“ไอ้เจ้านี่มันขายพระกับพ่อมันตั้งแต่มันยังแปดเดือน พ่อมันเป็นเพื่อนซี้กับพี่เลย เพื่อนพี่ก็ได้เงินขายพระนี่แหละส่งเสียเลี้ยงดูมัน” พี่เป็ดผู้ให้สัมภาษณ์ เป็นนักส่องพระเชี่ยวชาญมากกว่า 10 ปี
ก่อนตะวันตกดิน ฉันลงจากรถเมล์ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS สะพานควาย เดินเลาะริมถนนฝั่งซ้าย มุ่งหน้าหวังเดินให้สุดตลาดพระ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ก่อนข้ามคลองบางซื่อจนถึงสี่แยกจตุจักร สองตากวาดหาคนขายพระข้างทาง สังเกตเห็นเด็กวัยรุ่น 2 คน “เด็กช่างชัดๆ” ฉันนึกในใจ พลันเหลือบเห็นอีกคน เป็นผู้ชายบุคลิกคล้ายตำรวจนอกเครื่องแบบ และคุณลุงอีก 2 คน นั่งอย่างสบายอารมณ์บนเก้าอี้พลาสติกมีพนักพิง รินเบียร์ให้แก่กันแถมด้วยรอยยิ้ม ด้านข้างมีแผงพระที่วางเรียงกัน 2-3 โต๊ะ ชายทั้งสี่วัยพูดคุยสนิทสนมราวรู้จักกันมานานแสนนาน
“แต่พี่ไม่ได้ขายพระนะ พี่ชอบมาเดินดูพระที่นี่” พี่เป็ดย้ำ เขาเป็นคนร้อยเอ็ดเรียนจบจากสถาบันพลศึกษา ใช้ชีวิตย่านสะพานควายมาเกือบครึ่งชีวิต เขาเล่าว่า “ตลาดพระที่นี่มีมา 30 กว่าปี ที่รู้เพราะอยู่แถวนี้มานาน รู้จักคนเก่าคนแก่ก็เยอะ” พี่เป็ดพูดจาฉะฉาน เป็นนักเจรจาต่อรองอันดับหนึ่งย่านตลาดพระแน่นอน
“ไอ้เจ้านี่มันขายพระกับพ่อมันตั้งแต่มันยังแปดเดือน ถามมันดูสิ พ่อมันเป็นเพื่อนซี้กับพี่เลย เพื่อนพี่ก็ได้เงินขายพระนี่แหละส่งเสียเลี้ยงดูมัน” ผู้เล่าชี้ไปที่เด็กชายตรงหน้า วัยกำลังหัวดื้อ รูปร่างท้วม ผิวขาว ตาตี่ ใส่ต่างหู ข้างๆ มีเพื่อนรุ่นเดียวกัน ผอมโซ ผิวคล้ำ ฉันและพวกเขาจ้องหน้ากัน นิ่งไปครู่หนึ่ง น้องยังไม่ตอบแต่มีเสียงแทรกขึ้น
“เขตฯย่านนี้เขาใจดี เก็บเดือนละ 300 บาทต่อแผง” คุณลุงอีกคนเข้าร่วมสนทนา และเล่าอีกว่า เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน เจ้าหน้าที่เทศบาลกับคนขายพระมันมีเรื่องเกือบจะชกกัน เรื่องการเก็บค่าแผงนี่แหละ เจรจาต่อรองจนเข้าใจกัน เกิดข้อตกลง แต่ละล็อคจะต้องมีผู้แล และผู้ดูแลจะเป็นตัวแทน เดินเก็บค่าแผงไว้ให้เทศบาลอีกต่อ ทำแบบนี้เป็นระบบขึ้นไม่มีทะเลาะกัน”
“วันนี้พ่อเราไม่มาเหรอ” ฉันหันไปถามน้อง
“อ๋อ ไม่ได้มาครับ ผมมีแผงของตัวเองแล้ว” เขาตอบพร้อมพยักหน้าแสดงความเป็นมิตร ฉันกำลังคิดถึงอายุก่อนวัยรุ่นของน้องกับภาระการหาเลี้ยงตัวเองของเขา” พี่เป็ดส่งเสียงแทรกมาด้วยสายตากริ่มๆ คล้ายเริ่มมึนไปกับรสแอลกอฮอล์ “ตั้งแต่โตมามันก็ขายพระ ช่วยพ่อมัน พ่อมันเลิกกับเมีย อุ้มมันมาขายพระ พี่ก็เห็น ตอนนี้มันเรียนอยู่ที่นครสวรรค์ อยู่กับแม่เลี้ยงมัน ว่างๆมันก็มาแหละหนู”
ฉันสบสายตาจ้องหน้าน้อง เหมือนเขาซ่อนปมในใจ แต่ยิ้มรับอย่างเข้มแข็ง “ผมชื่อท็อปครับ ตอนนี้เรียนปวช.อยู่กับครอบครัวที่ต่างจังหวัด” น้ำเสียงท็อปแสดงความภูมิใจ
คุณลุงอีกคนให้ข้อมูลด้านรายได้ว่า
“แล้วแต่วันนะ บางวันขายไม่ได้ก็มี บางวันสามร้อย สี่ร้อย พันนึงก็ว่ากันไป”
พี่เป็ดแทรกอีกตามเคย “คนที่มาขาย ล้วนแต่มีที่มาที่ไป เป็นกลุ่มคนมีรายได้น้อย ตกงานก็มา ออกจากคุกก็มา ยิ่งผอม ๆ มีรอยสัก ท่าทางกวนตีนหาเรื่องตลอดเวลา ก็มีไม่น้อย” ฉันอยากถามอีก แต่ผู้พูดเจื้อยแจ้วไม่ยอมจบ เขาชี้หน้าไปที่คุณลุงรุ่นพ่อ “นี่ก็เคยไปสมัครยาม แต่เขาไม่รับ บอกว่าอายุเกิน”
ฉันมองหน้าคุณลุง ลุงแนะนำนตัวเองว่าเป็นคนบางบัวทอง
“โอ้ย ลุงมาขายก่อนหน้าจะมีรถไฟฟ้าซะอีก”
“แล้วตอนนั้นกับตอนนี้ ตลาดพระเปลี่ยนไปยังไงบ้างคะ” ฉันจ้องหน้าลุงรอคำตอบ
“จะว่าไปนะ ถ้าหนูเข้าใจชีวิตคนดี หนูคงตอบได้ว่าที่คนเราจะทำอะไร มันก็มีเหตุผลอยู่แค่สองอย่าง ไม่เพื่อการอยู่รอดก็เพื่อการยอมรับ” ลุงตอบไม่ตรงคำถาม แต่มีความหมายน่าคิด
“แต่ก่อนแผงพระจะมีแค่ต้นทางติดกับคลองโน่น และเริ่มลามมาถึงใต้รถไฟฟ้าไม่กีปีมานี่แหละ”
ฟังดูที่มาที่ไปของคนขายพระแต่ละคนนั้น ต้องขอใช้คำว่า แตกต่างอย่างมีจุดร่วม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนทั้งทางบวกและและลบแน่นอน ชีวิตคนขายพระที่สะท้อนมาพ้องต้องกันคือ ส่วนใหญ่คนที่ขายพระเป็นประจำ พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย สภาพเศรษฐกิจครอบครัวตกต่ำ ไม่มีทักษะอาชีพอื่น มีการศึกษาน้อย ไม่นับรวมข้าราชการที่หารายได้พิเศษในวันหยุด
คนขายพระที่สะพานควาย จะยังคงเดินย่ำอยู่กับที่ไปอีกนานเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ ใต้รางรถไฟฟ้าที่แล่นไปมาที่วันหนึ่งจะพัฒนาไปสู่ไฮสปีดเทรน แน่นอน พวกเขายังคงหาเช้ากินค่ำไปกับวัตถุที่อยู่ตรงหน้าผู้ขายและต่อหน้าผู้ซื้อ ที่เรียกกันว่าพระเครื่อง ด้วยความศรัทธาก็ดี สงครามต่อสู้ชีวิตเพื่อปากท้องก็ดี หรือทั้งศรัทธาทั้งปากท้องก็ดี มันหมายถึงเพื่อการอยู่รอดและการยอมรับจากสังคมภายใต้พลวัตรการพัฒนา
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก Google
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ