ประเทศไทยกำลังจะมีกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิต ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ทั่วประเทศ 4 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมได้แสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายนี้อย่างกว้างขวาง โดยจะจัดขึ้นทั้ง 4 ภาค ให้เสร็จสิ้นในวันที่ 1 มีนาคม นี้ คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเสนอสภาพิจารณาต่อไป
สำหรับประเด็นการจดทะเบียนรับรองคู่คนรักเพศเดียวกัน เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2544 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น เห็นด้วยที่จะให้มีการจดทะเบียนคู่คนเพศเดียวกัน แต่ขณะนั้นยังเป็นเรื่องที่แปลกเกินไปสำหรับสังคมไทย กระทั่งปี 2548 มีการเสนอว่า หากต้องการให้มีกฎหมายจดทะเบียนรับรองคู่ชีวิตเพศเดียวกัน สามารถรวบรวมรายชื่อขอแก้ไขกฎหมายได้ แต่เป็นเพียงการจุดประเด็นที่ไม่มีการสานต่อ
ปัจจุบันสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป กฎหมายจดทะเบียนรับรองคู่ชีวิตคนรักเพศเดียวกันถูกหยิบยกขึ้นมาทบทวนอีกครั้ง จากการผลักดันของกลุ่มองค์กรที่ทำงานด้านนี้ ด้วยการณรงค์ให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพราะที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันอย่างไม่เหมาะสม
ชายรักชายฟ้องสมรสไม่ได้-ศาลชี้ต้องถือตามเพศกำเนิด
นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมการระงับข้อพิพาท กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม นำเสนอบทความเรื่อง “การจดทะเบียนคู่ชีวิตของกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน” กรณีที่ ชายไทย 2 คน ไปยื่นคำขอร้องจดทะเบียนสมรสที่สำนักทะเบียน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อสำนักทะเบียนตรวจสอบเอกสาร ประกอบคำร้องขอของทั้ง 2 คน พบว่าทั้งสองคนเป็นเพศชาย ซึ่งไม่เข้าเงื่อนไขแห่งการสมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ที่ระบุว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิง มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์” จึงไม่อนุมัติให้จดทะเบียนสมรสได้ คู่รักคู่นี้เห็นว่า คำสั่งปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสครั้งนี้ เป็นการละเมิดสิทธิ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เพราะความแตกต่างทางเพศ จึงร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานต่าง ๆ ที่ เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ผู้ร้องร้องว่า เป็นชายโดยกำเนิด แต่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะเพศเป็นหญิงแล้ว เพียงแต่ไม่สามารถมีบุตรได้เท่านั้น ซึ่งผู้ร้องมีความประสงค์จะถือเพศเป็นหญิง แต่เจ้าพนักงานขัดข้อง ในการแก้หลักฐานในทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนทหาร นอกจากจะได้รับอนุญาตจากศาลก่อน จึงขอร้องให้ศาลสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องถือเป็นเพศหญิง
อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เพศของบุคคลธรรมดานั้น กฎหมายรับรองและถือเอาตามเพศที่กำเนิดมาและคำว่า “หญิง” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความถึง “คนที่ออกลูกได้” ผู้ร้องถือกำเนิดมาเป็นชาย ถึงหากจะมีเสรีภาพในร่างกาย โดยรับการผ่าตัดแปลงอวัยวะเพศเป็นอวัยวะเพศหญิงแล้วก็ตาม แต่ผู้ร้องรับรู้อยู่ว่า ไม่สามารถมีบุตรได้ ฉะนั้นโดยธรรมชาติและตามกฎหมายรับรองผู้ร้องยังคงเป็นเพศชายอยู่ และไม่มีกฎหมายรับรองให้สิทธิผู้ร้องขอเปลี่ยนแปลงเพศที่ถือกำเนิดมาได้ ทั้งมิใช่กรณีที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมาย
จากคำวินิจฉัยดังกล่าวของศาลฎีกา แม้บุคคลกลุ่มรักเพศเดียวกันมีเจตนาที่จะอยู่ร่วมกัน หรือมีความยินยอมสมัครใจ ที่จะอยู่กินร่วมกันฉันท์สามีภรรยา ก็ไม่สามารถทำการสมรสกันได้ เพราะกฎหมายให้สิทธิเฉพาะชายกับหญิงที่มีเพศตามที่กำเนิดมาและกฎหมายรับรองเท่านั้น
แนะชงร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต แก้อุปสรรครักเพศเดียวกัน
คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร จึงตั้งคณะทำงานขึ้นจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งพบว่า มีอุปสรรคทางกฎหมายหลายประการ ที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรส คณะทำงานจึงเสนอแนวคิดว่า ควรจะมี “ร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ....” ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม จึงเสนอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากหลายพรรคการเมือง ผลักดันร่างกฎหมายนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า เพื่อให้เป็นไปตามหลักแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ว่าด้วยบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการสภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะภาพบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้
ทั้งนี้ทุกคนที่เกิดมามีสิทธิเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ และปัจจุบันมีบุคคลเพศเดียวกันใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก แต่มิได้มีการรับรองตามกฎหมายเหมือนเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 มาตรา 1448 ว่าด้วยเรื่องครอบครัว ให้สิทธิเฉพาะชายกับหญิงที่มีเพศตามที่กำเนิดมาและกฎหมายรับรองเท่านั้น ซึ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นกฎหมายที่ใช้มานาน และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงการยอมรับเรื่องนี้ ในหลายประเทศ ตามกรอบของสหประชาชาติ
“ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ....เป็นการจัดระเบียบให้กับสังคมไทย เพราะไม่มีใครเสียผลประโยชน์ และไม่ได้ให้สิทธิพิเศษใด ๆ แก่ผู้จดทะเบียนชีวิตคู่ เหนือกว่าชายหญิงทั่วไปที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นการสร้างความเท่าเทียมในสังคมแก่กลุ่มบุคคล ที่มีความหลากหลายทางเพศที่ขาดสิทธิ และยังเจอปัญหาการเลือกปฏิบัติ และขาดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าว
หลายประเทศให้จดทะเบียน‘คู่ชีวิต’เพื่อได้สิทธิตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตามในหลายประเทศมีการพัฒนากฎหมายด้านนี้ไปมากแล้ว นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา หลายประเทศทั่วโลก ยอมรับการสมรสระหว่างกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน โดยถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศแรกในโลก ที่ยอมรับการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน โดยถูกกฎหมาย ประเทศเบลเยียม เมื่อปี 2003 คู่แต่งงานเพศเดียวกัน ชนะคดีเรียกร้องสิทธิในการแต่งงานโดยชอบธรรม และปี 2005 ประเทศสเปน ผ่านกฎหมายรับรองการแต่งงานระหว่างบุคคลรักเพศเดียวกัน ขณะที่ประเทศแคนาดา เริ่มมีผลบังคับใช้กฎหมายแต่งงานกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน
และในปี 2006 ประเทศแอฟริกาใต้เป็นชาติแรกในทวีปแอฟริกา ที่ยอมรับการแต่งงานของบุคคลรักเพศเดียวกัน ถูกต้องตามกฎหมาย ปี 2009 ประเทศนอร์เวย์ผ่านกฎหมายสมรสโดยเสรี ของกลุ่มบุคคลรักเพศเดียวกัน ในขณะที่ประเทศสวีเดน กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ได้รับเสรีภาพในการประกอบพิธีสมรสตามหลักศาสนา
ประเทศโปรตุเกสเห็นชอบให้กลุ่มบุคคลรักเพศเดียวกัน สามารถแต่งงานได้โดยชอบธรรม และนายกรัฐมนตรีหญิงของไอซ์แลนด์ เข้าพิธีสมรสกับคู่รักหญิง และกฎหมายฉบับใหม่ของประเทศให้เสรีภาพแก่คู่รักเพศเดียวกันให้แต่งงานกันได้ ส่วนประเทศอาร์เจนตินากลายเป็นประเทศแรกในละตินอเมริกาที่ผ่านร่างกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน
ทั้งนี้ยังมีอีก 2 ประเทศที่ออกกฎหมายรับรองการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน เฉพาะบางเขตการปกครอง สหรัฐอเมริกา ผ่านกฎหมายทำนองเดียวกันนี้ ที่รัฐไอโอวา คอนเนคทิกัต แมสซาซูเชตส์ เวอร์มอนด์ นิวแฮมเชียร์ และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ส่วนเมืองหลวงของเม็กซิโก รับรองกฎหมายกลุ่มคนรักเพศเดียวกันด้วย
บางประเทศออกกฎหมาย เป็นจดทะเบียนคู่ชีวิต มิใช่ทะเบียนสมรส ซึ่งมีหลายประเทศที่รับรอง อย่างไรก็ตามการจดทะเบียนคู่ระหว่างบุคคลรักเพศเดียวกันไม่ใช่ทะเบียนสมรส แต่มีขึ้นเพื่อให้คู่รักเพศเดียวกันที่ตกลงใจใช้ชีวิตร่วมกันได้รับสิทธิต่าง ๆ ทางกฎหมายเหมือนคู่สมรสต่างเพศ
ชี้ระเบียบ-กฎหมายหลายข้อกีดกันชีวิตคู่เพศเดียวกัน
ขณะที่ประเทศไทย ยังไม่มีการยอมรับการใช้ชีวิตของคนรักเพศเดียวกันนัก นอกจากกรณีที่อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ปฏิเสธการจดทะเบียนสมรสของชายรักชายแล้ว ยังมีเลือกปฏิบัติของคนรักเพศเดียวกันที่สังคมไม่ให้การยอมรับเกิดขึ้นอีก
จากหนังสือชีวิตที่ถูกละเมิด เรื่องเล่า กะเทย ทอม ดี้ หญิงรักหญิง ชายรักชาย และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้เล่าเรื่องของหญิงรักหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งคนหนึ่งเป็นข้าราชการสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ วันหนึ่งคนรักของเธอประสบอุบัติเหตุ ซึ่งโรงพยาบาลไม่ยินยอมให้เธอเซ็นอนุญาตในการรักษาผู้ป่วย เนื่องจากเธอไม่ใช่ญาติและไม่ใช่คู่สมรสตามกฎหมาย นอกจากนี้เธอยังไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้กับคนรักได้ด้วย เนื่องจากระเบียบของกระทรวงการคลัง มิได้ให้สิทธิแก่บุคคลที่ใช้ชีวิตคู่กับคนเพศเดียวกัน
“ถ้าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดกับเพื่อนร่วมงาน ที่เขามีคู่ชีวิตเป็นคนต่างเพศชายหญิง ตามกรอบที่สังคมกำหนด พวกเขาสามารถใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ แต่ดิฉันทำไม่ได้”
ยังมีคู่ชายรักชายที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานาน ต้องการทำประกันชีวิตโดยระบุให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ แต่บริษัทประกันปฏิเสธไม่รับทำสัญญาประกันชีวิตให้กับชายรักชายคู่นี้ ถึงแม้ทั้งสองคนจะทำสัญญาประกันชีวิต แต่ไม่สามารถยกประโยชน์ให้กันละกันได้ เพราะทั้งสองคนไม่ได้เป็นสามีภรรยาตามกฎหมาย และไม่ได้เป็นญาติกัน
ในขณะที่สามีภรรยา ชายหญิงที่อยู่กินกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส สามารถทำประกันชีวิตและยกประโยชน์ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ บริษัทประกันชีวิตยอมรับสถานภาพสามี-ภรรยาของคู่หญิงชาย แต่ไม่รับสถานภาพคู่ชีวิตเพศเดียวกัน
สาระสำคัญ ร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนชีวิตคู่ พ.ศ....
สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ....จะเกิดขึ้น เพื่อรองรับสิทธิต่าง ๆ ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันให้มีสิทธิเท่าเทียมกับสามีภรรยาต่างเพศ โดยเนื้อหาหลักสำคัญคือ คู่ชีวิต หมายถึง บุคคลสองคนที่จดทะเบียนกันตามพระราชบัญญัตินี้ การจดทะเบียนจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองบรรลุนิติภาวะแล้ว (ตามกฎหมายปัจจุบัน การบรรลุนิติภาวะคืออายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือจดทะเบียนสมรสกัน) นอกจากนี้บุคคลใดที่จดทะเบียนสมรสอยู่แล้ว มาจดทะเบียนคู่ชีวิต หรือจดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่แล้ว ไปจดทะเบียนสมรส การจดทะเบียนครั้งหลังถือเป็นโมฆะ และคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือเสมือนอยู่ในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงคู่ชีวิตอาจเลือกใช้นามสกุลของอีกฝ่ายได้
ส่วนในเรื่องทรัพย์สิน ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว หมวด 4 ทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยามาใช้บังคับ (สิทธิในการจัดการทรัพย์สินเหมือนกับคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน) เช่นเดียวกับเรื่องมรดก ให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก มาใช้บังคับ (คู่ชีวิตมีสิทธิรับมรดกเช่นเดียวกับคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน)
และคู่ชีวิตมีสิทธิต่าง ๆ ในฐานะคนในครอบครัว เช่น เป็นผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาแทนเจ้าตัวได้ เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นบุคคลในครอบครัวตามกฎหมายความรุนแรงในครอบครัว เป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์หากคู่ชีวิตถูกสั่งให้เป็นผู้ไร้ความสามารถ ฯลฯ
ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากทั่วประเทศ ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นคำถามต่อกฎหมายลักษณะนี้ให้ถกเถียงกันอีกมาก เช่น การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะให้สิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสได้จริงหรือ การแบ่งการจดทะเบียนเป็นสองระบบจะเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งขัดต่อหลักความเท่าเทียมหรือไม่ คู่ชีวิตที่ไม่ใช่ชายหญิงตามแบบฉบับควรมีสถานะและสิทธิต่างจากคู่สามีภรรยาที่สมรสกันตามกฎหมายเดิมหรือไม่ สิทธิและหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตรจะเป็นอย่างไร
ขอบคุณแผนภูมิจาก วิกิพีเดีย และภาพประกอบจาก Google
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ