จับตาประชุมกนง.ชี้ชะตาบาทแข็ง อะไรคือทางเลือกของ'แบงก์ชาติ' ลดดอกเบี้ยแก้ปัญหาได้จริงหรือ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 18 ก.พ. 2556 | อ่านแล้ว 1763 ครั้ง

สาเหตุที่เรื่องนี้กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปตลอดครึ่งหลังของปีที่แล้ว เนื่องจากต้นปีที่ผ่านมา กระแสเงินทุนของต่างชาติ ไหลเข้ากลับสู่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) อีกระลอก หลังสหรัฐอเมริกา สามารถเลี่ยงความเสี่ยง จากปัญหาหน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) ยกแรกไปได้ กลายเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจโลก ให้นักลงทุนกลับมากล้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง แต่ปรากฎว่ากระแสทุนดังกล่าว ดันให้เงินบาทไทยแข็งค่า ในอัตราที่รวดเร็วกว่าสกุลอื่น ๆ  ในภูมิภาค

 

โดยค่าเงินบาทปรับตัวไปแตะระดับแข็งค่าที่สุด ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2556 ที่ 29.70 บาท/ดอลลาร์เทียบกับ 30.59 บาท/ดอลลาร์ ในสิ้นปี 2555 หรือแข็งค่าขึ้นประมาณ 3 เปอร์เซนต์ ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ใกล้ 29.80 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงนี้ (ดูกราฟ)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ทางด้านผู้ประกอบการส่งออก ก็เริ่มออกมาเรียกร้องให้แบงก์ชาติ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยดูแลให้ค่าเงินมีเสถียรภาพ เพราะการผันผวนของค่าเงิน เป็นอุปสรรคต่อการกำหนดราคาสินค้า และความสามารถในการแข่งขันด้านราคาก็ลดลง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งรายอื่น ที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าหรือบางประเทศก็อ่อนค่าลง (ดูตาราง)

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้เวลานี้เรื่องค่าเงินได้ถูกจับโยงเข้าเป็นประเด็นทางการเมือง ระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติไปแล้ว และหลายฝ่ายกำลังจับตาไปที่การประชุม กนง. ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 นี้ว่า ที่สุดแล้วแรงกดดันจากฝั่งการเมืองจะบีบให้กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยจาก 2.75 เปอร์เซนต์ ในปัจจุบันลงหรือไม่ แต่ในมุมมองของผู้ที่อยู่ในตลาดการเงิน รวมถึงนักวิเคราะห์ที่มองเรื่องนี้จากพื้นฐานเศรษฐกิจ เห็นค่อนข้างสอดคล้องว่า แนวโน้มของเงินบาทจะแข็งค่าไปแตะ 28.00-29.00 บาท/ดอลลาร์

 

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ประเมินไว้ว่า กลางปีนี้ค่าเงินบาทจะแข็งค่าไปอยู่ที่ 29.50 บาท/ดอลลาร์ และต่อเนื่องไปอยู่ที่ 29.00 บาท/ดอลลาร์ ในสิ้นปีนี้  โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวตลอดทั้งปีที่ 29.00-31.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งค่อนข้างกว้าง แสดงถึงความผันผวนสูง จากปัจจัยหลัก ๆ คือ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่  โดยเฉพาะสหรัฐฯ และญี่ปุ่น  ที่ยืนดอกเบี้ยในระดับต่ำใกล้ 0 เปอร์เซนต์ และมีนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบแบบไม่อั้น

 

 

 

ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้ที่ 4.5-5.5 เปอร์เซนต์ และดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.75 เปอร์เซนต์ แม้จะมีการปรับลดอีกก็ยังสูงกว่าดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เหล่านั้น ดังนั้นยิ่งหากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัว และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้ กระแสเงินทุนจะต้องไหลสู่  Emerging Market รวมถึงประเทศไทย ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น

 

โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม -14 กุมภาพันธ์ 2556  นักลงทุนต่างชาติได้นำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และในตราสารหนี้รวมกันแล้วถึง 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ให้ความเห็นสอดคล้องกับศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า เมอริล ลินซ์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของ บล.ภัทร ได้ประเมินว่า ค่าเงินบาทจะแข็งค่าไปอยู่ที่ 28.00 บาท/ดอลลาร์ ในปลายปีนี้  และมองว่าที่เงินบาทที่ปรับตัวมาอยู่ที่ 29.70-29.80 บาท/ดอลลาร์ ในระยะนี้ ไม่ใช่ระดับที่แข็งค่ามากที่สุด ที่ประเทศไทยเคยเจอ หรือจะทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ได้

 

เพราะสถานการณ์ที่เงินบาทแข็งค่าไปอยู่ระดับที่ต่ำกว่า 30.00 บาท/ดอลลาร์ เกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี 2553-2554  เพียงแต่การแข็งค่าจากระดับ 30.50 บาท/ดอลลาร์ในปลายปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 29.70-29.80 บาท/ดอลลาร์ ในระยะนี้ เกิดขึ้นเร็วจนผู้ประกอบการกังวล

 

 

          “ตอนนี้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงมาบ้างแล้ว และค่อนข้างนิ่ง หลังจากแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและไปแตะระดับแข็งค่าสุดที่ 29.70 บาท/ดอลลาร์ ในกลางเดือนม.ค.” นายพิพัฒน์ กล่าว

 

 

นักวิเคราะห์รายนี้กล่าวถึงแนวโน้มและปัจจัยที่จะกดให้เงินบาทยังแข็งค่าว่า จะมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ๆ   โดยปัจจัยแรกคือ สภาพคล่องในตลาดโลกในระดับสูง จากการอัดฉีดสภาพคล่องของทั้งสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่จะยังคงไหลเข้าประเทศ ที่ยังมีการเจริญเติบโต และไม่มีปัญหาทางโครงสร้างเศรษฐกิจ

 

ปัจจัยที่ 2 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่ยังเกินดุล สะท้อนว่าเม็ดเงินจากต่างประเทศ ที่มาในช่องทางการค้าและบริการ ซึ่งเป็นช่องทางที่ใหญ่ที่สุดอีกทางหนึ่ง สุทธิยังคงไหลเข้าต่อเนื่อง เป็นแรงหนุนต่อการแข็งค่าของเงินบาท โดยรายงานของแบงก์ชาติ ระบุว่า ณ ปี 2555 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งสิ้น 8,337 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 5,889 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า

 

 

>ปัจจัยที่ 3 พื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีและจะมีการเติบโตได้  4.5-5.5 เปอร์เซนต์ เทียบกับประเทศเศรษฐกิจหลัก ๆ ที่แทบไม่มีการเติบโต ขณะที่ระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.75 เปอร์เซนต์ ก็สะท้อนว่า สินทรัพย์เพื่อการลงทุนประเภทต่าง ๆ ในประเทศให้ผลตอบแทนเพียงพอ ที่จะจูงใจให้นักลงทุนนำเงินเข้ามาตลาดเงินและตลาดทุนไทย

 

นายพิพัฒน์กล่าวอีกว่า แม้จะเห็นว่าค่าเงินบาทในปัจจุบัน ไม่ใช่ระดับที่แข็งค่าจนผิดปกติ แต่การที่ยังมีเสียงเรียกร้องให้แบงก์ชาติดูแลเงินบาทให้อ่อนลง เห็นว่าแบงก์ชาติมีทางเลือกอยู่ 4 แนวทาง สำหรับดูแลปัญหา นั่นคือ

 

แนวทางแรก ปล่อยให้ค่าเงินแข็งค่าตามกลไกตลาด เพราะเมื่อนักลงทุนเห็นว่า เงินบาทอยู่ในระดับที่แข็งค่าเกินพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่อไปไม่ได้ ก็จะหยุดนำเงินเข้ามาและการเงินแข็งค่าก็จะหยุดไปเอง แต่แนวทางนี้ก็ต้องระมัดระวัง เพราะกว่าจะไปถึงจุดนั้นผู้ส่งออกอาจจะรับไม่ไหว

 

ดังนั้นที่แบงก์ชาติต้องทำควบคู่ไปกับแนวทางนี้คือ การผลักดันให้เอกชนไทยนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ ขณะที่ภาครัฐต้องเร่งลงทุนตามแผนที่วางไว้ เกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.2ล้านล้านบาท รวมถึงการลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท เพราะการลงทุนต่าง ๆ จะทำให้มีการนำเข้าสินค้าทุนจำนวนมาก สามารถสวนทางกับเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนไหลเข้า ช่วยดูแลไม่ให้เงินไหลเข้ามากเกินไป

 

แนวทางที่ 2 เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท แต่แนวทางนี้ค่อนข้างจะสร้างปัญหาให้กับแบงก์ชาติ นั่นคือปัญหาการขาดทุน เพราะปัจจุบันทุนของแบงก์ชาติมีอยู่ 3 แสนล้านบาท ขณะที่ทรัพย์สินที่ส่วนใหญ่เป็นเงินตราต่างประเทศ มีรวมกันอยู่ถึง 6 ล้านล้านบาท ซึ่งทุกครั้งที่ค่าเงินแข็งค่า เท่ากับมูลค่าทรัพย์สิน(เงินต่างประเทศในทุนสำรอง) ตีค่าเป็นเงินบาทได้น้อยลง ซึ่งถือเป็นการขาดทุนทางบัญชีและจะไปกินส่วนทุน  ซึ่งด้วยมูลค่าทรัพย์สินและทุนที่มีอยู่ เพียงเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1.50 บาท/ดอลลาร์ ก็ทำให้ทุนแบงก์ชาติหายไปหมดหรือติดลบแล้ว

 

 

            “เรื่องนี้ยังมีความเข้าใจว่า แบงก์ชาติบริหารไม่ดี ทั้งที่ทรัพย์สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศในทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จากการที่แบงก์ชาติ ต้องเข้าไปแทรกแซงตลาด เพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงินตลอดช่วงเวลาที่ประเทศต้องพึ่งพิงการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” นายพิพัฒน์กล่าว

 

 

 

นักวิเคราะห์รายนี้กล่าวเพิ่มเติมว่า จากประเด็นการขาดทุนและลดปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นต่อธนาคารกลาง แสดงทิศทางนโยบายไว้ค่อนข้างชัดว่า จะลดการแทรกแซงตลาด ซึ่งระดับทุนสำรองระหว่างประเทศที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงก็สะท้อนว่า แบงก์เดินตามแนวทางนั้นจริง และจะถูกกดดันอย่างหนักตลอดช่วงเดือนม.ค.ต่อเนื่องถึงขณะนี้

 

โดยข้อมูลจากแบงก์ รายงานว่า ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 อยู่ที่ 1.43 แสนล้านดอลลาร์  ลดลงจาก 1.50 แสนล้านดอลลาร์ ในสิ้นปี 2555 แสดงว่าแบงก์ชาติไม่ได้เข้าไปแทรกแซงตลาด (โดยการซื้อเงินดอลลาร์และขายเงินบาท) ตลอดระยะเวลาที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน

 

นายพิพัฒน์กล่าวว่า แนวทางที่ 3 ที่แบงก์ชาติอาจเลือกใช้ คือ การลดดอกเบี้ย เพื่อลดส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยในประเทศกับดอกเบี้ยของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่เชื่อว่าแนวทางนี้แบงก์ชาติจะไม่เลือกทำ เพราะยังไม่ชัดเจนว่า เมื่อลดแล้วเงินจะหยุดไหลเข้ามาหรือไม่ โดยถ้าจะลดดอกเบี้ย เพื่อลดแรงจูงใจในการนำเงินเข้ามาก็ต้องลดให้ไปใกล้ดอกเบี้ยต่างประเทศ ซึ่งต้องลดลงอีกมาก

 

ขณะที่แบงก์ชาติเองต้องระวังเงินเฟ้อ และปัญหาฟองสบู่ในทรัพย์สินต่าง ๆ ที่จะตามมา เนื่องจากเมื่อดอกเบี้ยลดต่ำลง ประชาชนไม่ต้องการออม ก็จะนำเงินออกมาใช้จ่ายซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ  ตลอดจนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ในช่วงที่การกู้ยืมเกิดง่ายขึ้น ก็เป็นประเด็นที่แบงก์ชาติให้ความกังวล

 

 

            “เกรงว่าปัญหาฟองสบู่ในทรัพย์สินต่าง ๆ แม้แต่ในตลาดหุ้นเอง อาจจะไม่ได้มาจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ แต่มาจากการที่ในประเทศเอง ที่ลดดอกเบี้ยลงมาก จนประชาชนไม่อยากฝากเงิน แต่เอาเงินออกมาซื้อสินทรัพย์เสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า”

 

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์รายนี้ระบุให้เห็นประเด็นที่ต้องติดตามว่า แม้แบงก์ชาติจะแสดงชัดเจนถึงความกังวลต่อผลข้างเคียงหากต้องลดดอกเบี้ย และส่งสัญญาณค่อนข้างชัดว่าจะไม่ลดดอกเบี้ย แต่ก็ไม่ใช่การปรับลดจะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะ กนง.ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องนี้มีทั้งหมด 7 คน เป็นผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติ 3 คน แต่ส่วนที่เหลือเป็นผู้ที่มาจากนอกแบงก์ชาติ ดังนั้นการตัดสินใจที่ผิดไปจากที่แบงก์ชาติพยายามส่งสัญญาณสามารถเกิดขึ้นได้ และเหตุการณ์นี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการประชุม กนง. รอบเดือนตุลาคม 2555 ที่แบงก์ชาติส่งสัญญาณมาตลอดว่า จะไม่ลดดอกเบี้ย แต่ปรากฎว่า กนง. เสียงส่วนใหญ่กลับโหวตให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25 เปอร์เซนต์

 

ส่วนแนวทางสุดท้าย ที่แบงก์ชาติสามารถเลือกใช้ได้ หากเกิดการแข็งค่าอย่างมากของเงินบาท คือการออกมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินบาท (URR) แต่ประสบการณ์ที่เคยทำในปี 2549 ที่สร้างความแตกตื่นให้นักลงทุนมาก คงทำให้แบงก์ชาติคิดหนักหากจะมีการออกมาตรการ

 

 

“แม้การไหลเข้าของเงินทุนและการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท จะไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงให้เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตเหมือนปี 2540 เพราะตอนนั้นมีการกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศเข้ามามาก และพอมีปัญหาเงินก็ไหลออก แต่สถานการณ์ตอนนี้ตรงข้ามกัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจและต้องติดตาม คือสัญญาณจากรัฐบาลตอนนี้ทำให้แบงก์ชาติมีทางเลือกค่อนข้างจำกัด คือ ไม่เอา URR (Unremunerated Reserve Requirement : ป้องกันไม่ให้มีเงินเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน เพื่อไม่ให้บาทแข็งตัวเร็วเกินไปนัก จนระบบเศรษฐกิจปรับตัวไม่ทัน) เพราะต้องปล่อยเงินให้ไหลเข้าออกได้เสรี ไม่ให้แบงก์ชาติเข้าแทรกแซง เพราะขาดทุนมากแล้ว แต่จะปล่อยให้เงินบาทแข็งไปตามกลไกก็ไม่ได้ ดังนั้น จึงปิดประตูยื่นทางเลือกเดียวที่แบงก์ชาติไม่อยากทำคือ ต้องลดดอกเบี้ย” นายพิพัฒน์กล่าว

 

การประเมินของนักวิเคราะห์ แสดงให้เห็นแนวโน้มและทิศทางที่เงินบาท จะไปตามพื้นฐานเศรษฐกิจไทยและปัจจัยจากภายนอก แต่ทั้งนี้ก็ยังมี “ปัจจัยเฉพาะ” ที่อาจเข้ามาทำให้เงินบาทไม่ได้เคลื่อนไหวตามพื้นฐาน โดยน่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่า “ปัจจัยเฉพาะ” นี้จะทำให้ภาพความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินของแบงก์ชาติถูกบดบังไปด้วยหรือไม่เพียงใด วันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่จะมีการประชุม กนง.นี้ได้เห็นกันแน่นอน

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: