แม้ว่าคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแผนแม่บทโครง การบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 20 เวที จากเป้าหมายรวมทั่วประเทศทั้งสิ้น 36 เวที ซึ่งมีทั้งชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการและไม่เห็นด้วยกับโครงการทั้ง 9 โมดูลนั้น
กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า เครือข่ายโครงการจับตาแม่น้ำสายใหม่ ทางผันน้ำตะวันตก แม่ปิง-แม่กลอง-อ่าวไทย ร่วมกับคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา พร้อมด้วย อบจ.สมุทรสงคราม ประชาคมคนรักแม่กลอง สมัชชาองค์กรด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ต้านโครงการขุดแม่น้ำสายใหม่ ภายใต้โครงการโมดูลเอ 5 หรือคลองผันน้ำ(ฟลัดเวย์) ขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศกิจกรรม “มหกรรมจับตาแม่น้ำสายใหม่” ได้มีการเคลื่อนขบวนเรือปกป้องแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งประกอบด้วยเรือขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ประมาณ 50 ลำ พร้อมป้ายรณรงค์ที่มีข้อความไม่เห็นด้วยกับการขุดแม่น้ำสายใหม่ และโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
โดยล่องเรือจากบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภออัมพวา จ.สมุทรสงคราม ลงมาที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร หรือวัดหลวงพ่อบ้านแหลม ซึ่งมีขบวนนักเรียน เยาวชน และชาวบ้านอัมพวา แม่กลอง กว่า 500 คน ร่วมเดินรณรงค์เป็นระยะทางราว 5 กิโลเมตรผ่านตลาดแม่กลอง มาที่อบจ.สมุทรสงคราม เพื่อร่วมรับฟังเวทีวิชาการผ่าแผนแม่บทการจัดการน้ำ เงินกู้ 3.5 แสนล้านกับอนาคตทรัพยากรน้ำของประเทศไทย ทั้งนี้เวทีดังกล่าวมีชาวบ้านจากภาคการเกษตรสวนผลไม้ ชาวประมง จากจ.สมุทรสงคราม ราชบุรี เดินทางมาร่วมเวทีเกือบ 1,000 ราย
นายปิยะ คลังรัตนโชคชัย ชาวบ้านอัมพวา กล่าวว่า จุดยืนของชาวบ้านคือไม่เอาโครงการฟลัดเวย์ โดยเฉพาะการขุดแม่น้ำสายใหม่ 2 สายภายใต้โครงการนี้ในฝั่งตะวันตก ซึ่งจะเริ่มจากจาก อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร ระยะทางกว่า 280 กิโลเมตรลงมาผ่านเขื่อนแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม และการขุดคลองในแม่น้ำท่าจีนเอง จะส่งผลกระทบกับคนท้ายน้ำอย่างรุนแรง เนื่องจากปริมาณน้ำจืดที่ไหลเข้าแม่น้ำแม่กลอง และคลองอัมพวา ที่มีสภาพนิเวศน์แบบ 3 น้ำเพิ่มขึ้น 2 เท่า จะส่งผลต่อชาวแม่กลอง อัมพวา อย่างน้อย 3 ส่วน คือ
จะทำให้ระยะเวลาน้ำท่วมหลากจากน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเดือนต.ค.ที่เคยมีระยะเวลาสั้นๆ แค่ 3-5 วัน อาจจะท่วมเป็นเดือนๆ ขณะที่สภาพการทำเกษตรของที่นี่มีสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อ เช่น ลิ้นจี่ มะพร้าว สวนส้มโอ ที่ต้องอาศัยนิเวศน์น้ำกร่อย ได้รับผลกระทบจากน้ำจืดที่มีปริมาณมาก และชุมชนประมงที่อาจถึงขั้นต้องล่มสลาย
“ผมมองไม่เห็นความจำเป็นที่รัฐจะเอางบประมาณมหาศาลไปทำโครงการที่ทำลายระบบนิเวศน์ และวิถีชุมชนให้เกิดความล่มสลาย ดังนั้นจึงเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ เพราะคนสมุทรสงคราม จะค้านโครงการนี้อย่างเข้มข้นโดยเฉพาะการจัดกิจกรรมรอบนี้เพียงแค่รณรงค์ก่อนเวทีจริงที่รัฐจะจัดประชาพิจารณ์แผนแม่บทน้ำที่สมุทรสงคราม ในวันที่ 22 พ.ย.นี้” นายปิยะ กล่าว
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวว่า การที่วุฒิสภาต้องเข้าร่วมเวทีครั้งนี้ เนื่องจากพบว่าในหลายๆ เวทีที่รัฐเปิดรับฟังความคิดเห็น มักไม่ได้ทำตามกฎหมายการรับฟังความเห็น ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะเอาประชาชนบางกลุ่มบางพวกมาแสดงความเห็น จนทำให้กระบวนการรับฟังไม่ครบถ้วน ซึ่งตรงนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และมีการกล่าวหาภาคประชาชนว่าขัดขวาง ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน
“ยังยืนยันว่าการพัฒนาในประเทศยังต้องมีอยู่ และชาวบ้านไม่ได้ขัดขวางทุกโครงการ แต่หมายถึงในทุกโครงการที่รัฐจะพัฒนาต้องคำนึงถึงประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการ คือทำอย่างไร ให้โครงการที่เกิดใหม่ต้องไม่ทำลายชีวิต คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐต้องคิด เพราะปัจจุบันรัฐคิดโครงการแค่ใช้งบเท่านั้น โดยเฉพาะโมดูลเอ 5 ใช้งบสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท หากไม่รับฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในพื้นที่โครงการอย่างเป็นจริงจะเกิดความเสียหายหนัก โดยเฉพาะโครงการนี้ ไม่ได้ส่งกระทบแค่คนแม่กลองเท่านั้น แต่กระทบต่อคนทั้งประเทศ จึงเรียกร้องให้คนแม่กลองออกมาแสดงพลังรักท้องถิ่น เพื่อส่งเสียงไปยังภาครัฐในการชั่งน้ำหนักต่อโครงการนี้ต่อไป” ชี้รัฐใช้ชาวบ้านเป็นตรายางผุดโปรเจค
ส่วนรศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)กล่าวว่า ที่ผ่านมานักวิชาการสรุปว่า สาเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการของรัฐเอง แต่ปรากฏว่ารัฐกลับเปลี่ยนวิกฤติ เป็นฉวยโอกาสในการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน มาทำโครงการน้ำทั้ง 9 โมดูล โดยเฉพาะฟลัดเวย์ในฝั่งตะวันตกและออก เป็นการใช้งบสูงที่สุดถึง 1.5 แสนล้านบาท หรือราวครึ่งหนึ่งของเงินกู้ แต่โครงการนี้ยังขาดการศึกษาตั้งแต่ต้น เพราะใช้ข้อเสนอของบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างในแต่ละโมดูล ของแต่ละบริษัทที่ขาดความสัมพันธ์กันมาทำการออกแบบก่อสร้าง จนทำให้สมาคมฯ ออกหนังสือคัดค้านหลายฉบับ เพราะเป็นการทำที่ข้ามขั้นตอนทางวิชาการทางวิศวกรรม เพราะแม้แต่ตัวเลขงบที่คิดมา ยังไม่มีที่มาที่ไป หรือแม้แต่รายละเอียดผลกระทบต่อกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ อย่างที่ชัดเจน แต่รัฐพยายามให้ประชาชนเป็นตรายาง ในการรับรองโครงการให้เกิดขึ้นได้
ขณะที่นายสุรจิต ชิรเวทย์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า โครงการน้ำ 3.5 แสนล้านมีการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายจนนำไปสู่การฟ้องร้องโดยภาคประชาชน ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ในศาลปกครองสูงสุด และรัฐต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแผนแม่บทน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาหลายเวทีก็ยังไม่ชัดเจนเรื่องการลงทะเบียนคนเข้าร่วม การจัดเวทีรอบนี้ต้องการให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการ นักกฎหมายแลกเปลี่ยนความเห็นกัน และหาข้อสรุปจุดยืนของคนแม่กลองในเวทีรับฟังที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ย.นี้ เปิดโครงการน้ำกระทบชาวแม่กลอง
สำหรับพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ภายใต้โครงการ 3.5 แสนล้านบาท จะมีแผนลงทุนในโครงการโมดูล เอ 5 คลองผันน้ำหลาก หรือฟลัดเวย์ฝั่งตะวันตก และโครงการโมดูล บี หรือพื้นที่ปิดล้อม ประกอบด้วย 1.การผันน้ำข้ามลุ่ม ด้วยการขัดแม่น้ำสายใหม่ทางทิศตะวันตก ระยะทาง 281 กิโลเมตร ความกว้าง 245 เมตร ลึก 10 เมตร มีถนน 4 ช่องจราจร และมีความจุน้ำไหลมากกว่าแม่น้ำท่าจีน 3 เท่าตัวจากน้ำปิงก่อนเข้านครสวรรค์ ไปถึงเหนือเขื่อนแม่กลอง อ.ท่าล้อ จ.กาญจนบุรี และขุดแม่น้ำแม่กลองท่อนล่าง ระยะทาง 34 กิโลเมตร จากอ.โพธาราม จ.ราชบุรี ถึงปากคลองแควอ้อม เขตติดต่อ อ.บางคนที อัมพวา เพื่อรองรับปริมาณน้ำไหลอีกราว 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งคาดว่าจะมีพื้นที่ 8 จังหวัดในโครงการนี้ถูกเวนคืนราว 40,000 ไร่
2.โครงการขุดคลองลัดในแม่น้ำท่าจีน ส่วนที่คดมาก 3 จุดได้แก่ คลองลัดงิ้วราย ไทยาวาส และทรงคะนอง และใช้การติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ มีอัตราเร่งลงทะเลเพิ่มเป็น 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และ 3.ในเขตชุมชนและเขตเศรษฐกิจจะใช้วิธีการปิดล้อมพื้นที่ โดยเฉพาะเจ้าพระยาตอนล่าง ประมาณ 6,000 ตารางกิโลเมตร และชุมชนเมืองอีกประมาณ 25 แห่ง
ขอบคุณภาพถ่าย ภาสกร จำลองราช , The Nation
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ