ชำแหละที่ดินเมืองไทยวันนี้อยู่ในมือใคร ไม่ใช้ประโยชน์-เสียหายปีละ1.3แสนล้าน

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 17 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 6601 ครั้ง

ต่อเนื่องจากเวทีสาธารณะที่จัดโดยศูนย์ข่าว TCIJ เรื่อง ‘ก้าวข้ามความขัดแย้งกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย’ หนึ่งในวิทยากรคือ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองปัญหาความขัดแย้งในสังคมผ่านมิติเศรษฐศาสตร์การเมือง พบว่า ความเหลื่อมล้ำที่ดำรงอยู่อย่างเนิ่นนานและมีแต่จะสูงขึ้น คือต้นตอสำคัญของความขัดแย้ง

โดย ศ.ดร.ผาสุก ได้ยกข้อมูลทรัพย์สินที่แสดงระดับการผูกขาดที่สูงมาก โดยเฉพาะการถือครองที่ดินที่มีโฉนดในเมืองไทยที่พบว่า คนที่มีโฉนดที่ดินมากที่สุดร้อยละ 10 มีที่ดินรวมกันถึงร้อยละ 62 ของที่ดินที่มีโฉนดทั้งหมดทั่วประเทศ ขณะที่คนระดับล่างที่มีที่ดินร้อยละ 50 มีที่ดินรวมกันเพียงร้อยละ 2 ของโฉนดที่ดินทั่วประเทศเท่านั้น ซ้ำปัจเจกบุคคลและนิติบุคคลเพียง 837 รายมีที่ดินโฉนดมากกว่า 1,000 ไร่ขึ้นไป และในจำนวนนี้ปัจเจกบุคคลคนหนึ่งมีที่ดินมากที่สุดถึง 631,263 ไร่

เป็นที่รับรู้มานานแล้วว่า ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินเป็นปัญหาใหญ่และเรื้อรังสำหรับสังคมไทย ซ้ำข้อมูลเกี่ยวกับการถือครองที่ดินยังค่อนข้างถูกปกปิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การถือครองที่ดินไม่ได้รับการแก้ไข ศูนย์ข่าว TCIJ รวบรวมข้อมูลการถือครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปเคยเก็บรวบรวมไว้มาให้ดูอีกครั้งเพื่อให้เห็นสภาพปัญหา

ส.ส. 134 คน ครองที่ดินมูลค่า 10,872 ล้านบาท

หากดูการกระจายถือครองที่ดินของเกษตรกร พบว่า ครัวเรือนที่ไม่มีที่ดินในมือเลยมีทั้งสิ้น 749,599 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.2 ของทั้งประเทศ ขณะที่ครัวเรือนที่มีที่ดินมากกว่า 40 ไร่มีอยู่ 402,145 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.88 ของทั้งประเทศ

ส่วนผู้ที่ถือครองที่ดินในกรุงเทพฯ มากที่สุดมีที่ดินสูงถึง 2,036 ไร่ 2 งาน 57.3 ตารางวา ส่วนผู้ที่ถือครองที่ดินน้อยที่สุดมีที่ดิน 0.1 ตารางวา

การถือครองที่ดิน 50 อันดับแรก พบว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีผู้ถือครองที่ดิน 50 อันดับแรกเป็นพื้นที่สูงสุดเท่ากับ 26,816 ไร่ 88.6 ตารางวา คิดเป็นร้อยละ 14.63 ของพื้นที่จังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ พบว่า การถือครองที่ดิน 50 อันดับแรกกินพื้นที่ถึง 93,314 ไร่ 1 งาน 58 ตารางวา คิดเป็นร้อยละ 10.07 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด

ด้านข้อมูลการถือครองที่ดินของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 480 คน ที่ได้รับเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่ง หลังวันที่ 20 มีนาคม 2551 จากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า จาก ส.ส. ทั้งหมด 480 คน มี ส.ส. 134 คนที่ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ ในจำนวนนี้ถือครองที่ดินรวมกัน 6,418 แปลง กินพื้นที่ 42,221 ไร่ รวมมูลค่า 10,872 ล้านบาท

เสี่ยเจริญครองแชมป์แลนด์ลอร์ด

ส่วนการถือครองที่ดินของเอกชน ผู้ที่ถือครองที่ดินรายใหญ่สุดคือนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของ บริษัท ที.ซี.ซี. แลนด์ ถือครองที่ดินไม่น้อยกว่า 100,000 ไร่ ทั่วประเทศ ครอบคลุม 55 จังหวัด อันดับ 2 คือ นายธนินท์ เจียรวนนท์ บริษัท ซี.พี. แลนด์ ถือครองที่ดิน 10,000 ไร่ ทั่วประเทศ

รายที่น่าสนใจอื่น ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอาคารพาณิชย์ย่านเจริญผล 4,000 คูหา สยามสแควร์ 610 คูหา มาบุญครอง และยังถือครองที่ดินบริเวณสามย่าน สวนหลวง รามคา แหง อ่อนนุช หัวหิน เชียงใหม่

พระธัมมชโย หรือ พระเทพญาณมหามุนี เจ้าอาวาสวัดธรรมกายและประธานมูลนิธิธรรมกาย ถือครองที่ดินในชื่อเดิมว่า พระไพบูลย์ สุทธิผล 1,045 ไร่ และถือครองในชื่อร่วมและถือครองในชื่อคนอื่น รวมทั้งสิ้น 27,920 ไร่

เก็งกำไร-หน่วยงานรัฐถือที่ดินจำนวนมาก ต้นเหตุที่ดินกระจุกตัว

หากหยิบยกเฉพาะประเด็นการกระจุกตัวของที่ดิน พบว่า เกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือหนึ่ง-การเก็งกำไรและกว้านซื้อที่ดิน โดยกลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทำให้ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้นจนคนจนและคนชั้นกลาง ทั้งในเมืองและชนบทไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้ร้อยละ 10 ของคนทั้งประเทศเป็นผู้ถือครองที่ดินมากกว่า 100 ไร่ ส่วนคนอีกร้อยละ 90 ถือครองที่ดินน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ไร่เท่านั้น ซึ่งการวิจัยของมูลนิธิสถาบันที่ดิน พบว่า ร้อยละ 70 ของที่ดินที่มีการถือครองในประเทศไทยถูกปล่อยทิ้งให้รกร้าง ไม่มีการใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ หรือใช้ประโยชน์ไม่ถึงร้อยละ 50 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 127,384 ล้านบาทต่อปี แสดงให้เห็นว่ามีคนจำนวนหนึ่งเก็บที่ดินไว้เพื่อเก็งกำไร

สาเหตุประการที่ 2 คือการที่หน่วยงานรัฐถือครองที่ดินขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก เช่น กรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, หน่วยงานทหาร, สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง, การรถไฟแห่งประเทศไทย และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นต้น

เหตุนี้ การตั้งสภาปฏิรูปการเมืองที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ คงไม่ช่วยลดความขัดแย้งในระดับฐานรากลงได้ หากไม่แตะต้องปัญหาการถือครองที่ดิน ดังที่ ศ.ดร.ผาสุก หยิบยกคำกล่าวของโจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2544 ที่ว่า ผู้คนไม่อาจรู้สึกเป็นชุมชนเดียวกันได้อย่างสนิทใจเพราะความแตกต่างที่มีมากมาย

                  “สังคมเหลื่อมล้ำสูงมักขาดสันติสุขและมีความขัดแย้งสูง ความคับข้องใจมักปะทุขึ้น เมื่อคนมีฐานะทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมาก แต่ยังไม่ถึงจุดที่เป็นที่น่าพอใจ แต่กลับรู้สึกว่ากำลังถูกกีดกันหรือเผชิญขีดจำกัดที่ไม่สมเหตุผลโดยผู้มีอำนาจในสังคมกดทับเอาไว้ด้วยวิธีการต่างๆ” คือคำกล่าวของ ศ.ดร.ผาสุก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: