'ฉลองภพ'ชี้ไทยพึ่งส่งออกมากไป ให้หนุนบริการหนีรายได้ปานกลาง แบงก์ชาติ-คลังปรับโครงสร้างศก.

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 18 มี.ค. 2556 | อ่านแล้ว 2651 ครั้ง

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75 เปอร์เซ็นต์ตามเดิม โดยเพิกเฉยจากแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่ต้องการให้ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินทุนไหลเข้าที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าหลุดกรอบ 30 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก

 

คงเป็นธรรมชาติของนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ที่มักจะขัดแย้งกัน เมื่อเป้าหมายของฝ่ายแรกคือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนฝ่ายหลังคือการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เมื่อการส่งออกถูกกระทบ ผู้กุมนโยบายการคลังย่อมไม่อาจนิ่งนอนใจ การถกเถียงเรื่องค่าเงินจึงเลี่ยงไม่ได้

 

ทว่าความพยายามกดค่าเงินบาทให้อ่อนลง ดูจะเป็นการฝืนธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจ จากการประมวลความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์พบว่า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นไม่ใช่ประเด็นน่าวิตก ตราบใดที่มันสะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศได้ หากเทียบกับวิกฤติปี 2540 ปัจจุบันถือว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งสะท้อนออกมาจากค่าเงินที่แข็งขึ้น

 

ผศ.ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ ในทางกลับกัน การที่เงินบาทแข็งค่าแล้วกระทบการส่งออก จนฝ่ายการเมืองต้องออกมากดดันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ลดดอกเบี้ย กลับเป็นการสะท้อนความไม่สมดุลของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่หากไม่ได้รับการแก้ไข ก็ยากที่ประเทศไทยจะหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

 

 

 

ส่งออก’ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของไทย

 

 

ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 มูลค่าการส่งออกต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ภายหลังปี 2540 ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก มูลค่าการส่งออกจึงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2555 มูลค่าการส่งออกของไทยสูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี

 

 

            “ถ้าดูโครงสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มันเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง สัดส่วนการบริโภคต่อจีดีพีค่อนข้างคงที่ การส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด คือสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพี ก่อนวิกฤตปี 2540 สัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ต่อจีดีพี แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 20-25 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการส่งออกต่อจีดีพีมีความสำคัญมากขึ้น แต่การลงทุนกลับลดลงและไม่เพิ่มความสำคัญเลยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ นี่คือโครงสร้างปัจจุบัน จึงพูดได้ว่าเครื่องยนต์เดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญก็คือการส่งออก” ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรมว.คลัง กล่าว

 

 

เมื่อการส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักตัวเดียวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงไม่แปลกที่กระทรวงการคลังจะต้องหาวิถีไม่ให้เครื่องยนต์ตัวนี้อ่อนแรง คำถามอยู่ที่ว่า มันเป็นเรื่องปลอดภัยหรือไม่ที่โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจะขับเคลื่อนด้วยการส่งออกเพียงอย่างเดียว

 

 

โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่สมดุล ขยับสถานะยาก

 

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยมีปัญหาที่ซ้อนทับกันอยู่ 2 แง่มุม มุมหนึ่งก็คือเราพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป มุมที่ 2-การพึ่งพาการส่งออกที่มากเกินไปนี้ ยังเป็นการส่งออกที่พึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมมากเกินไปด้วย

 

ดร.สมชัยอธิบายว่า แต่ตั้งแต่วิกฤต 2540 ประเทศไทยใช้การส่งออกมากกว่าเครื่องยนต์ตัวอื่นๆ มาก สัดส่วนรายได้จากการส่งออกต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นสูง ส่วนจะเป็นปัญหาหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า ประเทศไทยส่งออกอะไร เพราะอย่างสิงคโปร์ที่มีการส่งออกสูง แต่ไม่เป็นปัญหา เพราะเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงและใช้เทคโนโลยีสูง ไม่ได้ใช้แรงงานเข้มข้น การส่งออกจึงได้รายได้เป็นเนื้อเป็นหนัง เศรษฐกิจขยับไปสู่สถานะที่ดีขึ้นได้ แต่สินค้าส่งออกของไทยโดยรวมแล้ว ถ้าไม่ใช่สินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นหรือใช้เทคโนโลยีไม่สูงนัก ก็เป็นสินค้าที่รับจ้างประกอบในประเทศไทย

 

 

            “เมื่อเป็นอย่างนี้จึงทำให้เราไม่สามารถขยับสถานะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในระยะยาว การจะทำอย่างนั้นได้ต้องเพิ่มมิติอื่น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนที่มากขึ้นและควรเป็นการลงทุนในสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น หรือมุ่งไปที่ภาคบริการก็ได้ ดังนั้น โดยรวม ๆ ต้องดูหลายแง่มุม”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แนะส่งเสริมภาคบริการ หนีกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

 

 

สภาพเช่นนี้กำลังฉุดดึงให้ประเทศไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และไม่สามารถขยับสถานะทางเศรษฐกิจได้ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย (ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ) ฝ่ายการวิจัยแผนงานเศรษฐกิจรายสาขา เสนอให้เร่งยกระดับภาคบริการเพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

หากย้อนดูผลิตภาพของแรงงานในภาคบริการ พบว่า ปี 2541 ผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ประมาณ 230,000 บาทต่อปี ณ ราคาปี พ.ศ.2531 และเพิ่มเป็นประมาณ 360,000 บาท ในปี 2554 ขณะที่ผลิตภาพปี 2541 ในภาคบริการอยู่ที่ประมาณ 130,000 บาทต่อปี ณ ราคาปี พ.ศ.2531 เพิ่มเป็น 140,000 บาท ในปี 2554 ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรม

 

 

สาเหตุที่ผลิตภาพในภาคบริการต่ำและมีการขยายตัวช้ากว่าภาคการอุตสาหกรรมเป็นเพราะมีการปิดกั้นเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศในภาคบริการของไทย อีกทั้งกฎหมายยังเอื้อให้เกิดการผูกขาดของกลุ่มทุนในประเทศ เป็นเหตุให้รายได้ของแรงงานในภาคบริการต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่ต้นทุนสูงและคุณภาพการบริการต่ำ

 

หากรัฐบาลยังคิดแต่จะพึ่งพิงการส่งออกเพียงอย่างเดียว โดยไม่เพิ่มตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นๆ ลงไปในระบบ สิ่งที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า ปี 2570 จะเพิ่มรายได้ของคนไทยจากปัจจุบัน 3 เท่าคือจากประมาณ 1.5 แสนบาทต่อปี เป็น 5.4 แสนบาทต่อปีเป็นไปได้ยากเย็น เพราะหมายความว่าจะต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปีติดต่อกันเป็นเวลา 14 ปี

 

 

            “แต่ที่ผ่านมาเราเพิ่มได้แค่ 4 เปอร์เซ็นต์ การจะเพิ่มผลิตภาพแรงงานอีก 2 เท่าครึ่ง จะทำอย่างไร แล้วยิ่งเราใกล้ทางตันด้วย ส่วนหนึ่งที่ทำได้ตอนนี้คือแรงงานภาคบริการโตช้า ดิฉันคิดว่าหืดขึ้นคอ ความเป็นไปได้น้อยมาก ยกเว้นรัฐบาลจะวิเคราะห์ข้อมูลมาดีและวางแผนอย่างดี เป็นลำดับขั้นตอน มันก็มีทางเป็นไปได้ แต่คุณยังจี้ไม่ได้เลยว่า จะเอาผลิตภาพมาจากไหน รู้หรือไม่ว่าต้องทำอย่างไร จะเพิ่มจุดไหน ต้องตอบให้ได้ ทุกอย่างต้องมีรายละเอียด” ดร.เดือนเด่น แสดงทัศนะ

 

 

การเงิน-การคลังต้องช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

 

 

แบงค์ชาติและกระทรวงการคลังจึงควรมีส่วนช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย มากกว่าจะถกเถียงเรื่องค่าเงินเพียงอย่างเดียว

 

 

            “ในระยะยาว นโยบายการเงินจะช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไร ลองตั้งคำถามว่าถ้าเราปล่อยให้ค่าเงินแข็ง จริงๆ มันเอื้อเราเองด้วย มันช่วยให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของเราไปยังการลงทุนภายใน ในแง่นี้ ค่าเงินที่แข็งมันค่อนข้างดีว่าทำให้สินค้านำเข้ามันถูกลง แต่ผมอยากจะโฟกัสไปที่เทคโนโลยีนำเข้ามากกว่า เพราะโจทย์ใหญ่ของเราในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวคือเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งช่วยเพิ่มช่องทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และถ้าเราสามารถเพิ่มการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเครื่องยนต์ต่างๆ ได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยคงไม่ต้องขัดแย้งกับกระทรวงการคลังกรณีเงินบาทแข็งค่า” ดร.สมชัยกล่าว

 

ประเด็นที่ลืมไม่ได้คือการวิจัยและพัฒนา ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของรัฐบาล ดร.สมชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดก็ตาม มีงบวิจัยและพัฒนาเพียงประมาณปีละหมื่นกว่าล้านบาท น้อยมากเมื่อเทียบกับนโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ทุ่มลงไป เป็นเหตุให้ภาคเอกชนต้องลงทุนวิจัยและพัฒนาเอง แต่ก็เป็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ของบริษัทเอง ไม่ใช่เพื่อส่วนรวม ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐ ดร.สมชัย แนะว่ารัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของการใช้เงินใหม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: