องค์กรภาคประชาชน ภาคอีสาน อาทิ คณะกรรมการองค์กรชาวบ้านแก้ไขที่ดินภาคอีสาน (คอปอ.) กลุ่มคัดค้านเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) สำนักงานปฏิรูปเพื่อสังคมไทยที่เป็นธรรม (สปร.) สมัชชาคนจน (สคจ.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ร่วมกับ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดเวทีสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง ‘ภาคประชาชนกับข้อเสนอประกอบการยกร่างกฎหมาย 3 ฉบับ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม’ เมื่อวันที่ 16 – 17 กุมภาพันธ์ ที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ขามเรียง)
สืบเนื่องจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินในในสังคมไทย จากการศึกษาของมูลนิธิสถาบันที่ดิน พบว่า ที่ดินที่มีการครอบครองโดยประชาชนทั่วไป 120 ล้านไร่ มากกว่าร้อยละ 90 ของที่ดินกระจุกตัวในมือคนเพียงร้อยละ 10 หรือประมาณ 6 ล้านคน ขณะที่ประมาณร้อยละ 10 ของที่ดิน ถือครองโดยคนจำนวนร้อยละ 90
ปัญหาดังกล่าวข้างต้น มีความพยายามแก้ไขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันข้อเสนอในการปฏิรูปที่ดินโดยประชาชน ตั้งแต่ สมัยสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สทช.) เมื่อปี พ.ศ.2517 มาจนจนถึงการต่อสู้ของสมัชชาคนจน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และ ขปส.อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน สังคมไทยยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายเพื่อนำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดิน
ดังนั้น ขบวนการประชาชน องค์กรประชาสังคม นักวิชาการ จึงได้จัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อรณรงค์ ผลักดันร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน และ พ.ร.บ.สิทธิการจัดการที่ดินและทรัพยากร โดยก่อนหน้านี้ในภาคเหนือได้มีการจัดเวทีเช่นเดียวกันนี้ไปแล้ว
น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม” ถึงเหตุที่ไทยคนจนมากมายว่า เป็นเพราะปัญหาเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร เป็นความจริงที่ข่มขืน และเป็นความจริงที่ต้องมาร่วมกันคิด ร่วมกันต่อสู้ในความไม่เป็นธรรม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถือเป็นความไม่เท่ากัน ระหว่างคนจนเรื่องคนรวย
จากนั้นน.พ.นิรันดร์ ร่วมกับ รศ.สีดา สอนศรี คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยสารคาม เป็นประธานเปิดศูนย์ศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน (ศกส.) โดยการดำเนินงานของ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
ด้านนายสมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนากฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงที่มาของการเปิดตัวศูนย์ดังกล่าวว่า มาจากสภาพปัญหาคดีความที่เกิดขึ้น โดยส่วนมากจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งในสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชนและชุมชน ซึ่งคดีส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนจนที่ถูกข้อพิพาทในเรื่องที่ดินทำกิน และนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านคดีความที่เกิดขึ้น
ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เล่าต่อว่า จากสถิติที่ชาวบ้านถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น จึงเกิดการรวมตัวของนักกฎหมายจัดตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมา นอกจากจะเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิ์แล้ว ยังส่งเสริมศักยภาพผู้นำ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ในการเข้ามาร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ ให้เกิดความเข้าใจถึงปัญหาคดีความและความไม่ยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม
“เมื่อชาวบ้านเหล่านั้นได้เข้ามาร่วมศึกษาจนเกิดกระบวนการความเข้าใจแล้ว ยังพัฒนาคุณภาพไปสู่การเป็นอาสาสมัครของเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน และร่วมกันรณรงค์เพื่อนำไปสู่การผลักดันนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนสู่สาธารณะ ให้เกิดความเป็นธรรมโดยทั่วถึงกันต่อไป” นายสมนึกกล่าว
นายสมนึกกล่าวด้วยว่า ในส่วนของที่ปรึกษานั้น จะประกอบไปด้วย ดร.อลงกรณ์ อรรคแสง อาจารย์ประจำวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายสมภพ โชติวงษ์ ทนายความ และ ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยจะมีนายปราโมทย์ ผลภิญโญ เป็นผู้ประสานงาน มีทีมทนายประจำศูนย์ฯ อาทิ ทนายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา ทนายถนอมศักดิ์ ระวาดชัย ทนายไสว มาลัย เป็นต้น สถานที่เปิดศูนย์นั้นจะเป็นในส่วนของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำพุปางวัว ต.คอนสาร อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ