พลิกตำนาน ‘ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่’ กึ่งศตวรรษก่อนเป็นมรดกของโลก พร้อมวิญญาณ '8ผู้พิทักษ์ผืนป่า'

อำนวย อินทรักษ์ 19 ม.ค. 2556 | อ่านแล้ว 69272 ครั้ง

 

แล้วรถจะขึ้นเนินช้า ๆ ข้างหน้าจะมีผู้คนพลุกพล่าน โดยเฉพาะเสาร์อาทิตย์ก็มากขึ้นไปอีก บางกลุ่มถือของแก้บน ธูป เทียน ดอกไม้ บางทีมีพุ่มบายสี หัวหมู ไก่ต้ม ผลไม้ และอะไรอื่นอีกพะรุงพะรัง เพราะด้านขวามือจะมีศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ตั้งอยู่หน้าป่าไผ่ ใต้ร่มไม้สูงใหญ่ร่มครึ้ม

 

 

 

ใกล้บันไดทางขึ้น มีแผ่นป้ายบอกเล่าความเป็นมาของศาล มีของแก้บนวางเรียงราย สารพัดสัตว์ ทั้งสัตว์ไทยสัตว์ต่างประเทศ แต่ส่วนมากเป็นช้างแกะสลักจากหินทราย มีจำนวนมากมายหลายหลากที่สุด ทั้งช้างดำ ช้างเผือก ช้างเหลือง ช้างแดง ช้างยืน ช้างนั่ง ช้างหมอบ ช้างเล็ก ช้างใหญ่ ช้างทรงเครื่อง ต่างกันไปมากมาย แต่ช้างทั้งหลายนั้น เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ เป็นช้างงาครับ แต่ละตัวงาโง้ง หรืองอนงาม สุดฝีมือช่างแกะหิน งาหักงาบิ่นก็มี

 

 

ก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำไมไม่ถวายช้างตัวเมีย จะเป็นเพราะช่างไม่แกะช้างพัง หรือว่า คนถวายของแก้บนเห็นว่า มีแต่ช้างงาเท่านั้นที่เหมาะสำหรับเจ้าพ่อ หรือเพราะอะไร

 

หนังสือ “กำเนิดอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” รวบรวมโดย ธนพล สารนาค พูดถึงการจัดตั้งศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่บางตอนว่า

 

...หลังจาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจป่าเขาใหญ่ครั้งที่สอง โดยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ ในเดือนมกราคม ๒๕๐๔ เจ้าพ่อผู้คุ้มครองป่าเขาใหญ่ได้ไปเข้าฝันจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

พลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. (อั๋น สุวรรณภาณุ) นายแพทย์ใหญ่ กรมแพทย์ทหารเรือ ได้นั่งสมาธิตรวจดูเหตุการณ์ต่าง ๆ แล้วชี้แนะว่า

“เพื่อให้การจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พ้นจากอุปสรรคนานาประการ จะต้องตั้งศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ถวายแด่องค์ท่านทันที”...

 

 

 

แล้วคำสั่งการจากท่านจอมพล ก็ถูกถ่ายทอดลงมาตามลำดับ จนถึงนายบุญเรือง สายศร หัวหน้า(เตรียมการจัดตั้ง) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้ก่อสร้างศาลเสร็จเรียบร้อยก่อนวันที่ ๒๖ มกราคม

 

หลังจากได้รับคำสั่งนั้น สิ่งแรกที่หัวหน้าบุญเรืองทำคือ ออกหาข้อมูลจากชาวบ้าน เพื่อรู้จักเจ้าพ่อซึ่งมีอยู่มากมายในป่าใหญ่แห่งนี้ว่า เจ้าพ่อองค์ไหนเหมาะแก่การ (สถาปนาให้) เป็นเจ้าพ่อเขาใหญ่ที่สุด เพราะจะใหญ่ยิ่งกว่าเจ้าพ่อทั้งหลายบรรดามีในป่านี้ หัวหน้าบุญเรือง ควบรถเก่า ๆ ตระเวนหาข้อมูลรอบเขาใหญ่ อย่างรวดเร็วและทุลักทุเล แล้วสรุปได้ว่า...

 

...“ เจ้าพ่อปลัดจ่าง เป็นองค์ประธานบรรดาเจ้าพ่อต่างๆ รอบเขาใหญ่”

 

นายประมวล อุณหนันท์ หัวหน้ากองบำรุง กรมป่าไม้ ซึ่งรับผิดชอบการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย ได้ขอความร่วมมือจากกรมศิลปากร แกะสลักแก่นไม้กัลปพฤกษ์ เป็นรูปเจ้าพ่อปลัดจ่าง เจ้าหน้าที่สำนักนายกรัฐมนตรี นำคณะพราหมณ์จากกรุงเทพฯ มาทำพิธีอันเชิญรูปเจ้าพ่อปลัดจ่างขึ้นตั้งไว้ และอัญเชิญวิญญาณเจ้าพ่อปลัดจ่างมาสถิต ณ ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๐๔

 

ตั้งแต่นั้นมา วันที่ ๒๖ มกราคม ของทุกปี จึงมีพิธีไหว้เป็นประเพณี หัวหน้าหรือผู้ที่เคยทำงานเกี่ยวกับเขาใหญ่ คนรักเขาใหญ่มาร่วมงานมากมาย ในพิธีการนี้ ตอนหนึ่งเจ้าหน้าที่จะกล่าวคำสาบานต่อเจ้าพ่อเขาใหญ่ ใจความสำคัญประมาณว่า จะซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพป่าไม้ ถ้าผิดก็ขอให้มีอันเป็นไป มีหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นผู้กล่าวนำ

 

หลังจากผม (ผู้เขียน) กลับไปรายงานตัว เพื่อช่วยงานที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีกครั้ง เมื่อ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ก็ไปไหว้เจ้าพ่อตามที่ตั้งใจไว้ วันนั้นเป็นวันจันทร์ ซึ่งตามปกติของเขาใหญ่แล้วออกจะเงียบ แต่ที่ศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ในวันจันทร์นั้น ไม่ได้หงอยอย่างที่คิด เพราะมีคนตั้งใจเดินทางมาไหว้เจ้าพ่ออยู่ไม่ขาด จนผมอดแปลกใจไม่ได้ว่า มี “คนขึ้น” มากขนาดนี้เลยหรือ จึงเร่เข้าไปหาป้าที่ดูแลรักษาความสะอาดอยู่ประจำศาลนั้น แล้วก็ซุ่มซ่ามถามป้าว่า “ส่วนมากเขามาทำอะไรกันครับป้า” ป้าแกก็ตอบหมับเข้าให้โดยไม่ต้องคิดเลยว่า “ก็มาไหว้”

 

 

 

 

ผมก็อึ้งไป

 

ก็จริงของป้าแก เห็น ๆ อยู่ว่า ใครมาถึงก็จะจุดธูปไหว้ ทุกคนไป ทำไมถามอะไรไม่ได้เรื่องอย่างนี้ เอาใหม่ ถามว่า “คนที่มาเลี้ยง เอามาถวายเจ้าพ่อนี้ เขามาแก้บนกันใช่ไหมครับ...” ป้าแกก็นิ่งไป ยังไม่ตอบทันที ผมจึงชวนคุยต่ออีกว่า “ส่วนมากเขาบนอะไรกัน ขอหวยได้หรือไงครับป้า” โดยคาดว่าป้าแกคงจะตอบว่าใช่ แต่คำตอบจากป้า ซึ่งคิดไป นิ่งไป พูดไป แต่สรุปสั้น ๆ ว่า

 

...ที่เคยได้ยินคนแก้บนบอก เป็นสอบได้บ่อยกว่าเหตุอื่น ทั้งสอบเข้าทำงาน เข้าเรียนเป็นตำรวจ พยาบาล รองลงมาเป็นขายที่ได้ ตามที่มาบนขอให้เจ้าพ่อช่วย นอกจากนั้นก็เป็นขอให้อยู่ดีมีสุข ปลอดจากภัยอันตราย อาจจะมีบ้างที่ขอหวยแล้วถูก...

 

 เสร็จแล้วผมก็จะเดินไปด้านข้าง และเยื้องเข้าไปด้านหลังศาล เหมือนกับทุกครั้ง เพื่อไปจุดธูปไหว้ “อนุสาวรีย์ผู้อุทิศชีวิตเพื่อพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่”

ซึ่งมีรายนาม สลักบนแผ่นศิลา ดังนี้

 

1.      นายสมนึก เมื่อจัตุรัส          พนักงานสายตรวจ        พ.ศ. 2512 - 2513

2.      นายบุญเริง บุญเศวตร์         เจ้าพนักงานป่าไม้ 2      พ.ศ. 2523 - 2523

3.      นายเขียว แย้มจอหอ           พนักงานพิทักษ์ป่า        พ.ศ. 2512 - 2523

4.      นายวิไลศิลป์ สาริวงษา        พนักงานสายตรวจ        พ.ศ. 2521 - 2523

5.      นายสุนทร กลางจอหอ        พนักงานสายตรวจ        พ.ศ. 2525 - 2526

6.      นายสำราญ พึ่งทอง           พนักงานพิทักษ์ป่า        พ.ศ. 2519 - 2528

7.      นายสมศักดิ์ ศรีใสคำ          พนักงานสายตรวจ        พ.ศ. 2523 - 2540

8.      นายสมศักดิ์ โสมศรีคำ        พนักงานสายตรวจ        พ.ศ. 2534 – 2542

 

ผมเคยเอาเรื่องราวอันโหดร้าย ที่เกิดแก่ข้าราชการบรรจุใหม่ ผู้มีความสุขอย่างมาก ที่ได้ทำงานอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ คือ นายบุญเริง บุญเศวตร์ พร้อมกับทีมงานอีกสองคนคือ นายเขียว แย้มจอหอ และ วิไลศิลป์ สาริวงษา เมื่อปี ๒๕๒๓ มาเล่าไว้ในหนังสือเล่มชื่อ “อาถรรพ์เขาใหญ่”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องของ สมศักดิ์ ศรีใสคำ และสมศักดิ์ โสมศรีคำ เล่าไว้ในหนังสือเล่มชื่อ “เรื่องเล่าจากเขาใหญ่”

สำหรับรายอื่น ๆ ยังไม่รู้ข้อมูลรายละเอียด แต่ก็จะพยายามเสาะหาเรื่องราวมาจารึกไว้ ให้คนสนใจได้รู้ทั่วกัน

 

อนุสาวรีย์นี้ก่อสร้างเป็นสถูปบรรจุกระดูกของผู้มีรายนามข้างต้น ซึ่งเสียชีวิตเพื่อรักษาเขาใหญ่ไว้นี้ สมควรได้รับเกียรติ เคารพ สักการะ อย่างยิ่ง ในฐานะที่เขาได้ทำงานตามหน้าที่จนถึงแก่ชีวิต อันเป็นผลให้ป่าใหญ่ใกล้เมืองแห่งนี้เหลืออยู่

 

จนองค์การอนุรักษ์ธรรมชาติระดับนานาชาติ ยกย่องให้เป็นมรดกโลก

 

 

 

 

จึงทุกครั้งที่ผมไปไหว้เจ้าพ่อเขาใหญ่ ก็จะไม่ลืมไปแสดงความเคารพ ระลึกถึง และยกย่องเจ้าหน้าที่ผู้ที่มีรายชื่อทั้งแปดท่านนั้น

 

บางที....เขาอาจไปอยู่ และทำงานรักษาธรรมชาติกับท่านเจ้าพ่อปลัดจ่างในอีกภพหนึ่งแล้วก็ได้

 

และหวังว่า...

 

ต่อไปการรักษาป่ารักษาธรรมชาติไว้ คงจะไม่ยากอีกต่อไป เจ้าพ่อเขาใหญ่ก็คงไม่ต้องใช้ลูกน้องเพิ่มอีก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: