ลาวทำมึนตัดหารือ‘เขื่อนไซยะบุรี’ จากวาระประชุมคณะมนตรีน้ำโขง แฉถึงสิ้นปีนี้-จ่อผุดเขื่อนอีกเพียบ

17 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2900 ครั้ง

 

หลังจากสปป.ลาว เปิดการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี อย่างเป็นทางการเมืองเดือนพฤศจิกายน 2555 ที่ผ่านมา เพื่อกักน้ำในแม่น้ำโขง ผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ท่ามกลางการทักท้วงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับโครงการนี้ เนื่องจากประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่างยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ขณะเดียวกันรัฐบาลลาวเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลกัมพูชาและเวียดนาม ที่ต้องการให้มีการประเมินผลกระทบข้าม พรมแดนก่อน รวมทั้งเพิกเฉยต่อความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี)ที่เสนอให้ชะลอการก่อสร้างเขื่อนออกไปจนกว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จ

 

นอกจากนี้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก และประเทศต่าง ๆ ในลุ่มน้ำโขง ยังระบุว่าการสร้างเขื่อนไซยะบุรี จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชุมชนริมแม่น้ำอย่างมหาศาล แต่รัฐบาลลาวไม่ได้ใส่ใจต่อเสียงสะท้อนดังกล่าว ล่าสุดในการประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง ครั้งที่ 19 ระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม ณ หลวงพระบาง ประเทศลาว ก็ไม่มีวาระการประชุมเรื่องนี้ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จวกลาวตัดประเด็น ‘เขื่อนไซยะบุรี’ ออกจากที่ประชุมแม่น้ำโขง

 

 

 

นายนิวัติ ร้อยแก้ว กลุ่มรักษ์เชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เปิดเผยว่า การที่คณะมนตรีแม่น้ำโขงไม่นำประเด็นเขื่อนไซยะบุรีมาพูดคุยในที่ประชุมเพื่อแก้ปัญหา แสดงถึงการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของรัฐบาลสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ความเงียบไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากเขื่อนไซยะบุรี และเรื่องนี้จะส่งผลกระทบถึงการสร้างเขื่อนอื่น ๆ ในแม่น้ำโขงในอนาคตด้วย

 

ขณะที่หนังสือพิมพ์ Cambodia Daily ของกัมพูชา รายงานข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมกัมพูชา เน้นย้ำจุดยืนของประเทศโดยการแถลงว่า “นายกรัฐมนตรีฮุนเซ็น กล่าวว่า ต้องมีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินว่าจะเกิดผลกระทบ (ต่อเรา) อย่างไร และเราเรียกร้องให้รัฐบาลลาวเคารพมติให้ชะลอการก่อสร้างเขื่อน”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ด้าน น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานประเทศไทย International Rivers กล่าวว่า สองปีที่ผ่านมาโครงการเขื่อนไซยะบุรี สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงกับรัฐบาลในภูมิภาคนี้ และเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับแม่น้ำข้ามพรมแดนซึ่งเป็นที่สนใจกันมากที่สุดกรณีหนึ่งในโลก ที่ผ่านมารัฐบาลลาวปฏิเสธที่จะร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงไม่น่าประหลาดใจที่ไม่มีวาระการประชุมเรื่องนี้บรรจุอยู่

 

 

            “ลาวได้ละเมิดข้อตกลงแม่น้ำโขง ทั้งยังอ้างอีกว่าเขื่อนไซยะบุรีมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และยังไม่สนใจข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านประมง ซึ่งระบุว่ามาตรการลดผลกระทบด้านประมง และปลาของเขื่อนไซยะบุรีไม่น่าจะได้ผล”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เรียกร้องรัฐบาลในลุ่มน้ำโขงกดดันให้ลาวเลิกสร้างเขื่อน

 

 

 

นายเทพ บุญณฤทธิ์ พันธมิตรเพื่อแม่น้ำในกัมพูชา (Rivers Coalition in Cambodia) และสมาคมอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (Cultural and Environmental Preservation Association) กล่าวว่า รัฐบาลในภูมิภาคนี้มีอำนาจป้องกันไม่ให้เกิดหายนะ จากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีและ เขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก ทำได้ด้วยการเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนแม่น้ำโขงโครงการอื่น ๆ ทันที จนกว่าการศึกษาเพิ่มเติม และการปรึกษาหารือกับประชาชนจะเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์

 

 

              “เราเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาคนี้และแหล่งทุนประกันว่า จะมีการทบทวนกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการเขื่อนใด ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โครงการเขื่อนอื่น ๆ ซ้ำรอยเขื่อนไซยะบุรีอีก”

 

 

 

ในช่วงสี่ปีที่ผ่าน มา องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ รัฐบาลที่ให้ทุนและประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่างได้แสดงความกังวล เกี่ยวกับภัยคุกคามจากเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนอื่น ๆ ในแม่น้ำโขงสายหลัก โดยเฉพาะผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของประชาชนหลายล้านคน และความสมบูรณ์ทางนิเวศวิทยาของแม่น้ำโขง

 

Ms. Lam Thi Thu Suu ผู้ประสานงานเครือข่ายแม่น้ำเวียดนาม (Vietnam Rivers Network) และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมและการพัฒนา (Centre for Social Research and Development - CSRD) เวียดนาม กล่าวว่า เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี ที่มีต่อความเป็นอยู่และความ มั่นคงด้านอาหารของประชาชนในลุ่มแม่น้ำโขง จะกว้างไกลและรุนแรงแค่ไหน ในฐานะที่เป็นสายน้ำร่วมกัน อนาคตของเราจึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือของรัฐบาลในภูมิภาคนี้ ที่จะต้องแก้ปัญหาเขื่อนไซยะบุรีทันที ก่อนที่จะสายเกินไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คาดเขื่อนในลาวจะผุดอีกเพียบ

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ในระหว่างการลงพื้นที่แม่น้ำโขงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา International Rivers พบว่า โครงการเขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลักของลาว กำลังเดินหน้าไปเช่นกัน ในพื้นที่สร้างเขื่อนปากแบง ซึ่งยังไม่เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าของเอ็มอาร์ซี ชาวบ้านให้ข้อมูลว่า โครงการเขื่อนปากแบง มีกำหนดเริ่มดำเนินการในช่วง 2-12 เดือนข้างหน้า โดยเริ่มจากการก่อสร้างถนนสู่หัวงานเขื่อน ชาวบ้านยังบอกอีกว่า บริษัทจากประเทศจีนได้มาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเขื่อนปากลาย และเขื่อนสานะคามเมื่อเร็ว ๆ นี้ แล้ว

 

และเมื่อเดือนกันยายน 2555 International Rivers พบว่า เริ่มมีการดำเนินงานเกิดขึ้นที่พื้นที่สร้างเขื่อนดอนสะหง โดยมีการระเบิดแก่งหินสองแห่ง เพื่อทำเป็นทางปลาผ่าน การประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขงครั้งที่ 19 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม ณ หลวงพระบาง ประเทศลาว แหล่งทุนระหว่างประเทศที่ให้ทุนแก่เอ็มอาร์ซี จะแถลงข่าวในระหว่างการประชุมด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สว.-สส.เรียกร้องยิ่งลักษณ์แสดงบทบาทแก้ปัญหา

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้แสดงบทบาทในการแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง กรณีเขื่อนไซยะบุรี ระบุว่า ในวาระการประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขง ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในวันที่ 17 มกราคม 2556 โดยมีผู้แทนไทย คือ นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วม

 

การประชุมคณะมนตรีแม่น้ำโขงที่จะเกิดขึ้น ไม่พบว่ามีการบรรจุวาระเรื่องปัญหาอันใหญ่หลวง ที่กำลังเกิดขึ้น คือการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี กั้นแม่น้ำโขง ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี แสดงความกังวลใจอย่างยิ่งต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี แต่กลับไม่เคยได้รับการตอบรับ ไม่เคยได้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานใด ๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ

 

โครงการเขื่อนไซยะบุรีเริ่มการก่อสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลักอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่  ไทย กัมพูชา และเวียดนาม  ถือเป็นการละเมิดข้อตกลงแม่น้ำโขง พ.ศ.2538 อย่างร้ายแรง

 

แม้ที่ตั้งเขื่อนจะที่อยู่ในพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ เป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงทั้งภูมิภาค ผลกระทบที่เกิดขึ้นย่อมข้ามพรมแดนมายังประเทศเพื่อนบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศไทย และประเทศท้ายน้ำ ต่อชีวิตประชาชน 65 ล้านคน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้ทั้งบริษัทรับเหมา-ธนาคารไทยเกี่ยวข้องโดยตรง

 

 

 

ในส่วนของประเทศไทย ถือว่ามีส่วนร่วมในโครงการนี้อย่างชัดเจน นับตั้งแต่ผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เงินกู้ได้รับจากธนาคารไทย 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทิสโก และธนาคารเพื่อการนำเข้าส่งออก (Exim Bank) กระแสไฟฟ้า ร้อยละ 90 ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

 

สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ลงนามในจดหมายนี้  ใคร่ขอเรียกร้องให้ท่านทบทวนการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติหลักการให้กฟผ. ลงนามซื้อไฟฟ้าได้ ต่อเมื่อผ่านกระบวนการ MRC (กระบวนการตามข้อตกลงร่วมกันปี พ.ศ.2538) แล้ว แต่ในความเป็นจริง กฟผ. ได้ไปลงนามซื้อไฟฟ้าในขณะที่กระบวนการดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติ อีกทั้งกระบวนการแจ้ง และปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ยังไม่สามารถหาฉันทามติที่เป็นจริงได้ ขณะที่ความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะตัวแทนฝ่ายไทยใน MRC กับความเห็นของกระทรวงพลังงานผู้กำกับดูแลกฟผ.ก็ยังไม่สอดคล้องในทิศทางเดียวกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้ข้อท้วงติงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือ ผลกระทบข้ามพรมแดนอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง การอพยพของพันธุ์ปลา การประมง การเกษตร และความมั่นคงทางอาหารของชุมชน 65 ล้านคนริมฝั่งโขง ที่อาศัยแม่น้ำโขงเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต อันจะนำไปสู่การถูกบังคับให้อพยพย้ายถิ่น การขาดแคลนอาหาร เป็นหายนะด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงกว้างขวาง และไม่อาจแก้ไขให้ฟื้นกลับคืนได้ ผลกระทบข้ามพรมแดนนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่าง สปป.ลาว หรือบริษัทผู้ลงทุน และจะรับผิดชอบอย่างไร

 

อนึ่งรัฐบาลไทยยังต้องตระหนักว่า ผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนอย่างมีนัยยะสำคัญตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 วรรคสอง จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ในขณะที่ความต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากเขื่อนไซยะบุรีซึ่งเข้าข่ายบทบัญญัติตามมาตราดังกล่าว ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแต่อย่างใด

 

เขื่อนไซยะบุรีที่เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลใจของประชาชนไทย ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่จะขยายตัวต่อไป โดยที่ประเทศไทยจะอยู่ในฐานะผู้สร้างปัญหาอันใหญ่หลวงต่อภูมิภาค จึงควรนำความกังวลอย่างยิ่งของประชาชนไทย ต่อผลกระทบข้ามพรมแดนจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีนี้ ไปสู่การเจรจาและการแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นในทางที่เป็นคุณต่อธรรมชาติ ต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษยชาติอย่างยั่งยืนต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: