ข่าวการจับกุมแรงงานต่างด้าวที่สัตหีบ จ.ชลบุรี มุกดาหาร เลย สมุทรปราการ สมุทรสาครและปทุมธานี เฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ที่มีสูงถึงเกือบหนึ่งพันคน สะท้อนถึงปัญหาแรงงานต่างด้าวที่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งประมาณว่ามีมากกว่า 3 ล้านคน (ข้อมูลสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน 25553) หรือเกือบ 5 เปอร์เซนต์ ของประชากรไทย ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่มากับพ่อแม่ และเด็กที่เกิดในประเทศไทย แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ส่วนใหญ่มีสัญชาติพม่า ไทยใหญ่ กัมพูชา ลาว และอื่น ๆ ศูนย์ข่าว TCIJ ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2556 สถิตินายจ้างยื่นแบบแจ้งความต้องการแรงงานต่างด้าว และบัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย มีจำนวน 651,143 คน แบ่งออกเป็น สัญชาติพม่า 462,162 คน สัญชาติกัมพูชา 122,899 คน และสัญชาติลาว 66,082 คน ตามลำดับ
ประมาณกันว่า ประชากรเด็กต่างด้าวที่ติดตามพ่อแม่มาหรือที่เกิดในประเทศไทย ตัวเลขรวมน่าจะสูงถึง 200,000-250,000 คน หากพวกเขาไม่ได้รับสิทธิและโอกาสการพัฒนาชีวิตวัยเยาว์ แน่นอนว่า เด็กเหล่านี้มีความเสี่ยงการเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ หรือก่อผลกระทบเชิงสังคม-ชุมชน เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับคืนแผ่นดินเกิดของพ่อแม่
เด็กต่างด้าวในโรงเรียนไทย
แม้ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการว่า มีเด็กต่างด้าวจำนวนเท่าไหร่ในประเทศไทยขณะนี้ แต่สถิติในปี พ.ศ.2547 ที่มีการจดทะเบียนครอบครัวของแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือ พบว่ามีเด็กอายุ 0-15 ปี จำนวน 93,082 และในปี 2549 จากข้อมูลชนกลุ่มน้อย และประชากรต่างชาติจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ที่มาจดทะเบียนประวัติ (ทร 38/1) แสดงว่ามีเด็กและเยาวชนอายุ 5-18 ปี ประมาณ 2.5 แสนคน กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยสาเหตุใหญ่ก็คือ ติดตามพ่อแม่ ครอบครัวที่เข้ามาทำงานหรือย้ายถิ่นเข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากปัญหาความขัดแย้ง ตามชายแดน และเด็กบางส่วนก็มาเกิดในประเทศไทย
ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติ ทั้งตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยเอง รวมไปถึงกฎหมายและอนุสัญญาระหว่างประเทศ สำหรับสิทธิทางการศึกษานั้น รัฐบาลไทยในฐานะภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child ) และการขับเคลื่อนนโยบายศึกษาถ้วนหน้า (Education for All) ได้ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคล ไม่ว่ามีสถานะทางกฎหมายหรือสังคมอย่างไร สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาโดยได้รับหลักฐานทางการศึกษา และได้รับการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัว หรือการขออนุญาตออกนอกเขตกำหนดเพื่อการศึกษา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 หรือนโยบายโรงเรียนสาขา (School within school) ที่จับคู่ระหว่างสถาบันการศึกษาและศูนย์การเรียน
รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้แรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ลงทะเบียนอย่างถูกต้องเป็นระยะ ๆ แต่เด็ก ๆ ที่ติดตามพ่อแม่รวมทั้งเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ต่างด้าว และมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งไม่สามารถทำงานได้ตามกฎหมาย ก็ไม่สามารถใช้สิทธิในการลงทะเบียนได้ และแม้ว่าต่อมารัฐจะตระหนักถึงปัญหานี้ และเปิดให้มีการลงทะเบียนบุตรและผู้ติดตามได้ แต่ปรากฏว่า มีผู้มาลงทะเบียนน้อยมาก เนื่องจากขั้นตอนปฏิบัติมีขั้นตอนเช่นเดียวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ที่ต้องมีการพิสูจน์สัญชาติโดยประเทศต้นทาง ต้องทำพาสปอร์ตชั่วคราว ซึ่งผู้เป็นนายจ้างของผู้ปกครองเด็ก ต้องเป็นผู้ดำเนินการให้ แต่ในทางปฏิบัตินายจ้างมักปล่อยให้เป็นภาระของแรงงานต่างด้าวเอง โดยผ่านนายหน้าผู้ให้บริการ ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายต่อหัวค่อนข้างสูง คือ 6,000-8,000 บาท พ่อแม่เด็กต่างด้าวจึงเลือกที่จะไม่ลง ทะเบียนบุตรและผู้ติดตามเท่าใดนัก เด็กที่ผ่านการลงทะเบียนจะได้รับวีซ่า มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย 2 ปี หรือได้รับบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน รัฐออกเลขประจำตัว 13 หลักให้ โดยมีรหัสขึ้นต้นเป็น “00”
สำหรับเด็กต่างด้าวที่เข้าสู่ระบบโรงเรียนของรัฐบาลนั้น โรงเรียนจะเป็นผู้ทำประวัติและยื่นโดยตรงต่อกระทรวง มหาดไทย เด็กกลุ่มนี้จะได้รับบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีเลขประจำตัว 13 หลัก โดยมีรหัสขึ้นต้นด้วยเลข “0” บัตรนี้มีกำหนดอายุ 10 ปี เด็กกลุ่มนี้จึงได้รับสิทธิอาศัยนานกว่า และไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ผู้ปกครองต่างด้าวส่งลูกเข้าระบบโรงเรียนของรัฐ แต่จากการสำรวจพบว่า กระทรวงมหาดไทยใช้เวลาออกบัตรประจำตัวล่าช้าอย่างมาก โดยมากใช้นานเวลาถึง 2 ปี
แม้การนำเด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียนไม่มีค่าใช้จ่าย และยังได้รับสิทธิ์ในการอาศัยในประเทศไทยนานถึง 10 ปี แต่จำนวนนักเรียนต่างด้าวในระบบการศึกษาของรัฐ ยังมีจำนวนไม่มากเท่าที่ควร ด้วยเหตุปัจจัยที่โรงเรียนมักปฏิเสธรับเด็กต่างด้าว โดยให้เหตุผลว่า มีบุคคลากรไม่เพียงพอจึงไม่มีนโยบายรับเด็กต่างด้าว จากการสัมภาษณ์เชิงลึกพบว่า ปัญหาเรื่องบุคคลากรไม่เพียงพอนั้น ไม่ใช่ปัญหาหลักที่แท้จริง โรงเรียนที่ปฏิเสธที่จะรับเด็กต่างด้าวนั้นโดยมากเป็นเพราะทัศนคติของผู้บริหารโรงเรียน รวมถึงทัศนคติของผู้ปกครองนักเรียนไทย กับปัญหาเรื่องงบประมาณเป็นหลัก เนื่องจากขั้นตอนการลงทะเบียนเด็กโดยกระทรวงมหาดไทย ใช้เวลานานกว่า 2 ปี ทำให้การจ่ายเงินงบประมาณอุดหนุนรายหัวจากภาครัฐมายังโรงเรียน ล่าช้าตามไปด้วย ผู้บริหารต้องนำงบประมาณอื่นมาสำรองจ่าย ทำให้ประสบความยากลำบากในการบริหาร
พ่อแม่เด็กต่างด้าวเอง ก็ไม่สนับสนุนให้เด็กเข้าเรียน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายอื่นที่เป็นภาระของพ่อแม่ เช่น ค่าอาหารกลางวัน ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์อื่น ๆ รวมถึงความไม่มั่นคงทางการงานของพ่อแม่เด็ก ที่อาจจะต้องย้ายที่ทำงานไปตามที่ต่าง ๆ ทำให้การศึกษาอาจไม่ต่อเนื่อง พ่อแม่เด็กส่วนหนึ่งมีแผนจะเดินทางกลับประเทศต้นทางในระยะ เวลาอันใกล้ และเมื่อเด็กเดินทางกลับไปก็จะต้องกลับไปเริ่มต้นเรียนในระบบการศึกษาของประเทศนั้น ๆ อีกครั้ง เพราะหลักสูตรไม่เหมือนกัน และยังไม่สามารถเทียบเคียงหลักสูตรกันได้ ทำให้รู้สึกว่าเป็นการเสียเวลา
โรงเรียนปั้นตัวเลข ตำรวจกวาดจับรีดซ้ำ
ในขณะที่รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการรับเด็กต่างด้าว และนักเรียนที่ไม่มีเอกสารหลักฐานใด ๆ เข้าสู่ระบบโรงเรียนของรัฐ แต่กลับไม่มีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนให้แก่โรงเรียน เป็นภาระของโรงเรียนที่ต้องออกแบบวิธีปฏิบัติกันเองโดยลำพัง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าว ในอัตราส่วนที่มากกว่าประชากรของจังหวัดเองเสียอีก จึงเป็นกรณีศึกษาที่เห็นได้ชัด เมื่อเกิดเหตุการณ์การเดินขบวนประท้วงผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง (ต่อมาถูกให้ออกจากราชการ) เนื่องจากทำผิดวินัยร้ายแรง แสวงหาประโยชน์ โดยการสร้างหลักฐานเท็จ แจ้งจำนวนนักเรียนเกินจริงขึ้นมา เพื่อหวังงบประมาณอุดหนุนรายหัวจากกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนหลายแห่งที่รับเด็กต่างด้าว จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ปกครองนักเรียนไทยว่า ทำไปเพียงเพราะต้องการเพิ่มจำนวนนักเรียนให้มากขึ้น เพื่อจะได้รับงบประมาณรายหัวและเงินบริจาคจากแหล่งต่าง ๆ เพราะนโยบายรับเด็กต่างด้าวนี้ได้รับความสนใจ และดึงดูดเงินบริจาคจากภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก
รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่มักกวาดจับแรงงานต่างด้าวในเขตอุตสาหกรรม เพื่อเรียกรับค่าปรับจากนายจ้าง หรือจับเด็กนักเรียนต่างด้าวเพื่อเรียกค่าคุ้มครองจากผู้ปกครอง เนื่องจากรัฐบาลเปิดให้มีการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลายครั้ง ทำให้แรงงานผิดกฎหมายจำนวนมากเข้าสู่กระบวนการที่ถูกกฎหมายในที่สุด เป้าหมายของการกวดขัน จึงเปลี่ยนจากแรงงานที่เป็นผู้ใหญ่มาเป็นเด็ก ๆ แทน เนื่องจาก เจ้าหน้าที่รู้ดีว่าการได้มาซึ่งสถานะทางกฎหมายของเด็ก ๆ ต้องใช้เวลานาน จึงเป็นช่องทางที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้ในการรีดไถผู้ปกครอง
กรณีตัวอย่างที่สมุทรสาคร
ศูนย์ข่าว TCIJ ลงพื้นที่สำรวจ พบกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจหลายกรณี อย่าง ด.ช.สมหมาย(นามสมมติ) อายุ 7 ปี เด็กต่างด้าวสัญชาติพม่า มารดาซึ่งรับจ้างปอกกุ้ง ถูกเจ้าหน้าที่ขอตรวจใบอนุญาตทำงาน ด.ช.สมหมายจึงถูกตำรวจควบคุมตัวไปพร้อมมารดาและแรงงานคนอื่น ๆ โดยไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ แต่มีการโทรศัพท์ต่อรองกับนายจ้างของแรงงานเหล่านั้นให้มาพบที่สถานีตำรวจ เนื่องจากนายจ้างเองก็มีโทษปรับด้วย แม้มารดาของสมหมายพยายามอธิบายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจฟังว่า สมหมายเป็นนักเรียนในระบบ ที่กำลังรอบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ตำรวจกลับบอกให้พาคุณครูของสมหมายมายืนยันทั้งที่เป็นวันเสาร์ ในขณะที่ผู้เป็นแม่กำลังพยายามติดต่อครู สมหมายจึงถูกนำตัวขึ้นรถไปที่สถานีตำรวจพร้อมแรงงานผิดกฎหมายอื่น ๆ เด็กชายร้องไห้ตลอดเวลาด้วยความตกใจกลัว หลังจากนั้น 3 ชั่วโมง แรงงานเหล่านั้นได้รับการปล่อยเนื่องจากนายจ้างมา “เคลียร์” กับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นายจ้างสงสารเด็กชายที่ร้องไห้ตลอดเวลา จึง “ไถ่” เด็กชายออกมาพร้อมกับแรงงานของตน
ส่วนกรณีของ ด.ญ.บี (นามสมมติ) อายุ 12 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวพร้อมเพื่อนวัยเดียวกันอีก 3 คน ขณะเดินซื้อของอยู่ในตลาดนัด ตำรวจโทรศัพท์หาผู้ปกครองของเด็กหญิงให้มาพบ โชคดีที่ผู้ปกครองของเด็กหญิงสามารถติดต่อคุณครูให้นำหลักฐานมาแสดงต่อตำรวจได้ว่าเธออยู่ในขั้นตอนของการรอรับบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน แต่ก่อนที่ตำรวจจะปล่อยตัว ตำรวจขอคุยกับผู้ปกครองเป็นการส่วนตัว เชิญชวนให้จ่ายค่าคุ้มครองรายเดือน ๆ ละ 500 บาท เพื่อจะได้ไม่ต้องมีปัญหาเช่นนี้อีก ตำรวจบอกว่าจะออกบัตรที่สามารถแสดงให้ตำรวจในท้องที่ดังกล่าวเห็น เพื่อรอดพ้นจากการถูกควบคุมตัวในคราวงต่อไป โชคดีที่ท้ายที่สุด เด็กชายสมหมายและเด็กหญิงบี หลุดพ้นจากการดำเนินคดีของตำรวจ แน่นอนว่าเรื่องราวทำนองนี้ เกิดขึ้นเกือบทุกวัน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การแสวงหาประโยชน์และการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ยังคงมีอยู่แม้ว่าทั้งสองกรณี เด็ก ๆ จะได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายอยู่แล้วก็ตาม
อาจารย์นริศ ทวีสุข หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมจัดการศึกษา ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ให้ข้อมูลแก่ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สมุทรสาคร รวม104 โรงเรียน มีโรงเรียนที่มีเด็กต่างด้าวเข้าเรียน 81 โรงเรียน มีนักเรียนต่างด้าวทั้งหมด 1,932 คน โรงเรียนที่มีนักเรียนมากที่สุดคือ โรงเรียนวัดศิริมงคล มีจำนวนนักเรียนต่างด้าว 300 คน ซึ่งมากกว่านักเรียนไทย ถัดมาคือ โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม 234 คน นอกนั้นกระจายกันมีจำนวนเกิน 15 คน ประมาณ 20 โรงเรียน นอกจากนี้ยังมีศูนย์การเรียนรู้ที่จัดขึ้นโดยองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) มีชุมชนชาวมอญดั้งเดิมในพื้นที่ ซึ่งจัดให้มีชั้นเรียนภาษาและวิชาทั่วไป, โบสถ์คริสต์, รวมทั้งโรงเรียนฝึกอาชีพของมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ที่จัดร่วมกับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.)
สมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีประชากรต่างด้าวมากเป็นอันดับ 2 รองมาจากกรุงเทพมหานคร แต่เป็นจังหวัดที่ถูกเฝ้ามองปัญหาแรงงานเด็กและเด็กต่างด้าวจำนวนมาก ทั้งจากหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ ข้อมูลจากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Foundation) ระบุว่า เด็กต่างด้าวอายุ 0-15 ปี แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มย่อยคือ อายุ 0-4 ปี / 5-10 ปี และ 11-15 ปี ต่างมีปัญหาที่คล้ายคลึงกันคือ การไม่ได้รับสิทธิทางสุขภาพ หรือไม่ได้รับการประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแม้ว่ารัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้เด็กสามารถเข้าศึกษาในระบบการศึกษาของรัฐได้ แต่ด้วยเงื่อนไขปัจจัยหลายอย่าง ทำให้เด็กขาดโอกาสและไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาตามปกติ เนื่องจากสถานศึกษาบางแห่งในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ไม่ได้สนับสนุนให้เด็กต่างด้าวเข้าเรียนอย่างจริงจัง นอกจากนั้นยังพบว่า โอกาสที่เด็กไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ไม่มีความปลอดภัยในชีวิต มีสูงมาก เด็กส่วนหนึ่งถูกคุกคามทางเพศ และถูกละเมิดข่มขืนกระทำชำเราโดยคนไทย และคนข้ามชาติด้วยกันเอง ส่วนปัญหาที่มีแตกต่างกันบ้าง คือ เด็กที่เริ่มโต มีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองได้ อายุ 7-14 ปี กลุ่มนี้เป็นกลุ่มสำคัญที่มีโอกาสเข้าไปเป็นแรงงานเด็กก่อนวัยอันควร และประพฤติผิดกฎหมาย
ปัญหาที่ยังไม่มีทางออก
จากรายงานการสำรวจข้อมูลพื้นฐานการศึกษาของเด็กต่างด้าว จัดทำโดยองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่อ.แม่สอด จ.ตาก พบว่า สภาพปัญหาในการรับเด็กต่างชาติเข้าเรียนมีมาก และเหมือนกันในทุกพื้นที่ที่มีเด็กต่างด้าวในโรงเรียนไทย ศูนย์ข่าว TCIJ ขอหยิบยกเอาปัจจัยหลัก ๆ ที่สอดคล้องกับข้อมูลการลงพื้นที่ของศูนย์ข่าว TCIJ มานำเสนอ ได้แก่
1.อุปสรรคในการสื่อสาร เด็กต่างชาติที่เข้าเรียนโรงเรียนไทยในปีการศึกษาแรกเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุดสำหรับโรงเรียนในการจัดการเรียนการสอน เพราะว่านักเรียนมักสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ โรงเรียนจึงต้องจัดให้มีชั้นเรียนพิเศษเพื่อเตรียมความพร้อมทางด้านภาษา ซึ่ง NGOs ในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือ เช่น มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ในพื้นที่จ.สมุทรสาคร ได้จัดชั้นเรียนเตรียมความพร้อมขึ้นภายใน โรงเรียนวัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) เมื่อเด็กมีความพร้อมทางด้านภาษาจึงเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติภายในโรงเรียนต่อไป
2.จำนวนครูและห้องเรียนที่ไม่เพียงพอ โรงเรียนไทยขนาดเล็กและกลาง ไม่มีความพร้อมที่จะรองรับเด็กต่างด้าวในพื้นที่ได้โดยทันที หากยังมีทรัพยากรเท่าเดิม เช่น กรณี อ.แม่สอด ซึ่งมีศูนย์การเรียนตั้งอยู่มากกว่า 60 ศูนย์ และเด็กต่างชาติที่อยู่ในศูนย์ฯประมาณ 11,289 คน แต่มีโรงเรียนไทย 43 โรงและมีบุคคลากรเพียง 552 คน ซึ่งไม่สามารถรองรับเด็กต่างด้าวได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปฏิเสธสิทธิการศึกษาของเด็กได้เช่นกัน รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณของโรงเรียน ที่จะได้รับตามขนาดของสถานศึกษา คือ โรงเรียนขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งทำให้หลายโรงเรียนก็รับนักเรียนต่างชาติได้สูงสุดตามขนาดในการจัดสรรงบ
3.ทัศนคติของผู้ปกครองเด็กไทย ผู้ปกครองเด็กไทยจำนวนหนึ่ง ย้ายลูกตัวเองออกจากโรงเรียนเนื่องจากกังวลในเรื่องของคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่า โรงเรียนที่รับนักเรียนต่างด้าวเป็นจำนวนมากนั้น อาจไม่สามารถเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ เนื่องจากผู้ปกครองเด็กไทยมีความคาดหวังให้บุตรหลานมีอนาคตที่ดีจากการศึกษา ส่วนหนึ่งมีความกังวล และตั้งคำถามต่อโรงเรียนถึงเรื่องคุณภาพการเรียนการสอนและอนาคตของบุตรหลาน
4.เด็กออกกลางคัน คือ การที่นโยบายของกระทรวงศึกษามุ่งเน้น ที่จะลดจำนวนเด็กในวัยการศึกษาภาคบังคับที่ตกหล่น หรือ เด็กออกกลางคัน ซึ่งโรงเรียนไทยที่รับเด็กต่างด้าว มักจะมีตัวเลขเด็กที่ออกกลางคันสูง ทำให้ถูกกดดันจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานตรวจสอบ มาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เร่งให้ลดอัตราเด็กออกกลางคัน และเพิ่มอัตราเรียนต่อในระดับสูง
5.ผลการเรียนเด็กต่างด้าวฉุดมาตรฐานการศึกษา คือ เนื่องจากทักษะการสื่อสารภาษาไทย ส่งผลโดยตรงต่อผลการเรียนของเด็ก บ่อยครั้งโรงเรียนที่รับเด็กต่างด้าวจะถูกประเมินว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แม้ว่าโรงเรียนเหล่านั้นเป็นโรงเรียนที่ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาในกลุ่มนักเรียนชาย ซึ่งประเด็นนี้ ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า หากโรงเรียนไทยต้องรับเด็กต่างด้าว ต้องปรับ เปลี่ยนโรงเรียนให้เหมาะสมกับนักเรียน เช่นการจัดทำหลักสูตรพิเศษเฉพาะ การปรับโครงสร้างเนื้อหาหลักสูตร การวัดประเมินผลมาตรฐานการศึกษา รวมทั้งการส่งเสริมแนวคิดพหุวัฒนธรรม
6.นโยบายแวดล้อมการศึกษาที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ บางครั้งกระทรวงศึกษาธิการอาจจะมีนโยบายพิเศษออก มาเพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษา เช่น การรณรงค์ส่งเสริมการอ่านการเขียนภาษาไทย ซึ่งผู้บริหารโรงเรียนไทยที่รับเด็กต่างด้าว กังวลว่าจะทำให้โรงเรียนไม่สามารถดำเนินตามโครงการพิเศษได้ดีเท่าที่ควร
7.งบประมาณ แม้ว่าเด็กต่างด้าว จะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเช่นเดียวกับเด็กไทย แต่ว่างบประมาณสนับสนุนการศึกษา เช่น อาหารกลางวัน ได้รับจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งก็จะครอบคลุมเฉพาะเด็กไทย ทำให้โรงเรียนที่รับเด็กต่างด้าว มีภาระแบกรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้เอง
8.หลักสูตรการเรียนการสอนไม่เอื้ออำนวย เช่น วิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาตินิยม การสู้รบระหว่างชนชาติไทยและพม่าในอดีต มีส่วนทำให้เด็ก ๆ มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อกัน ซึ่งจากการลงพื้นที่ของศูนย์ข่าว TCIJ ครูผู้สอนให้ข้อมูลว่าต้องคอยย้ำกับเด็ก ๆ ว่านี่เป็นเรื่องที่เกิดในอดีต ความขัดแย้งในอดีตหมดไปแล้ว และขณะนี้เรากำลังจะรวมกันเป็นประชาคมอาเซียน พวกเราจึงต้องรักกันไว้ให้มาก ๆ และคอยช่วยเหลือกัน
นอกจากนี้ 10. ยังมีปัญหาช่องว่างระหว่างวัยและความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เนื่องจากเด็กต่างด้าวต้องได้รับการปรับพื้นฐานก่อนที่จะเข้าชั้นเรียนจริง เราจึงเห็นภาพที่แปลกตา ที่นักเรียนต่างด้าวตัวโตอายุ 10-14 ปี เรียนร่วมกับนักเรียนไทยตัวน้อยอายุ 7 ปี ในชั้นเรียนประถมหนึ่ง อายุที่ต่างกันนี้แม้จะไม่มีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างวัย แต่ก็เป็นปัญหาด้านพัฒนาการและความสามารถในการเรียนรู้ ทำให้ครูผู้สอนมีความยากลำบากในการสอนมากขึ้น
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ