เปิดคำให้การศาลของ‘ประสาท มีแต้ม’ 10ปีคดีตร.ตีชาวบ้านต้าน'ท่อก๊าซ'ไม่จบ

วันชัย พุทธทอง ศูนย์ข่าว TCIJ 18 ก.ค. 2556 | อ่านแล้ว 4723 ครั้ง

 

คดีกลุ่มชาวบ้านคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมทำร้ายร่างกาย ก่อนจะจับกุมดำเนินคดี เมื่อคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ที่หน้าโรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คดีแรกกลุ่มชาวบ้านที่ถูกสลายการชุมนุม ถูกทำร้ายร่างกายและถูกจับกุมดำเนินคดี ศาลสั่งยกฟ้อง ชาวบ้านที่ถูกสลายการชุมนุมจึงฟ้องกลับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งคดีเพ่งคดีอาญาและฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองตัดสินให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความผิด ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหาย คดีเพ่งและอาญาคดียังไม่สิ้นสุด

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ศาลจังหวัดสงขลา นายวินัย หนูโท ผู้พิพากษา ออกนั่งบัลลังก์ ที่ห้อง 204 พิจารณาคดีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย กรณีฟ้องความอาญา มีโจทก์เป็นกลุ่มประชาชนผู้คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2545 จำนวน 25 คน ส่วนจำเลย 5 คน คือ 1.พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2.พล.ต.ต.สัณฐาน ชยนนท์ 3.ร.ต.ท.บัณฑูรย์ บุญเครือ 4.ร.ต.อ.เล็ก มียัง 5.ร.ต.ท.อธิชัย สมบูรณ์ (ยศและตำแหน่งที่ระบุเป็นตำแหน่งขณะเกิดเหตุ

โดยมี นายประสาท มีแต้ม เป็นพยานโจทก์ ใช้เวลา 2 วัน ในการให้การเป็นพยาน พยานเริ่มให้การว่า ทำไมข้าพเจ้าจึงคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย

 

 

 

ต่อไปนี้เป็นคำให้การในฐานะพยานโจทย์ต่อศาลจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่10-11 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา

ของ นายประสาท มีแต้ม อดีตอาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

เหตุผลหลักที่คัดค้านมี 4 ประการ คือ

 

1.ความไม่ชอบมาพากลและความไม่ชอบด้วยกฎหมายในกระบวนการดำเนินโครงการ

2.ภาคใต้และประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติ (ตามแผน) มากถึงขนาดนั้น

3.ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากการผลิตก๊าซน้อยกว่าประเทศมาเลเซีย

4.ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ที่ควรจะเริ่มต้นจากการเกษตร อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตร การท่องเที่ยว การพัฒนาการศึกษา โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่เอาปริมาณก๊าซธรรมชาติเป็นตัวตั้ง แล้วกำหนดจากข้างบน

แต่ในที่นี้จะขอเรียนต่อศาลใน 3 ประการแรกเท่านั้น

สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้าน ที่คัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2545 บริเวณหน้าโรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี นายสักกริยา หมะหวังเอียด กับพวกรวม 25 คน เป็นโจทก์ และ พล.ต.อ.เอกสันต์ ศรุตานนท์ กับพวกรวม 38 คน เป็นจำเลย  ข้าพเจ้าได้รับหมายเรียกจากศาลจังหวัดสงขลา เพื่อให้เป็นพยานโจทก์ในคดีดังกล่าวในวันที่ 10 กรกฎาคม 2556

เพื่อไม่ให้คำให้การของข้าพเจ้าที่มีรายละเอียดทางวิชาการที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งอาจเป็นภาระของศาลในการบันทึก นอกจากนี้ยังเป็นการประหยัดเวลาอันมีค่าของทุกฝ่ายด้วย ข้าพเจ้าจึงได้ทำเป็นเอกสารเพื่อประกอบคำให้การดังต่อไปนี้

 

ข้าพเจ้าเริ่มรับรู้โครงการนี้เมื่อใด อย่างไรและในสถานะใด

 

ข้าพเจ้าเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์  โดยหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัยมี 4 ด้าน คือ สอน วิจัย บริการวิชาการ และทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ข้าพเจ้าเริ่มรับรู้ว่าจะมีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2540 โดยการเข้าร่วมเสวนาที่อาคารสหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งจัดโดยกลุ่มครู ในครั้งนั้นข้าพเจ้าจำได้ว่า มีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายสุพล ทับทิมจรูญ ประชาสัมพันธ์โครงการ ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ยังไม่ได้แปรรูปและถือเป็นหน่วยงานทางธุรกิจด้านพลังงานแห่งชาติ) ในวงสนทนามีผู้แสดงความสงสัยหลายประการ พร้อมกับได้เอกสารไปศึกษาเพิ่มเติม ข้าพเจ้าจำได้ว่าในเอกสารดังกล่าว มีการพูดถึงการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในพื้นที่จ.สงขลา ด้วย

ในเวลาต่อมาข้าพเจ้าได้รับคำร้องขอจากหญิงชราชาวอ.จะนะคนหนึ่งว่า “พวกฉันเป็นชาวบ้าน พวกฉันไม่มีความรู้ อาจารย์เป็นคนมีความรู้ อาจารย์ช่วยหาความรู้มาให้พวกฉัน แล้วพวกฉันจะคิดเอง” ประกอบหน้าที่หลักข้อที่ 3 ของมหาวิทยาลัยคือ การบริการวิชาการทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ข้าพเจ้าจะต้องหาความรู้มาให้ชาวบ้านและสังคมผู้เสียภาษีมาจ่ายเงินเดือนให้ข้าพเจ้า

อาจมีผู้สงสัยว่า นักคณิตศาสตร์จะมีความรู้เกี่ยวกับโครงการด้านพลังงานได้อย่างไร ในประเด็นนี้ข้าพเจ้าขอเรียนว่า คุณสมบัติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (พ.ร.บ. 2550) ได้ระบุว่า ให้นักคณิตศาสตร์ อยู่ในอันดับที่สอง จากทั้งหมดประมาณ 10 สาขา

เมื่อได้รับการขอร้องจากชาวบ้านและเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าจึงได้ลงมือศึกษาทั้งจากเอกสาร รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รวมทั้งการค้นคว้าจากเอกสารต่างในอินเตอร์เนต นอกจากนี้ ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมประชุมระดับโลกด้านพลังงานหมุนเวียน 2 ปีติดต่อกัน คือปี 2547 ที่ประเทศเยอรมนี และ 2548 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อได้รับข้อมูล ความรู้ ข้าพเจ้าก็ใช้ทักษะทางคณิตศาสตร์ จนเกิดเป็นความเข้าใจจนเป็นที่มั่นใจแล้ว ข้าพเจ้าก็เผยแพร่ความรู้แก่สาธารณะผ่านสื่อต่าง ๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้

นอกจากนี้ ในช่วงที่ข้าพเจ้าเริ่มศึกษาโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ประเทศไทยเราได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือที่รู้จักกันทั่วโลกว่า “โรคต้มยำกุ้ง” พร้อม ๆ กับมีข่าวการทุจริตเกิดขึ้นบ่อยๆ เช่น “ค่าโง่ทางด่วน 6,200 ล้านบาท” รวมทั้งที่ไม่ค่อยมีคนรับทราบคือ “ค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายท่อก๊าซไทย-พม่า” นับหลายหมื่นล้านบาท (ซึ่งจะกล่าวถึงในภายหลัง) ทำให้ข้าพเจ้าต้องครุ่นคิดอย่างหนักถึงกับทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐ กำลังจะนำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เข้ามา โดยมุ่งเน้นการโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพียงด้านเดียว และมักจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเห็นต่างได้มีโอกาสแสดงออก

ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้พบคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ความตอนหนึ่งว่า  “คำว่าพัฒนาตามตัวหนังสือนั้นแปลว่า มากขึ้นเท่านั้น บ้าก็ได้ ดีก็ได้” แต่คนในสังคมไทยได้ถูกผู้มีอำนาจทำให้เชื่อว่า การพัฒนาคือการมากขึ้นของด้านที่ดีเท่านั้น

ด้วยเหตุและปัจจัยดังที่กล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้าจึงระลึกถึงประโยคที่ว่า “อาจารย์อย่าเอาแต่นอน” อยู่เสมอ ๆ ดังปรากฏในงานเขียน ทั้งในรูปบทความและหนังสือจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือเล่มนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการกองทุนสื่อเพื่อประชาสังคมต้านคอร์รัปชั่น (สปต.)

ข้าพเจ้าเชื่อว่า สภาพของคนไทยที่ต้องแบกรับภาระที่ไม่จำเป็นด้านพลังงาน ก็คงไม่ต่างจากภาพของลาตัวนี้ ที่เจ้าของมีความโลภให้ต้องลากเกวียนที่หนักเกินไปจนขาลอยเต่งเต้ง

ในช่วง 5 ปีสุดท้าย ก่อนเกษียณราชการ ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายจากคณะวิทยาศาสตร์ ให้เป็นผู้สอนวิชาด้านสิ่งแวดล้อม เพิ่มเติมจากวิชาคณิตศาสตร์ คือ วิชาวิทยาเขตสีเขียว (Greening the Campus) ซึ่งเป็นวิชาที่ให้นักศึกษาทำวิจัยและปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในวิทยาเขต

 

เหตุผลที่คัดค้านประการที่หนึ่ง

 

ความไม่ชอบมาพากลและไม่ชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการดำเนินโครงการ ในที่นี้จะขอกล่าวถึง ความไม่ชอบมาพากล  6 ประการ และ ความไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2 ประการ ดังต่อไปนี้

ความไม่ชอบมาพากลประการที่หนึ่ง : แผนเดิมก๊าซของไทยไม่ขึ้นฝั่งสงขลา

จากเอกสารของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ที่ได้เผยแพร่ในปี 2539 พบว่า เดิมทีเดียวนั้น ทาง ปตท.ไม่ได้วางแผนที่จะสร้างท่อก๊าซที่จ.สงขลา แต่จะนำก๊าซในพื้นที่เจดีเอในส่วนที่เป็นของประเทศไทยนั้นไปสู่มาบตาพุด จ.ระยอง (ดังภาพข้างล่างนี้)

 

 

ขณะเดียวกัน ก๊าซในส่วนของประเทศมาเลเซีย ก็จะถูกส่งไปตามท่อทางทะเลแล้วไปเชื่อมต่อกับระบบของประเทศมาเลเซีย แต่ไม่ทราบด้วยเหตุใดจึงมีการปรับแผนมาขึ้นฝั่งที่อ.จะนะ จ.สงขลา ดังปัจจุบัน นี่เป็นความไม่ชอบมาพากลประการแรก

 

ความไม่ชอบมาพากลประการที่สอง : ไม่ทบทวนบทเรียนในอดีต

 

ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจ (2 กรกฎาคม 2540) ความจำเป็นในการใช้ก๊าซลดลง แต่การเซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2542 หลังจากเกิดวิกฤตแล้วกว่า 2 ปี ซึ่งในเวลานั้นความเสียหายที่เกิดจาก “ค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่าย (Take or Pay)” จากโครงการท่อก๊าซไทย-พม่า (ซึ่งจะกล่าวเพิ่มเติมในภายหลัง) ได้เกิดขึ้นแล้วประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน ทั้งกลุ่มประชาชนในพื้นที่โครงการและกลุ่มนักวิชาการก็ได้ยื่นหนังสือให้รัฐบาลทบทวน  แต่รัฐบาลก็ไม่ทบทวน กลับเดินหน้าไปเซ็นสัญญาต่อไปทั้ง ๆ ที่ก๊าซจากโครงการไทย-พม่าก็ยังใช้ได้ครบตามสัญญา

ความไม่ชอบมาพากลประการที่สาม: ปิดบังความจริงที่สำคัญ  

ในขณะที่กระแสการคัดค้านยังคงดำเนินต่อไป ผู้บริหารระดับสูงของ ปตท. และภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ออกข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ ว่า  หากไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างท่อก๊าซได้ทันตามกำหนด ประเทศ (ขณะนั้น ปตท.เป็นของรัฐ 100 %) จะต้องเสียค่า Take or pay หลายหมื่นล้านบาท ต่างๆ นานา

แต่ความจริงได้ปรากฎในเวลาต่อมาว่า ข่าวข้างต้นเป็นเท็จ ดังหนังสือที่ 520/11/464 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2545 จากกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ถึงผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สรุปสาระสำคัญได้ว่า 

ปตท.ได้โอนสิทธิและความรับผิดชอบการรับก๊าซในช่วงต้นของสัญญาให้แก่ Petronas แล้ว ดังนั้นไม่อยู่ในข่ายที่จะรับผิดชอบต่อภาระค่า Take or pay

 

 

 

 

 

นอกจากนั้น หนังสือดังกล่าวยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากสาเหตุความล่าช้าเกิดจากเหตุสุดวิสัยตามข้อกำหนดของสัญญาและอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทซึ่งรวมถึงการได้รับอนุมัติการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ล่าช้าด้วย ข้าพเจ้าได้จะขอแนบเอกสารทั้งฉบับให้ศาลด้วย

 

ความไม่ชอบมาพากลประการที่สี่: คำอธิบายที่ไม่มีเหตุผล

 

วันที่ 4 มกราคม 2545 นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลงเยี่ยมพื้นที่ลานหอยเสียบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มคัดค้าน ฯ มีคนร่วมรับฟังนับหมื่นคน ท่านบอกับชาวบ้านว่า “ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ต้องมีคำอธิบายที่สังคมเข้าใจได้” ตอนค่ำท่านนายกฯได้รับฟังความคิดเห็นกับกลุ่มนักวิชาการที่คัดค้าน (รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย) ในระหว่างการแลกเปลี่ยนท่านแสดงท่าทีเห็นด้วยกับข้อมูลด้านพลังงานโดยเฉพาะประเด็นโรงไฟฟ้าที่ล้นเกิน (ท่านพูดว่าเนื่องจาก “การคาดการณ์ที่ผิดพลาดทำให้เรามีโรงไฟฟ้าเหลือคิดเป็นมูลค่าถึง 4 แสนล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง”) และก๊าซเหลือจากพม่าที่ทำให้ไทยต้องเสีย “ค่าไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ท่านบอกว่า “เรื่องนี้เกิดในสมัย ส.ส. สงขลาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลนี้กำลังแก้ปัญหาอยู่”

ท่านนายกรัฐมนตรีได้รับปากกับชาวบ้านว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรจะต้องมีคำอธิบายที่เข้าใจได้ให้กับชาวบ้านและประชาชน

ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 สำนักนายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์เรื่องการพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการท่อส่งก๊าซและสถานีแยกก๊าซไทย–มาเลเซีย สรุปว่า รัฐบาลตกลงให้ดำเนินการต่อไปตามสัญญา และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาส่งผลกระทบต่อสังคมและชุมชน จะให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เปลี่ยนจุดวางท่อขึ้นฝั่งจากจุดเดิมไปในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้แล้วและให้ทำความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ด้วย

ข้าพเจ้าสงสัยว่า เพียงการย้ายท่อก๊าซไปจากแนวเดิมเพียง 4.8 กิโลเมตร จะทำให้ค่าไม่ใช้ก็ต้องจ่ายหมดไปได้อย่างไร นายกรัฐมนตรีไม่ได้ตอบคำถามเลยว่าจะนำก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นสมบัติของชาติไปใช้ทำอะไร จะทำให้ทิศทางในการพัฒนา (ซึ่งท่านพุทธทาสหมายถึงการมากขึ้นของความบ้าก็ได้ ความดีก็ได้) หันมาอยู่ในร่องในรอยเพื่อให้ความดีมากขึ้นได้อย่างไร

การตัดสินใจที่ปราศจากเหตุผลที่พอจะรับฟังได้ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ข้าพเจ้าหมดศรัทธาในตัวท่านทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นข้าพเจ้าได้เลือกพรรคการเมืองของท่าน

 

ความไม่ชอบมาพากลประการที่ห้า: การรับฟังความเป็นแค่พิธีกรรม

 

เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2545 พล.อ.ชัยศึก เกตุทัต ประธานคณะกรรมการติดตามและประสานงานตามคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี ได้เชิญนักวิชาการฝ่ายคัดค้านจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4 คน (รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย) ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒน์, สพช. กรมทรัพยากรธรณี กรมโรงงานอุตสาหกรรมฯลฯ ก่อนปิดรายการหลังจากถกกันนาน 7 ชั่วโมง ก่อนปิดประชุม ประธานได้ถามที่ประชุมว่าใครมีความเห็นอะไรไหม ข้าราชการท่านหนึ่ง (นายกวี จงคงคาวุฒิ) ได้ลุกขึ้นมาพูดว่า “เรื่องก๊าซผมเห็นด้วยกับฝ่ายคัดค้านเพราะมีเหตุผลและไม่จำเป็น” ปรากฏว่าบรรยากาศในที่ประชุมเงียบกริบ แล้วก็ปิดประชุม ข้าพเจ้าทราบในเวลาไม่นานต่อมาว่า ข้าราชการท่านนี้ได้ลาออกจากราชการไปแล้ว

ขณะเดียวกันในเวลาต่อมา ประธานในที่ประชุมท่านนี้ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชุดเดียวกันกับ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ จำเลยที่หนึ่งในคดีนี้ (จากรายงานประจำปีของบริษัท ปตท.2546)

ความไม่ชอบมาพากลประการที่หก : นอกจากไม่รับฟังแล้วยังใช้อำนาจรัฐคุกคาม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  วุฒิสภา ผลงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพา รวมทั้งการรวมตัวของนักวิชาการกว่า 1,300 คน ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากมากในสังคมไทย ต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการ แต่รัฐบาลก็ไม่รับฟัง

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2545 นางฮีน่า จิลานี ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงผลการเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นเวลา 10 วัน ว่า “ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับจากการเยือนไทยในครั้งนี้ ทำให้ดิฉันรู้สึกห่วงใยเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและความปลอดภัยของกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชน เนื่องจากได้ทราบว่ามีการทำลายความน่าเชื่อถือของเอ็นจีโอ มีการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้น โดยใช้กลไกของรัฐคุกคามข่มขู่ การข่มขู่บางครั้งถึงขั้นจะเอาชีวิต มีความพยายามจะแทรกแซงการเข้าถึงแหล่งทุนของเอ็นจีโอ ซึ่งดิฉันขอเตือนว่าหากมีเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็เท่ากับเป็นการขัดขวางความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย" นางจิลานีกล่าว และเสริมว่า “การที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามฟอกเงิน (ปปง.)ใช้กฎหมายเข้ามาตรวจสอบธุรกรรมของผู้สื่อข่าวก็ถือว่าเป็นการใช้อำนาจที่ผิด“


 

ความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการที่หนึ่ง

 

นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และนางเครือพันธ์ ใบตระกูล ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวว่า คณะผู้ชำนาญการได้เห็นชอบอีไอเอโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียแล้ว เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2544 ในขณะที่ผู้ชำนาญการบางท่านยืนยันผ่านสื่อมวลชนว่า ทางคณะผู้ชำนาญการ ยังไม่อนุมัติอีไอเอของโครงการท่อก๊าซฯ เนื่องจากยังไม่เห็นชอบกับการศึกษาผลกระทบทางสังคม การกระทำของ สผ.ที่อ้างว่า มีการอนุมัติอีเอไอโครงการท่อก๊าซฯ ไม่ได้คำนึงถึงมติความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ ของคณะผู้ชำนาญการ ซึ่งเท่ากับการทำผิดข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 พร้อมกับชี้ว่าการศึกษาผลกระทบทางสังคมที่ยังไม่ผ่าน ก็เพราะแนวทางการแก้ปัญหาทางสังคมที่จะเกิดขึ้นในโครงการนี้ มีลักษณะเป็นคำสั่งจากเบื้องบนคือ การสั่งให้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ สนับสนุนโครงการ  โดยไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนแต่อย่างใด

 

 

 

ความไม่ชอบด้วยกฎหมายประการที่สอง

 

การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เรียกว่า “ประชาพิจารณ์” ตามระเบียบประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปี 2539 เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน “แสดงความคิดเห็นในปัญหาสำคัญของชาติที่มีข้อโต้เถียงหลายฝ่าย สำหรับเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจของรัฐ ในการดำเนินงานอันมีผลกระทบต่อประชาชน” แต่ปรากฎว่า ผู้จัดไม่เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเห็นโต้แย้งเข้าร่วม

การประชาพิจารณ์ครั้งแรก (วันที่ 29 กรกฎาคม 2543) ได้ถูกประกาศยกเลิกไป เพราะกลุ่มผู้ขัดขวาง ต่อมาในวันที่ 21 ตุลาคม 2543 การประชาพิจารณ์ก็เกิดขึ้นได้อีก โดยใช้เวลาประมาณ 25 นาทีก็ต้องยุติ

ต่อมา (วันที่ 12 ธันวาคม 2543) คณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งผลการตีความต่อกระทรวงอุตสาหกรรมที่ขอความเห็นถึงข้อกฎหมายการทำประชาพิจารณ์โครงการท่อก๊าซฯ และโรงแยกก๊าซฯ ไทย-มาเลเซีย ว่าโครงการนี้ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์เพราะเป็นของบริษัทเอกชน และกฎหมายลูกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 59 ยังไม่ออกจึงยังไม่มีหน้าที่ผูกพันทางกฎหมาย

ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับผลการตีความอย่างตื้น ๆ ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นที่ว่าเป็นบริษัทเอกชนแล้วไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ เพราะเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคนขึ้นมาใช้ในเวลาที่ไม่เหมาะสม  คำถามของข้าพเจ้าคือรัฐบาลจะเอาก๊าซไปทำอะไรและอย่างไร

 

 

เหตุผลในการคัดค้านประการที่สอง

 

ภาคใต้และประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซธรรมชาติ (ตามแผน) มากถึงขนาดนั้น หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้เหตุผลว่าจะนำก๊าซจากแหล่งเจดีเอขึ้นมาพัฒนาพื้นที่ภาคใต้  จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า จะใช้ในจำนวนเท่าใดและก๊าซที่ผลิตได้มีจำนวนเท่าใด

จากผลการศึกษาของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานอีไอเอของโครงการ(ตารางที่ 2.12) พบว่า ขึ้นอยู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ดังตารางข้างล่างนี้

 

 

โดยสรุป หากเศรษฐกิจฟื้นตัวปานกลาง ในปี 2548 และ 2553 จะมีการใช้ในอัตรา 46.87 และ 94.17 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน   โดยที่ก๊าซส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในโรงไฟฟ้า

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่แผนดังกล่าวระบุว่าจะมีโรงไฟฟ้า 2 โรง แต่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2002 (2545) ไม่ได้บรรจุไว้แต่อย่างใด

 

 

ข้าพเจ้าจำได้ว่า ในการชี้แจงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยต่อคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา (13 มีนาคม 2546- อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ เป็นเลขานุการ) ข้าพเจ้าก็ได้ร่วมประชุมอยู่ด้วย

โรงไฟฟ้าสงขลาที่อ.จะนะ ขนาด 710 เมกะวัตต์เป็นโรงไฟฟ้าที่เพิ่งวางแผนในภายหลัง โดยมีเหตุผลว่า “เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย” โดยได้รับการให้บรรจุในแผนเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2546 ข้าพเจ้าเคยเรียกโรงไฟฟ้านี้ว่า “โรงไฟฟ้านินจา”

งานวิจัยของ รศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สรุปว่า “ผลจากโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซและท่อก๊าซนี้ จะยังไม่เข้ามาตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้ในระยะ 15 ปีข้างหน้าโดยตรง” ดังรายละเอียดที่แนบ

 

ข้อมูลที่น่าจะทำให้เราเข้าใจการใช้ก๊าซได้ดีขึ้นก็คือ จากสถิติของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพบว่า ก๊าซจำนวน 8.5 ลูกบาศก์ฟุตสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1 หน่วย ดังนั้น ถ้าโรงไฟฟ้าทำงาน 70 เปอร์เซนต์ ของเวลาทั้งหมด อัตราการไหลของก๊าซ 84.80 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะเพียงพอสำหรับป้อนโรงไฟฟ้าขนาด 594 เมกะวัตต์ซึ่งถือว่าเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (ความต้องการไฟฟ้าของจังหวัดสงขลาประมาณ 460 เมกะวัตต์)

 

คำถามต่อมาก็คือ ตามแผนการนั้นก๊าซจะขึ้นมาเท่าใด

 

ประเทศไทยมีแผนการจะต้องรับซื้อก๊าซจากแหล่งเจดีเอ (ทั้งจากแปลง A-18 และ B-17) ในปี 2548 และ 2553 เป็นจำนวน 460 และ 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามลำดับ แต่ความต้องการใช้ก๊าซในพื้นที่โครงการอยู่ในระดับประมาณ 1 ถึง 10 เปอร์เซนต์ ของปริมาณก๊าซที่จะต้องซื้อตามสัญญาเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจว่าเติบโตช้าหรือเร็ว (ดังตารางที่ปรากฏในอีไอเอ ซึ่งได้แนบมาด้วยแล้ว)

 

ข้าพเจ้าขออนุญาตคัดลอกมาพิจารณาเฉพาะบางส่วน ดังนี้

 

พ.ศ. สัญญาที่ไทยรับซื้อ (ล้านลบ.ฟุตต่อวัน) การใช้ในพื้นที่โครงการ เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า-เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว

2548                460                                                      4.03                             47.42

2553                900                                                      50.46                           96.05

ตารางดังกล่าวมาจากการคาดหมายล่วงหน้า  แต่จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน www.eppo.go.th พบว่า ประเทศไทยสามารถรับก๊าซจากแหล่งเจดีเอเป็นครั้งแรกในปี 2551 เป็นจำนวน 126 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น

และในปี 2553 ซึ่งมีแผนการจะรับซื้อเป็นจำนวน 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ซื้อได้จริงเพียง 649  ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น ดังตารางที่แนบมาด้วยนี้

อนึ่ง ได้มีการเจรจาระหว่างผู้ผลิตก๊าซในแปลง A-18 กับบริษัท ปตท.จำกัด เพื่อเลื่อนการรับซื้อก๊าซไปเป็นปี 2550 แต่ก็สามารถรับได้จริงในปี 2551 และรับได้ในจำนวนที่ต่ำกว่าสัญญาตลอดมา จึงทำให้เสียค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่าย (Take or pay)

ข้าพเจ้าอยากจะทราบว่า ในช่วงปี 2552 ถึง 2555 ค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายในโครงการไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ ซึ่งรวมถึง A-18 และ B-17) ได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าใด  แต่ก็ไม่มีรายงานจากบริษัท ปตท.

 

ปริมาณการผลิตและใช้ก๊าซในปี 2554 

 

จากรายงานประจำปี 2554 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (หน้า 111-113) ได้สรุปการใช้ก๊าซดังนี้

แปลง  A-18 ผลิต 844 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ส่วนที่หนึ่ง ขึ้นฝั่งสงขลา วันละ 533 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

-ส่งให้มาเลเซีย 430 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

-ส่งให้โรงไฟฟ้าจะนะและผลิตเป็นเชื้อเพลิง NGV 103 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ส่วนที่สอง ส่งขึ้นไปทางเหนืออ่าวไทย 311 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

แปลง  B-17 ผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 347 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 

 

การรับตามแผน

 

มาเลเซียต้องรับจาก A-18 ในอัตรา 850 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (แต่รับได้จริง 430)

ไทยต้องรับจาก A-18 ในอัตรา 500  ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (แต่รับจริง 311)

จาก B-17 ในอัตรา 400  ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  (แต่รับจริง 347)

 

 

 

ดังนั้นตามสัญญาซื้อขายก๊าซ ทั้งบริษัทปิโตรนาสและปตท. ต้องเป็นผู้จ่ายค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายให้กับผู้ผลิต  แต่บริษัทปิโตรนาส ไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะบริษัทปิโตรนาสเป็นผู้ผลิตครึ่งหนึ่ง คล้ายๆ กับการจ่ายจากกระเป๋าซ้ายไปใส่กระเป๋าขวา แต่ประเทศไทย (ตอนนั้น ปตท. เป็นของรัฐ 100 เปอร์เซนต์) ต้องจ่ายค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายไปทั้งหมด

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ข้าพเจ้าในฐานะนักวิชาการที่คัดค้านได้เขียนบทความเตือนไว้แล้ว แต่รัฐบาลไม่รับฟัง

จากรายงานประจำปี 2551 (หน้า 92) ของบริษัท ปตท.จำกัด พบว่า เฉพาะในช่วง 2 ปีแรกที่สัญญามีผลบังคับใช้ ค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายในแปลง A-18 (แต่ทาง ปตท.เรียกว่า “ค่าซื้อก๊าซล่วงหน้า”) คิดเป็นเงิน 13,716.04 ล้านบาท

หมายเหตุ  จากสถิติการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.(อ้างแล้ว) พอประมาณได้ว่าโรงไฟฟ้าจะนะใช้ก๊าซวันละ 101 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  นั่นหมายความว่า หาก กฟผ.ไม่สร้างโรงไฟฟ้ามาเสริม(ในภายหลัง) การใช้ก๊าซในพื้นที่โครงการก็แทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

 

ภาระที่ไม่จำเป็นจากท่อก๊าซไทย-พม่า ถึง ไทย-มาเลเซีย จากรายงานประจำปี 2552 (หน้า 114) มีข้อความตอนหนึ่งว่า

            “ปตท.ได้มีการจ่ายเงินล่วงหน้าค่าซื้อก๊าซธรรมชาติ ตามเงื่อนไข Take-or-Pay จากสัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติแหล่งยาดานาและเยตากุนของสหภาพพม่า อย่างไรก็ตาม ปตท. เรียกรับก๊าซธรรมชาติในส่วนของ Make-Up จากแหล่งเยตากุนได้ครบแล้ว คงเหลือแต่การเรียกรับก๊าซธรรมชาติในส่วนของ Make-Up จากแหล่งยาดานา”

จากข้อมูลในปี 2555 ดังกล่าว ทำให้เราทราบจากบริษัทเองว่า ค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายได้เกิดขึ้นทั้งกับโครงการไทย-พม่า และ ไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการไทย-พม่าซึ่งผ่านมา 15 ปีแล้ว ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถเรียกคืนเงินที่ได้จ่ายล่วงหน้าไปแล้วได้หมด

เอกสารอีกชิ้นหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้รับจากเวทีพูดคุยกับคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (วันที่ 30 มกราคม 2545) พบว่าค่าไม่ซื้อก็ต้องจ่ายในโครงการไทย-พม่า เฉพาะในช่วงปี 2541 ถึง 2543 คิดเป็นเงิน 31,054 ล้านบาท

เอกสารดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานขอผู้สอบบัญชีของสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546) หน้า 115

 

 

 

ประเด็นที่ข้าพเจ้าขอเรียนสรุปต่อศาลว่า หากรัฐบาลรับฟังเสียงท้วงติงของทุกฝ่ายรวมทั้งนักวิชาการดังที่กล่าวมาแล้ว ความเสียของประเทศก็จะไม่เกิดขึ้นรุนแรงถึงขนาดนี้

การตัดสินใจของรัฐบาลไทย (ทั้งรัฐบาลชวน หลีกภัย และรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร) นอกจากเป็นการตัดสินใจอย่างไม่ชอบมาพากลแล้ว ยังเป็นนำประเทศไทยไปผูกติดกับความต้องการของประเทศมาเลเซีย ทั้งๆ ที่มีทางออกที่เป็นเหตุสุดวิสัยและอีไอเอไม่ผ่านหรือล่าช้า (ซึ่งก็ยังไม่ผ่านจริงๆ)

 

เหตุผลในการคัดค้านประการที่สาม

 

ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์จากการผลิตก๊าซน้อยกว่าประเทศมาเลเซีย เพื่อเป็นการลำดับความเข้าใจ ข้าพเจ้าขอแบ่งเป็น 4 ข้อดังต่อไปนี้

พื้นที่ ปริมาณก๊าซ และบริษัทผู้ได้รับสัญญาให้ผลิต

พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) มีพื้นที่รวม 7,250 ตารางกิโลเมตร โดยประกอบด้วยพื้นที่ที่เรียกว่าแปลง  A-18 , B-17 และ C-19  ดังแผนที่ประกอบดังนี้

 

 

แปลง A-18 (มีพื้นที่รวม 3,000 ตารางกิโลเมตร) แต่มีก๊าซอยู่ 76.5 เปอร์เซนต์ ของปริมาณก๊าซทั้งหมดของพื้นที่เจดีเอ บริษัทที่ได้สิทธิในการสำรวจและขุดเจาะคือ บริษัท ไตรตันออยล์ จากประเทศไทย (50 เปอร์เซนต์-เป็นบริษัทอเมริกัน) กับบริษัทปิโตรนาส ชาริกาลี จากประเทศมาเลเซีย (50 เปอร์เซนต์-บริษัทแห่งชาติมาเลเซีย) ซึ่งบริษัททั้งสอง ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัท Carigali- Triton Company Sdn.Bhd. (CTOC) ขึ้นเป็นผู้ดำเนินงาน

แปลง   B-17 และ C-19 (พื้นที่ประมาณ 4,250 ตารางกิโลเมตร) แต่มีก๊าซอยู่ประมาณ 23.5 เปอร์เซนต์ ของทั้งหมด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากประเทศไทย (50 เปอร์เซนต์-ในขณะนั้นเป็นบริษัทแห่งชาติ) กับบริษัท ปิโตรนาส ชาริกาลี จากประเทศมาเลเซีย (50 เปอร์เซนต์) ซึ่งบริษัททั้งสองได้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท Carigali- PTTEPI Operating Company Sdn. Bhd. (CPOC) ขึ้นเป็น ผู้ดำเนินงาน อนึ่ง ปริมาณก๊าซในแหล่ง C-19 ไม่ปรากฎในรายงานอีไอเอ

การรับซื้อก๊าซในแหล่งเจดีเอ ทั้งสองประเทศตกลงจะรับซื้อในปริมาณที่เท่ากัน หรือที่เรียกว่า 50 : 50 แต่การได้รับสิทธิ์การขุดเจาะนั้น บริษัทแห่งชาติของไทยไม่ได้สิทธิ์ในแปลง  A-18 (ซึ่งมีก๊าซมากถึง 76.5 เปอร์เซนต์) แต่ได้สิทธิ์ผลิตจำนวนครึ่งหนึ่งของแปลง B-17 ซึ่งมีก๊าซเพียง 23.5 เปอร์เซนต์ เท่านั้น

 

 

 

 

การแบ่งปันผลประโยชน์จากการผลิตในแหล่งอื่นๆ ของประเทศไทย

 

ก่อนที่จะกล่าวถึงการแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่เจดีเอ ข้าพเจ้าขออนุญาตกล่าวถึงผลประโยชน์ที่ประเทศไทยได้รับจากการให้สัมปทานปิโตรเลียมแปลงอื่นๆ ของประเทศไทยก่อน

รายได้ของประเทศไทยจะประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ (1) ค่าภาคหลวง (5-15 เปอร์เซนต์ ของมูลค่าปิโตรเลียม) (2) ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (หลังจากหักต้นทุนแล้ว) ในอัตรา 50-60 เปอร์เซนต์ แต่เก็บจริงที่ 50 เปอร์เซนต์ และ (3) ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลประโยชน์และค่าใช้จ่าย  ข้าพเจ้าสรุปได้ดังตารางข้างล่างนี้

 

 

 

 

ตลอด 40 ปี คือ 2514-2554 เงินลงทุนของบริษัทสัมปทานเท่ากับร้อยละ 42.78 ของมูลค่าปิโตรเลียม แต่เฉพาะปี 2553 กับ 2554 พบว่าบริษัทขุดเจาะได้ลงทุนร้อยละ 37.34 และ 34.36 ของมูลค่าผลผล (กฎหมายระบุว่าหักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50 เปอร์เซนต์)

ประเด็นการหักต้นทุนที่ลง เป็นประเด็นสำคัญ  ในช่วงประมาณปี 2528-2532 ประเทศไทยเคยใช้สัญญาที่เรียกว่า “Thailand II” (ซึ่งได้แนวคิดมาจากประเทศมาเลเซีย) กล่าวคือให้บริษัทหักต้นทุนได้ไม่เกิน 20% ของมูลค่าปิโตรเลียม  หากลงทุนเกินให้นำไปหักได้ในปีถัดไป  แต่แนวคิดนี้ได้ถูกยกเลิกไป

 

จากตารางข้างต้น เราพบว่า รัฐได้รับส่วนแบ่งทุกส่วนคือรายการ (2) + (3) + (4) รวมกัน 

 

 

นั่นคือ ผลประโยชน์ที่บริษัทได้รับไม่ถึงร้อยละ 70

การแบ่งปันผลประโยชน์จากการผลิตในแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย

จาก พ.ร.บ.องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย 2533 สามารถสรุปได้ดังแผนผังนี้

 

จากแผนผังดังกล่าว (ซึ่งตีความมาจากมาตรา 10 และ มาตรา 17) รัฐบาลของแต่ละประเทศจะได้รับค่าภาคหลวงร้อยละ 5 ของมูลค่าผลผลิต ในขณะที่บริษัทที่รับสัมปทานขุดเจาะจะได้รับผลประโยชน์ 2 ต่อ คือ ต่อแรก 50 เปอร์เซนต์ ของมูลค่าผลผลิตเพื่อหักเป็นค่าใช้จ่าย กับต่อที่สองคือผลกำไร 20 เปอร์เซนต์ รวมทั้งสองต่อบริษัทที่ขุดเจาะจะได้รับส่วนแบ่งไป 70 เปอร์เซนต์

แต่ในแปลง  A-18 ไม่มีบริษัทแห่งชาติของประเทศไทยเข้าร่วมขุดด้วย ในขณะที่บริษัทแห่งชาติของมาเลเซียได้ร่วมขุดเจาะทั้ง 2 แปลง

จากข้อมูลผลตอบแทนของบริษัทที่ได้รับสัมปทานในประเทศไทย พบว่า ประเทศไทยอนุญาตให้หักต้นทุนได้ไม่เกิน 50 เปอร์เซนต์ ของมูลค่าปิโตรเลียม (ซึ่งก่อนหน้านี้อนุญาตให้หักได้ไม่เกิน 20 เปอร์เซนต์) ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อว่า ประเทศไทยซึ่งไม่ได้ร่วมขุดเจาะด้วยได้รับผลประโยชน์น้อยกว่ามาเลเซีย

ข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจการตีความในมาตรา 17 ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป) เพื่อความกระจ่าง ข้าพเจ้าขอคัดลอกมาตรา 10 และ 17 บางส่วนมาไว้ในที่นี้

จากเว็บไซต์ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของบริษัทขุดเจาะเท่ากับร้อยละศูนย์ในช่วง 8 ปีแรก และร้อยละ 10 ในช่วง 7 ปีหลัง

ดังนั้น จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติดังกล่าว เราสามารถได้อย่างคร่าวๆ ว่า บริษัทขุดเจาะเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเพียงประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น (8 ปีแรก 0 เปอร์เซนต์, 7 ปีถัดมา 10 เปอร์เซนต์) เพราะจากรายงานอีไอเอระบุว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนก๊าซจะหมดภายใน 20 ปี

ในขณะที่บริษัทขุดเจาะในประเทศไทยต้องเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมร้อยละ 50 ถึง 60 (แต่เก็บจริงที่ 50 เปอร์เซนต์)

ภาษีเงินได้ รัฐบาลไทยให้ออกพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 332/2541 ให้แก่องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย 2533ภาษีมูลค่าเพิ่ม รัฐบาลไทยให้ออกพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 348/2542 ให้แก่องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย 2533ภาษีนำเข้าเครื่องจักรและท่อก๊าซของบริษัททีทีเอ็ม ซึ่งดำเนินการวางท่อและโรงแยกก๊าซ ได้รับการยกเว้นเพราะได้รับการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ได้เริ่มต้นมานานกว่า 15 ปีแล้ว แต่วันนี้ได้ปรากฏชัดเจนว่า ข้อคัดค้านในประเด็นที่ 2 และ 3 นั้นเป็นจริงดังที่ได้เรียนมาแล้ว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: