ไทยโต้ศาลโลกให้เกินกัมพูชาขอ ระบุไม่มีสิทธิตีความแนวเขตแดน ชี้หลักฐานชัดกัมพูชาล้ำแดนไทย

17 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 2954 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 17 เมษายน เว็บไซต์คมชัดลึกออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ คณะดำเนินการกฎหมายต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารของไทย นำโดย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ในฐานะตัวแทนไทยดำเนินการทางกฎหมายปราสาทพระวิหาร และที่ปรึกษาต่างชาติของไทย เข้าชี้แจงทางวาจาต่อคณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก (ไอซีเจ) ซึ่งประกอบด้วยองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 17 คน ต่อกรณีที่กัมพูชาได้ยื่นตีความอาณาบริเวณรอบปราสาทพระวิหารต่อศาลโลก

 

โดยมีผู้แทนรัฐบาลไทยประกอบด้วย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ และพล.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม และเจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ขณะที่คณะดำเนินการทางกฎหมายของกัมพูชา นำโดยนายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศกัมพูชา ในฐานะตัวแทนกัมพูชา ดำเนินการทางกฏหมายปราสาทพระวิหาร และที่ปรึกษาต่างชาติของกัมพูชา นายวาร์ กิมฮอง รัฐมนตรีอาวุโสและประธานคณะกรรมาธิการชายแดนแห่งชาติ กับนายลองวิสาโล รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศกัมพูชา เข้าให้การชี้แจงทางวาจาต่อศาลโลก

 

โดยวันนี้เป็นวันแรกที่คณะดำเนินการกฎหมายของไทยได้เข้าชี้แจงต่อศาลโลก เป็นนัดสุดท้ายของการต่อสู้คดีพระวิหาร ก่อนที่ศาลโลกจะพิจารณาและมีคำพิพากษาในปลายปีนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลก ได้เชิญนายวีรชัย ในฐานะตัวแทนไทยดำเนินการทางกฎหมายปราสาทพระวิหาร ขึ้นชี้แจงทางวาจาต่อศาลโลก โดยนายวีรชัยกล่าวว่า เป็นเกียรติที่ได้รับโอกาสจากศาลโลก ในการชี้แจงในข้อเท็จจริงต่อกรณีที่กัมพูชาขอให้ตีความอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งประเทศไทยเชื่อในการอยู่อย่างสันติสุขและความมั่งคั่งกับประเทศเพื่อนบ้าน อนาคตของไทยและกัมพูชาเชื่อมผสานกัน เรื่องเขตแดนไม่แบ่งแยก แต่เป็นโอกาสสำหรับความร่วมมือและการพัฒนาร่วมกัน ในการนี้ ประเทศไทยตกลงในกระบวนการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วม ภายใต้บันทึกความเข้าใจเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2543 ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเพื่อการกำหนดเส้นเขตแดน มิใช่เป็นกระบวนการทางยุติธรรมครอบคลุมถึงพื้นที่ซึ่งกัมพูชาอ้างในปัจจุบันด้วย รัฐบาลไทยมีความเคารพต่อศาลเสมอ และประเทศไทยก็ปฏิบัติตามคำพิพากษา ซึ่งได้รับการยอมรับแล้วโดยประมุขของกัมพูชาในสมัยนั้น ซึ่งเสด็จปราสาทไม่นานหลังจากนั้น แต่ 50 ปีผ่านไป กัมพูชากลับมาขอโดยแฝงในคำขอตีความให้ศาลให้ในสิ่งที่ศาลได้ปฏิเสธอย่างชัดแจ้ง

 

นายวีรชัย ชี้ให้ศาลเห็นว่า คำฟ้องของกัมพูชาเป็นการใช้กระบวนการคดีในทางที่ผิดและไม่เคารพศาล เพราะคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ชัดเจน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2505 ไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้วและกัมพูชาก็ยอมรับ แต่ครึ่งศตวรรษหลังจากนั้น กัมพูชากลับมาต่อหน้าศาลเพื่อท้าทายความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนท่าทีอย่างสลับขั้ว และมีวัตถุประสงค์เพื่อขอในสิ่งที่ศาลได้ปฏิเสธแล้วในปี 2505 กล่าวคือคำพิพากษาเกี่ยวกับเส้นเขตแดนและสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งคำขอกัมพูชาไม่อาจรับไว้พิจารณาได้ภายใต้ข้อ 60 ของธรรมนูญศาลว่าด้วยกระบวนการตีความ เพราะองค์ประกอบของอำนาจศาลภายใต้ข้อนี้ไม่ครบ

 

 

นายวีรชัย กล่าวยืนยันว่า ข้อพิพาทปัจจุบันเกิดจากการเรียกร้องดินแดนใหม่ของกัมพูชา เพื่อยื่นเสนอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกับคดีเดิมซึ่งเกี่ยวกับอธิปไตยเหนือปราสาท ซึ่งได้รับปฏิบัติแล้วทันที ภายหลังจากการมีคำพิพากษา โดยมติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาท โดยมีการสร้างรั้วและป้าย และเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2505 ไทยก็ได้คืนปราสาทให้กัมพูชาพร้อมถอนกำลังทหารออกจากบริเวณนั้น ซึ่งถือว่ากัมพูชาได้ในสิ่งที่ตนขอในคำขอเมื่อปี 2502 กล่าวคืออธิปไตยเหนือปราสาท และการถอนกำลังทหารออกจากที่ดินผืนหนึ่งบนดินแดนกัมพูชาซึ่งเรียกว่าบริเวณสิ่งหักพังของปราสาท และกัมพูชาได้แสดงความพึงพอใจโดยหัวหน้าทางการทูตของกัมพูชาต่อหน้าที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และประมุขของรัฐกัมพูชาที่เดินทางไปทำพิธีครอบครองปราสาทอย่างเป็นทางการ

 

จนกระทั่งถึงช่วงปี 2543 กัมพูชาไม่เคยคัดค้านการควบคุมพื้นที่อย่างเป็นจริง และความชอบธรรมของไทยในอีกฟากหนึ่งของเส้นมติคณะรัฐมนตรี และยอมรับเองในคดีนี้ว่า กิจกรรมของตนในพื้นที่ที่เรียกร้องในวันนี้เพิ่งเริ่มในช่วงปลายปี 2541 โดยการสร้างวัด และนับจากเริ่มทศวรรษ 2543 การรุกล้ำเส้นมติคณะรัฐมนตรีเข้ามาในดินแดนไทย ซึ่งเป็นการละเมิดอย่างชัดแจ้งต่อข้อ 5 ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ก็เริ่มเป็นที่ปรากฎเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ได้กระทบต่อกระบวนการเจรจาตามบันทึกความเข้าใจ และทำให้เกิดการประท้วงอย่างหนักจากไทย และข้อพิพาทใหม่นี้ตกผลึกในปี พ.ศ.2550

 

 

            “เมื่อกัมพูชาเสนอแผนผังเพื่อการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารฝ่ายเดียว ต่อคณะกรรมการมรดกโลก ในการประชุมสมัยที่ 31ซึ่งดินแดนที่กัมพูชาอ้างล้ำเข้ามาในดินแดนไทยประมาณสี่ตารางกิโลเมตรครึ่ง การรุกล้ำหรือเหตุการณ์ในพื้นที่ต่าง ๆ กลายเป็นข้อเรียกร้องทางดินแดน เพราะต้องการเขตพื้นที่ที่จำเป็นต่อการขึ้นทะเบียนปราสาท ซึ่งไทยก็ประท้วงอย่างหนัก เพื่อยืนยันในอธิปไตยต่อเนื่องของไทยในผืนดินแดนซึ่งกัมพูชาเรียกร้องใหม่นี้ ซึ่งไทยได้รับรู้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2550 ประเด็นเรื่องเขตแดนนี้เกินขอบเขตของคดีเดิม ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขในกรอบของบันทึกความเข้าใจปี 2543 ซึ่งกัมพูชาปฏิเสธ และยืนยันในคำพิพากษาปี 2505 เท่านั้นเพื่อยัดเยียดเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 ตามที่ตนถ่ายทอดอย่างอำเภอใจในวันนี้ต่อไทย” นายวีรชัยกล่าว

 

 

นายวีรชัย กล่าวชี้แจงด้วยว่า พื้นที่พิพาทประมาณสี่ตารางกิโลเมตรครึ่งไม่ใช่ “บริเวณใกล้เคียง” ปราสาทตามนัยของวรรคปฏิบัติการที่ 2 ของคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ทั้งนี้ ตรงข้ามกับสิ่งที่กัมพูชาอ้าง ผืนดินแดนไทยซึ่งกัมพูชาเรียกร้องตั้งแต่ปี 2550 ไม่ใช่ และไม่อาจจะเป็นบริเวณใกล้เคียงปราสาทตามนัยของคำพิพากษาเมื่อปี 2505 เพราะในคำร้องในคดีเดิม กัมพูชามิได้เรียกร้องพื้นที่ขนาดนี้ และเรื่องเขตแดน ดังนั้น ศาลไม่สามารถตัดสินเกินคำร้อง และให้ในสิ่งที่กัมพูชาไม่ได้ขอ และแม้ในคำขอเพิ่มเติมของกัมพูชาในขณะนั้นเกี่ยวกับเส้นเขตแดนและสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งศาลไม่รับไว้พิจารณา ก็ไม่มีการระบุถึงพื้นที่สี่ตารางกิโลเมตรครึ่งดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่อธิบายความลำบากของกัมพูชาที่จะพิสูจน์ความมีอยู่ของพื้นที่พิพาทดั้งเดิม โดยทำได้อย่างมากก็ปลอมแปลงเอกสารจดหมายเหตุและโต้แย้งด้วยเส้นจากภาคผนวก 49 ของคำให้การแก้ฟ้องของไทยเมื่อปี 2504 ที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

 

 

 

นายวีรชัยกล่าวว่า ส่วนมติคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 กำหนดพื้นที่ที่สอดคล้องกับ “บริเวณใกล้เคียง” ปราสาท ตามความเข้าใจของคู่กรณีและศาลในคดีเดิม ซึ่งสะท้อนอยู่ในหน้า 15 ของคำพิพากษาและแผนที่ภาคผนวก 85 ดี ซึ่งเป็นแผนที่ฉบับเดียวซึ่งศาลจัดทำขึ้นในคดีเดิม เป็นดินแดนผืนหนึ่งซึ่งกัมพูชาเรียกร้องในคดีเดิม และเส้นมติคณะรัฐมนตรียังสอดคล้องกับเส้นในแผนที่ภาคผนวก 66 ซีของคำตอบแก้ของกัมพูชา ซึ่งเป็นเส้นเดียวที่กัมพูชาต่อสู้ในคดีเดิม ดังนั้นการเรียกร้องในปัจจุบันของกัมพูชาจึงเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิงจากในอดีต และอ้างว่าเป็นบริเวณใกล้เคียงปราสาทตามนัยของคำพิพากษา ทำให้คำพิพากษามีความหมายและขอบเขตซึ่งแท้จริงแล้วไม่มี และพยายามให้แผนที่ภาคผนวก 1 รวมเป็นส่วนหนึ่งของส่วนข้อบทปฏิบัติการของคำพิพากษา

 

นายวีรชัยกล่าวว่า อนึ่ง ไทยก็เสนอเอกสารหลักฐานมากมาย ที่สามารถโต้แย้งการกล่าวอ้างของกัมพูชาได้ อาทิ อ้างว่าตนไม่รับรู้เส้นมติคณะรัฐมนตรีจนกระทั่งปี 2550 หรืออ้างว่าไทยไม่เคยโต้แย้งเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 ดังที่ถ่ายทอด และอ้างต่อศาลในวันนี้ ซึ่งมีหลักฐานปรากฎว่า กัมพูชาอ้างเส้นนี้ประมาณปลายทศวรรษ 2000 เท่านั้น และไทยก็เพิ่งรับรู้ในเส้นดังกล่าวในปี 2550 ในกรอบคณะกรรมการมรดกโลก อีกทั้ง กัมพูชาก็ได้ตัดภูมะเขือซึ่งอยู่ 2700 เมตรห่างจากปราสาทออกจากข้อเรียกร้องของตนในปี 2502 แต่ในปัจจุบันกลับรวมพื้นที่ดังกล่าวในคำขอของตนในปัจจุบัน ซึ่งไทยใช้อำนาจอธิปไตยแต่เพียงผู้เดียวอย่างต่อเนื่อง และกัมพูชาไม่ได้ตอบโต้ต่อเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เหล่านั้น

 

นายวีรชัยกล่าวว่า นอกจากนี้กัมพูชายังปิดตัวเองในโลกคู่ขนาน โดยอ้างว่า พื้นที่ปราสาทพระวิหารไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้ของบันทึกความเข้าใจฯ ด้วยผลของคำพิพากษาปี 2505 และทฤษฎีที่คลุมเครือเกี่ยวกับการแยกจากกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างการกำหนดและการจัดทำเขตแดน แผนที่ภาคผนวก 1 เป็นที่มาเดียวของเส้นเขตแดนซึ่งถูกำหนดไปแล้วในบริเวณนี้ ซึ่งคู่กรณีก็เพียงแค่จัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ตามลักษณะของเส้นเขตแดนบนแผนที่ โดยไม่คำนึงถึงภูมิประเทศจริงและหลักทางแผนที่ ซึ่งในความเป็นจริงบันทึกความเข้าใจฯ ครอบคลุมเส้นเขตแดนร่วมทั้งแนว รวมทั้งบริเวณปราสาทด้วย และยังระบุถึงสนธิสัญญาว่าด้วยการกำหนดเขตแดน แต่ไม่ระบุคำพิพากษาปี 2505 บันทึกความเข้าใจเป็นหลักฐานที่ไม่ต้องสงสัยว่าเรื่องเขตแดนในบริเวณปราสาทจะต้องได้รับการแก้ไขโดยสอดคล้องกับพันธกรณีทางสนธิสัญญา และเป็นเอกเทศจากคำพิพากษาเมื่อ ปี 2505 ในส่วนข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ซึ่งตกลงกันในปี 2546 เพื่อปฏิบัติบันทึกความเข้าใจฯ ก็ไม่ปรากฏว่ามีการระบุถึงคำพิพากษาเมื่อปี 2505 แต่อย่างใด และไม่ปรากฎว่ามีข้อบทใดในตราสารนี้ ที่ทำให้เข้าใจว่ารวมโดยนัยคำพิพากษาปี 2505 ไว้ในกระบวนการของบันทึกความเข้าใจฯ แต่เป็นตราสารที่กำหนดขึ้นตอนสำหรับงานสำรวจร่วมเส้นสันปันน้ำต่อเนื่องในพื้นที่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่รวมอยู่ในคำพิพากษา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายวีรชัยกล่าวว่า กัมพูชาดำเนินการต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมทางกระบวนคดี เพื่อปฏิเสธสิทธิของไทยที่จะได้รับการตัดสินคดีโดยถูกต้องและเป็นธรรม และเพื่อให้ศาลเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ โดยกัมพูชากล่าวหาว่า ไทยยื่นเอกสารคำให้การลายลักษณ์อักษรที่ยาวเกิน และมีจำนวนภาคผนวกมากเกิน ซึ่งคดีนี้มีข้อเท็จจริงมากมาย กอปรกับต้นกำเนิดของข้อพิพาทย้อนไปกว่า 50 ปีก่อน คำพิพากษา และกว่า 50 ปีได้ผ่านไปหลังคำพิพากษา ซึ่งข้อเท็จจริงมีความตรงประเด็น และเป็นประโยชน์สำหรับศาลในการพิจารณาความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงก่อนปี 2505 ซึ่งมาทำให้คำให้การของคู่กรณีในคดีเดิมกระจ่างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นพื้นที่พิพาทเดิม หรือบริเวณใกล้เคียงปราสาท หรือข้อเท็จจริงภายหลังคำพิพากษา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการไม่มีอยู่ซึ่งข้อพิพาทเกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของคำพิพากษา ซึ่งเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เหล่านี้กัมพูชาไม่ได้โต้แย้งใด ๆ แสดงถึงการยอมจำนน โดยการนิ่งเฉย

 

นายวีรชัยกล่าวว่า แม้ว่ากัมพูชาจะเน้นเรื่องการเคารพต่อศาล กัมพูชาก็ได้ดำเนินการที่ไม่เหมาะสมทางคดีเพื่อที่จะทำให้ศาลเข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ อาทิ การเสนอหลักฐานเดียวที่พิสูจน์พื้นที่ที่อ้างว่าเป็นพื้นที่พิพาทเดิมประมาณสี่ตารางกิโลเมตรครึ่ง กล่าวคือร่างแผนที่ ซึ่งหนึ่งในการปรากฎร่างปรากฏอยู่ในหน้าก่อนหน้า 77 ของคำตอบแก้ของกัมพูชา ซึ่งเป็นการปลอมแปลงแผนที่ฉบับที่ 3 และ 4 ของภาคผนวก 49 ของคำให้การแก้ฟ้องของไทย ที่นำมาซ้อนกันในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ และยังได้แถลงอย่างผิด ๆ เกี่ยวกับหลักฐานอื่น ๆ รวมทั้งแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นแผนที่ที่แนบคำขอแรกเริ่มของกัมพูชา แต่กลับถูกนำไปอ้างในเวบไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา ณ กรุงปารีส ว่า เป็นแผนที่ที่ได้รับการรับรองจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ว่าเป็นภาคผนวก 1 ของคำพิพากษาฯ นอกจากนี้ยังเสนอแผนที่ภาคผนวก 1 ต่อศาลคนละฉบับกับที่ได้เสนอในคำขอแรกเริ่ม ซึ่งแน่นอนว่าต่างแสดงปราสาทอยู่ในฝั่งกัมพูชา แต่เส้นเขตแดนที่แสดงในแผนที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกัมพูชาขอให้ศาลพิจารณาเส้นเขตแดนของแผนที่ภาคผนวก 1 แต่ว่าพูดถึงแผนที่ฉบับไหน เส้นไหน

 

นอกจากนี้กัมพูชายังยื่นเอกสารอย่างล่าช้าในกระบวนการ กล่าวคือหนังสือข้อมูลที่ประชาชนไทยควรทราบเกี่ยวกับกรณีปราสาทพระวิหาร และการเจรจาเขตแดนไทย- กัมพูชาซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยตีพิมพ์ เพื่อพยายามจะหาหลักฐานมาสนับสนุนข้อพิพาทสี่กิโลเมตรตารางกิโลเมตรครึ่ง ซึ่งระบุถึงพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทใหม่ซึ่งไม่เกี่ยวกับคดีเดิม โดยดำเนินการแปลอย่างไม่ถูกต้อง และเลือกที่จะอ้างถึงวรรคที่ไม่ประติดประต่อกัน ซึ่งไทยได้เสนอคำแปลที่ถูกต้อง และแสดงให้เห็นว่ากัมพูชาได้ดำเนินการที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจทำให้ศาลเข้าใจผิดได้อย่างไร

 

 

นายวีรชัยกล่าวว่า ส่วนในเรื่องคำสั่งเรื่องมาตรการชั่วคราว เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2556 สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ศาลออกมาตรการคือมิให้เกิดการสูญเสียชีวิตขึ้น ตั้งแต่ศาลออกมาตรการการหยุดยิงในพื้นที่ต่างก็ได้รับการเคารพโดยกัมพูชา ไม่มีการปะทะกัน การสูญเสียชีวิตหรือเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินอีกต่อไป สถานการณ์ในพื้นที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งศาลทุกประการ


 

ผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดนฝ่ายไทยระบุเขมรมีวาระซ่อนเร้น


 

จากนั้น ศ.โดนัลด์ แมคเรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเขตแดนและทนายฝ่ายไทย ชี้แจงต่อศาลโลกว่า คำขอของกัมพูชาให้ตีความเมื่อปี 1962 แท้จริงแล้วไม่ใช่ขอให้ตีความ แต่พยายามเปลี่ยนแปลงการตีความ ปี 2005 ที่ศาลเคยปฏิเสธไปแล้วเป็นคำขอที่มีวาระซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง และในคำขอของกัมพูชาก็ไม่ชัดเจนเป็นการพูดหลีกเลี่ยงเพื่อให้ตีความคำพิพากษาใหม่ และคำว่าบริเวณใกล้เคียงกัมพูชาก็พยายามนำมาอ้างว่าเป็นพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ถือว่าเป็นโอกาสที่มีข้อพิพาทได้ จากพันธะกรณีที่ต้องถอนทหารออกไปเกิดขึ้นทันทีหลังจากมีคำพิพากษาปี 1962 และประเทศไทยก็รับทราบและประท้วงไป จึงไม่ใช่ข้อพิพาทเรื่องการตีความในวรรค 2 ของปี 1962

 

 

            “ข้อเรียกร้องของกัมพูชาดูเหมือนมีคำพิพาทใหม่ ทำให้กัมพูชาสามารถขยายความและเปลี่ยนข้อพิพาทมาใช้ในการปฏิบัติการ และยืนยันว่ากัมพูชาและประเทศไทยมีข้อพิพาทเรื่องความหมายและขอบเขตดินแดนภายในกัมพูชา หากเป็นความจริงว่ามีข้อพิพาทเรื่องคำว่าดินแดน ก็ไม่น่าจะนำมาใช้ในการตีความ ทำให้การขอใหม่ไม่สามารถยอมรับได้ ขณะเดียวกันก็มาพูดว่าเป็นคำขอสุดท้ายของการตีความ และอธิปไตยเหนือดินแดนก็ไม่ใช่ข้อพิพาท และในระหว่างดำเนินคดี ปี 1962 ศาลก็ได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องกัมพูชา” ศ.โดนัลด์ แมคเรย์ กล่าว

 

 

‘ทนายโรมาเนีย’ อัดกัมพูชาใช้แผนที่หวังฮุบ4.6ตร.กม.

 

 

ด้าน น.ส.อลินา มิรอง ทนายความชาวโรมาเนีย ในฐานะทนายฝ่ายไทย นำเสนอหลักฐานที่เป็นแผนที่ที่เป็นกรณีพิพาทว่า กัมพูชาไม่มีการแนบแผนที่ ซึ่งน่าประหลาดว่าหลักฐาน 4.6 ตร.กม. จะเป็นเอกสารทำงานที่กัมพูชายื่นหลังจากการนำเสนอในคดีความนี้แล้ว กัมพูชานำแผนที่มาเพื่อให้ท่านเชื่อว่าพื้นที่ที่เรียกร้องนี้เป็นพื้นที่ที่พิพาทกันในปี 1962 โดยผ่านแผนที่หลาย ๆ ฉบับ และมีแผนที่ฉบับที่ 3 ได้ถูกใช้เป็นหลักฐานหลักของกัมพูชาโดยไม่คำนึงถึงแผนที่รูปแบบดั้งเดิม แม้ศาลจะมีอำนาจรับรองได้จริง แต่ก็ทำไม่ได้ และไม่มีการบันทึกไว้เลย จึงไม่สามารถพูดได้ว่ามีการรับรอง และเส้นไหนเป็นเส้นไหน ซึ่งเราก็ทราบว่ากัมพูชาไม่มีความแม่นยำในแผนที่ แต่เราไม่ทราบว่ากัมพูชาจะถึงกลับนำแผนที่มาเปลี่ยนกัน

 

 

ต้องขอชื่นชมกัมพูชาหากจะตัดสินจากความละอายของกัมพูชาที่ไม่ออกมาโต้แย้งเรื่องนี้ ดังนั้นความจริงกัมพูชายังไม่ให้ดูหลักฐานใดเลยว่า ในปี 1962 มีพื้นที่นั้นอยู่จริง และได้ไปดูเอกสารทั้ง 1,500 หน้า ก็ไม่มีการพูดถึงแผนที่ แต่แผนที่นี้ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ กัมพูชาบอกว่าเส้นในแผนที่เป็นเส้นแบ่งเขตทางเหนือ และเส้นสันปันน้ำแบ่งเขตทางใต้ กัมพูชาไม่สามารถให้คำอธิบายเรื่องนี้ได้ ทำให้มีความคลาดเคลื่อน 500 เมตรไปทางปราสาท และยังมีการขีดเส้นทางเชิงบันไดของปราสาท ดูเหมือนว่าเส้นนี้จะเคลื่อนไหวได้ ส่วนทางตะวันตก ตะวันออก เราไม่รู้ว่าเส้นอยู่ทางไหน แล้วจะนำมาบอกว่า 4.6 ตร.กม.เป็นพื้นที่พิพาทได้อย่างไร เราไม่สามารถที่จะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือได้ภายใน 50 ปี

 

กัมพูชาไม่ได้ให้แผนที่ใดมาพิสูจน์ แต่บอกว่ามาจากแผนที่ที่มีเส้นสองเส้นตัดกัน กัมพูชาอ้างว่า 4.6 ตร.กม. ต้องขึ้นทะเบียนมรดกโลกและการตัดสินในปี 1962 ไม่เกี่ยวกับพื้นที่รอบพระวิหาร หลักฐานของพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ที่ว่า เป็นข้อพิพาท เป็นแค่เอกสารที่กัมพูชายื่นหลังจบการนำเสนอในคดีความนี้แล้ว กัมพูชานำเอาแผนที่ที่ใช้อย่างมาก คือแผนที่ฉบับที่ 3 ที่อยู่ในคำค้านของคำฟ้อง ซึ่งแผนที่แผ่นที่ 3 ได้ถูกมาใช้เป็นหลักฐานของกัมพูชา ไม่ได้คำนึงถึงแผนที่ในรูปแบบดั้งเดิม

 

            “ในคำพิพากษาก็ไม่มีการเอ่ยถึง คู่ความทั้งสองก็ไม่ได้เอ่ยถึงพื้นที่นั้น กัมพูชาไม่สามารถให้คำอธิบายในเรื่องเขตแดนได้ มีการคลาดเคลื่อน 500 เมตรไปทางเหนือปราสาท และกัมพูชาไม่ได้สนใจภูมิประเทศรอบ ๆ แต่อย่างใด”

 

 

น.ส.อลินา มิรอง ยังได้แสดงการกำหนดตามทฤษฏีสีต่าง ๆ ที่ทำให้พื้นที่ต่างกัน หากดูจากแผนที่นี้จะเห็นว่า พื้นที่ 4.6 ตร.กม.ไม่มีความเกี่ยวข้องเลย ซึ่งแผนที่นี้ทำให้ศาลเข้าใจถูกต้องตามที่ตัดสินไปในปี 1962 และแผนที่นี้คือแผนที่ที่ไทยจะต้องถอนกำลังทหารออกไป ส่วนสนธิสัญญา 1904 ไม่ได้พูดถึงปราสาท แต่แผนที่นี้พูดถึงเขตแดนซึ่งมีคุณค่าพิสูจน์ได้ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมประเทศไทยจึงต้องคัดค้าน และแผนที่ในภาคผนวก 1 ก็ระบุถึงที่ตั้งปราสาทด้วย จึงได้มีการเรียกร้องให้ศาลต้องพิจารณาว่า ปราสาทอยู่ทางเหนือหรือทางใต้ของเส้นเขตแดน ซึ่งศาลตอบว่าปราสาทนั้นอยู่ในเขตแดนของกัมพูชา แม้ว่าจะมีความชัดเจนเรื่องปราสาท แต่แผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถปฏิเสธว่า กัมพูชามีสิทธิเหนือพื้นที่อื่น ๆ จึงคิดว่าแผนที่นี้มีคุณค่าในการพิสูจน์

 

 

 

แต่จะใช้กำหนดเขตแดนหรือไม่ เพราะไม่ชัดเจนเรื่องภูมิศาสตร์ ภูมิรัฐต่าง ๆ และแผนที่อีกฉบับที่ไทยได้ส่งเมื่อปี 1947 ซึ่งเสนอต่อคณะกรรมการประนอม ที่ให้ความสนใจในที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร และมีความคล้ายกันทั้งหมดที่แสดงให้เห็นว่า ปราสาทตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเขตแดน จึงสามารถสรุปได้ว่าแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถใช้เป็นตราสาร ที่แยกจากสนธิสัญญา 1904 เนื่องจากไม่มีความแม่นยำทางเทคนิค จึงไม่สามารถนำแผนที่เก่า ๆ มาใช้ในการปักปันเขตแดน จึงควรใช้แผนที่ภาคผนวก 1 หลาย ๆ ฉบับมากกว่า การที่นายร็อดแมน บันดี ทนายชาวอเมริกันของฝ่ายกัมพูชา บอกว่า การมีหลายฉบับไม่สำคัญ แต่ที่สำคัญคือแผนที่ที่กัมพูชาแนบมากับคำร้องเมื่อปี 1959 ซึ่งถือเป็นการด่วนสรุปเกินไปว่า แผนที่ที่ศาลใช้นั้นมีฉบับเดียว แต่ที่จริงศาลได้มีการเผยแพร่แผนที่ภาคผนวก 1 แล้วทำไมเอกสารที่ศาลนำเผยแพร่จึงมีความสำคัญน้อยกว่า

 

แผนที่ในภาคผนวกบอกถึงที่ตั้งปราสาท กัมพูชาเรียกร้องให้ศาลพิจารณาปราสาทอยู่เหนือหรือใต้เส้นเขตแดน ซึ่งศาลก็ว่าแผนที่ได้แสดงให้เห็นว่าปราสาทอยู่ในกัมพูชา แม้มีความชัดเจนเรื่องปราสาทและแผนที่ภาคผนวก 1 ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า กัมพูชามีสิทธิอื่น ๆ อยากให้ดูแผนที่อื่น ๆ ด้วย ทุกแผนที่แสดงให้เห็นปราสาทอยู่ในเส้นเขตแดน แต่เส้นเขตแดนส่วนอื่นไม่เหมือนกัน แต่ตอนนั้นผู้พิพากษาก็คิดว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในแง่พิสูจน์อธิปไตยของปราสาท ก็สรุปว่า แผนที่ภาคผนวกไม่มีความแม่นยำทางเทคนิค เราก็ไม่สามารถใช้แผนที่เก่า ๆ ปักปันเขตแดนได้

 

เส้นสันปันน้ำควรเป็นเส้นที่เห็นได้ชัดเจน แต่วิธีการสังเคราะห์ในการกำหนดเส้นเขตแดน คือการนำเอาเส้นที่เห็นได้ตามธรรมชาติไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีอะไรที่เห็นได้ตามธรรมชาติ ต้องใช้วิธีการคำนวณทางคณิตศาสตร์ การนำเอาเส้นพรมแดนมาถ่ายทอดทำให้เส้นต่าง ๆ ที่เป็นจุดร่วม แต่ก็มีความแตกต่างจากเส้นสันปันน้ำ บางครั้งก็เป็นคุณต่อบางประเทศ ซึ่งอาจจะมีความมั่นคงและความเสถียรแตกต่างกันไป การที่จะใช้วิธีการถ่ายทอดทางภูมิประเทศทางธรรมชาติ ควรใช้เมื่อปี 1962 และกัมพูชาก็เคยทำเพียงครั้งเดียว จึงน่าประหลาดใจมากว่า เส้นที่กัมพูชาเสนอมีความแตกต่างเฉพาะเส้นที่เป็นปราสาทพระวิหารเท่านั้น และกำลังขอให้ศาลวินิจฉัยว่าเส้นในแผนที่ตามภาคผนวก 1 เป็นเส้นเขตแดน จึงไม่น่าจะเป็นการตัดสินที่ดี และยังพูดถึงเขตพื้นที่ที่คำพิพากษากำหนดไว้แล้ว แต่ปัจจุบันกลับขอให้ศาลพิพากษาว่า พื้นที่่ 4.6 ตร.กม. หลังจากที่พิสูจน์ว่า มีอธิปไตยเหนือปราสาท กลับต้องการขอขยายพื้นที่ออกมาจาก 4.6 ตร.กม. และจากเดิมที่ต้องมีเขตตามสันปันน้ำ ก็จะขอให้ขยายออกมาจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ด้วย

 

 

ย้อนศรยกอดีตกษัตริย์สีหนุเทียบกรมพระยาดำรงราชานุภาพ


 

ศาสตราจารย์อแลง แปลเล่ต์ ทนายความชาวฝรั่งเศสของไทย ขึ้นกล่าวชี้แจงทางวาจาต่อศาลโลก ระบุว่า กัมพูชาไม่มีข้อมูลใหม่ ๆ และกัมพูชายังคงพยายามดำเนินการให้ศาลโลกตีความเรื่องอาณาบริเวณปราสาทพระวิหาร เป็นการตีความไปมากไปกว่าคำตัดสินศาลโลก ปี 2505 โดยขอเน้นย้ำ ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกแล้ว ดูจากที่พระบาทสมเด็จเจ้านโนดม สีหนุ เดินทางมาร่วมงานเฉลิมฉลอง ในพิธีการที่ทางการไทยมอบปราสาทพระวิหาร และวัตถุโบราณคืนให้กับทางการกัมพูชา และมีการกล่าวชื่นชมการดำเนินการไทย โดยปราศจากข้อขัดข้อง จากเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงถึงนัยสำคัญอย่างใหญ่หลวง ที่กษัตริย์กัมพูชา ไม่มีความขัดข้องในเรื่องรั้วลวดหนามกับป้ายที่ทางการไทยจัดทำขึ้น สิ่งนี้น่าจะมีน้ำหนักและความสำคัญเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ไปปรากฎตัวที่ปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชานำมาใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาคำตัดสินศาลโลก ปี 2505 และมีน้ำหนัก ทำให้กัมพูชาชนะคดีในครั้งนั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศาสตราจารย์แปลเล่ต์ กล่าวว่า ไทยไม่เคยไม่ยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร แต่คำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 เห็นได้ชัดว่า ศาลจงใจไม่พูดถึงเรื่องเส้นเขตแดน โดยต่อมาในปี 2543 ไทยและกัมพูชาได้ลงนามในเอ็มโอยู เพื่อเป็นกรอบการจัดทำหลักเขตแดน ไม่มีส่วนใดที่ระบุถึงคำพิพากษาปี 2505 ตามที่กัมพูชาอ้าง การนิ่งเฉยของทั้งสองฝ่ายคือ ไทยและกัมพูชา สะท้อนให้เห็นว่ามาจากการเห็นตรงกันแล้วถึงคำพิพากษาปี 2505 ตลอดจนการดำเนินการใด ๆ ของไทย อาทิ การติดตั้งประตูทางเข้าออกสู่ปราสาท ห่างไปจากตอนเหนือของปราสาทราว 100 เมตร กัมพูชาก็ไม่เคยทักท้วงหรือต่อต้าน ดังนั้นถือว่ากัมพูชายอมรับแล้ว

 

ศาสตราจารย์แปลเล่ต์ กล่าวว่า แต่ตั้งแต่ปี 2544 กัมพูชากลับเปลี่ยนจุดยืน และการที่กัมพูชาอ้างว่า ไทยไม่เคยประท้วงใด ๆ ต่อการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวกัมพูชาในพื้นที่ดังกล่าวนั้นไม่จริง ไทยได้เคยประท้วงไปหลายครั้งแล้ว แต่กัมพูชาไม่เคยสนใจ มิหนำซ้ำยังกล่าวหาว่า ไทยยังไม่ได้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ในแผนที่ภาคผนวก 1 ของกัมพูชา แล้วสรุปเอาว่า ไทยไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก ถือว่าขัดแย้งกันกับการยอมรับที่ประมุขของประเทศเคยยอมรับในอดีต

 

 

ศ.เจมส์ระบุจะเกิดข้อพิพาทหากศาลโลกชี้ขาดเรื่องเส้นเขตแดน

 

 

ต่อมาเวลา 20.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ศาสตราจารย์เจมส์ ครอว์ฟอร์ด ทนายความฝ่ายไทย ชาวออสเตรเลีย กล่าวถ้อยแถลงด้วยวาจาว่า ทั้งนี้ไม่ว่าแผนที่ฉบับใดของกัมพูชาที่มาแสดง บอกเพียงพื้นที่ที่ตั้งของปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่ได้มีการระบุถึงเส้นเขตแดน โดยเจตนาของทั้งสองประเทศได้ใช้เส้นสันปันน้ำเป็นเขตแดน ในการกำหนดแผนที่ หากไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยอาจทำให้เกิดข้อบกพร่อง และความพยามยามใด ๆ ที่จะถ่ายทอดแผนที่สู่ภูมิศาสตร์ อาจทำให้เกิดข้อพิพาทกันได้

 

หลังจากการชี้แจงด้วยวาจาของทีมทนายฝ่ายไทยวันแรกเสร็จสิ้นลง นายปีเตอร์ ทอมกา ประธานศาลโลก ได้นัดพิจารณาต่อเป็นรอบที่ 2 ดังนี้ วันที่ 18 เมษายน เวลา15.00-17.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นหรือเวลา 20.00 - 22.00 น.ตามเวลาของประเทศไทย ฝ่ายกัมพูชาเข้าชี้แจง และวันที่ 19 เมษายน เวลา 15.00-17.00น. ตามเวลาท้องถิ่นหรือเวลา 20.00-22.00 น. ตามเวลาของประเทศไทย ฝ่ายไทยเข้าชี้แจง

 

ขอบคุณข่าวจาก เว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: