จากการศึกษาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2555 พบว่า มีปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมเกิดขึ้นทั่วประเทศจำนวน 3.95 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 84 ของจำนวนของเสียทั้งหมด แม้ว่าจะมีการกำกับดูแลการจัดการการของเสีย ที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยโรงงานรับจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เป็นของเสียอันตรายทั้งประเทศกว่า 300 แห่ง สามารถรองรับของเสียอันตรายได้กว่า 10 ล้านตัน แต่ยังคงพบปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียในปี 2555 ซึ่งมีการร้องเรียนในหลายพื้นที่ทั้งนิคมอุตสาหกรรมบางปู ต.บางปู อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ต.หนองแหน อ.พนมสาคาม จ.ฉะเชิงเทรา อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี อ.ปลวกแดง จ.ระยอง และบางพื้นที่ในจ.มหาสารคาม เป็นต้น จากปัญหาดังกล่าวหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จึงนำไปสู่การเร่งทบทวนและเพิ่มมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบและบริหารกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย
คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม จัดสัมมนา “ผ่าทางตัน...การจัดการของเสียอุตสาหกรรม” เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยมี นายเสรี อติภัทธะ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) น.ส.สมจินต์ พิลึก รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเสวนา
คพ.แนะมาตรการจัดการกากอุตสาหกรรม
นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า พื้นที่ 5 จังหวัดที่พบว่า มีปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมากคือ พื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ และปราจีนบุรี ซึ่งการแก้ปัญหาควรเน้น 3 ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือ 1.ผู้ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรม คือโรงงาน 2.ผู้ขนส่ง 3.ผู้กำจัดกากอุตสาหกรรม โดยกรมควบคุมมลพิษ เสนอมาตรการ คือ 1.มาตรการเกี่ยวกับโรงงาน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องให้โรงงาน 14 ประเภทที่เกิดกากอุตสาหกรรม เข้าระบบกำจัดกากให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์เพื่อเป็นการจัดการที่ต้นทางของการเกิดกากอุตสาหกรรม และเข้มงวดในการให้ใบอนุญาตและร่วมกันตรวจสอบ โรงงานประเภท 150 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝั่งกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีลักษณะ และคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และโรงงานประเภท 106 (โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม)
โทษเบาโรงงานมักง่ายทิ้งเรี่ยราด
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษกล่าวต่อว่า 3.กระทรวงอุตสาหกรรม ควรเพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้น ปัจจุบันค่าปรับอยู่ที่ 10,000-20,000 บาท จากการตรวจสอบพบว่า มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมกันมากและไม่เกรงกลัว หากถูกจับได้ก็พร้อมเสียค่าปรับ เพราะถูกกว่าการกำจัดอย่างถูกต้อง 4.การประชาสัมพันธ์ โดยให้กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์ไปยังเจ้าของที่ดินต่าง ๆ ไม่ให้เช่าที่ดินเพื่อทิ้งกากอุตสาหกรรมหรือรับของเสียจากกากอุตสาหกรรม ซึ่งการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ดังกล่าวควรทำอย่างต่อเนื่อง 5.การออกสำรวจในพื้นที่เสี่ยง 25 จังหวัด และเข้มงวดเป็นพิเศษใน 5 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง 6.เสนอมาตรการ 3 ฝ่าย โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยตรวจสอบ 7.เรื่องงบประมาณและการจัดการ เสนอให้มีการปรับปรุงกองทุนสิ่งแวดล้อม 8.ให้กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม
ผู้มีอิทธิพลฮั้วโรงงานชุ่ยทิ้งมั่ว-แบ่งเงินค่าบำบัด
ขณะที่ นายเสรี อติภัทธะ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ปัจจุบันมีกากอุตสาหกรรมทั้งหมด 40 ล้านตัน โดยเป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย 2.7 ล้านตัน ซึ่งของเสียจากอุตสาหกรรมบางประเภทควรยกเลิก ไม่เข้าข่ายอยู่ในประเภทกากของเสียอุตสาหกรรมแล้วเช่น ขี้เลื้อย ขี้แกลบ ด้านความคาดหวังที่ให้กากของเสียอุตสาหกรรมเข้าระบบการกำจัดให้ได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันเข้าระบบเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
“ปัญหาการกำจัดกากของเสียที่กรมโรงงานฯพบว่า ส่วนใหญ่ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ยื่นข้อเสนอให้ผู้ประกอบการนำกากของเสียอุตสาหกรรม มาทิ้งในสถานที่ของตน นำเงินที่ต้องเสียค่ากำจัดมาแบ่งกัน” นายเสรีกล่าว
กนอ.ระบุรง.เล็กไม่เข้าใจ-ผอ.นิคมฯไม่รู้เรื่อง
ทางด้าน น.ส.สมจินต์ พิลึก รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การนิคมฯ มีนโยบายชัดเจนว่า โรงงานทุกแห่งจะต้องเข้าสู่ระบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งโรงงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตามพ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 จำนวน 48 แห่ง ไม่รวมเขตอุตสาหกรรมหรือสวนอุตสาหกรรม มีโรงงานภายใต้นิคมอุตสาหกรรมประมาณ 4,000 แห่ง
จากการดำเนินการจัดการของเสียของการนิคมฯพบว่า ผู้ประกอบกิจการที่เป็นลักษณะโรงงานครอบครัว ขาดความรู้ความเข้าใจ การนิคมฯจะจัดเจ้าหน้าที่ลงไปส่งเสริมความรู้และความเข้าใจ ปัญหาต่อมาคือ ละเลยการปฏิบัติตามกฎหมาย พบว่านิคมอุตสาหกรรมที่มีขนาดเล็กและอยู่ห่างไกล ผอ.นิคมอุตสาหกรรมแห่งนั้นไม่เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตน การนิคมฯจึงจัดปฐมนิเทศ อบรมผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งผอ.นิคมนั้นๆ การขาดการติดตามตรวจสอบ การนิคมฯมีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังเพิ่มระบบติดตามตรวจสอบที่สามารถส่งข้อมูลมายังส่วนกลาง โดยผู้ว่าการนิคมฯ ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่า ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า จะมีศูนย์เฝ้าระวังครบทั้ง 7 ศูนย์ ตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ทางนิคมฯยังให้ทุกโรงงาน จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด EIA อย่างเคร่งครัด
ในนิคมฯแจ้งนำไปบำบัดถึง 3.53 ล้านตัน
รองผู้ว่าการการนิคมฯ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การจัดการกากของเสียในนิคมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน พบว่ามีจำนวนที่แจ้งขออนุญาตนำกากไปบำบัดจำนวน 3.53 ล้านตัน เป็นของเสียไม่อันตราย 3.08 ล้านตัน โดยของเสียที่ไม่อันตรายทางการนิคมฯ สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ นำมารีไซเคิลได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่นำไปกำจัดจริงมีเพียง 15 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการเผาร่วมในเตาปูน เผาในเตาของการนิคมฯ ฝังกลบและอื่น ๆ และของเสียอันตราย 0.45 ล้านตัน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ 1เปอร์เซ็นต์ รีไซเคิล 68 เปอร์เซ็นต์ และนำไปกำจัดจริง 31 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการเผาร่วมในเตาปูน เผาในเตาของการนิคมฯ ฝังกลบและอื่น ๆ
โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมประเภทของเสียไม่อันตรายในประเทศมีทั้งหมด 16 บริษัท คือ เชียงใหม่ 1 บริษัท รองรับได้ 0.3 พันตัน เพชรบูรณ์ 1 บริษัท รองรับได้ 14 พันตัน กาญจนบุรี 1 บริษัท รองรับได้ 150 พันตัน ราชบุรี 3 บริษัท รองรับได้ 76 พันตัน ปราจีนบุรี 1 บริษัท รองรับได้ 13 พันตัน สระบุรี 1 บริษัท รองรับได้ 140 พันตัน สระแก้ว 1 บริษัท รองรับได้ 36 พันตัน ฉะเชิงเทรา 2 บริษัท รองรับได้ 16.7 พันตัน ชลบุรี 2 บริษัท รองรับได้ 322 พันตัน ระยอง 2 บริษัท รองรับได้ 32 พันตัน สมุทรปราการ 1 บริษัท รองรับได้ 36 พันตัน เป็นเตาเผาจำนวน 1 บริษัท และหลุมฝังกลบ 15 บริษัท และโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมประเภทประเภทของเสียอันตรายมีทั้งหมด 14 บริษัท คือ ลำปาง 1 บริษัท รองรับได้ 0.4 ล้านตัน ราชบุรี 1 บริษัท รองรับได้ 0.05 ล้านตัน สระบุรี 8 บริษัท รองรับได้ 6.14 ล้านตัน สระแก้ว 1 บริษัท รองรับได้ 0.04 ล้านตัน อยุธยา 1 บริษัท รองรับได้ 0.001 ล้านตัน สมุทรปราการ 1 บริษัท รองรับได้ 0.01 ล้านตัน เป็นเตาเผาจำนวน 11 บริษัท รองรับได้ 9.4 ล้านตัน หลุมฝังกลบ 3 บริษัท รองรับได้ 0.2 ล้านตัน
ผู้รับบำบัด/กำจัด มีความสามารถในการรองรับกากอุตสาหกรรมได้ โครงสร้างของโรงงานรับกำจัดกากฯ อันตรายพบว่า เตาเผาร่วมปูนซิเมนต์ มีศักยภาพในการรองรับได้สูงสุดถึง 9.41 ล้านตันต่อปี แต่มีกากฯส่งไปกำจัด 0.6 ล้านตันต่อปี ในขณะที่หลุมฝังกลบแบบปลอดภัย มีศักยภาพในการรองรับเพียง 0.2 ล้านตันต่อปี มีกากส่งไปกำจัดถึง 0.1 ล้านตันต่อปี
การนิคมฯบังคับให้กำจัดในนิคมฯป้องกันทิ้งเรี่ยราด
“ที่ผ่านมาพบว่า มีปัญหาเรื่องการขนส่งกากออกไปกำจัดยังนอกพื้นที่นิคมฯ บริษัทผู้รับกำจัดบางแห่งไม่ได้มาตรฐาน มีการขนไปทิ้งไป เมื่อชาวบ้านพบเห็นจึงแจ้งเข้ามายังการนิคมฯ เพราะฉะนั้นการนิคมฯ จึงหาวิธีป้องกัน และไม่ต้องการให้ขนย้ายกากออกไปนอกพื้นที่ แต่ต้องการให้กำจัด บำบัดภายในนิคมฯ ทางการนิคมฯ จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งนิคมฯ และเครือข่ายหมุนเวียนทรัพยากรขึ้น” น.ส.สมจินต์กล่าว
ด้านนายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปริมาณกากฯจริง เกิดจากขยะชุมชน ประมาณ 15 ล้านตัน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มีการลักลอบทิ้ง เมื่อเทียบเคียงกับประเทศญี่ปุ่น ที่เกิดปัญหาการลักลอบทิ้งเช่นกัน เริ่มตั้งแต่ปี 1993 เรื่อยไปจนถึงปี 1999-2000 ที่มีสถิติการลักลอบทิ้งสูงถึง 1,000 กรณี และค่อย ๆ ลดลง จึงเสนอให้มีการเก็บสถิติตัวเลขการลักลอบทิ้งเพื่อตรวจสอบว่า ขณะนี้ปัญหาการลักลอบทิ้งกากฯในประเทศเป็นอย่างไร มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“การแก้ปัญหาไม่ควรแก้ที่ปลายเหตุ ที่น่าเป็นห่วงคือ ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และมีกากฯหรือขยะต่างๆ เมื่ออยู่ในพื้นที่สาธารณะแล้วตรวจสอบได้ยากว่าต้นตอมากจากที่ใด และไม่สนับสนุนการฝากที่ไว้กับชาวบ้าน เนื่องจากเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจะดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือดำเนินการกับผู้ใด และบทลงโทษการปรับ 200,000 บาท นั้นน้อยเกินไป” นายธีระพลกล่าว
กรมโรงงานของบผุดโรงกำจัด 4 แห่งทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ผ่านมา นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และรักษาการอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการบริหารจัดการกากของเสียอันตราย (เตาเผา) รวม 4 แห่งทั่วประเทศ สามารถรองรับกากอุตสาหกรรมได้รวมวันละ 700 ตัน ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอีก 20 ปีข้างหน้า รวมมูลค่า 6,600 ล้านบาท ตามปีงบประมาณ 2557 นี้ เนื่องจากเตาเผาในปัจจุบันมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ และในช่วงที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้รับการร้องเรียนค่อนข้างมากว่า มีการลักลอบทิ้งกากของเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาพรวม
ทั้งนี้ ตามการสำรวจที่ผ่านมาในปี 2555 มีปริมาณของเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายประมาณ 3.9 ล้านตัน และของเสียที่ไม่เป็นอันตรายประมาณ 45 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพราะตามแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. 2555-2574 ได้ผลักดันประเทศให้โดดเด่นในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักร และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่าอุตสาหกรรมจะขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงต้องเพิ่มความสามารถของระบบการกำจัดกากของเสียไว้รองรับ
“ขยะกากอุตสาหกรรมในประเทศที่เกิดขึ้นทั้ง 100 เปอร์เซนต์ จะมีเพียง 40 เปอร์เซนต์ เท่านั้นที่เข้าสู่การบำบัด การกำจัดทิ้งที่ถูกวิธี แต่อีก 60 เปอร์เซนต์ ไม่รู้ไปอยู่ไหน นั่นคือสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมค่อนข้างกังวลมาก ส่วนที่หายไป 60 เปอร์เซนต์ แสดงว่าต้องมีการลักลอบ จึงต้องมีการป้องกันไม่ให้มีการนำกากของเสียไปทิ้งหรือฝังกลบในที่สาธารณะ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรีบขับเคลื่อน เพราะการดูแลกากอุตสาหกรรมค่อนข้างปล่อยปละละเลยมานานแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโรงงานค่อนข้างมาก”
นายณัฐพลกล่าวว่า สำหรับโครงการบริหารจัดการกากของเสียอันตราย (เตาเผา) นอกจากต้องรอเสนอ ครม.เพื่ออนุมัติก่อนนั้น จากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมยังต้องรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ดีที่สุดทั้งในและต่างประเทศในประเภทเตาเผาขยะ เพื่อนำมาพิจารณาคัดเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ ยังเตรียมเสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานเข้าสู่ระบบการขออนุญาตจัดการกากอุตสาหกรรมมากขึ้น
“เราคงต้องมาทบทวนแผนแม่บทการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย และผลการศึกษาต่าง ๆ ทั้งของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรม รวมทั้งศึกษา วิเคราะห์ประเมินประเภท และปริมาณของเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมทั้งประเทศใน 20 ปีข้างหน้า โดยต้องจำแนกของเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทั้งตามลักษณะของเสียที่เป็นอันตราย ของเสียที่ไม่เป็นอันตราย และความสามารถในการรองรับของเสีย ของระบบกำจัดกากทั้งหมด ที่มีในปัจจุบันด้วย ก่อนทำเตาเผาตามโครงการใหม่”
ส่วนรูปแบบการดำเนินโครงการทั้ง 4 โครงการนี้ กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะลงทุนเองในช่วงเริ่มต้นแล้วให้สัมปทานภาคเอกชน เช่นกรณีเตาเผาขยะใน จ.สมุทรปราการ ที่ดำเนินการโดยบริษัท อัคคีปราการ จำกัด หรือไม่ รวมถึงทางเลือกอื่น ๆ คืออาจจะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการได้ ทั้งนี้ ยังต้องรอสรุปอีกครั้งหลังจาก ครม.เห็นชอบ ที่สำคัญคือต้องขึ้นอยู่กับว่างบประมาณที่ขอไปนั้นจะได้รับอนุมัติเท่าไร
ขอบคุณภาพประกอบข่าวจาก โพสต์ทูเดย์ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ประชาชาติธุรกิจ Google
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ