‘วีรชัย’แถลงปิด-ตอกหน้ากัมพูชา ร้องศาลผิดประเด็นไม่คงเส้นคงวา ‘อลินา’ชี้แผนที่มั่วไม่ตรงปัจจุบัน

19 เม.ย. 2556 | อ่านแล้ว 1738 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 19 เมษายน เว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก รายงานการต่อสู้คดีพระวิหารรอบที่ 2 ของฝ่ายประเทศไทยว่า เริ่มขึ้น เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 19 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ องค์คณะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ซึ่งประกอบด้วยองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 17 คน ได้เชิญคณะดำเนินการทางกฎหมายของไทย เข้าให้คำแถลงคดีทางวาจา เริ่มจากศ.อแลง แปลเลต์ ทนายความชาวฝรั่งเศสของไทย

 

ศ.อแลงกล่าวว่า มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการขอตีความของกัมพูชาคือ ปัญหาเรื่องการรับฟังโดยศาลทนายความกัมพูชาไม่เคยตอบในเรื่องการให้ตีความเกินขอบเขตคำพิพากษา เพราะไม่เคยมีการยกเรื่องเส้นเขตแดนในตอนแรก แต่มีการขอในภายหลัง ซึ่งศาลระบุชัดเจนว่า คำขอใหม่ไม่นำมาใส่ไว้ในข้อบทปฏิบัติการในเรื่องของบูรณภาพ ซึ่งศาลได้ปฏิเสธที่จะตัดสินรวมถึงสถานภาพของแผนที่ ภาคผนวก 1 และเส้นเขตแดนที่ไม่สามารถนำมาประกอบคำร้องขอตีความใหม่ได้อีก แต่กัมพูชาพยายามบิดเบือนเพื่อให้ศาลตีความในเรื่องเส้นเขตแดน รับรองสถานะของแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งไม่เป็นไปตามตรรกะที่ศาลจะรับฟังได้ แต่เป็นเรื่องไร้สาระ เพราะศาลสามารถบอกขอบเขตของปราสาทพระวิหารได้ และกำหนดอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารได้ แต่ไม่สามารถกำหนดเส้นเขตแดนได้ จึงไม่ควรรับคำร้องของกัมพูชาในครั้งนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากคำพิพากษาของศาลปี 2505 ไทยมีพันธะต้องคืนวัตถุโบราณก็ได้ทำไปหมดแล้ว รวมถึงการคืนอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร และการถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหารด้วย ทั้งนี้อยากให้คิดโดยใช้สามัญสำนึกทั่วไปก็จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการถอนทหารไปแล้ว จะให้ถอนทหารอีกเป็นครั้งที่สอง สาม สี่ สำหรับดินแดนภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหารทั้งสองประเทศก็เห็นตรงกันไม่ได้มีความขัดแย้ง

 

ไทยไม่เห็นด้วยที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความในเรื่องเหตุผล เพราะไม่ใช่ข้อบทปฏิบัติการที่ศาลตัดสิน และกัมพูชาพยายามที่จะทำเรื่องที่ชัดเจนอยู่แล้วให้ดูกำกวม ทั้งที่กัมพูชาสามารถใช้อธิปไตยเหนือดินแดนตัวเองได้อยู่แล้ว ดังนั้นคำร้องของกัมพูชาจึงเป็นเรื่องที่รับฟังไม่ได้และศาลไม่ควรรับไว้พิจารณา แต่ควรจะต้องปฏิเสธคำร้องนี้

 

ต่อมา น.ส.อลินา มิรอง ทีมทนายฝ่ายไทย ชาวโรมาเนีย ให้ถ้อยแถลงด้วยวาจาโดยระบุว่า กัมพูชาพยายามที่เปลี่ยนคำร้องใหม่ให้ศาลโลกตีความเขตแดนด้วย ในปี 1962 กัมพูชาไม่สนใจพื้นที่ภูมะเขือ พื้นที่ทางตะวันตกเลย และให้ผู้เชี่ยวชาญดูพื้นที่ปราสาทและสันปันน้ำเท่านั้น ขณะที่กัมพูชากล่าวหาว่าไทยปลอม Big Map แต่ไทยเพียงแค่นำเสนอแผนที่เท่านั้น โดยสร้างแผนที่ในส่วนที่ไม่มีอยู่ จากแผนที่อื่นมีอยู่เดิม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขอย้ำว่าแผนที่ภาคผนวก 1 ที่กัมพูชายึดถือความจริงมีหลายฉบับ แต่กัมพูชาอ้างว่าฉบับที่สำคัญคือปี 1959 เป็นฉบับที่ถูกต้อง โดยกัมพูชานำป้ายมาให้ดู แต่เป็นแค่ป้ายบ่งชี้ถึงเอกสารที่อยู่ในศาลเท่านั้น

กัมพูชามีการบิดเบือนแผนที่ โดยนำแผนที่ภาคผนวก 1 มาขยาย เพื่อกำหนดเส้นเขตแดน ทั้งนี้หากดูจากความพยายามของกัมพูชา ที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทำแผนที่ โดยพยายามหาเส้นสันปันน้ำ แต่ไม่สนใจพื้นที่ด้านตะวันออกหรือตะวันตกของตัวปราสาทพระวิหาร ดังนั้นกรณีพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จึงเป็นข้อพิพาทใหม่ ไม่ใช่ข้อพิพาทจากคำพิพากษาในปี 2505

 

ยืนยันว่าแผนที่แผ่นใหญ่ที่ไทยนำมาแสดงต่อศาลนั้น มีการใช้พิจารณาในคดีที่ศาลตัดสินปี 2505 โดยกัมพูชาไม่ได้อธิบายว่า ศาลได้สั่งให้มีการตัดแผนที่นี้ออกมา เพื่อตีพิมพ์ประกอบคำพิพากษา เพราะต้องการให้มีภาพประกอบขอบเขตของบริเวณปราสาทพระวิหาร

 

 

 

ส่วนที่บอกว่าเส่นสันปันน้ำไม่สำคัญนั้น ก็เป็นเฉพาะบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหารเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวกับเขตแดนส่วนอื่น เพราะแม้แต่แผนที่ภาคผนวก 1 กัมพูชา ยังพยายามที่จะหาเส้นสันปันน้ำ แต่เราอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่โลกแห่งจินตนาการ เพราะการถ่ายทอดเส้นจากแผนที่ภาคผนวก 1 ลงสภาพภูมิประเทศจริง ๆ จะถ่ายทอดอย่างไร ซึ่งผู้พิพากษายูซูปก็ได้ตั้งคำถามนี้ ซึ่งกัมพูชาได้ให้ดูภาพขยายของแผนที่ โดยตีความบริเวณใกล้เคียงปราสาทว่า เป็นเส้นเดียวกับแผนที่ภาคผนวก 1 แต่กัมพูชาใช้แผนที่ที่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า มีความแม่นยำน้อยที่สุด และคลาดเคลื่อนจากภูมิประเทศที่แท้จริง

 

กัมพูชาจึงทำแผนที่ขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ด้วยการขยายแผนที่ แต่ก็ไม่สามารถแสดงภูมิประเทศที่แท้จริงได้ และไม่ได้พูดถึงการถ่ายทอดเส้นลงมาบนโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงการไม่คำนึงถึงสันปันน้ำ ก็เท่ากับไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญา 1904 ที่ใช้เรื่องสันปันน้ำในการปักปันเขตแดน

ขณะเดียวกันไม่สามารถบอกได้ว่า กัมพูชาทำอย่างไรในการกำหนดเส้นในแผนที่ของตัวเองโดยผู้เชี่ยวชาญพยายามกำหนดจุดร่วมระหว่างแผนที่ปัจจุบัน กับแผนที่ภาคผนวก 1 มีสองปัญหาคือ มีจุดร่วมน้อยมาก ส่วนใหญ่คลาดเคลื่อนหมด และเมื่อใช้พิกัดมาเป็นตัวถ่ายทอดก็ได้ผลออกมาว่า จุดร่วมบางครั้งไกลกันมาก และบิดเบือนไปจากความเป็นจริง แสดงถึงความคลาดเคลื่อนของแผนที่ภาคผนวก 1

 

 

            “ถ้าพยายามนำจุดร่วมจากปราสาทพระวิหารมาถ่ายทอด ก็ต้องถามว่าเป็นสิ่งที่กัมพูชาต้องการหรือไม่ เพราะที่ราบบางส่วนจะอยู่ภายใต้อธิปไตยของไทย กัมพูชาจะยินยอมหรือไม่ อย่างไรก็ตามหากใช้แผนที่ภาคผนวก 1 มาถ่ายทอดจะพบว่า เบี่ยงเบนไปจากเส้นสันปันน้ำค่อนข้างมาก ไอบีอาร์ยู แนะนำว่า วิธีธรรมชาติเท่านั้น ที่จะเป็นเส้นเขตแดนที่มั่นคง ดังนั้นการใช้สันปันน้ำไม่ใช่เรื่องสมมติ แต่เป็นเส้นที่มีอยู่จริง และควรใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดน” น.ส.อลินา กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ขึ้นแถลงปิดท้าย โดยระบุว่า ประเทศไทยมีความคงเส้นคงวา ยืนยันว่าปัญหาเขตแดนอยู่นอกเหนือขอบเขตคำพิพากษาปี 2505 และศาลไม่ได้ตัดสินให้เป็นเรื่องคู่ความ ต้องตกลงกันเอง โดยเรื่องเขตแดนมีปัญหาแค่อธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร ไทยมีความคงเส้นคงวายืนยันเรื่องเส้นสันปันน้ำมาโดยตลอด รวมทั้งยังยืนยันว่า ปราสาทพระวิหารอยู่ในฝั่งไทยตามแนวเส้นสันปันน้ำ เราไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลในปี 2505 แต่ก็ปฏิบัติตาม

เรายังยืนยันเรื่องขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่พิพาทเดิม โดยแสดงหลักฐานในเรื่องเส้นขอบเขตปราสาทพระวิหาร ตามมติ ครม.ปี 2505 ที่ยื่นต่อศาลตั้งแต่แรก และมีหลักฐานว่า สอดคล้องกับสิ่งที่กัมพูชายอมรับ ว่าเป็นพื้นที่พิพาทครั้งแรกที่ทั้งไทยและกัมพูชาเข้าใจตรงกัน แต่นิสัยกัมพูชาชอบแย่งหลักฐานของไทยไปใช้ อีกทั้งจุดยืนก็ไม่คงเส้นคงวามาตลอด  ในหลายช่วงเวลาด้วยกัน

 

ความไม่คงเส้นคงวาของกัมพูชา ตอนที่ 1 การพิจารณาครั้งแรกขอให้พิพากษาเรื่องบูรณภาพเหนือปราสาท แต่ต่อมาขอให้พิพากษาเขตแดน และสถานภาพทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 จึงไม่น่าประหลาดใจศาลปฏิเสธที่จะตัดสินเรื่องนี้ โดยไม่มีอยู่ในคำพิพากษาปี 2505

 

 

ตอนที่ 2 กัมพูชาในปัจจุบันแตกต่างจากอดีต เพราะในปี 1969 ยื่นแผนที่ภาคผนวก 1 ให้ศาล แต่วันนี้เป็นอีกฉบับหนึ่ง โดยไม่สามารถบอกได้ว่าเส้นไหนที่อยากให้ศาลดู และพึ่งเส้นเทียมในการพิสูจน์เส้นแบ่งเขตแดน เพราะแผนที่ภาคผนวก 1มีปัญหาเรื่องการถ่ายทอดซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าอับอาย

 

ตอนที่ 3 กัมพูชาเคยยอมรับเส้นมติครม.ที่ล้อมรั้วลวดหนามแต่กลับไม่ยอมรับในภายหลัง ทั้งที่ผู้นำสูงสุดของกัมพูชาก็ยอมรับว่า แม้จะล้ำไปฝั่งกัมพูชาแต่ก็ไม่กี่เมตรไม่เป็นประเด็น แต่กัมพูชาวันนี้ไม่ยอมรับและอ้างพื้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 4.6 ตารางกิโลเมตร

 

ตอนที่ 4 กัมพูชาในปี 2011 ขอให้ศาลตีความวรรคสองของข้อบทปฏิบัติการ แต่วันนี้ขอให้ตีความทั้งวรรคหนึ่งและวรรคสอง

 

ความไม่คงเส้นคงวาของกัมพูชา จะเป็นความขัดแย้งในการสร้างเสถียรภาพที่เป็นข้อยุติ ซึ่งคำพิพากษาปี 2505 นั้นศาลต้องการให้มีเสถียรภาพและได้ข้อยุติ คือให้เกิดมิตรภาพที่ยั่งยืน จึงตัดสินเพียงอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร แต่ไม่ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน ส่วนแผนที่ภาคผนวก 1 เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญา แต่ศาลไม่ได้บอกว่า ให้แผนที่ดังกล่าวแทนที่สนธิสัญญา หรือเป็นแหล่งข้อมูลเดียว ในการบอกเส้นเขตแดน

การที่กัมพูชาเอาแผนที่มาแทนสนธิสัญญา 1904 เพื่อกำหนดเส้นเขตแดนใหม่ โดยไม่ยึดสันปันน้ำ ทั้งที่แผนที่ดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนมาก จึงเป็นความต้องการตามอำเภอใจของกัมพูชา ทั้งที่บอกไม่ได้ว่าหากนำมาถ่ายทอดในโลกความเป็นจริงจะทำอย่างไร แต่ถ้าทำก็จะเกิดปัญหามากขึ้น

 

 

            “การกลับลำของกัมพูชา ทั้งที่ศาลพยายามป้องกันความไม่แน่นอน เป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพ และข้อยุติตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 ในส่วนของประเทศไทย เราไม่ขออะไรมากไปกว่า สิ่งที่ศาลได้ตัดสินในปี 2505 เพราะทุกอย่างปฏิบัติและได้ข้อยุติไปตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว แต่กัมพูชากลับ มีการปลอมแปลงแผนที่ บิดเบือนข้อเท็จจริง ร้องขอในสิ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้เลย เพื่อให้ศาลรับคำร้องของตัวเอง”

 

 

คำแถลงไทยจึงขอต่อศาลว่า ขอให้ศาลชี้ว่าคดีนี้ไม่มีมูลที่จะตีความใหม่ ศาลไม่มีอำนาจ คำร้องกัมพูชารับฟังไม่ขึ้น กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับเส้นเขตแดนต้องทำภายใต้ข้อตกลงเอ็มโอยู 43 ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้ข้อยุติ หรือทุกอย่างอาจเลวร้ายลง ถ้าปล่อยให้กัมพูชาอ้างเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 ที่มีความคลาดเคลื่อน ทั้งนี้ไทยและกัมพูชามีอดีตในการถูกล่าอาณานิคมเหมือนกัน และมีอนาคตร่วมกันว่าจะเป็นพี่น้องในชุมชนอาเซียนภายใต้หลักนิติธรรม ดังนั้นคำพิพากษาปี 2505 ต้องไม่ถูกบิดเบือน เพราะมีแต่หลักนิติธรรมเท่านั้นที่จะสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน

 

 

            “ขอให้ศาลตัดสินว่า คำขอของกัมพูชาในการตีความคำพิพากษาปี 2505 ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดตามข้อ 60 ของธรรมนูญศาลและศาลไม่มีอำนาจรับไว้พิจารณา หรือคำร้องไม่มีมูลไม่มีเหตุผลที่จะต้องตีความคำพิพากษา 2505 เพราะไม่ได้มีการกำหนดเส้นเขตแดนที่ผูกพันไทยและกัมพูชา" นายวีรชัย กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: