เปิดรายงานการเงิน 'สนง.ศาลยุติธรรม' พบบัญชีหมวด'รายจ่ายอื่นๆ'สูงผิดปกติ

ผู้สื่อข่าวพิเศษ ศูนย์ข่าว TCIJ 18 ต.ค. 2556 | อ่านแล้ว 6130 ครั้ง

สืบเนื่องจากในการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญทั่วไป (ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2556 เป็นต้นมา) มีวาระการพิจารณา “รายงานการตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2549 สำหรับปีสิ้นสุด วันที่ 30 กันยายน 2550 และ 2549 สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2551 และ 2550 สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2552 และ 2551 สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2553 และ 2552 และสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2554 และ 2553” ซึ่งจากรายงานฯ ฉบับนี้ คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา ได้เป็นผู้พิจารณา โดยคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา ได้ตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้

รายงานการตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงิน ของสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 และ 2549 คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภามีข้อสังเกตดังนี้

1.การบันทึกรายการบัญชีของสำนักงานศาลในรอบปีดังกล่าว ยังมีความสับสนระหว่างการใช้เกณฑ์เงินสดและเกณฑ์คงค้าง จึงขอให้มีการบันทึกบัญชีให้มีความชัดเจนเพื่อเป็นไปตามมาตรฐานบัญชี

2.การบันทึกรายการบัญชีของ “รายจ่ายอื่นๆ” มียอดเงินจำนวนสูงมาก แนะควรแยกหัวข้อรายจ่ายให้มีความชัดเจน เนื่องจากรายจ่ายอื่นคือรายจ่ายนอกเหนือรายจ่ายหลักไม่สมควรมี “รายจ่ายอื่นๆ” ที่จ่ายงบมากเกินไป

3.กรณีเงินรางวัลทนายความขอแรง ปัจจุบันมีการค้างชำระเงินรางวัลทนายความขอแรงจำนวนมาก จึงให้สำนักงานศาลยุติธรรมดำเนินการตรวจสอบเงินจำนวนดังกล่าว ว่ามีการค้างชำระจำนวนเท่าใด และดำเนินการให้เสร็จสิ้นต่อไป

ส่วนเงินอุดหนุน เงินค่าตอบแทนการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ เช่น เงินรางวัลทนายความขอแรง ทนายความรับฟังการสอบสวนค่าพยานต่าง ๆ ควรแยกรายการบัญชีให้มีความชัดเจน โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

4.กรณีค่าเดินทางพยานที่มาเบิกความในศาลปัจจุบันศาลจะจ่ายเฉพาะค่ายานพาหนะ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พยานอาจเดินทางมาก่อนวันเบิกความ ซึ่งจะมีค่าที่พัก หรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่น ๆ ซึ่งศาลสมควรปรับปรุงการจ่ายเงินที่จำเป็นในการเดินทาง ไปเบิกความของพยานต่อศาลด้วย

5.ค่าป่วยการของล่าม กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นชาวต่างประเทศ ไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยได้ จึงมีความจำเป็นต้องแปลภาษาไทยเป็นภาษาต่างประเทศ หรือภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย เห็นสมควรแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินค่าตอบแทน ให้มีความเหมาะสมกับความรู้ความสามารถ และยังเป็นแรงจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถมาเป็นล่ามในศาล เพื่อเกิดประโยชน์แก่กระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

(คลิ๊กดูรายงานฉบับเต็ม : รายงานการตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรม สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 และ 2549)

 

รายงานการตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2551 และ 2550 คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภามีข้อสังเกตดังนี้

1.หมายเหตุประกอบการเงิน หมายเหตุที่ 3 เงินสด และรายการเทียบเท่าเงินสดเกี่ยวกับเงินรับฝากอนุญาโตตุลาการ จำนวน 68.7 ล้านบาท หมายถึง ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการและค่าป่วยการ อนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาด ซึ่งคู่ความนำมาวางศาล คณะกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกตว่าดอกเบี้ยเงินรับฝากควรคืนแก่คู่ความ

2.หมายเหตุประกอบการเงิน หมายเหตุที่ 11 รายได้รอการรับรู้ระยะยาว หมายถึง เงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือ เมื่อมีการนำไปใช้ถึงจะมีการรับรู้รายได้นั้น ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่จะนำไปใช้อย่างเคร่งครัด

3.หมายเหตุประกอบการเงิน หมายเหตุที่ 18 ค่าตอบแทนเรื่องค่าป่วยการล่าม ค่าตอบแทนแก่พยานในคดีอาญา และค่าตอบแทนอื่นๆ นั้น ค่าตอบแทนล่าม คิดเป็นรายชั่วโมงในอัตราตามที่ศาลเห็นควรกำหนด ไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 300 บาท แต่ไม่เกินชั่วโมงละ 500 บาท และการปฏิบัติหน้าที่ในครั้งหนึ่งต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 300 บาท ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการจ่ายค่าป่วยการแก่ล่าม และล่ามภาษามือที่ศาลจัดหาให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 และมาตรา 13 ทวิ พ.ศ. 2539 และปัจจุบันสำนักงานศาลยุติธรรมได้ปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยค่าป่วยการล่าม ค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พักแก่ล่ามที่ศาลจัดหาให้ พ.ศ. .... กำหนดให้ล่ามได้ค่าป่วยการคนละไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 500 บาท แต่ไม่เกินชั่วโมงละ 800 บาท ทั้งนี้ ล่ามที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศกำหนดค่าป่วยการให้คนละไม่ต่ำกว่าชั่วโมงละ 600 บาทแต่ไม่เกินชั่วโมงละ 2,000 บาท โดยสามารถเบิกจ่ายค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พักได้ ตามระเบียบของราชการ จึงควรเร่งออกระเบียบเพื่อประกาศใช้โดยเร็ว

 

(คลิ๊กดูรายงานฉบับเต็ม : รายงานการตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2551และ 2550)

 

รายงานการตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2552 และ 2551 คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภามีข้อสังเกตดังนี้

1.งบแสดงฐานะการเงินส่วนหนี้สินเรื่องค่าใช้จ่ายค้างจ่าย พ.ศ.2552 จำนวน 252,215,899.89 บาท เปรียบเทียบ ปี พ.ศ.2551 จำนวน 159,066,723.78 บาท ซึ่งค้างจ่ายปี พ.ศ.2552 มากกว่าปี 2551 เกือบ 100 ล้านบาท เป็นหนี้ค่าก่อสร้าง ซึ่งกระบวนการตรวจรับหรือตรวจการจ้างยังไม่แล้วเสร็จ แต่เบิกจ่ายไม่ทันปีงบประมาณ จึงต้องตั้งเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อเบิกจ่ายในปีงบประมาณต่อไป ดังนั้น จึงควรมีมาตรการป้องกันการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของปีถัดไปเพราะไม่ใช่เงินผูกพัน

2.สินทรัพย์เรื่องลูกหนี้ระยะสั้นปี พ.ศ.2552 จำนวน 214,096,597.91 บาท เปรียบเทียบ ปี พ.ศ.2551 จำนวน 124,180,961.61 บาท เป็นหนี้โครงการและทำสัญญายืมเงินนำมาใช้ก่อน หนี้จึงค่อนข้างสูง ซึ่งคณะกรรมาธิการเห็นว่า การยืมเงินมาใช้ในโครงการและตั้งเป็นลูกหนี้ไว้เป็นสินทรัพย์ที่ควรมีระเบียบในการใช้เงินอย่างชัดเจน

3.สินทรัพย์เรื่องเงินทุนระยะสั้น ปี พ.ศ.2552 จำนวน 2,315,861,344.81 บาท เป็นเงินกลางคือเงินที่คู่ความมาวางไว้แล้วต้องคืน ดอกเบี้ยที่ได้รับตั้งบัญชีเป็นเงินทุนสำรองจ่าย ใช้ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนกรณีภัยพิบัติ ส่วนเงินค่าธรรมเนียมศาลและเงินค่าปรับดอกเบี้ยเป็นรายได้ของแผ่นดิน คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าดอกเบี้ยที่ได้จากเงินกู้ที่คู่ความวางศาลควรคืนให้แก่คู่ความนั้น

4.หมายเหตุประกอบการเงิน หมายเหตุที่ 18 ค่าป่วยการรายการที่ 3 เป็นค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กและเยาวชน ในปี พ.ศ. 2552 จำนวน 9,900,000 บาท เปรียบเทียบกับค่าตอบแทนที่ปรึกษาจำนวน 21,684,105.20 บาท รายแรกเป็นค่าที่ปรึกษากฎหมาย ส่วนรายที่สองเป็นค่าตอบแทนแกบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิที่เกษียณอายุไปแล้ว ลักษณะเป็นการจ้างลูกจ้างชั่วคราวให้ทำงานในศาล เช่น ศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ ประมาณ 11 คน ไม่ใช่เงินค่าตอบแทนให้แก่ที่ปรึกษากฎหมายที่เป็นทนายความและปัจจุบันได้มีการดำเนินการแก้ไขระเบียบการจ่ายค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติฯ โดยจะมีรายละเอียดในเรื่องของการได้รับค่าป่วยการตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนตามอัตราส่วนที่ได้ทำงานจริง ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าควรเร่งออกระเบียบในส่วนเงินค่าตอบแทนที่ปรึกษากฎหมายที่เป็นทนายความ

(คลิ๊กดูรายงานฉบับเต็ม : รายงานการตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2552 และ 2551)

 

รายงานการตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2553 และ 2552 คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภามี ข้อสังเกตดังนี้

1.หมายเหตุประกอบงบการเงิน เรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดทำงบการเงินข้อ (1) นั้น สำนักงานศาลยุติธรรมและหน่วยงานสังกัดเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีจากเกณฑ์เงินสดเป็นเกณฑ์คงค้าง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 แต่ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบัน พ.ศ.2553 การปรับเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีจากเกณฑ์เงินสดมาเป็นเกณฑ์คงค้าง ยังไม่สมบูรณ์จึงควรเร่งดำเนินการให้เป็นระบบเดียวโดยเร็ว

2.การจัดประเภทรายการบัญชีใหม่ ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 2.2 ซึ่งเริ่มจัดประเภทรายการเงินลงทุนระยะสั้นและระยะยาว สำหรับ ปีพ.ศ.2552 ให้สอดคล้อง ปี พ.ศ.2553 นั้น เหตุใดจึงไม่จัดประเภทรายการเงินลงทุน ปีพ.ศ.2553 ให้สอดคล้องกับ ปีพ.ศ.2552 ซึ่งเป็นรายการบัญชีที่เกิดก่อน และเงินลงทุนระยะสั้น คือเงินกลางซึ่งเป็นเงินรับฝากที่คู่ความวางเป็นประกันความเสียหายต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะจ่ายคืนเมื่อศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จ่ายคืน ผลของรายรับคือดอกเบี้ยจากเงินที่รับฝากจากคู่ความ ซึ่งเป็นรายได้ที่แสดงในรายการบัญชีรายได้อื่น แต่ไม่ปรากฏรายละเอียดทั้งที่เงินลงทุนมีจำนวนถึง 2,113 ล้านบาท

3.หน่วยงานที่เสนอรายงานตามหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 2.3 ปรากฏว่ามีจำนวนงบทดลองที่มากกว่าจำนวนที่เบิกจ่าย ได้แก่ งบทดลองของสำนักการคลังฯ นั้นเปรียบเทียบ ปี พ.ศ.2552 ไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานใดมีงบทดลองมากกว่าจำนวนที่เบิกจ่ายแต่อย่างใด ส่วนที่ไม่ได้เบิกจ่ายตามงบทดลองมีการหักล้างหรือดำเนินการอย่างไร

4.ตามหมายเหตุประกอบงบการเงิน หมายเหตุที่ 9 เจ้าหนี้ระยะสั้นในส่วนของเจ้าหนี้ค่าสินค้าและบริการ และเจ้าหนี้รายจ่ายประเภททุน เจ้าหนี้อื่น - หน่วยงานของรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ศ.2552 แล้ว ปี พ.ศ.2553 มีสัดส่วนที่เพิ่มจากเดิมจำนวนมากเป็นนัยสำคัญและไม่มีหมายเหตุประกอบงบการเงิน

5.ตามหมายเหตุประกอบงบการเงิน หมายเหตุที่ 17 ค่าใช้จ่ายบุคลากรเรื่อง เงินชดเชยกรณีเลิกจ้าง ในปี พ.ศ.2551 จำนวนเพียง 6,088,860 บาท แต่ในปี พ.ศ.2552 สูงถึง 10,060,200 บาท และในปี พ.ศ.2553 เป็นเงิน 8,800,679.50 บาท เป็นการแสดงถึงระบบการจ้างบุคลากร ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินในการชดเชยการเลิกจ้างอันสามารถแก้ไขในการว่าจ้างบุคลากรที่ต้นเหตุได้

6. ตามหมายเหตุประกอบงบการเงิน หมายเหตุที่ 18 ค่าตอบแทนเรื่องค่าป่วยการที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้งให้แก่เด็กและเยาวชน จำนวน 8,760,145 บาทนั้น เป็นเงินที่จ่ายให้แก่ทนายความที่ปรึกษาในศาลเด็ก แต่ทนายความยังไม่ได้รับเงินค่าที่ปรึกษาดังกล่าว

 

(คลิ๊กดูรายงานฉบับเต็ม : รายงานการตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2553 และ 2552)

 

รายงานการตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2554 และ 2553 คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา (ไม่ได้ระบุข้อสังเกต)

 

(คลิ๊กดูรายงานฉบับเต็ม : รายงานการตรวจสอบบัญชีและรายงานการเงินของสำนักงานศาลยุติธรรมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2554 และ 2553)

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: