ชี้ทางเจรจาสันติภาพใต้ ใส่ใจคนพื้นที่-อย่าต่อรอง

ปาลิดา พุทธประเสริฐ,พรรณษา กาเหว่า ศูนย์ข่าว TCIJ 17 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2392 ครั้ง

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิสรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเสวนาหัวข้อ “ถอดบทเรียนการพูดคุยสันติภาพ รัฐไทย กับ บีอาร์เอ็น (BRN)” มีผู้ร่วมเสวนาคือ นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ, รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.มารค ตามไท ผู้อำนวยการ กลุ่มสร้างสันติภาพต้นปันรัก เชียงใหม่, ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศอ.บต., พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และ นายปกรณ์ พึ่งเนตร ผู้สื่อข่าว หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ผู้ดำเนินรายการ

 

เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้เจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN) ไปแล้วเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 โดยการเจรจาครั้งนั้น มีประเทศมาเลเซียเป็นตัวกลาง ซึ่งจากเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับกระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพของรัฐบาลว่าจะสามารถลดความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะกระหบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพเป็นการเจรจาที่เปิดเผยสู่สาธารณชนเช่นนี้

 

 

ระบุความสำคัญของคนในพื้นที่มาก่อนสิ่งอื่นใด

 

 

นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ในฐานะผู้ที่อยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีการเปิดเผยต่อสาธารณชน แต่เห็นด้วยกับหลักการเจรจา วิธีการแบบนี้ สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยง มีข้อจำกัดและอันตรายที่เกิดกับคนในพื้นที่มากกว่าวิธีอื่น และเป็นการให้ความคาดหวังต่อคนในพื้นที่ว่าสถานการณ์จะต้องดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่สถานการณ์กลับแย่ลง ซึ่งผมยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์กัน

 

            “ขอวอนสื่อให้ช่วยกันเป็นสื่อกลางในทำความเข้าใจเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่ ภาพที่ออกมาจากสื่อ ทำให้สังคมชิงชังคนภาคใต้ เนื้อหาบางส่วนยังช่วยสร้างความรุนแรงให้กับคนในพื้นที่อีกด้วย” นายถวิลกล่าว

 

นอกจากนี้นายถวิลยังเสนอข้อควรปฏิบัติในการเจรจาไว้ว่า การเจรจาควรเจรจาจากเรื่องเล็กไปหาเรื่องใหญ่ ควรนำสันติภาพเข้ามาแทนที่ความรุนแรง ไม่ควรมีการชี้นำหรือกดดันระหว่างการเจรจา การเปิดเผยการเจรจาสู่สาธารณชนอาจเป็นสิ่งที่เร็วเกินไป ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงต่อคนในพื้นที่ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ควรให้ความสำคัญกับ ประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ต้องเข้าใจถึงจิตใจของคนในพื้นที่ด้วย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เตรียมความพร้อมยกระดับการเจรจาภายใต้ผู้นำที่เข้มแข็ง

 

 

ด้าน รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แสดงความคิดเห็นว่า สถานการณ์รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่า ทิศทางขาดความชัดเจนทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ยาก ตอนนี้เป้าหมายในการโจมตีกลายเป็นประชาชนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการเองด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนเริ่มไม่แน่ใจว่า ตัวเองจะปลอดภัยหรือไม่ ในเมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐยังโดนโจมตีเสียเอง อาจจะทำให้คนในพื้นที่เริ่มคาดหวังกับการเจรจาลดลงไปจนกลายเป็นปัญหา

 

นอกจากนี้ ดร.ปณิธานได้เสนอหลักการ 3 ข้อ ที่อาจสามารถนำไปใช้ในทางปฎิบัติกับเหตุการณ์ความไม่สงบในครั้งนี้ โดยการริเริ่มต้องมาจากฝ่ายการเมือง ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายผู้นำศาสนา ผู้นำจิตวิญญาณ ต้องมีการผลักดันจากฝ่ายการเมืองอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ในกรณีนี้เราไม่มีแล้ว ต้องยอมรับว่าน่าชมเชยรัฐบาลมีความกล้าหาญและริเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการยกระดับการเจรจาขึ้นมา แต่เรายังไม่เห็นการผลักดันของคนในพื้นที่ ผู้นำศาสนาหรือจากฝ่ายปฎิบัติการในพื้นที่

 

การสนับสนุนจากฝ่ายปฏิบัติการ ต้องมีการจัดระบบใหม่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือกอ.รมน. ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติต้องมีวิธีการ ขั้นตอน กระบวนการในการรักษาความปลอดภัยใหม่และจริงจังมากขึ้น เพราะ เป็นเรื่องความสำคัญของประเทศที่เกี่ยวข้องกับอธิปไตย ดินแดน ความอยู่รอดปลอดภัยของประชาชนต้องมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง

 

นอกจากนั้นยังต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน ฝ่ายวิชาการ สื่อมวลชน เอ็นจีโอ รวมทั้งฝ่ายค้านในพื้นที่ เป็นเรื่องอนาคตของคนในพื้นที่ ที่จะต้องดำรงชีวิตประจำวันอยู่ในพื้นที่ต่อไป ภาคประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม มีการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ อาจต้องมีการจัดระบบใหม่ อีกทั้งให้สื่อสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้มากขึ้น

 

หลักการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จะต้องอยู่ภายใต้ผู้นำที่เข้มแข็ง จะต้องลงมารับผิดชอบทำงานในพื้นที่อย่างจริงจัง โดยอาจกำหนดตัวบุคคลแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนโยบายและฝ่ายปฏิบัติการ เพื่อง่ายต่อการปฏิบัติหน้าที่จริงและต้องเป็นคนที่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้อีกด้วย แต่ในขณะนี้การปฎิบัติงานจริงของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นไปอย่างยากลำบาก ขาดคนสนับสนุนอย่างจริงจัง และยังขาดผู้นำที่ต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างเอาจริงเอาจัง

 

แน่นอนว่าเมื่อมีการเจรจาแล้ว ย่อมถอยออกมาไม่ได้ แต่เราอาจจะปรับเปลี่ยนขบวนการ และสัญญาณที่ส่งไปต้องชัดว่าเรายังยึดมั่นอยู่ในขบวนการสันติภาพและการเจรจา เป้าหมายในการเจรจา ผู้ก่อความไม่สงบวางอาวุธลงให้ได้ ยุติขบวนการในการแบ่งแยกดินแดน และเข้ามารวมบริหารจัดการในพื้นที่ร่วมกัน เพราะฉะนั้นต้องมีการเจรจาต่อ แต่อาจจะยกระดับเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ ปรับเปลี่ยนตัวบุคคลให้เหมาะสม และกำหนดวันเจรจาใหม่ หากรัฐบาลตัดสินใจถอย ไม่เจรจาอีกครั้ง ย่อมทำให้การเจรจาครั้งต่อไปไทยอาจเป็นฝ่ายเสียเปรียบเสียเอง

 

 

 

การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจสิ่งสำคัญของการเจรจา

 

 

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะที่ศึกษาเรื่องปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งยังศึกษาขบวนการสันติภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศ วิพากษ์วิจารณ์ต่อสถานการณ์ในปัจจุบันว่า ในขณะนี้การเจรจายังขาดการเตรียมการในการเจรจา เช่น การขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อการเจรจาเสร็จสิ้นควรมีการวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกับทหารในพื้นที่ และต้องมีกระบวนการในการทำงาน ขบวนการสันติภาพกระบวนการจะเป็นอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร อีกทั้งยังต้องคัดสรรผู้เข้าร่วมเจรจาให้เป็นคนที่สามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับคนในพื้นที่และกลุ่มเจรจาอีกด้วย

 

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเจรจา คือ ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้เจรจาและชาวบ้านในพื้นที่ จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อทำความเข้าใจและรับรู้ถึงความบอบช้ำความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ และทำงานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบระหว่างเจ้าหน้าที่และคนในพื้นที่เพราะฉะนั้นการทำขบวนการสันติภาพจะต้องมีการสื่อสารกับสังคมตลอด เพื่อให้เข้าใจในบริบทเดียวกัน ในช่วงเวลา 3 ปีมานี้ พื้นที่ภาคใต้เปิดแล้ว เราไปร่วมกับภาคประชาชน 13 องค์กร เปิดพื้นที่ให้ได้ร่วมพูดคุยกันให้ความรู้เรื่องกระจายอำนาจ ให้ความรู้กับชาวบ้าน เป็นสัญญาณว่าพื้นที่ถูกเปิดเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้ว แต่รัฐควรเข้ามาดูแลสนับสนุนด้วย

 

นอกจากนี้พล.อ.เอกชัยยังให้ข้อสังเกตว่า เพิ่งไปคุยกับคนไทยในรัฐกาลันตันมาเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีสัญญาณที่ดี มาเลเซียให้คนไทยในรัฐกาลันตัน เป็นภูมิบุตรา เทียบเท่าคนมาเลเซีย มากกว่าคนจีน แขก มาเลเซียยอมรับว่า คนไทยที่รัฐกาลันตัน เป็นคนที่อยู่มาก่อนมีประเทศมาเลเซีย ให้เงินอีก 2 ล้านริงกิตต่อปี เพื่อให้เรียนภาษาไทยและให้มีวัดไทยอยู่ในพื้นที่ด้วย เป็นการส่งสัญญาณดีมาก

 

 

            “คาดการณ์ไว้ว่า เมื่อการเลือกตั้งมาเลเซียเสร็จสิ้น ต้องหยุดการเจรจา ถ้ารัฐบาลใหม่เป็นของอันวาร์ อิบราฮัม จะเกิดเหตุการณ์อะไรบ้าง ต้องเตรียมชุดความรู้ ซึ่งการจัดเตรียมชุดความรู้ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเจรจาครั้งต่อไปของขบวนการสันติภาพ เพราะในปัจจุบันยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าใครจะเป็นรัฐบาลต่อไปของมาเลเซีย แต่ควรเตรียมชุดความรู้ไปหลาย ๆ ชุด และวิธีการเจรจาในครั้งต่อไปไว้ก่อน เพื่อให้การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด” พล.อ.เอกชัยกล่าว

 

 

ชี้รัฐไม่ควรใช้การเจรจาเพื่อต่อรองลดความรุนแรง

 

 

ดร.มารค ตามไท ผู้อำนวยการกลุ่มสร้างสันติภาพต้นปันรักเชียงใหม่ กล่าวว่า กลุ่มกระบวนการให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างทางการเมือง การปกครอง ต่างจากรัฐไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการลดระดับความรุนแรงเป็นหลัก ความไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ของทั้ง 2 ฝ่ายทำให้การเจรจาไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จึงเสนอให้รัฐควรปรับจุดประสงค์การเจรจา ไปสู่การลดความรุนแรงเพื่อเจรจาเรื่องการปรับโครงสร้างทางการเมืองต่อไป

 

รัฐไม่ควรใช้การเจรจาเป็นเครื่องต่อรอง เพื่อลดระดับความรุนแรงของกลุ่มขบวนการ ที่ผ่านมาหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่ รัฐไทยจะหยุดการเจรจา หากแต่ในความเป็นจริงนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น รัฐควรจะยิ่งเพิ่มการเจรจากับกลุ่มขบวนการให้มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ

 

ประการสำคัญรัฐควรที่จะก้าวข้ามปัญหา ในเรื่องของระบบทางการเมืองและข้าราชการ ที่ผ่านมาหากมีการเปลี่ยนรัฐบาล หรือข้าราชการระดับสูง จะเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้การเจรจาหยุดชะงัก เนื่องจากชุดเจรจาเปลี่ยนแปลง การดำเนินการไม่ต่อเนื่อง ซึ่งการเจรจาต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ และรัฐจะต้องเข้าใจว่าการเจรจาเพื่อสันติภาพ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น และที่สำคัญที่สุดรัฐจะต้องเข้าใจถึงกลุ่มขบวนการบางกลุ่ม ที่ต้องการเจรจาแต่ติดปัญหาเรื่องการทรยศต่อกลุ่มต่อพวกพ้องที่สละชีวิตเพื่อกลุ่มขบวนการมาก่อน ซึ่งหากรัฐก้าวข้ามปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเจรจาเพื่อสันติภาพจะสำเร็จลุล่วงไปได้

 

 

คนในพื้นที่ต้องการเจรจาด้วยสันติวิธี รับฟังและเปิดพื้นที่

 

 

นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนหันมาสนใจเรื่องการเจรจาด้วยสันติวิธี และชี้ให้เห็นจาก ผลการสำรวจทัศนคติของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเหตุการรณ์ปัจจุบัน ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้นำศาสนา เห็นด้วยว่าการเจรจาดีกว่าการใช้อาวุธแน่นอน การพูดคุยการเจรจาจะนำไปสู่ชัยชนะที่ยั่งยืน ไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราว การเจรจาอาจจะเปลี่ยนวิธีคิดของคนได้ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายนึง และการเจรจาการพูดคุยสามารถแก้ได้ถึงรากเหง้า และไม่ควรทิ้งปัญหาเหล่านี้ให้กับลูกหลานอีกต่อไป

 

ด้านพระเทพศรีวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส ท่านได้ลงไปพูดคุยกับชาวบ้าน ท่านเสนอว่าทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดความสงบต้องให้คนพื้นที่เข้ามาร่วมกันช่วยกันคิดแก้ไขปัญหา ตั้งกลุ่มคณะทำงานขึ้น แล้วลงไปพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ท้ายที่สุดเหตุการณ์แก้ปัญหาได้ทั้งหมด ต้องอาศัยผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. ให้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร รับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อคลี่คลายเหตุการณ์ได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

 

เสียงสะท้อนจากการเก็บข้อมูลส่งผลให้ศอ.บต ลงไปปลูกจิตสำนึก รับฟังปัญหา มองและแก้ปัญหาเหล่านั้นให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาที่รากเหง้า การแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นความเชื่อถือ ศรัทธา ซึ่งนี้คือเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากที่การเจรจายุติความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้จริง การเจรจาด้วยความเข้าใจ ยอมรับฝ่ายตรงกันข้าม ยอมรับฟัง อย่านำอคติความไม่รู้มาเป็นตัวกำหนด อย่าเอาความรักชาติมาชี้ขาดตัวตน การเจรจาบางครั้งไม่ได้สร้างความสำเร็จ แต่การกระทำการยอมรับฟังฝ่ายตรงข้ามอาจจะนำมาซึ่งสันติสุขและสันติภาพได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: