เปิด163พื้นที่สังหาร3จังหวัดใต้ มท.เร่งแก้ใน3ด.ลดเหตุซ้ำซาก   ดึงกำนัน-ผญบ.นำสันติสุขสู่ชุมชน

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 17 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2407 ครั้ง

 

จากสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง แม้จะมีการเจรจากับผู้ที่อ้างว่าเป็นกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ดังกล่าว หรือการส่งทหารตำรวจจำนวนมากลงไปประจำในพื้นที่ หรือแม้แต่การทุ่มงบประมาณลงไปอย่างมหาศาลเพื่อให้เกิดความสงบ

 

นายภานุ อุทัยรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรับผิดชอบดูแลการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงการแก้ไขปัญหาการก่อเหตุร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า หลังจากคนร้ายลอบวางระเบิดรถของนายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2556 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางลงไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ที่ภาคใต้ และประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดภาคใต้ ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา แนวทางที่นายกรัฐมนตรีได้กำชับเป็นพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ 1.จุดเกิดเหตุซ้ำซาก ซึ่งแน่นอนนายกฯทราบว่าวันนี้เราแบ่งพื้นที่เป้าหมายเป็น 3 ระดับด้วยกัน ระดับแรกคือ พื้นที่เสริมสร้างความมั่นคง คือพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์อยู่ในขั้นรุนแรง จำนวน 136 หมู่บ้าน ต่อมาเป็นหมู่บ้านที่เกิดเหตุระดับปานกลาง เรียกว่าหมู่บ้านเฝ้าระวัง จำนวน 234 หมู่บ้าน และอีก 1,600 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่เข้าไปสู่การพัฒนา นี่คือส่วนของการแบ่งกลุ่ม

 

 

แต่สิ่งที่ต้องดูแลเป็นพิเศษก็คือ จุดที่เกิดเหตุซ้ำซาก หรือเราจะเรียกว่า Killing Zone ก็ได้ ซึ่งในจุดแรกที่เราพิจารณาเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาให้สามารถระงับเหตุได้ หรือบรรเทาเหตุได้คือเส้นทางถนนที่ใช้สัญจรไปมา จึงมีข้อพิจารณาว่า จุดเส้นทางถนนที่ทำให้เกิดเหตุซ้ำซากมีเท่าใด ให้มีการสำรวจออกมา และเมื่อสำรวจได้จำนวนเท่าใดแล้ว ก็ให้หาวิธีลดเหตุ หรือปัจจัยที่จะเกิดเหตุในจุดนั้นได้อย่างไร เช่น ถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ เราปรับผิวถนนให้สัญจรได้สะดวกขึ้น หากสองข้างทางเป็นป่ารกทึบ ซึ่งสะดวกในการดักซุ่มโจมตี หรือขุดเจาะถนน เพื่อฝังระเบิดก็ตาม ก็ให้มีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ทำให้ดูโปร่งขึ้น หรือการแบ่งมอบภาระกิจเป็นบุคคลไปดูแลเป็นพิเศษก็ตาม หรือจุดไหนมืดก็ให้นำไฟฟ้าไปติดตั้ง หรือแม้กระทั่งการพิจารณาให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ เป็นการเฉพาะก็ได้ ซึ่งหลังจากเกิดเหตุนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายเรื่องนี้ให้กับกระทรวงมหาดไทย ในการที่จะดำเนินการ

 

ซึ่งในการบริหารจัดการในพื้นที่วันนี้ เรามีอำเภอต่างๆ ทั้งหมด 37 อำเภอ ใน 4 จังหวัด เราเรียกว่า ศปอ. หรือศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ระดับอำเภอเกิดขึ้น ซึ่งในตรงนี้เองจะเป็นการผนึกกำลัง 3 ฝ่าย คือ นายอำเภอ ผู้กำกับการตำรวจภูธร ผบ.ฉก.2 ตัว ของฝ่ายทหาร ทั้ง 3 คนถือว่าเป็นแม่ทัพที่จะต้องมาดูแล ฉะนั้นการพิจารณาว่าจุดตรงไหนเป็นจุดเกิดเหตุซ้ำซากจะแก้ปัญหาอย่างไร 3 คนนี้ต้องมาพิจารณาร่วมกัน ซึ่งในวันนี้มีการกำหนดจุดเหล่านั้นออกมาแล้ว จำนวนทั้งหมด 163 จุดด้วยกัน ในจำนวน 13 อำเภอ และเราก็ดูว่าในแต่ละจุดมีข้อที่จะปฏิบัติอย่างไร ในการอำนวยความสะดวกเรื่องของการเพิ่มแสงสว่าง เรื่องของการจัดเฝ้าดูเป็นพิเศษ ซึ่งตรงนี้แต่ละจังหวัดก็วางงบประมาณขึ้นมา อย่างจังหวัดยะลามีการปรับปรุงทั้งหมดจำนวน 78 จุดด้วยกัน ใช้งบประมาณ 6.4 ล้านบาท จังหวัดปัตตานี 67 จุด ใช้งบประมาณ 20.8 ล้านบาท จังหวัดนราธิวาส 18 จุด ใช้งบประมาณ 5.8 ล้านบาท รวมทั้งหมด 33 ล้านบาท เพราะฉะนั้นโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ในเวลาอันรวดเร็วหลังจากได้รับงบประมาณแล้ว

 

นายภานุกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามกระทรวงมหาดไทยบางเรื่องอาจจะต้องใช้เวลา แต่หากเรามี Killing Zone เรามีจุดที่มันเกิดเหตซ้ำซากอย่างนี้ เราจะจัดการในเบื้องต้นได้อย่างไร เช่น การแบ่งมอบภาระกิจให้กับกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือชุดคุ้มครองหมู่บ้าน ซึ่งเป็นราษฎรในแต่ละหมู่บ้าน เป็นจำนวนความยาวถนน 1-2 กิโลเมตร ให้ใครเป็นผู้ดูแล ซึ่งตอนนี้ไม่จำเป็นต้องไปเฝ้าดูเป็นยาม เพียงแต่ไปตรวจตราดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ มีการซ่องสุมอะไร ไว้หรือไม่ เป็นการทำสัญญาณอะไรไว้หรือไม่ ซึ่งต้องดูเป็นพิเศษ วันนี้ในส่วนของศปอ.ได้มีการสั่งการไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้านแล้ว ซึ่งเหล่านี้เป็นการทำงานโดยเราหวังผลว่าในระยะเวลาคือ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ตามที่ขอมา น่าจะเสร็จเรียบร้อย และสามารถทำได้เลย โดยใช้ระยะเวลา 3 เดือนในวันที่ 31 กรกฎาคม จะมาประเมินผลกันว่าในจุดเกิดเหตุซ้ำซาก ยังจะเกิดเหตุอยู่หรือไม่ ซึ่งผู้ที่ต้องได้รับการประเมินผลอย่างชัดเจนคือ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเราต้องมอบให้เขาเป็นเจ้าภาพในการดูแลความปลอดภัยบนเส้นทางเป็นสำคัญ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนการวางแผนการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทรวงมหาดไทยมีการวางแผนให้กำนันผู้ใหญ่บ้านมีส่วนร่วมอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เนื่องจากกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด นายภานุกล่าวว่า มีหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นกำลังสำคัญ เป็นกลไกสำคัญในการที่จะดูแลพื้นที่ เราได้มีความคิดว่าเราจะดึงกำลังของกำนันผู้ใหญ่บ้านมาใช้อย่างไร เช่น การให้รางวัลกับผู้ใหญ่บ้านที่มีผลงานดูแลพื้นที่หมู่บ้านของตัวเองให้เป็นพื้นที่ปลอดเหตุ ตอนหลังมาเพิ่มจำนวนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพิเศษจากที่มี 2 คน ก็เป็น 7 คน ปัจจุบันมีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ 5 คน ฝ่ายปกครอง 2 คน และเราให้การดูแลเครื่องมือของกำนันผู้ใหญ่บ้านคือ ชุดคุ้มครองหมู่บ้าน ที่เราเรียกว่าชคบ. เป็นค่าตอบแทนเดือนละ 20,000 บาท แต่ทั้งนี้การกำหนดดังกล่าวยังไม่ออกมาเป็นนโยบายชัดเจน ที่จะให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นกำลังหลักในการดูแลพื้นที่ของตัวเอง จนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ในช่วงของนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย มีนโยบายว่าให้เกียรติและศักดิ์ศรีกำนันผู้ใหญ่บ้านให้เป็นพระเอกหลักในการดูแลหมู่บ้าน และเป็นกำลังหลักในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรวมด้วย ซึ่งตรงนี้พยายามที่จะให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ศูนย์บริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) ได้มีการอนุมัติเงินให้กับทุกตำบล เราเรียกว่าเงินโครงการเสริมสร้างสันติธรรม ตำบลละ 1 ล้านบาท และหมู่บ้านละ 800,000 บาท แล้วแต่หมู่บ้าน ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นบทบาทที่สำคัญ

 

ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่เราคาดหวังต่อไปก็คือว่า ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเข้ามามีบทบาทในการรักษาความมั่นคงโดยตรง วันนี้กรมการปกครองให้ยศกับกำนันผู้ใหญ่บ้านแล้ว ให้เป็นนายหมู่ใหญ่ ขณะเดียวกันให้กำนันผู้ใหญ่บ้านมีหน้าที่ในการจัดทีมที่มีกำลังอส.ด้วย เรียกว่าชุดคุ้มครองตำบล เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อไป

 

 

            “สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่เราคาดหวังไว้ก็คือ อยากให้บทบาทการบริการจัดการการดูแลพื้นที่ เป็นการเฉพาะของกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นพระเอกคนเดียว ส่วนกำลังอื่นจะเข้าไปในพื้นที่ได้ ก็ต่อเมื่อมีการร้องขอโดยกำนันผู้ใหญ่บ้านเท่านั้น ผมเชื่อว่าถ้าดูตัวเลขหมู่บ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,970 หมู่บ้าน หมู่บ้าน 1,600 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่พัฒนา กองกำลังแทบจะไม่มีความจำเป็นเลย แต่ก็มี 234 หมู่บ้าน ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการจัดกำลังร่วมกันระหว่างฝ่ายปกครอง ก็คือกำนันผู้ใหญ่บ้าน อส. ชรบ. เกิดขึ้นมา อาจจะมีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นที่ปรึกษา เป็นเจ้าหน้าที่โครงอยู่ ขณะเดียวกัน 136 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านรุนแรง อาจจะดำเนินการตามยุทธวิธีของทหารตำรวจ เพราะฉะนั้นการดำเนินการตรงนี้ ต้องมีการมอบภาระกิจในการเป็นเจ้าภาพในพื้นที่ชัดเจนมากขึ้น คิดว่าที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการอยู่ จะเป็นหนทางอันหนึ่งในการที่จะคลี่คลายบรรยากาศหรือเหตุการณ์ในพื้นที่ได้ในอีกระดับหนึ่ง” ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว

 

 

 

อย่างไรก็ตามในการให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำในการดูแลชุมชน สามารถลดเหตุร้ายลงได้หรือไม่ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้ประกาศเป็นนโยบายอย่างชัดเจน ยังอยู่ในบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือของนายอำเภอที่เป็นผู้ทำขึ้นมา เพราะฉะนั้นการประเมินผลก็สามารถประเมินผลในระดับของหมู่บ้านได้ในส่วนหนึ่ง เช่น จำนวนหมู่บ้านที่รุนแรงลดลงมาเป็นหมู่บ้านเฝ้าระวัง จากหมู่บ้านเฝ้าระวังมาเป็นหมู่บ้านเสริมสร้างการพัฒนา หมู่บ้านแดง เหลือง เขียว ก็มีระดับลดลงเรื่อย ๆ แต่เรามาดูว่ามันยังมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ยังมีเหตุต่อเนื่อง แต่ถ้าดูจากสถิติแล้วจะพบว่าข้อมูลลดลง ประการที่สอง นอกจากเหตุการณ์ลดลงแล้ว การขยายมวลชนของฝ่ายตรงข้ามทำได้ยากขึ้น ทำให้แกนนำลดลง ตัวมวลชนที่ได้รับการจัดตั้งก็ลดลง จะเห็นได้ว่าคนที่เข้ามารายงานตัวกับทางราชการในช่วงปีเศษ ๆ ที่ผ่านมา เพิ่มสูงขึ้น อันนั้นจะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่ก่อเหตุร้ายหดตัวลงมา ไม่สามารถที่จะขยายตัวเป็นปัญหามากขึ้น ถือว่าเราได้แก้ปัญหาในระดับหนึ่ง

 

ส่วนกรณีพื้นที่ที่ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ดูแล และจะมีทหารตำรวจเข้าไปได้ก็ต่อเมื่อมีการร้องขอเท่านั้น อาจสร้างความกังวลใจในเรื่องความปลอดภัยให้กับชาวบ้าน นายภานุกล่าวว่า อันนี้เป็นงานนโยบายว่าถ้าเราไปถึงจุดหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหาร ตำรวจ ปกครอง ยอมรับว่าวิธีการอันนี้เป็นวิธีการหนึ่ง นั่นคือความไว้วางใจในตัวของกำนันผู้ใหญ่บ้านเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้เรียนว่ายังไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นการที่เราแบ่งมอบภาระกิจให้กับศูนย์ปฏิบัติการประจำอำเภอ ก็จะเป็นการร่วมกันของผู้ที่รับผิดชอบในระดับอำเภอจะร่วมกันพิจารณา ว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านแต่ละคน เราจะให้อุปกรณ์ในการดูแลหมู่บ้านได้ในระดับไหน เราจะถอนกำลังออกมาได้ระดับไหน

 

หากกำนันผู้ใหญ่บ้านสามารถดูแลพื้นที่ได้ และเหตุรุนแรงลดลง นั่นแสดงให้เห็นว่าความไว้เนื้อเชื่อใจเกิดขึ้นแล้วใช่หรือไม่ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า โดยพื้นฐานการเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านอย่างน้อยที่สุดจะกรองเสียง ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่หรือหมู่บ้านเกินกว่าครึ่งหนึ่งอยู่แล้ว เพราะเขามีความเป็นญาติพี่น้อง มีความเป็นพรรคพวก เป็นกลุ่มคนที่มีความรักความศรัทธากัน นั่นคืออันที่หนึ่ง ส่วนอันที่สอง กระบวนการในการจัดการ ที่จะขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และพี่น้องประชาชนบางส่วนที่จะมาเป็นชรบ.ก็ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจวางใจในตัวผู้นำคือผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านจึงจะมาร่วมได้ อันที่สามคือ กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นกลไกของรัฐบาล ยังถือว่าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีระเบียบมีวินัย ถ้าคนไหนออกนอกลู่นอกทางนายอำเภอสามารถที่จะปลดออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งตรงนี้กำนันผู้ใหญ่บ้านทุกคนก็รับรู้ แต่วิธีการทำงานของกำนันผู้ใหญ่บ้านแต่ละคน ก็อยู่ที่ลักษณะและกลยุทธของแต่ละคน แต่เชื่อว่าวันนี้เวลานี้ กำนันผู้ใหญ่บ้านที่จะทำตัวอยู่เหนือกฎหมายเป็นไปไม่ได้

 

 

เมื่อถามถึงปัจจัยที่แตกต่างกัน ระหว่างพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์กับพื้นที่เกิดเหตุมีความแตกต่างกันอย่างไร นายภานุกล่าวว่า คิดว่าบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นบทบาทที่สำคัญ นอกเหนือจากความสามารถของชาวบ้าน นอกเหนือจากกระบวนการคิด กระบวนการศึกษา แต่ความเป็นผู้นำจะเป็นตัวชี้วัดประการหนึ่ง ถ้าหมู่บ้านไหนความเป็นผู้นำของกำนันผู้ใหญ่บ้านมีค่อนข้างสูง และเป็นที่ยอมรับของพี่น้องประชาชนมากขึ้น เชื่อว่าผู้นำเหล่านี้ไม่มีใครที่จะทำใหมู่บ้านของตัวเองเกิดเหตุร้ายได้ เพราะฉะนั้นบุคลิกผู้นำในหมู่บ้านจะเป็นตัวสำคัญที่สุด ที่ทำให้หมู่บ้านของตัวเองจะสงบหรือไม่สงบ

 

            “ผู้นำหมู่บ้านไม่ได้สามารถดึงผู้คนในชุมชนมาเป็นพลัง ได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถดึงผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนโดยธรรมชาติ คนที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ของหมู่บ้านมาเป็นพลังได้ด้วย และอำนาจของตัวเองในฐานะผู้รักษากฎหมายก็ยังมีอยู่ ฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นบทบาทที่สำคัญ ถ้าตัวกำนันผู้ใหญ่บ้านเข้าใจบทบาทของตัวเอง ตามหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่แล้ว ผมเชื่อว่ากลไกในการดูแลหมู่บ้านของตัวเองให้ปลอดเหตุร้ายได้ ก็เป็นไปได้สูง” รองปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว

 

ส่วนประเด็นที่ว่า ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่ละหน่วยงานทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง จะมีวิธีการแก้ปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แตกต่างกันแล้วอะไรคือความสำเร็จอย่างแท้จริง นายภานุกล่าวว่า จะเห็นได้อย่างชัดเจนสำหรับผู้ที่ติดตามการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พยายามพูดถึงเอกภาพมาก การมีเอกภาพตรงนี้ ไม่ใช่เอกภาพของการบังคับบัญชา แต่ต้องเป็นเอกภาพทางด้านความคิดด้วย คือการเรียนรู้ปัญหาที่รับรู้ได้เหมือนกัน และมีแนวทางในการแก้ปัญหาเหมือน ๆ กัน เป็นเหมือนกับมติ หรือความเห็นตรงกัน แต่วันนี้เอกภาพเราไปเน้นตรงที่ว่า ใครมีอำนาจในการสั่งการมากกว่า เราจะระดมความคิดเป็นหนึ่งเดียวว่า ทางออกที่ถูกต้องอยู่ตรงไหน ยังคิดไม่ออก ยังไม่มีเท่าที่ควร ต้องอาศัยศักยภาพคนที่เป็นนายอำเภอ ศักยภาพของคนที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะสามารถพูดคุยกัน ให้เห็นแนวทางที่จะทำงานร่วมกันได้ชัดเจนอย่างไรมากกว่า

 

 

สำหรับ 4 หน่วยงานหลัก อย่าง ศอบต. ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง มีความเป็นเอกภาพเพียงพอในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า ประการแรกคือ ปัจจุบันสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสมช. ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายหลักในด้านความมั่นคง และด้านการพัฒนา เพื่อให้เป็นจุดเดียว จึงมีนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ในเรื่องการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้น ประการที่สองก็คือ ความมีเอกภาพในการปฏิบัติ อันนี้ยังเป็นสิ่งที่ต้องพยายามทำให้มันเกิดขึ้น การที่เรามีศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ระดับอำเภอ คิดว่าอันนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เป็นการรวมการบริหาร การนำนโยบายมาสู่การปฏิบัติ จะเป็นจุดที่สำคัญ ขณะเดียวกันก็คงจะต้องมาดูถึงพื้นที่ปฏิบัติการ วันนี้เป็นที่ยอมรับตรงกันแล้วว่าหมู่บ้านคือจุดแตกหัก เพราะฉะนั้นหากหลักคิดเราเป็นไปตามลำดับอย่างนี้ ตั้งแต่นโยบายไปจนถึงการปฏิบัติ แล้วการปฏิบัติเราไม่ได้ดูตรงไหน เราดูที่หมู่บ้านที่เราเรียกว่าเป็นจุดแตกหักของปัญหานี้ ฉะนั้นการให้บทบาทสำคัญกับผู้ใหญ่บ้าน โดยทั้ง 3 ฝ่ายคือ ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง เห็นตรงกัน เชื่อว่าการคลี่คลายปัญหาตรงนี้สามารถที่จะบรรเทาเหตุได้ สามารถนำสันติสุขกลับคืนมาได้ เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ความคิดตรงนี้ ทำอย่างไรถ้าให้กำนันผู้ใหญ่บ้านจะต้องมีอาวุธปืน เราก็ต้องมาคิดร่วมกันว่า มีความเหมาะสมเพียงใด หรือมีความไว้วางใจเพียงใดที่จะให้ทีมของผู้ใหญ่บ้านคนนี้ดูแลพื้นที่หมู่บ้านให้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายจะต้องมาพิจารณาร่วมกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

http://www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: