต่างๆ เป็น “ประชาชน” ที่เสียงของพวกเขามีอิทธิพลทางการเมือง (กรณีประกันสุขภาพถ้วนหน้า)
ต้องไม่ลืมว่านโยบายประชานิยมของคุณทักษิณล้วนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลายนโยบายใช้ไม่ได้ แต่หลายนโยบายก็ถูกใช้มาจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การปักหมุดนโยบายหลายเรื่องกลับดำเนินไปผ่านช่องทางทางการเมืองเหล่านี้ ถึงแม้วิธีนี้จะมีด้านที่เสี่ยงต่อการทำให้ฝ่ายตรงข้ามถูกมองว่าเป็นศัตรูของประชาชนหรือ “พวกถ่วงความเจริญ” อย่างที่คุณทักษิณพูดอยู่บ่อย ๆ ก็ตาม
ไม่ว่าคุณทักษิณจะทำเรื่องเหล่านี้ไปโดยรู้ตัวหรือไม่และมีวัตถุประสงค์อย่างไร สารที่คุณทักษิณส่งไปถึงสังคมคือจงรวมตัวเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ
คุณยิ่งลักษณ์มีใจกว้างและอดกลั้นต่อคำวิจารณ์กว่าคุณทักษิณจนเทียบไม่ได้ อย่างไรก็ดี วิธีผลักดันนโยบายประชานิยมของคุณยิ่งลักษณ์กลับไม่ได้แสดงความเข้าใจประชาธิปไตยมากเท่าที่ควร นโยบายจำนำข้าวหรือค่าแรงขั้นต่ำดำเนินไปโดยไม่มีตัวแทนประชาชนผู้มีส่วนได้เสียเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงเลยแม้แต่น้อย รัฐเป็นฝ่ายริเริ่มและกำหนดขอบเขตของนโยบาย ส่วนประชาชนเป็นเพียงผู้รอรับประโยชน์จากนโยบาย
เพราะเหตุนี้ รัฐจึงมีอำนาจในการให้ขึ้นค่าแรงแล้วไม่ให้ขึ้นไปอีกสามปีได้ ตัวเลขการจำนำข้าวและวงเงินรับจำนำเคลื่อนไหวขึ้นลงตามใจรัฐบาล ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ใช้เวลานานมากกว่าจะยอมรับการรวมตัวเรียกร้องของคนสวนยางได้ และคงมีการชุนนุมและการประท้วงในอนาคตอีกมากที่รัฐจะมองอย่างไม่ไว้วางใจ
ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ที่ไม่ค่อยเดินไปด้วยกันระหว่างประชานิยมกับประชาธิปไตยแบบนี้ การรวมกลุ่มของประชาชนมีโอกาสถูกลดทอนความสำคัญลงมากจนน่าตกใจ ไม่ต้องพูดถึงการทำให้ประชาชนเป็นผู้กระทำที่มีความหมายทางการเมือง
ขอบคุณภาพจาก ไทยรัฐ เดลินิวส์ Google
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ