ทั่วโลกจี้‘รัสเซีย’ปล่อยตัว30นักกิจกรรม คืนเรือ'กรีนพีซ’ต้านขุดน้ำมันในอาร์กติก

17 พ.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1499 ครั้ง

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ที่อัมสเตอร์ดัม ผู้คนหลายพันคนใน 263 เมืองใน 43 ประเทศทั่วโลกร่วมประท้วงอย่างสันติ เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับนักกิจกรรมปกป้องอาร์กติกและช่างภาพอิสระ ที่ถูกจองจำอยู่ในประเทศรัสเซีย โดยหน่วยรักษาความมั่นคงของรัสเซีย

ในสัปดาห์หน้าจะครบสองเดือน นับตั้งแต่ที่นักกิจกรรมเพื่อปกป้องอาร์กติก และช่างภาพอิสระทั้ง 30 คนถูกจองจำจากกรณีรณรงค์ต่อต้านการขุดเจาะน้ำมันที่ฐานขุดเจาะน้ำมัน ของบริษัท ก๊าซพรอม ในทะเลเปโชรา เมื่อวันที่ 18 กันยายน โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการสืบสวนของรัสเซียได้แจ้งให้ทราบว่า จะขยายเวลาการคุมขังนักกิจกรรม เพื่อปกป้องอาร์กติกทั้ง 30 คน ไปอีก 3 เดือน โดยจะยื่นขออนุญาตจากผู้พิพากษาระหว่างการไต่สวน ซึ่งจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า

กิจกรรมการประท้วงอย่างสงบทั่วโลกวันนี้ ได้มุ้งเน้นไปที่บริษัท ก๊าซพรอม ซึ่งเป็นบริษัทผลิตพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย และบริษัทเชลล์ ซึ่งเป็นคู่ค้าน้ำมันรายใหญ่ในธุรกิจน้ำมันที่อาร์กติก ในฐานะที่ก๊าซพรอมเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ในการกดดันให้รัฐบาลรัสเซีย เข้าแทรกแซงการรณรงค์อย่างสันติวิธี ของกรีนพีซ และ นำไปสู่การจับกุมและคุมขังนักกิจกรรมทั้ง 30 คน

การประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่จัดขึ้นทั่วโลกนี้ ประกอบด้วย ที่ประเทศเยอรมนี ผู้ประท้วงเดินขบวนถือโคมไปยังสถานกงสุลรัสเซีย ในกรุงเบอร์ลิน ฮัมบูร์ก มิวนิก แฟรงค์เฟิร์ต บอนน์ และ ไลป์ซิก ที่อินเดีย ประท้วงนาน 30 ชั่วโมงใน 30 เมือง

ที่อังกฤษ ประท้วงด้านหน้าสถานีน้ำมันเชลล์มากกว่า 70 แห่ง ที่อาร์เจนติน่า สหรัฐอเมริกา โปแลนด์และไต้หวัน จัดคอนเสิร์ตส่งกำลังใจ ส่วนที่โจฮันเนสเบิร์ก นักตีกลอง 150 คน ร่วมในขบวนประท้วง

บาร์บาร่า สโตลล์ ผู้ประสานงานรณรงค์ กรีนพีซสากล ระบุว่า นักกิจกรรมเพื่อปกป้องอาร์กติกและช่างภาพอิสระ ถูกจับคุมและจองจำหลังจากที่บริษัท ก๊าซพรอม ร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลรัสเซีย ให้เข้ามาดำเนินการแทรกแซง บริษัท ก๊าซพรอม ควรใช้อิทธิพลที่มีอยู่หันมาสนับสนุน ให้ทางการรัสเซียปล่อยตัวให้พวกเขากลับบ้านไปพบครอบครัว หากก๊าซพรอมต้องการให้มีการปล่อยตัวนักกิจกรรมเพื่อปกป้องอาร์กติก

บาร์บาร่ากล่าวว่า กรณีที่ก๊าซพรอมรุกล้ำเข้าไปในอาร์กติก ในอาณาเขตของรัสเซีย ก๊าซพรอมต้องการคู่ค้าสำคัญอย่างเชลล์ ซึ่งก็ทำให้เชลล์มีอิทธิพลต่อก๊าซพรอม และเมื่อเป็นเช่นนี้ หากเชลล์เคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และต้องการเห็นนักกิจกรรมเพื่อปกป้องอาร์กติกทั้ง 30 คน ได้รับการปล่อยตัว เชลล์ก็ควรจะกดดันเพื่อนคู่ค้าอย่างก๊าซพรอม ให้ทำสิ่งที่ควรทำ แต่การนิ่งเฉยของเชลล์ทำให้สรุปได้ว่า เชลล์ให้น้ำหนักกับผลประโยชน์ทางธุรกิจในอาร์กติก มากกว่าความถูกต้อง

            “ในสัปดาห์นี้ มาดอนน่า ได้ร่วมรณรงค์และโพสต์หน้าเฟซบุ๊ค เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมปกป้องอาร์กติก เช่นเดียวกับมาริยง โกติยาร์ด นักแสดงรางวัลออสการ์ ยอมขังตัวเองไว้ในกรงจำลองที่สถานีรถไฟปลาส ดู ปาเลส์ รัวยาล ในกรุงปารีส เพื่อเป็นสัญลักษณ์การสนับสนุนการกระทำของนักกิจกรรมเพื่อปกป้องอาร์กติกและให้มีการปล่อยตัว นอกจากนี้ เซอร์พอล แมคคาร์ทนีย์ อดีตสมาชิกวงเดอะบีทเทิ้ล ยังได้เขียนจดหมายส่วนตัวถึงประธานาธิบดีปูติน เพื่อหาทางปล่อยตัวนักกิจกรรมอีกด้วย”

คูมิ ไนดู ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซสากล ได้เขียนจดหมายถึง อเล็กซี มิลเลอร์ ประธานบริษัท ก๊าซพรอม เรียกร้องให้บริษัทแจ้งแก่รัฐบาลรัสเซีย ให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมปกป้องอาร์กติก 30 คน จดหมายระบุว่า หากบริษัทของคุณเชื่อมั่นในคุณค่า ที่จะต้องเคารพซึ่งเสรีภาพในการแสดงออก และการประท้วงอย่างสันติวิธี คุณน่าจะใช้อิทธิพลที่มีอยู่มากมายกับรัฐบาลรัสเซีย ในการให้อิสรภาพกับผู้ถูกคุมขังเหล่านั้น ผมขอเรียกร้องให้คุณลงมือทำในโอกาสที่เอื้ออำนวยที่สุดขณะนี้

 

ติดตามลำดับเหตุการณ์ในคดีดังกล่าวได้ที่

http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/From-peaceful-action-to-dramatic-seizure-a-timeline-of-events-since-the-Arctic-Sunrise-took-action-September-18-CET1/

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: