ดันร่างพรบ.นิรโทษฯพิจารณาวันนี้ พท.แยก2ขั้วช่วยทักษิณ-เสื้อแดง เปิด5ร่างพรบ.ปรองดอง-นิรโทษฯ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 18 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1809 ครั้ง

 

การปรากฎตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (วันที่ 10-15 เมษายน 2556) และวาระหารือในห้องลับ ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนลตัล มีวาระเร่งด่วนส่งถึงมือส.ส.เพื่อไทย ในสภาผู้แทนราษฎร คือการเลื่อนวาระ การเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จ่อคาสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาวาระแรกในสมัยประชุมหน้า (สิงหาคม 2556)

 

ทำให้พรรคเพื่อไทย มีมติพรรค เดินหน้าในการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง ด้วยการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... (พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ก่อนปิดสมัยประชุม (วันที่ 20 เมษายน 2556)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หลังพรรคเพื่อไทยมีความพยายามมาตลอด 19 เดือนของการเป็นรัฐบาล ผ่านประชุมมาแล้ว 3 สมัยประชุม

 

การเสนอกฎหมายปรองดองครั้งแรกในนาม “ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ....” ซึ่งบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ “เรื่องด่วน” ในวันพุธที่ 30 พฤษภาคม 2555 แต่ถูกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุมต้าน-ตีตกคาสภาผู้แทนฯ เพราะเชื่อว่าจะเอื้อประโยชน์ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้พ้นโทษอาญา และได้คืนเงินที่ถูกยึดไป 4.6 หมื่นล้านบาท

 

เช่นเดียวกับในคราวนี้ ที่อาศัยเป็นการ “เลื่อนวาระ” ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เข้ามาจ่อเป็นวาระแรก เพื่อพิจารณารับหลักการ ในสมัยประชุมหน้า ก่อนปิดสมัยประชุมเพียง 1 วัน

 

ต่างกันที่คราวนี้ ผู้นำเสนอไม่ใช่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่เป็นความพยายามของ ส.ส.สายตรง ของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คือ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ที่ใช้เอกสิทธิ์ ส.ส.ขอเลื่อนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขึ้นมาพิจารณาเป็น “วาระแรก”

 

สอดคล้องกับท่าที่ของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ในฐานะแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ยืนยันจะเลื่อนวาระ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เพราะเชื่อว่า “เป็นท่าทีที่สำคัญของพรรค เพื่อลดเงื่อนไขทางการเมือง การนิรโทษกรรมจะไม่เกี่ยวข้องกับแกนนำทางการเมือง”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ก่อนหน้านี้วาระปรองดองและคาบเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทางการเมือง ถูกบรรจุอยู่ในหลายข้อเสนอ ต่างกรรม ต่างวาระ ในรูปแบบ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับมีทั้งสิ้น 5 ร่าง บรรจุอยู่ในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ประกอบด้วย

 

1.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... เสนอโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ร่วมกับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 35 คน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 มีเนื้อหาสาระสำคัญ 8 มาตรา โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่15 กันยายน 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ หรือมวลชน ไม่มีความผิดจากกระทำที่เกิดขึ้น หรือหากคดีดังกล่าวอยู่ในชั้นศาลแล้ว ก็ให้ระงับการสอบสวน และให้พ้นคดีไป รวมทั้งผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดไปแล้ว ก็ให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิด ส่วนผู้ที่รับโทษอยู่ก็ให้ปล่อยตัว ซึ่งหมายถึงว่า ทุกคนจะได้รับการนิรโทษกรรม

 

ส่วนคดีที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จะถูกยกเลิก พร้อมกับคืนสิทธิทางการเมืองให้กับนักการเมืองที่ถูกศาลพิพากษาตัดสิทธิ โดยผู้ที่ได้รับความเสียหาย สามารถฟ้องแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ....เสนอโดย นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมกับ ส.ส.เพื่อไทย 50 คน เสนอเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 มีเนื้อหาสาระสำคัญ คือ มีทั้งหมด 8 มาตรา คล้ายกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ให้นิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกคน ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554พร้อมกับคืนสิทธิทางการเมือง ให้กับผู้ที่ถูกตัดสิทธิในคดีที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร

 

3.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ....เสนอโดย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมกับ ส.ส.เพื่อไทย 74 คน เสนอเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2555 มีเนื้อหาสาระสำคัญ คือ มีทั้งหมด 7 มาตรา เนื้อหาสำคัญคล้ายกับร่าง พ.ร.บ.ของ พล.อ.สนธิ และนายสามารถ คือ ให้นิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 และให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขัง โดยถือว่าไม่มีความผิด แต่ส่วนที่แตกต่างก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดในฐานก่อการร้าย และความผิดต่อชีวิต ซึ่งน่าจะหมายถึง บรรดาแกนนำ รวมทั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม

 

ขณะเดียวกันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังยกเลิกคดีที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร และให้ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องทางแพ่งได้เหมือนกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับ พล.อ.สนธิ และนายสามารถ

 

4.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... ที่เสนอโดย นายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อมกับ ส.ส.เพื่อไทย 22 คน เสนอเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 มีเนื้อหาสาระสำคัญ คือ มีทั้งหมด 5 มาตรา คือ ให้นิรโทษกรรมผู้ถูกกระทำ ผู้กระทำ รวมทั้งคนที่ได้รับผลกระทบหลังเหตุการณ์รัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ มาตรา 3 ที่ให้นิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหาร รวมทั้งบุคคล หรือองค์กรที่ทำตามคำสั่ง คมช. ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับจุดนี้มากนัก

 

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่แตกต่างจากฉบับอื่น ๆ คือ แม้จะมีการนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำแล้วก็ตาม แต่ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งสิ้น

 

 

 

5.ร่างที่จะถูกบรรจุระเบียบวาระ“เลื่อนขึ้นมาพิจารณา” ในวันที่ 18 เมษายน 2556 คือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) ร่วมกับ ส.ส.เพื่อไทย 42 คน เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2556 มีทั้งหมด 7 มาตรา โดยจะให้นิรโทษกรรมผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง แต่จะไม่รวมถึงผู้ที่สั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว

 

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอของ “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ”โดยนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน ลงนามแต่งตั้งโดย “ชัย ชิดชอบ” อดีตประธานรัฐสภา เมื่อปี 2552

 

สถานการณ์การนิรโทษกรรมที่วางอยู่ตรงหน้ารัฐบาลเพื่อไทยในเวลานี้ คือแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว 2 สาย สายหนึ่งเป็น แกนนำสายก้าวหน้าของพรรคเพื่อไทย ต้องการเปิดเกมรุกให้เกิดการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง อย่างปราศจากวาระซ่อนเร้น ไม่มีเงื่อนไข เพื่อช่วยเหลือเฉพาะนักโทษการเมืองเสื้อแดงที่อยู่ในคุกเวลานี้ไม่น้อยกว่า 30 คน

 

แต่มีนักการเมืองในพรรคเพื่อไทยอีกขั้ว ที่ยังคงติดกับดักเรื่องโทษการเมือง โทษอาญาและทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการให้พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อยู่ในขบวนการที่ได้รับการนิโทษกรรมด้วย ทำให้ทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายนิติบัญญัติเสียงข้างมากของพรรคเพื่อไทย อยู่ในภาวะกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะเสนอกฎหมายช่วยเหลือนักโทษการเมือง “ระดับชาวบ้าน”ที่อยู่ในคุกขณะนี้

 

การออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนิรโทษกรรมทางการเมืองในรอบใหม่ ในวาระสมัยประชุมคราวนี้ คงได้ผลไม่ต่างจากรอบแรก หากจะมีส่วนแตกต่างก็มีเพียงประเด็นผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่มีชื่อ ไม่มีส่วนได้เสียในบัญชีผู้ที่จะได้รับนิรโทษกรรม

 

การประชุมสภาผู้แทนฯ ในวันที่ 18 เมษายน 2556 ก่อนปิดสมัยประชุมในวันที่ 20 เมษายน 2556 จึงเป็นวาระเดือด-วาระร้อน ส่งท้ายสมัยประชุม

 

นักการเมืองทั้งใน-นอกสภา แกนนำมวลชนทั้งใน-นอกคุก หยุดหายใจ รอฟังคำอภิปรายของสภาผู้แทน ฯ...อีกครั้ง

 

บางครั้งการนิรโทษกรรมสำหรับนักรบประชาชน อาจคว้าน้ำเหลว หากไม่รวมการนิรโทษนักรบระดับแกนนำ ผู้มีอุดมการณ์ที่ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง อาจถูกสับขาหลอกต่อไปอีก 3 เดือน จนกว่าจะเปิดสมัยประชุมสมัยหน้า

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: