แฉกฟผ.หุ้นผุด2เขื่อน-โรงไฟฟ้าในพม่า จวกหนุนไล่ฆ่าชาวบ้าน-ทำลายสาละวิน

พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 16 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 3577 ครั้ง

ความมั่นคงทางพลังงานเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของหลายประเทศ ประเทศไทยก็เช่นกัน ประเทศไทยเข้าไปลงทุนด้านพลังงานในประเทศพม่าหลายโครงการ และทุกโครงการมีมูลค่าสูง แต่เราดูเพียงความต้องการด้านพลังงานของประเทศ จนละเลยชาวบ้านในพื้นที่การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในที่สุดกลายเป็นการละเมิดสิทธิข้ามพรมแดน

กรณีของประเทศพม่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้ สายน้ำ แร่ธาตุ จึงกลายเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก ภูมิภาคอาเซียนและประเทศไทย ซึ่งภาคธุรกิจที่ไทยได้เข้าไปลงทุนมากที่สุดคือ ด้านพลังงานเป็นการลงทุน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนทั้งการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้า เนื่องจากกระทรวงพลังงาน กำลังปรับปรุงแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าระยะยาว พ.ศ. 2555-2557 ของประเทศฉบับใหม่ โดยจะเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากถ่านหิน 10,000 เมกะวัตถ์ และไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้านอีก 10,000 เมกะวัตถ์ และทางกระทรวงพลังงานจะแก้ไขกรอบข้อตกลงเบื้องต้น จากเดิมที่เคยตกลงรับซื้อไฟฟ้าจากพม่าที่ 1,500 เมกะวัตถ์เท่านั้น

โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA) ภายใต้มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เสมสิกขาลัย มูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรคณะกรรมการศูนย์บรรเทาในพม่า ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการศึกษาและปฏิบัติงานพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณืมหาวิทยาลัย จึงร่วมกันจัด “ทุนไทย ไฟฟ้าพม่า : จริยธรรมกับความรับผิดชอบ” โดยมี น.พ.นิรันดร์ พิทักษืวัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายมนตรี จันทวงศ์ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง นายสมชาย หอมลออ คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมาย นายสุรจิต ชิรเวทย์ ประธานคณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา และชาว์มลี กุททัล สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา

ไทยเข้าลงทุน 4 โครงการใหญ่ในพม่า

ประเทศไทยเข้าไปร่วมลงทุนในพม่า และวางแผนรับซื้อจาก 3 โครงการหลักได้แก่ โครงการเขื่อนสาละวิน ซึ่งประกอบด้วย เขื่อนฮัตจี (1,360 เมกะวัตต์) มูลค่าการลงทุน 80,000 ล้านบาท บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือหุ้น 36.5 เปอร์เซ็นต์ และเขื่อนมายตง หรือเขื่อนท่าซาง (7,110 เมกะวัตต์) มูลค่าการลงทุน 3.6 แสนล้านบาท บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือหุ้น 56.5 เปอร์เซ็นต์

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก ( 405 เมกะวัตต์) เป็นพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำกก บริษัท อิตาเลียนไทย เพาเวอร์ จำกัด ได้รับสัมปทานก่อสร้างโรงไฟฟ้า และมีการลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้ากับ กฟผ.แล้ว 369 เมกะวัตต์ ในขณะที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็ให้ความสนใจ พยายามเจรจาเข้าถือหุ้นในโรงไฟฟ้าในสัดส่วนอย่างต่ำ 25 เปอร์เซ็นต์ และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย (1,800-4,000 เมกะวัตต์) ในปี 2555

ชาว์มลี กุททัล ระบุว่า ปัจจุบันการลงทุนระหว่างประเทศ การร่วมมือระหว่างรัฐมีเพิ่มขึ้น ซึ่งการลงทุนนั้นจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมสูงสุด แต่ภาคสาธารณะกลับได้รับผลประโยชน์น้อยกว่าภาคเอกชน ผู้ที่ควรจะได้รับประโยชน์มากที่สุด กลับเป็นผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากอำนาจที่มีไม่เท่ากันเป็นช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย ซึ่งในส่วนของสิทธิการลงทุนนั้น นักลงทุนได้รับความคุ้มครองอย่างแน่นอน ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโดยอ้างว่าเป็นข้อมูลทางธุรกิจ

ขณะที่ นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ กล่าวว่า การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศพม่า คือเรื่องพลังงาน โดยมีประเทศไทยและประเทศจีนเข้าไปลงทุนมากที่สุด พม่ามีศักยภาพในการสร้างเขื่อนสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 100,000 เมกะวัตต์ มากกว่าการใช้ไฟฟ้าของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งไทยมีแผนที่จะเพิ่มการซื้อไฟฟ้าเพื่อเพิ่มการสำรองการผลิตจากเดิม 15 เปอร์เซ็นต์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างเรื่องความไม่มั่นคงทางพลังงาน แน่นอนว่าไทยจะต้องมีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเพื่อสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แต่ประชาชนชาวพม่าเพียง 26 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เข้าถึงไฟฟ้า 70-80 เปอร์เซ็นต์ ชาวพม่าอยู่นอกระบบสายส่งไฟฟ้า ไม่เว้นแม้แต่ชาวบ้านในพื้นที่การสร้างเขื่อนก็ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวเช่นกัน แน่นอนว่าไฟฟ้า ทั้งหมดเพื่อการส่งออกเท่านั้นไม่ใช่เพื่อใช้ภายในประเทศ

            “ชาวบ้านในพื้นที่จะต้องจะต้องเสียสละเพื่อใคร เปรียบเทียบไปเหมือนอะไรที่มองเครื่องบิน แหงนมองสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ แต่ไม่มีวันได้ใช้ไฟฟ้า” นายวิฑูรย์กล่าว

ไทยลงทุนซื้อไฟฟ้าจากพม่า

ด้าน นายมนตรี จันทวงศ์ กล่าวว่า โครงการเขื่อนสาละวินยังติดปัญหาการสู้รบของชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ มีการคาดการว่า เขื่อนมายตงจะเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะใช้เวลาดำเนินโครงการ 12 ปี และถ้าหากสร้างเขื่อนทั้ง 2 แห่งนี้สำเร็จ จะทำให้พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตรจมอยู่ใต้น้ำ ประชาชน 70,000 คน ต้องถูกโยกย้ายออกนอกพื้นที่ ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของแม่น้ำสาละวินจะถูกทำลายลง

ในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาย-กก รัฐบาลพม่าบังคับให้ชาวบ้านออกนอกพื้นที่ มีการเพิ่มกำลังทางทหารก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทำให้ชาวบ้านมากกว่า 2,000 คน ต้องหลบหนีออกจากพื้นที่ ส่วนใหญ่หนีเข้ามายังประเทศไทย และบางส่วนอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นติดชายแดนไทย นอกจากนี้การขุดเหมืองและการเดินระบบของโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ ทั้ง ปรอท สารหนู โครเมียมและแคดเมียม รวมถึงการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ปอด ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เป็นเหตุให้เกิดฝนกรดและสร้างความเสียหายให้กับพืชผลการเกษตร

            “ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานพม่าได้ประกาศยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย โดยระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวเกิดจากการรับฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่ ไม่ต้องการให้สร้าง เนื่องจากอยู่ในเขตพื้นที่อุดมสมบูรณ์ แต่กระทรวงพลังงานของไทยและกฟผ. ก็ยังคงผลักดันให้มีการสร้างโครงการดังกล่าว โดยอ้างกระแสการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของชาวบ้านในประเทศไทย ทำให้ต้องหาพลังงานจากเพื่อนบ้าน” นายมนตรีกล่าว

แม่น้ำนานาชาติระบุพม่าอนุมัติสร้าง 6 เขื่อนในสาละวิน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2556 เว็บไซต์แม่น้ำนานาชาติ (International River) รายงานสรุปสถานการณ์โครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในพม่า ของ Salween Watch ว่า ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานไฟฟ้าพม่า แจ้งต่อรัฐสภาว่า ได้อนุมัติ 6 โครงการเขื่อนสาละวินในพม่า ได้แก่ ในพื้นที่รัฐฉาน รัฐคะยา (คะเรนนี) และรัฐกะเหรี่ยง ผลิตไฟฟ้าได้รวม 15,000 เมกกะวัตต์ เขื่อนเหล่านี้ได้แก่ เขื่อนสาละวินตอนบน หรือกุ๋นโหลง เขื่อนมายตง หรือเขื่อนท่าซาง เขื่อนหนองผา เขื่อนมานตอง (บนแม่น้ำสาขา) และเขื่อนยวาติ๊ดเป็นการลงทุนโดยบริษัทจีน 5 แห่ง กฟผ.อินเตอร์ ของไทย และบริษัทพม่า 3 แห่ง

แม่น้ำสาละวินที่ไหลจากเทือกเขาหิมาลัยในทิเบต สู่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน สู่พม่าและไทย รวมความยาว 2,800 กิโลเมตรจากยอดเขาสู่ทะเลอันดามัน เป็นแม่น้ำนานาชาติสายท้าย ๆ ในโลก ที่ยังคงไหลอย่างอิสระ แม่น้ำสาละวินมีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศมากที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาค และเป็นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างน้อย 13 กลุ่ม อาทิ นู ลีซู ตู่หลง ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ปะโอ คะเรนนี มอญ

กว่าทศวรรษที่ผ่านมามีการวางแผนโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ทั้งหมด 13 โครงการในเขตประเทศจีน และอีก 6 โครงการบนลุ่มน้ำทางตอนล่าง ในพม่า และชายแดนไทย-พม่า

ที่ผ่านมามีข้อมูลจากในพื้นที่เขื่อนเหล่านี้ออกมาสู่สาธารณะน้อยมาก เนื่องจากความไม่สงบในรัฐชาติพันธุ์ในพม่า เครือข่ายสาละวินวอชต์ จึงรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนทางตอนล่าง ซึ่งมีความเคลื่อนไหวและความคืบหน้า ดังนี้

โครงการเขื่อนกุ๋นโหลง

ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน เขตปกครองของกองกำลังโกก้าง ใกล้ชายแดนจีน กำลังผลิตติดตั้ง 1,400 เมกกะวัตต์ ไฟฟ้าจำนวน 1,200 เมกกะวัตต์ จะส่งไปขายยังประเทศจีนโดยเชื่อมต่อกับระบบสายส่งจีนใต้ ข้อมูลจากบริษัท Hydrochina Kunmig Engineering ระบุว่ามีหมู่บ้านหลายแห่งที่จะได้รับผลกระทบใน 6 เมือง โดยมีการจัดทำรายการการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้วแต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล และมีการก่อสร้างโครงการอย่างลับๆ โดยคืบหน้าไปมากแล้ว

เมื่อปี 2553 กองทัพพม่าได้ส่งกำลังเข้าไปโจมตีกองกำลังโกก้าง ซึ่งไม่ยอมเข้าเป็นกองกำลังคุ้มครองชายแดน (BGF) ตามนโยบายของกองทัพพม่า ส่งผลให้ประชาชนกว่า 30,000 คน ต้องอพยพหนีการสู้รบไปยังชายแดนประเทศจีน

โครงการเขื่อนหนองผา

ตั้งอยู่ในรัฐฉาน มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อพัฒนาโครงการเมื่อครั้งที่นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีนเดินทางเยือนพม่าในปี 2553 ที่ผ่านมามีการเปิดเผยข้อมูลโครงการเขื่อนหนองผาน้อยมาก และการเข้าถึงพื้นที่เป็นไปได้ยาก ทำให้แทบไม่มีข้อมูลในพื้นที่ออกสู่ภายนอก

เขื่อนหนองผาตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษของกองกำลังสหรัฐว้า (UWSA) ล่าสุดในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2556 จนถึงปัจจุบัน  กองทัพพม่าได้ส่งกำลังพลกว่า 1,000 คน (หลังจากการสู้รบในรัฐคะฉิ่น) เข้าล้อมพื้นที่ของกองกำลังไทใหญ่ SSPP/SSA (เหนือ) และ RCSS/SSA (ใต้) ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์และเป็นบริเวณติดกับพื้นที่ของว้า UWSA ทหารพม่าส่งสัญญาณเข้าโจมตีว้าในอนาคตอันใกล้ ซึ่งบริเวณที่จะสร้างเขื่อนจึงตั้งอยู่ในพื้นที่การสู้รบ

โครงการเขื่อนท่าซาง

ปัจจุบันมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น เขื่อนสาละวินตอนเหนือ หรือเขื่อนมายตง ตามชื่อเมืองโต๋น ที่ตั้งของเขื่อนในรัฐฉาน เป็นการร่วมทุนของ กฟผ.อินเตอร์ (บริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) บริษัท China Three Gorges Corp ข้อมูลจากกฟผ.เมื่อเดือนมีนาคม ระบุว่า เขื่อนท่าซางมีกำลังผลิตติดตั้ง 7,000 เมกกะวัตต์ โดยกฟผ.อินเตอร์ ถือหุ้น 56.5 เปอร์เซนต์ มีวงเงินลงทุนรวม 3.6 แสนล้านบาท และระบุว่าจะเสนอขายไฟฟ้าให้แก่กฟผ. ได้ในกลางปี 2556

ทหารพม่ากวาดล้างไล่ชาวรัฐฉานกว่า 3 แสนคน

หลังจากการกวาดล้างใหญ่โดยกองทัพพม่าในช่วงปี 2539 ที่ทำให้ประชาชนในรัฐฉานกว่า 3 แสนคนต้องหนีภัยสงครามออกจากพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งคือพื้นที่เขื่อนท่าซาง ในช่วงที่ผ่านมายังมีการสู้รบในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ที่เมืองปูหลงซึ่งเป็นเขตพื้นที่น้ำท่วม ตั้งอยู่เหนือที่ตั้งเขื่อนท่าซางทางทิศตะวันออกฝั่งสาละวิน ยังมีการปะทะกันระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านต้องหนีออกจากพื้นที่ ปัจจุบันเมืองปูหลงจึงกลายเป็นเมืองร้าง  ชาวบ้านที่ยังไม่หนีออกจากหมู่บ้านมีเพียงผู้ที่ยังเป็นห่วงบ้าน ที่ดิน ที่นา แม้จะต้องเสี่ยงกับการเป็นลูกหาบของทหารพม่า

ในเดือนพฤษภาคม 2554 คนงานชาวจีนที่มาทำงานก่อสร้างเขื่อนท่าซางหายตัวไป ภายหลังกองกำลังรัฐฉาน SSA ได้นำมาส่ง จากนั้นก็มีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่เขื่อนท่าซางอย่างเข้มงวด

แม้จะมีการเจรจากสันติภาพระหว่างกองกำลังไทใหญ่ SSA และรัฐบาลพม่า แต่มีการเพิ่มจำนวนทหารพม่าเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และมีการปะทะอยู่ตลอด ทำให้ประชาชนไม่สามารถกลับคืนสู่บ้านเดิมได้  สำหรับชาวบ้านแล้วยาก ที่เชื่อว่าจะไม่มีการสู้รบและกลับไปอยู่หมู่บ้านเดิมอย่างสงบและปลอดภัย

การลงพื้นที่ขององค์กรสิ่งแวดล้อมไทใหญ่เมื่อต้นเดือนมีนาคม พบว่า ตั้งแต่ปลายปี 2555 มีคณะวิศวกรและคนงานชาวจีนและพม่าประมาณ 100 คน เข้ามาทำงาน มีที่ทำการของบริษัทจีน ไทย และพม่า มีข้อมูลว่าได้มีการย้ายที่ตั้งเขื่อนจากบ้านท่าศาลา จุดสร้างเขื่อนเดิมที่วางแผนไว้ ขึ้นไปตามลำน้ำประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะทำให้น้ำท่วมเข้าแม่น้ำปาง และเมืองกุ๋นเฮง ซึ่งเป็นเมืองบนเส้นทางสำคัญของรัฐฉานระหว่างตองยี-เชียงตุง-ท่าขี้เหล็ก

เมืองกุ๋นเฮง หรือเมืองพันเกาะ อยู่บนแม่น้ำปางที่มีระบบนิเวศเป็นเอกลักษณ์ คือแม่น้ำแตกสาขาทำให้เกิดเกาะน้อยใหญ่มากมายและน้ำตกที่ลดหลั่นกันไป  เป็นระบบนิเวศที่งดงามและมีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะพันธุ์ปลา ที่คนไทใหญ่รู้จัก “ปลาน้ำปาง” ที่มีรสชาติอร่อย

จากการสอบถามชาวบ้าน พบว่าชาวบ้านไม่รู้ข้อมูลของเขื่อนท่าซาง ว่าจะเป็นอย่างไร น้ำท่วมถึงไหน เพียงแต่ได้ยินว่าเป็นโครงการพัฒนา

สำหรับพื้นที่ป่ารอบ ๆ เขื่อนท่าซางหลายปีที่ผ่านมามีการสัมปทานทำไม้ ทำให้ป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกตัดออกไปเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น ตลอดลำน้ำสาละวินในรัฐฉาน มีชาวจีนใช้เรือขุดทอง เกือบ 200 ลำ ระหว่าง สะพานข้ามน้ำท่าก้อ สาละวิน และเมืองปูหลง การขุดทองดังกล่าวทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำเป็นอย่างมาก และไม่มีใครรับรองได้ว่ากระบวนการนี้ปล่อยสารพิษใดลงสู่แม่น้ำบ้าง

โครงการเขื่อนยวาติ๊ด

 Community research on fish species conducted by Thai-Karen villagers

ภาพโดย งานวิจัยปกากญอสาละวิน

ตั้งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่แม่น้ำปายบรรจบแม่น้ำสาละวิน ในรัฐคะยา (คะเรนนี) เป็นโครงการของบริษัท ต้าถัง (Datang) จากจีน ซึ่งลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2553 ข้อมูลเดิมระบุว่าเขื่อนยวาติ๊ดมีกำลังผลิตติดตั้ง 600 เมกกะวัตต์ แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัท ต้าถัง ณ เดือนมีนาคม 2556 ระบุว่าเขื่อนมีกำลังผลิตสูงถึง 4,500 เมกกะวัตต์

กลุ่มสิ่งแวดล้อมคะเรนนีรายงานว่า มีการสัมปทานทำไม้อย่างมหาศาลในพื้นที่รอบ ๆ เขื่อนยวาติ๊ด มีการปรับถนนจากลอยก่อ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะเรนนี สู่เมืองบอเลอเค และยวาติ๊ด

หมู่บ้านรอบ ๆ เขื่อนยวาติ๊ดได้อพยพหนีภัยสงครามออกจากพื้นที่ไปกว่าสิบปีแล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยที่อาศัยตามแนวชายแดน อย่างไรก็ตามข้อมูลล่าสุดระบุว่ายังมีชาวบ้านอาศัยอยู่รอบ ๆ ยวาติ๊ดจำนวนหนึ่งโดยจัดเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Persons-IDPS) ชาวบ้านกลุ่มนี้ต้องหนีไปซ่อนตัวในมาในช่วงที่มีการสู้รบ

เจ็บปวดจากเขื่อนเมื่อ 30 ปียังไม่จางหาย

รัฐคะเรนนีเคยมีบทเรียนอันเจ็บปวดจากการสร้างเขื่อนโมบี และโรงไฟฟ้าลอปิตา เมื่อกว่า 30 ปีก่อน โรงไฟฟ้าลอปิตาซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของพม่า ทำให้ประชาชน 12,000 คน ต้องถูกถอนรากถอนโคนออกจากถิ่นฐาน กองทัพพม่าส่งทหารนับพันเข้ามาคุ้มครองโรงไฟฟ้า นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนนานัปประการโดยทหารพม่า อาทิ การทารุณกรรมทางเพศ การสังหาร และการบังคับใช้แรงงานทาส นอกจากนี้ยังมีการวางกับระเบิดกว่า 18,000 อันรอบๆ โรงไฟฟ้าและแนวสายส่ง

เช่นเดียวกับเขื่อนท่าซาง หมู่บ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินในรัฐคะเรนนีถูกกวาดล้างครั้งใหญ่ในปี 2539 เป็นผลให้หมู่บ้านจำนวน 212 แห่ง ประชากรอย่างน้อย 37,000 คน ต้องอพยพออกจากพื้นที่ ส่วนใหญ่หนีสู่ชายแดนไทยและยังคงไม่ได้กลับไปยังหมู่บ้านเดิมจนถึงปัจจุบัน

ซุ่มโจมตีรถสำรวจเขื่อนวิศวกรจีนดับ 3 ศพ

เขื่อนยวาติ๊ดมีการสำรวจโดยทีมจีน-พม่า เพื่อเตรียมก่อสร้างอย่างจริงจังในช่วงปี 2553 มีรายงานว่า มีการซุ่มโจมตีรถของคณะสำรวจที่ใกล้เมืองพรูโซ ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีวิศวกรชาวจีนเสียชีวิต 3 ราย

ต่อมาในปี 2554 มีการตั้งค่ายทหารของกองกำลังรักษาชายแดนของกองทัพพม่า (BGF) หมายเลข 1005 และมีกองกำลังพิเศษที่มีภารกิจรักษาความปลอดภัยของคณะสร้างเขื่อนชาวจีน รายงานว่าผู้บัญชาการพิเศษภาคพื้น 55 ที่มีฐานอยู่ที่บอลาเค เดินทางไปยังพื้นที่ยวาติ๊ด เพื่อตรวจการณ์และรักษาความปลอดภัยแก่การก่อสร้างเขื่อนอย่างเข้มงวด

กองกำลังคะเรนนี (KNPP) ได้ลงนามตามข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพพม่า 14 ข้อ ในปี 2555 ข้อตกลงมีเนื้อหาระบุถึงโครงการเขื่อนยวาติ๊ดว่า “จะมีการสร้างความโปร่งใสในโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ (รวมถึงเขื่อนยวาติ๊ด) ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการให้ข้อมูลแก่สาธารณะ และอนุญาตให้ประชาชนและองค์กรชุมชนหาข้อมูลได้” อย่างไรก็ตามเมื่อกลุ่มสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลกลับถูกจับกุมโดยทางการพม่าและห้ามเข้าพื้นที่เขื่อน

ในปี 2555 ยังมีรายงานว่า มีการสัมปทานตัดไม้ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนอย่างกว้างขวาง

โครงการเขื่อนฮัตจี

ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ที่บ้านสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน 47 กิโลเมตร ลงทุนโดยกฟผ.อินเตอร์ ร่วมกับบริษัท ไซโนไฮโดร จากประเทศจีน มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,360 เมกกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 8 หมื่นล้านบาท โครงการเขื่อนฮัตจีถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่มาโดยตลอด โดยเฉพาะหมู่บ้านในฝั่งไทย แถบอ.แม่สะเรียง และอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากกังวลผลกระทบข้ามพรมแดนต่อระบบนิเวศ พันธุ์ปลา การประมง และอ่างเก็บน้ำของเขื่อนที่อาจท่วมมาถึงพื้นทีทำกินและอาศัยของหลายหมู่บ้านริมแม่น้ำสาละวิน

เว็บไซต์แม่น้ำนานาชาติ (International River)

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยงรายงานว่า ช่วงกลางปี 2552 กองทัพพม่า ร่วมกับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) โจมตีพื้นที่ของกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยูในพื้นที่พะอัน (Pa-an) ส่งผลให้ชาวบ้านต้องหนีภัยความตายมายังประเทศไทยอย่างน้อย 3,500 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง อาศัยอยู่ในเขต อ.ท่าสองยาง จ. ตาก นับเป็นการโจมตีที่ส่งผลให้เกิดผู้หนีภัยสงครามจากรัฐกะเหรี่ยง เข้าสู่ประเทศไทยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี

รายงานระบุอีกว่ามีกำลังทหารกองทัพพม่า 5 กองพัน และDKBA รวมกว่า 900 นายเข้าร่วมในการโจมตีครั้งนี้ โดยมิได้มีเป้าหมายทำลายเพียงแค่ฐานที่มั่นของกองกำลัง KNU เท่านั้น แต่ยังมีเป้าหมายในการโจมตีพลเรือน คือประชาชนในหมู่บ้านต่าง ๆ และค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ พื้นที่สู้รบดังกล่าวห่างจากพื้นที่สร้างเขื่อนฮัจจี เพียงประมาณ 17 กิโลเมตร และใกล้เคียงแนวตัดถนนจากชายแดนไทยเข้าสู่หัวงานเขื่อน ตลอดจนแนวสายส่งไฟฟ้าสู่ชายแดนที่ จ.ตาก

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนฮัตจีและบริเวณใกล้เคียงยังคงเป็นพื้นสู้รบ และยังมีประชาชนอพยพออกมาจากพื้นที่ เนื่องจากความขัดแย้งดังกล่าว ตลอดจนการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองกำลังทหารพม่า และ DKBA อาทิ การเรียกเกณฑ์แรงงานทาส การเรียกเก็บภาษีนอกระบบ และการข่มขืน

รัฐบาลเปิดเวทีรับฟังที่สบเมยมา 4 ปี สุดท้ายก็เงียบ

ในส่วนของประเทศไทย สำนักนายกรัฐมนตรี ในช่วงพ.ศ.2552 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและติดตามผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากโครงการนี้ และได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบในช่วง พ.ศ.2554 ในเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมจำนวนมาก ชาวบ้านได้สะท้อนความกังวลเรื่องผลกระทบจากเขื่อน ทั้งในด้านระบบนิเวศ วิถีชีวิต และผลกระทบต่อชาวบ้านในฝั่งพม่า แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบจากในเวที

ภาพจาก Google

คณะอนุกรรมการมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ให้ทำการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนครอบคลุมหมู่บ้านในฝั่งไทย อย่างไรก็ตามจวบจนปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาดังกล่าว

อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมาพบว่า กฟผ.มีความเคลื่อนไหว เพื่อผลักดันโครงการอย่างต่อเนื่อง มีรายงานว่ามีการพยายามเจรจากับผู้นำกองกำลังสหภาพชนชาติกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู หลายครั้งในช่วง พ.ศ.2555ชาวบ้านในพื้นที่ อ.สบเมยยังรายงานว่ามีคณะของกฟผ.และบริษัทจีนลงสำรวจแม่น้ำสาละวินระหว่างสบเมย-บ้านแม่สามแลบ-บ้านท่าตาฝั่ง สร้างความกัลวลใจต่อชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่มีการแจ้งหรือจัดเวทีปรึกษากับชุมชนก่อน ทั้งที่มีข้อเสนอแนะจากสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว

การเร่งรีบสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในเขตรัฐกะเหรี่ยงของนักลงทุนในพม่า เป็นอุปสรรคคุกคามต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยง KNU และรัฐบาลพม่า การเพิ่มกำลังทหารของกองทัพพม่าบริเวณที่ตั้งเขื่อน และการไม่ใส่ใจไยดีต่อข้อกังวลของชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดข้อสงสัยต่อความจริงใจของรัฐบาลพม่าในการจัดเจรจาสันติภาพ

เพียงสองเดือนหลังจากมีความตกลงหยุดยิง เบื้องต้นมีการส่งกำลังจำนวนมาก เข้าไปให้กับค่ายทหารพม่าที่ทำการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่สร้างเขื่อน และแผนการจัดตั้งกองพันทหารใหม่ในพื้นที่

ที่ผ่านมากองทัพ KNU เรียกร้องให้ยุติโครงการเขื่อนฮัตจีจนกว่าจะมีแนวทางสันติภาพชัดเจนในพม่า แต่ด้วยแรงกดดันจากบริษัทจีนและกฟผ. เป็นเหตุให้ทาง KNU ต้องยินยอมให้มีการสำรวจพื้นที่สร้างเขื่อน

ปัจจุบันกองทัพพม่าเพิ่มจำนวนทหารเข้ามาในพื้นที่รอบ ๆ เขื่อนฮัตจีทั้งฝั่งซ้ายและขวา รวมเป็น 8 กอง และมีรายงานเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2556 ระบุว่า มีการตัดถนนเข้าสู่หัวงานเขื่อนที่แม่เส็ก และบ้านแม่ปะ ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนที่บ้านสบเมย

ด้าน พอ เส่ง ทวา นักสิ่งแวดล้อมชาวกะเหรี่ยง ระบุว่า รัฐบาลพม่าควรแสดงความจริงใจที่จะยุติโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ จนกว่าจะมีสันติภาพและการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง เพื่อประกันสิทธิของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และฝ่ายนักลงทุนกำลังทำลายความหวังของชาวกะเหรี่ยง ที่อยากเห็นสันติภาพถาวร

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: