ตะลึงนศ.ติดพนันถึง66.7% ชี้เกิดจากเพื่อน-โทรทัศน์

16 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1452 ครั้ง

สืบเนื่องจากสถานการณ์การพนันในปัจจุบัน ได้ขยายออกไปในวงกว้างและมีการพัฒนารูปแบบและชนิดของการเล่นการพนันออกไปอย่างหลากหลาย ทำให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย เข้าถึงการพนันได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะในกลุ่มนิสิตนักศึกษา ที่ปัจจุบันพบว่ามีสถิติการเล่นพนัน และมีทัศนคติในเชิงบวกต่อการเล่นการพนันมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเครือข่ายคณาจารย์สื่อสารมวลชนร่วมขับเคลื่อนสังคมเพื่อลดปัญหาการพนัน ร่วมกับมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ จึงเล็งเห็นถึงปัญหาและร่วมกันจัดเวทีรณรงค์การสื่อสารต้านภัยพนันในสถาบันอุดมศึกษาขึ้น

รศ.ดร.สุมาลี ไชยศุภรากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เปิดเผยว่า การเล่นการพนันมีสาเหตุจูงใจเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.เล่นเพื่อความบันเทิง ต้องการเสี่ยงโชค ซึ่งอาจไม่ส่งผลกระทบและไม่เกิดปัญหามากนัก 2.เล่นการพนันเพื่อเป็นช่องทางในการขยับฐานะอย่างรวดเร็ว เล่นเพื่อหวังรวย ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีอาการน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะว่าอาจนำไปสู่อาชญากรรม หรือกลายเป็นเหยื่อของอาชญากรรม ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีนักศึกษาที่เล่นพนันจนต้องกู้หนี้นอกระบบ และ 3.กลุ่มที่ติดการพนัน เล่นแล้วเลิกไม่ได้ แต่ไม่ได้เป็นผลมากจากฐานะแต่มีปัญหาทางสภาพจิตใจ  อย่างไรก็ตามสำหรับการเล่นการพนันในกลุ่มนักศึกษาถือว่ามีความเสี่ยงมากเนื่องด้วยนักศึกษาเป็นกลุ่มคนที่เชื่อคนง่าย ขาดวิจารณญาณ และที่สำคัญยังเชื่อในโชคชะตามากขึ้น ทำให้เราต้องเร่งตระหนักและร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อหยุดและยับยั้งทัศนคติในเชิงบวกของการเล่นการพนันในกลุ่มนักศึกษา

ขณะที่ ดร.บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศึกษาวิจัยเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสารกับทัศนคติ และพฤติกรรมการเล่นการพนันของนิสิตนักศึกษาในสภาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ” ที่ตอกย้ำว่าการพนันในกลุ่มนิสิตนักศึกษากำลังขยายวงกว้าง อีกทั้งนิสิตนักศึกษาได้เข้าไปอยู่ในวงล้อมของการพนันอย่างไม่รู้ตัว ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่านักศึกษามีประสบการณ์ในการเล่นการพนันกว่าร้อยละ 66.7 และนักศึกษาส่วนใหญ่มีความถี่ในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการเล่นการพนันจากสื่อบุคคลที่เป็นเพื่อนมากที่สุด  โดยมีค่าเฉลี่ย 3.66 ครั้งต่อเดือน รองลงมาคือ สื่อโทรทัศน์ มีค่าเฉลี่ย 3.27 ครั้งต่อเดือน และ สื่อเว็บไซต์ มีค่าเฉลี่ย 2.93 ครั้งต่อเดือน ขณะที่การเปิดรับจากสื่อหนังสือพิมพ์ และสื่อเฟสบุ๊คมีความใกล้เคียงกัน คือมีค่าเฉลี่ย 2.78 ครั้งต่อเดือน และ 2.75 ครั้งต่อเดือน ตามลำดับ โดยเพศชายมีทัศนคติในเชิงบวกเกี่ยวกับการเล่นการพนันมากกว่าเพศหญิงและเพศทางเลือก  คือเพศชายเคยมีประสบการณ์การเล่นการพนันถึงร้อยละ 76.5 รองลงมาเป็นเพศทางเลือกร้อยละ 67.6 และเพศหญิงร้อยละ 58.2  ขณะเดียวกันนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอกชนมีทัศนคติในเชิงบวกเกี่ยวกับการเล่นการพนันมากกว่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากสถานะทางสังคมและรายได้ของนักศึกษาที่ต่างกัน นอกจากนี้นักศึกษาที่มีเกรดเฉลี่ยสะสม 1.01-2.00 จะมีความถี่ในการเล่นพนันมากกว่ากลุ่มที่เรียนดี

                  “แม้การศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเป็นการศึกษาในระดับกลุ่มนักศึกษา แต่ผลการวิจัยทำให้พบว่า นิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ มีประสบการณ์การเล่นพนันมาก่อน โดยร้อยละ 28.4  เริ่มเล่นการพนันครั้งแรกตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลาย รองลงมาคือร้อยละ 28.1 เริ่มเล่นการพนันครั้งแรกในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และเริ่มเล่นการพนันในระดับประถมศึกษาร้อยละ 24.3  นอกจากนี้ นักศึกษาที่มีประวัติการเริ่มเล่นการพนันครั้งแรกตอน ปวช.จะมีความถี่ในการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการเล่นพนันมากกว่านักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีประวัติการเริ่มเล่นการพนันครั้งแรกตอนประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย ปวส.และมหาวิทยาลัย ซึ่งการเล่นการพนันครั้งแรกจะมีอิทธิพลต่อความถี่ในการเปิดรับข่าวสารและทัศนคติเกี่ยวกับการเล่นการพนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดรับข่าวสารผ่านสื่อมวลชนอย่างสื่อโทรทัศน์กับหนังสือพิมพ์” ดร.บุปผากล่าว

ดร.บุปผากล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการเล่นการพนันจากสื่อประเภทต่างๆ อาทิ สื่อมวลชน สื่อเฉพาะกิจ สื่อบุคคล และสื่อใหม่ ที่ยิ่งมีมากเท่าไหร่ นิสิตนักศึกษาก็จะยิ่งมีทัศนคติเกี่ยวกับการเล่นพนันในทางบวกและมีความถี่ในการเล่นพนันสูงขึ้นด้วย  ดังนั้นการนำเสนอของสื่อจึงจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากขึ้น ต้องมีการนำเสนออย่างรอบด้าน ส่วนบทบาทของมหาวิทยาลัยควรปลูกฝังให้นิสิตนักศึกษารู้เท่าทันสื่อ และสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัยของการพนันให้มากขึ้นด้วย อาทิ การเปิดเสียงตามสายในมหาวิทยาลัย การส่งข้อมูลและคำเตือนเกี่ยวกับการพนันผ่านระบบฐานข้อมูลของนักศึกษา เพื่อเป็นการป้องกันการเล่นการพนันไม่ให้ขยายวงกว้าง

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: