ไทยเดินหน้าเส้นทางคมนาคม-โลจิสติกส์ หวังเป็นศูนย์กลางโครงข่ายเชื่อมอาเซียน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 17 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 26659 ครั้ง

อีกไม่นานประเทศในภูมิภาคอาเซียน จะรวมตัวกันในฐานะ ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ที่จะมีการดำเนินการประสานกันในเชิงนโยบาย และเศรษฐกิจหลัก ๆ ร่วมกัน ครอบคลุมทั้ง ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบ กระบวนการทำงานต่าง ๆ และการการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนด้วยกัน ภายใต้แนวคิด ASEAN Connectivity ที่ประเทศสมาชิกต่างเชื่อว่า จะส่งผลดีต่อประเทศในภูมิภาคนี้ให้เกิดความเข้มแข็ง และแน่นอนย่อมเป็นผลถึงประชากรของแต่ละประเทศในอนาคตนั่นเอง

เร่งพัฒนา ASEAN Connectivity เชื่อมโยง 3 มิติรับ AEC

ASEAN Connectivity เป็นการเชื่อมโยง ที่เกิดจากผลสรุปเมื่อครั้งการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 17 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 29-30 ตุลาคม 2553 โดยที่ประชุมเน้นความเชื่อมโยง 3 มิติ คือ

1.การเชื่อมโยงของภาคประชาชน ในแง่ของการท่องเที่ยว การศึกษา วัฒนธรรม โดยแผนในการปฏิบัติ คือการสนับสนุนในการสร้างหลักสูตรเนื้อหาที่เกี่ยวกับอาเซียน การสอนภาษาอาเซียนเป็นภาษาที่สาม นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ ร่วมกัน และกระจายไปยังชุมชนต่าง ๆ

2.การเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมของประชาชนในประเทศสมาชิก เช่น เชื่อมโยงกฏระเบียบด้านการค้า ตัวอย่างคือ เชื่อมโยงระบบศุลกากร ให้เป็นระบบเดียว หรือระบบรวมศูนย์ หรือเชื่อมโยงกฏระเบียบในแง่ข้อตกลงกำหนดมาตรฐานสินค้าในอาเซียน ให้เป็นมาตรฐานเดียว

3.การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ มีแผนการสร้างถนน ทางรถไฟ และทางด่วน เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกัน ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ทั้งนี้รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานด้วย

ภาพจาก Posttoday

นายกฯเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หวังเชื่อมโยงจีน

อย่างไรก็ตามภาพใหญ่ของการเชื่อมโยงในภูมิภาค ที่ดูเหมือนจะเห็นเป็นรูปธรรมเด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คงหนีไม่พ้นการเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity) ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้ว การเดินหน้าโครงการในการจัดสร้างระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงในทุกภูมิภาค ได้กลายเป็นนโยบายหลักที่ถูกผลักดันไปอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยเล็งจะพัฒนาตนเอง เพื่อกลายเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคอาเซียนไปยังประเทศจีน ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในทุกมิติ

ก่อนหน้านี้ในระหว่างการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน  น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงนโยบายของไทย ต่อการเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นที่ฐานต่าง ๆ ในประเทศ ว่า เป้าหมายสำคัญคือ การเชื่อมโยงระหว่างจีนและอาเซียน หรือ Connectivity โดยระบุว่า มีความสำคัญมาก เพื่อทำให้การค้าการไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนกับประชาชนสะดวกมากขึ้น ดังนั้นประเทศต่าง ๆ จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง กฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายของสินค้าและประชากรระหว่างกันได้ง่ายขึ้น เช่น การเชื่อมเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงกับประเทศในอาเซียน

ทั้งนี้ไทยเตรียมลงทุนครั้งใหญ่มูลค่า 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงภายในปี 2020 ที่สามารถเชื่อมผ่าน สปป.ลาวไปยังประเทศจีนได้ จึงอยากให้ทั้งสามประเทศคือ จีน ลาว และไทย หารือกันอย่างเร่งด่วน ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงร่วมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของจีนและอาเซียน ยืนยันว่าประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่งต่าง ๆ ในทุกภูมิภาคของประเทศ และยังคงเดินหน้านโยบายนี้ แม้จะมีเสียงคัดค้าน ท้วงติงต่อความคุ้มค่าในการลงทุนต่าง ๆ ก็ตาม

เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งบก-น้ำ-อากาศ

อย่างไรก็ตามในการประชุมสรุปในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปี 2553 มีการกำหนดแผนแม่บท ด้านการเชื่อมโยงในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน โดยมุ่งให้การปรับปรุง พัฒนาคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่แล้วให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และการขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วถึงยิ่งขึ้น มียุทธศาสตร์การเชื่อมโยงที่สำคัญ อาทิ

- การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ แผนแม่บท MPAC (Master Plan on ASEAN Connectivity) จะผลักดันโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านการคมนาคมทางบกที่สำคัญให้แล้วเสร็จ อาทิ โครงการ ASEAN Highway Network (AHN) ซึ่งเป็นเครือข่ายเส้นทางถนนเชื่อมโยงประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นระยะทางทั้งสิ้น 38,400 กิโลเมตร ซึ่งยังมีอีกหลายจุดที่ขาดความเชื่อมโยง (Missing Link) โดยเฉพาะในพม่า และอีกหลายเส้นทางที่ยังไม่ได้มาตรฐาน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Singapore Kunming Rail Link (SKRL) ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมโยง 8 ประเทศ คือ เส้นทางหลักที่ผ่าน 6 ประเทศคือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย กัมพูชา เวียดนาม และจีน (คุนหมิง) และมีเส้นทางแยกอีก 2 สาย คือ ไทย- สปป.ลาว และไทย-พม่า ซึ่งยังมี Missing Link หลายจุดในกัมพูชา เวียดนาม พม่า สปป.ลาว และไทย

สำหรับการขนส่งทางน้ำ แผนแม่บท MPAC ได้กำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพท่าเรือหลัก สำหรับเครือข่ายการขนส่งทางทะเลในภูมิภาคอาเซียนไว้ 47 แห่ง ซึ่งท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังของไทย ถูกนับรวมไว้ในยุทธศาสตร์ดังกล่าวด้วย รวมทั้งยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาประสิทธิภาพของเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางในอนุภูมิภาค

ขณะที่การขนส่งทางอากาศ จะเน้นในเรื่องการปรับปรุงระบบการบิน พัฒนาคุณภาพสาธารณูปโภคพื้นฐานรองรับการขนส่งทางอากาศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการพัฒนาเส้นทางบินใหม่ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพรองรับการขยายตัวของการขนส่งทางอากาศในระดับภูมิภาค

โดยหวังว่าการเชื่อมโยงต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อลดข้อจำกัดในการเดินทางติดต่อสื่อสารระหว่างกัน อาจจะมีช่องตรวจลงตราพิเศษสำหรับประชาชนของประเทศสมาชิกอาเซียน การออกวีซ่าฉบับเดียวให้กับประชาชนนอกภูมิภาค เพื่อให้สามารถเดินทางไปได้ในทุกประเทศของประชาคมอาเซียน คล้ายกับที่กลุ่มสหภาพยุโรป เป็นต้น

เพิ่มศักยภาพทางหลวงอาเซียน 3.84 หมื่นก.ม.

หากเจาะลึกลงไปในโครงการทางหลวงอาเซียน หนึ่งในแผนงานตามแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน นับเป็นโครงการพัฒนาทางหลวงระหว่างประเทศที่สำคัญ โครงการนี้ริเริ่มเมื่อปีพ.ศ.2540 จากการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการพัฒนาและเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงของประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย 23 เส้นทาง รวมระยะทาง 3.84 หมื่นกิโลเมตร

สิ่งที่เน้นหลักในโครงการนี้คือ มีเป้าหมายให้ปรับปรุงทางหลวง ที่กำหนดเป็นเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศ จากถนนมาตรฐานชั้นที่ 3 (ถนนลาดยาง 2 ช่องจราจร) รองรับปริมาณจราจรวันละ 2,000 คันในปัจจุบัน ให้เป็นถนนมาตรฐานชั้น 1 (ถนนลาดยางหรือคอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร หรือมากกว่า) สามารถรองรับปริมาณจราจรอย่างน้อยวันละ 8,000 คัน ภายในปี พ.ศ. 2563 (รูปที่ 1) เพื่อรองรับการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ขยายโอกาสและลู่ทางการค้า การไปมาหาสู่กันของประชาชนและการท่องเที่ยว

จากข้อมูลของกระทรวงคมนาคมระบุว่า ปริมาณขนส่งสินค้าทางถนนมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 87 ของการขนส่งสินค้าภายในประเทศ และสัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.2 ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2547-2554 ทั้งนี้สาเหตุที่การขนส่งสินค้าทางถนนได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีข้อได้เปรียบกับการขนส่งรูปแบบอื่นๆคือ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งผลิตและแหล่งบริโภคได้โดยตรง (Door to Door) เนื่องจากมีโครงข่ายถนนที่เชื่อมต่อภูมิภาคต่าง ๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ อีกทั้งยังสามารถจัดหาหน่วยบรรทุก (Unit Load) ขนาดเล็กได้ ทำให้สามารถขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางได้สะดวก แต่การขนส่งทางถนนมีข้อเสีย คือ มีต้นทุนสูง ขณะที่บางประเทศใช้ระบบรางเป็นหลัก

ดังนั้นการก่อสร้างทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง จึงเป็นสิ่งที่อาเซียให้ความสำคัญ รวมทั้งการเร่งดำเนินการทางสายหลักอื่น ๆ ที่จะถูกนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ทั้งการพัฒนาเส้นทางในประเทศกัมพูชา หรือแผนการสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งเส้นทางรถยนต์ หรือระบบราง ในพม่า เป็นต้น

ไทยเดินหน้าเต็มสูบ สร้างทุกเส้นทางเชื่อมทุกพื้นที่

สำหรับประเทศไทย ถูกมองว่าจะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงนี้ เพราะจะสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งในภูมิภาคนี้จากปัจจัยภูมิศาสตร์ รวมทั้งโครงการความร่วมมือและโครงข่ายเชื่อมโยงในภูมิภาค และจากนโยบายนี้ ล่าสุดกรมการขนส่งทางบกได้ว่าจ้าง บริษัท เอเชียน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสม ในการดำเนินการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าในเมืองหลัก ได้แก่ ไทย

- ประเทศทางฝั่งตะวันออก (Eastern Zone) ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม

- ประเทศทางใต้ (Southern Zone) ได้แก่ มาเลเซีย และสิงคโปร์

- ประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะ (Island Areas) ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ในการดำเนินการทางหลวงอาเซียนในประเทศไทย มีแผนว่าจะมีทั้งสิ้น 12 เส้นทาง รวมระยะทาง 6,669กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมโยงกันทั้งประเทศได้แก่ AH1, AH2, AH3, AH12, AH13, จังหวัดชายแดน โดยพบว่ามี 13 จังหวัด ที่มีศักยภาพสูงในการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้า ได้แก่ จ.สงขลา เชียงใหม่ หนองคาย อุดรธานี สระแก้ว อุบลราชธานี มุกดาหาร ตาก สุราษฎร์ธานี เชียงราย นครราชสีมา ขอนแก่น และนครสวรรค์ ซึ่งถ้าหากโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ได้แก่ โครงข่ายเส้นทางการคมนาคม สถานีขนส่งสินค้า คลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายระบบสารสนเทศ โดยเน้นความสะดวกในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน

ตลอดจนการพัฒนามาตรฐานการให้บริการ การส่งเสริมมาตรการด้านการเงินและการรวมกลุ่ม (Cluster) ก็คาดว่ากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มโลจิสติกส์และกลุ่มธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องอาทิ กลุ่มขนส่งสินค้าทางทะเล กลุ่มขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศ กลุ่มขนส่ง จะได้ประโยชน์อย่างมากในการดำเนินการนี้

ส่วนการดำเนินงานตามเส้นทางทางหลวงอาเซียนในขณะนี้ ยังคงมีเส้นทางเชื่อมต่อที่ขาดหายไป และถนนที่ต่ำกว่าชั้นที่ 3 ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการขยายถนนให้เป็น 4 ช่องจราจรให้เสร็จภายในปี พ.ศ.2563 อาทิ ช่วงเชียงราย-เชียงของ บนเส้นทาง AH3, ช่วงพิษณุโลก-หล่มสัก บนเส้นทาง AH16, ช่วงสัตหีบ-พนมสารคาม บนเส้นทาง AH19 และช่วงตราด-บ้านหาดเล็ก บนเส้นทาง AH123 เป็นต้น

หากการเดินหน้าโครงการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง รวมถึงโครงข่ายพลังงานต่างๆ เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม และประสบความสำเร็จในห้วงเวลาปี 2558 นั่นหมายความว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างเต็มที่ แต่ทั้งนั้นทั้งนี้มาตรการด้านอื่นๆ ก็ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนและเพื่อป้องกันปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาด้วย

 

ขอบคุณภาพจาก Aseanconnectivity และ Google

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: