ป.ป.ช.ชี้จุดเสี่ยงโกง‘3.5แสนล้าน’ โหว่ตั้งแต่ทีโออาร์-เลี่ยงกฎหมาย แนะรัฐทำโปร่งใส-รับฟังความเห็น

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 19 พ.ค. 2556 | อ่านแล้ว 1459 ครั้ง

 

สำนักงานคณะกรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) นายกล้านรงค์ จันทิก คณะกรรมการป.ป.ช. นายเมธี ครองแก้ว ประธานคณะอนุกรรมการมาตรการป้องกันการทุจริต และ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ ประธานคณะทำงานศึกษาโครงการน้ำ 3.5แสนล้านบาท แถลงถึงข้อเสนอเพื่อป้องกันการทุจริตและความเสียหายของทางราชการ กรณี ป.ป.ช.ได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตและความเสียหายของทางราชการ ในการดำเนินโครงการระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย

 

นายกล้าณรงค์ กล่าวว่า จากมหาอุทกภัยในช่วงปลายปี พ.ศ.2554 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมาก และด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วน เพื่อจัดให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีบูรณาการ จนเป็นที่มาของโครงการเสนอกรอบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย” ที่มีงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

 

 

 

ป.ป.ช.ชี้จุดเสี่ยงงบน้ำ 3.5 แสนล้าน-แนะรัฐบาลก่อนถูกโกง

 

 

จากการพิจารณาของ ปปช.เห็นว่า โครงการดังกล่าวอาจมีผลทำให้เกิดการทุจริต และความเสียหายแก่ทางราชการ ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการในอดีต ดังนั้น ป.ป.ช.จึงได้ถืออำนาจตามมาตรา 19(11) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2535  และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554  คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา เพื่อศึกษาพิจารณาเรื่องนี้  โดยใช้เวลาพิจารณากว่า 4 เดือน จนได้ข้อสรุปเพื่อส่งให้กับรัฐบาลในการพิจารณาตามข้อกังวลต่าง ๆ ที่คณะอนุกรรมการเห็นแล้วว่า อาจจะเป็นจุดเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการทุจริต และความเสียหายต่อประเทศได้ พร้อมกันนี้ยังได้เสนอแนวทางแก้ไขต่อรัฐบาลไว้ด้วย

 

แต่อย่างไรก็ตาม การเสนอครั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ว่าจะเห็นเป็นอย่างไร และจะดำเนินการตามที่ ป.ป.ช.เสนอหรือไม่นั้น ต้องอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล แต่สิ่งที่ป.ป.ช.ทำนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการใช้งบประมาณจำนวนมาก ที่อาจจะเกิดข้อผิดพลาดได้ แต่ในส่วนของความเห็นต่อการดำเนินการโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำนั้น ป.ป.ช.เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่การชี้ให้เห็นข้อน่าสังเกตเหล่านี้ เป็นเหมือนการช่วยการดู เพื่อให้ประเทศชาติได้รับผลประโยชน์มากที่สุด

 

 

ตั้งข้อสังเกต 4 ประเด็น รวมงานเก่า-เลี่ยงใช้กฎหมาย

 

 

ด้าน ศ.ดร.พลายพล คุ้มทรัพย์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการการศึกษาพิจารณาโครงการฯ กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาศึกษาขั้นตอนโครงการ 3.5 แสนล้านของรัฐบาลที่ ป.ป.ช.ตั้งขึ้นนั้น ประกอบด้วยสมาชิก 6 คน มาจากต่างสาขากัน ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม กฎหมาย ระเบียบราชการ และเศรษฐศาสตร์ ที่ได้ร่วมทำงานเพื่อพิจารณาหาข้อสังเกต และข้อที่อาจะทำให้เกิดความเสี่ยง เพื่อเสนอออกมาเป็นรายงาน โดยเพิ่งทำงานเสร็จสิ้น ไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยตลอด 4 เดือนของการทำงาน ได้พิจารณารายละเอียดของโครงการทั้งหมดที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้น ตั้งแต่การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ, แผนปฏิบัตการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยแห่งชาติ  การดำเนินโครงการเสนอกรองบแนวคิด (Conceptual Plan) เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ที่ดำเนินการจัดหาบริษัทเพื่อดำเนินการก่อสร้างตามขั้นตอนต่าง ๆ  ตามที่ได้มีการดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้ จนสรุปได้ข้อสังเกตในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

 

1.การจัดทำแผนแม่บทและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของ กยน.ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างสั้น เป็นเพียง “การรวมแผน” จากแผนงาน โครงการที่เคยพิจารณากันมาก่อน โดยมิได้มีการศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์สอดคล้องระหว่างการลงทุนต่าง ๆ และความเป็นไปได้ทางเทคนิค ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และทางสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน

 

2.การคัดเลือกบริษัทออกแบบก่อสร้าง ใช้วิธีการแข่งขันกันในการเสนอกรอบแนวความคิด (Conceptual Plan) และการเสนอแบบ Definitive Design และการก่อสร้างพร้อมประกันราคาไม่เกินวงเงินสูงสุด (Design-build with Guaranteed Maximum Price) ทำให้ในแต่ละสัญญาของแต่ละโมดูล มีการรวมงานต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน (ตั้งแต่การศึกษาความเหมาะสม การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ การวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ และการเงิน ไปจนถึงการออกแบบรายละเอียดการจัดหาที่ดิน การก่อสร้างและ อื่นๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จประเภทหนึ่ง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

3.การดำเนินการจัดจ้างโดยขอยกเว้นไม่ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และระเบียบอื่นๆ ที่ทางราชการใช้บังคับในกรณีทั่วไป

 

4.การดำเนินการคัดเลือกบริษัทออกแบบก่อสร้าง มีช่วงเวลาที่จำกัด โดยรัฐบาลจะต้องทำสัญญาว่าจ้างภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่รัฐบาลสามารถกู้เงินมาลงทุนแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ

 

 

            “ลักษณะสำคัญดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลต้องการดำเนินโครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ อย่างรวดเร็ว โดยกำหนดให้เป็นโครงการที่ต้องการเร่งรัด เพื่อป้องกันหรือบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในอนาคตได้ทันเวลา โครงการลงทุนในทุกโมดูล ถูกกำหนดให้ต้องเสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี ผู้แทนจาก กบอ.ได้ชี้แจงว่า มีความจำเป็นต้องขอยกเว้นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ และต้องใช้วิธีการ Design-build with Guaranteed Maximum Price ซึ่งรวมงานต่าง ๆ ไว้ในสัญญาเดียวกัน ก็เพื่อทำให้โครงการลงทุนเกิดขึ้นได้จริงในเวลา 5 ปี เพราะหากดำเนินการไปตามวิธีการปกติ จะใช้เวลานานเกินไป และอาจเสร็จไม่ทันการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในอนาคตได้  ซึ่ง ป.ป.ช.เห็นว่าการป้องกันหรือบรรเทาปัญหาน้ำท่วมเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประเทศ และควรดำเนินการอย่างรวดเร็ว แต่การดำเนินโครงการออกแบบก่อสร้างระบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ของรัฐบาลเท่าที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดปัญหาทุจริต และความเสียหายแกทางราชการได้” ศ.ดร.พลายพล กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้ช่องโหว่ทีโออาร์อยู่ที่การว่าจ้างบริษัทเป็นส่วนใหญ่

 

 

สำหรับประเด็นปัญหาที่ ป.ป.ช.เห็นว่า อาจจะมีจุดเสี่ยงต่อการทุจริตและความเสียหายต่อประเทศนั้นประกอบด้วย

 

1.ประเด็นการคัดเลือกผู้รับจ้าง

จากการพิจารณาจะเห็นว่า การแข่งขันกันระหว่างบริษัทที่ยื่นข้อเสนอมีไม่มากเท่าที่ควร เพราะแต่ละโมดูลมีวงเงินว่าจ้างที่สูงมาก ทำให้บริษัทที่มีศักยภาพในการรับงานมีจำนวนน้อยราย จะเห็นได้ว่า มีผู้ผ่านการคัดเลือกเสนอกรอบแนวคิดเพียง 6 กลุ่มบริษัท โดยแยกเป็นโมดูลละ 3 กลุ่มบริษัท แต่ต่อมาปรากฎว่ามี 2 กลุ่มบริษัทได้ถอนตัวจากการเข้าประมูลออกไป จึงทำให้เหลือกลุ่มผู้ยื่นข้อเสนอทั้งหมด 4 กลุ่ม และทำให้ใน 8 โมดูล มีบริษัทแข่งขันในโมดูลละเพียง 2 รายเท่านั้น

 

นอกจากนี้การกำหนดขอบเขต และลักษณะของงาน ยังทำให้กฎเกณฑ์ในการคัดเลือกมีมาตรฐานที่ไม่แน่นอนและชัดเจน ซึ่งความคลุมเครืออาจเปิดโอกาสให้คณะกรรมการฯ เลือกที่จะใช้วิธีการที่ไม่โปร่งใส และไม่สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในตลาดการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะ 8 โมดูล ที่เหลือคู่แข่งอยู่โมดูลละแค่ 2 รายเท่านั้น ขณะเดียวกัน ในการดำเนินการคัดเลือกผู้รับจ้างตามประกาศฯ ซึ่งเป็นกระบวนการจัดหาพัสดุ ซึ่งแม้จะได้รับการยกเว้นในการถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุฯ ก็ตาม แต่การจัดหาพัสดุตามโครงการ ก็ยังคงต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในส่วนของการดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมให้เป็นตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกรณีที่ส่วนราชการเจ้าของโครงการ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการ

 

2.ประเด็นการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จในรูปแบบ Design-build

เนื่องจากการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ เป็นการรวมงานทุกอย่างไว้ให้กับบริษัทผู้รับจ้าง ทั้งเรื่องของการศึกษาความเหมาะสม การวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและการเงิน การวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ การออกแบบ รวมไปถึงการก่อสร้าง และการจัดหาที่ดิน ฯลฯ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหา ทั้งเรื่องของการเปรียบเทียบทางเลือกที่อาจจะมีไม่มากพอ เพราะต้องรีบเร่งในการดำเนินการ ,ขั้นตอนและวิธีการดำเนินการ ที่อาจจะมีการรวบรัดขั้นตอนและวิธีการ ทำให้เกิดการลงทุนไม่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและสภาพพื้นที่ และการรวมงานทุกอย่างทั้งการศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะทำให้เกิดการแรงจูงใจให้กับบริษัทผู้รับจ้าง มีอคติในการศึกษารายงานต่าง ๆ และอาจจะใช้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง เพื่อให้ได้มีการออกแบบและก่อสร้างได้ในที่สุด

 

 

            “นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการคัดค้านต่อต้าน ของผู้ได้รับผลกระทบได้ เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่กำหนดไว้แล้วว่า จะต้องดำเนินการโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ขณะเดียวกันอาจจะมีปัญหาเรื่องการเวนคืน หรือซื้อที่ดิน ที่โดยปกติจะต้องใช้เวลานาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อระยะเวลาก่อสร้างโครงการ จนอาจจะทำให้โครงการไม่มีประสิทธิภาพ หรืออาจจะทำให้โครงการล้มไปได้ สร้างความเสียหายให้กับประเทศได้ด้วย”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

3.ประเด็นการประกันราคาไม่เกินวงเงินสูงสุด (Guaranteed Maximum Price)

ประเด็นนี้เห็นว่า อาจจะก่อให้เกิดปัญหา คือ บริษัทอาจจะเสนอราคาในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจจะมีระดับสูงใกล้กับวงเงินงบประมาณสูงสุดที่กำหนดไว้ใน TOR สำหรับแต่ละโมดูล เพื่อเป็นการเผื่อไว้ไม่ให้ราคาในขั้นตอนออกแบบรายละเอียดสูงกว่า GMP โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทคาดการณ์ได้ว่า การดำเนินโครงการมีโอกาสเกิดอุปสรรคทำให้ล่าช้า และค่าใช้จ่ายสูงขึ้น นอกจากนี้การระบุให้รัฐบาลจ่ายค่าจ้างไม่เกินราคา GMP ที่กำหนดในสัญญา แม้ว่าราคาในขั้นตอนออกแบบรายละอียดจะสูงกว่า GMP นั้นอาจทำให้ผู้รับจ้างตั้งใจออกแบบรายละเอียด โดยลดต้นทุนการก่อสร้างให้มากที่สุด เป็นเหตุให้รัฐบาลได้ผลงานการก่อสร้างที่ไม่คุ้มค่า เพราะรัฐบาลเองก็จะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า งานก่อสร้างที่มีต้นทุนการก่อสร้างต่ำ แต่มีค่าใช้จ่ายการดำเนินการ (Operation cost) ที่สูงมากจนกลายเป็นภาระต่องบประมาณประจำปีของประเทศในระยะยาว ซึ่งปัญหาเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น หากมีการกำหนดแบบและราคากลางที่เหมาะสมโดยทางราชการก่อน แล้วจึงประกวดราคา เพื่อคัดเลือกบริษัทก่อสร้างอีกขั้นตอนหนึ่ง

 

 

            “สิ่งที่น่าห่วงอีกก็คือ ในทางปฏิบัติมีความเป็นไปได้ที่ราคาในขั้นตอนการออกแบบรายละเอียดจะสูงกว่า GMP เนื่องมาจากความล่าช้าในการดำเนินโครงการ เพราะเกิดจากการประท้วง หรือการจัดซื้อที่ดิน ราคาค่าก่อสร้างอาจสูงขึ้นตามเวลา จนทำให้ราคาตามแบบรายละเอียดสูงกว่า GMP และหากบริษัทรับจ้างขาดทุน จะมีอะไรประกันว่าบริษัทจะยอมดำเนินการโครงการต่อไป” ดร.พลายพลกล่าว

 

 

หวั่นเกิดปัญหาเหมือนสร้างโรงพักทั่วประเทศ

 

 

4.ปัญหาการจ้างเหมาช่วง

โครงการก่อสร้างหลายโมดูล เป็นโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าจะต้องมีการจ้างเหมาช่วง หรือ Sub Contract  ออกไปจำนวนมาก ซึ่งจะมีการควบคุมได้อย่างไรว่า กลุ่มผู้รับเหมาช่วงจะมีการดำเนินการตามกำหนด และงานจะหยุดชะงักหรือไม่ ดังนั้นการควบคุม เพื่อให้ได้รับผู้รับเหมาช่วงที่มีคุณภาพ เป็นเรื่องที่สำคัญ หากผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงิน จากการที่เงินไม่ส่งถึงมือ ผู้รับจ้างอาจถูกปรับจนไม่คุ้มต่อการทำงาน และอาจส่งผลให้ต้องทิ้งงาน เช่นเดียวกับกรณีของโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทั่วประเทศ การกำกับและควบคุมงานที่มีการจ้างเหมาช่วง จึงต้องใช้ความเอาใจใส่ระมัดระวังอย่างมาก เพราะหากผู้รับงานหลักเห็นว่า ทำแล้วไม่คุ้มค่ากับต้นทุน ก็อาจ กดราคา ผู้รับเหมาช่วงรายย่อย และถ้าผู้รับเหมารายย่อนเห็นว่าทำแล้วได้กำไรน้อย ก็อาจจะลดเนื้องานและคุณภาพวัสดุก่อสร้าง ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายงาน ซึ่งท้ายที่สุดทางราชการก็จะไม่ได้งานตามแบบเดิม ที่ผู้รับงานหลักได้กำหนดไว้  ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับงานหลักกับผู้รับเหมาะช่วงจำนวนมาก รวมทั้งเงื่อนไข ที่กำหนดให้การจ้างช่วงต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับโครงการ อาจนำไปสู่การทุจริตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขัดระเบียบ-กฎหมายหลายข้อที่ยกเว้นไม่ได้

 

 

5.การไม่ปฏิบัติตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เกี่ยวกับหลักความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการ

โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีวว่าด้วยการพัสดุฯ ได้กำหนดไว้เป็นหลักการให้หน่วยงานราชการเจ้าของบประมาณมีหน้าที่และรับผิดชอบดำเนินการจัดหาพัสดุทุกขั้นตอน แต่ในการดำเนินโครงการนี้ ซึ่งมีการกำหนดให้นำเอางานจ้างหลายลักษณะ และอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ.2555 กำหนด และต่อมาครม.ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบแทน โดยที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรง กับงานจ้างในระบบบริหารจัดการน้ำฯ ก็อาจจะทำให้เกิดการรั่วไหลได้ เพราะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้

 

6.การกระทำที่อาจเป็นการขัดกับมาตรการป้องกันการทุจริตตามที่กฏหมายกำหนด

ตามมาตรการป้องกันการทุจริต ที่เคยกำหนดว่าจะต้องมีการเปิดเผยราคากลาง ในการประมูลโครงการต่างๆ ของรัฐ แต่ในโครงการนี้ เป็นการดำเนินการจ้างที่หน่วยงานของรัฐได้มอบให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้รับจ้างในการกำหนดรูปแบบรายงานการก่อสร้าง ค่าก่อสร้างทั้งหมด ประกอบกับ TOR กำหนดให้มีการยื่นข้อเสนองานจ้างในขั้น Definitive Design ที่ผู้เสนองานจ้างจะทำได้แค่การประมาณการราคา โดยไม่มีรายละอียดของการคำนวณราคากลางไว้แต่อย่างใด

 

 

สงสัยเปิดเผยราคากลางที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบก่อนวันยื่นข้อเสนอ 1 วัน

 

 

อย่างไรก็ตามสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีประกาศเรื่อง การเปิดเผยราคากลางของทางราชการโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ลงวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ประกาศดังกล่าวมีข้อความและข้อมูลเกี่ยวกับราคากลาง ซึ่งเป็นตัวเลขวงเงินงบประมาณ ที่ได้กำหนดไว้ในข้อกำหนดและขอบเขตของงาน (TOR) ของโครงการฯ อยู่แล้ว จึงสรุปได้ว่าประกาศดังกล่าวไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับราคากลางเพิ่มเติมจาก TOR  และการประกาศในเวลาเพียงหนึ่งวัน ก่อนถึงวันที่กำหนดให้มีการยื่นข้อเสนอ คือวันที่ 3 พฤษภาคม ก็คงไม่ได้ช่วยให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ราคากลาง” ในประกาศดังกล่าว ให้เป็นประโยชน์ในการจัดทำข้อเสนออยู่แล้ว ดังนั้นการมีประกาศเกี่ยวกับการเปิดเผยราคากลางดังกล่าว จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต

 

 

 

 

 

 

ทำข้อเสนอแนะส่งต่อรัฐบาล แต่ไม่ทราบจะฟังหรือไม่

 

 

จากข้อสังเกต และการเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทุจริต และความเสี่ยงหายของประเทศจากโครงการดังกล่าว ทำให้ ป.ป.ช.มีความเห็นในการจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ดังนี้

 

1.การพิจารณาคัดเลือกผู้รับจ้าง ควรมีการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้การคัดเลือกเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม โดยควรมีหลักเกณฑ์และรายละเอียดมากกว่าที่ปรากฎในข้อกำหนดและขอบเขตของงาน และคณะกรรมการควรพิจารณาเจรจากับผู้ผ่านเกณฑ์อย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพราะอาจจะมีจะมีผู้ผ่านเกณฑ์เพียงรายเดียว พร้อมทั้งเปิดเผยหลักเกณฑ์และดุลยพินิจของคณะกรรมการให้สาธารณชนรับทราบ

 

2.การทำสัญญาว่าจ้าง ไม่ควรรวมงานที่มีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของลักษณะงาน และด้านพื้นที่ก่อสร้างไว้ในสัญญาเดียวกัน แม้ว่าจะอยู่ในโมดูลเดียวกันก็ตาม แต่ควรแยกทำสัญญา เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการ รวมทั้งการทำสัญญาควรแยกงานศึกษาวิเคราะห์ ออกจากงานออกแบบและงานก่อสร้าง

 

3.การกำกับดูแลโครงการและการตรวจรับงาน ควรมอบหมายให้หน่วยงานราชการที่มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับงานในโครงการเป็นผู้รับผิดชอบ ดูแลกำกับโครงการและการตรวจรับงาน และควรมีกลไกตรวจสอบแบบ Check and balance เพื่อป้องกันการทุจริต ขณะเดียวกันควรจ้างบริษัทที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และมีอิสระ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมในการให้คำปรึกษา เพื่อช่วยทางราชการในการดูแลกำกับโครงการและตรวจรับงาน รวมทั้งตรวจสอบการทำงานในลักษณะเหมาช่วย และให้เครือข่ายภาคเอกชนต่อต้านการคอร์รัปชั่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบการดำเนินการโครงการด้วย

 

อย่างไรก็ตามหากมีเหตุใดที่ทำให้โครงการระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯ ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และรัฐยังเห็นว่ามีความจำเป็นของการดำเนินโครงการที่ว่านี้ ในรูปแบบของการว่าจ้างเหมาะแบบเบ็ดเสร็จ ก็ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมายได้พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตาม “คู่มือการพิจารณาโครงการจ้างเหมาะแบบเบ็ดเสร็จ” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่วนราชการต่าง ๆ ใช้เป็นแนวทางการดำเนินโครงการที่ถูกต้องต่อไป

 

 

 

ทั้งนี้หากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบไม่ได้ปรับปรุงแก้ไข และดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะ แต่ยังคงเสี่ยงดำเนินการตามแนวทางที่มีการกำหนดไว้แล้วต่อไป จนเป็นเหตุทำให้การดำเนินโคงการฯ เกิดผลกระทบและความเดือดร้อนแก่ประชาชน รวมทั้งไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศโดยส่วนรวมให้คณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีบุคคลต้องรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าวด้วย

 

ทั้งนี้ ศ.ดร.พลายพล กล่าวในตอนท้ายว่า การออกมาแถลงข่าวของ ป.ป.ช.ในเรื่องนี้ ในช่วงที่มีการประชุมผู้นำด้านน้ำ กลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก ที่จ.เชียงใหม่นั้น ไม่ได้เป็นการเลือกเวลา เพื่อต้องการให้เกิดการดิสเครดิตใคร หรือเป็นการสนับสนุนกลุ่มใด แต่เนื่องจากคณะทำงานเพิ่งจะพิจารณาและดำเนินการเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมผ่านมา จึงจัดแถลงข่าวในทันที เพื่อจะได้ไม่ให้เสียเวลา เนื่องจากหากปล่อยไว้จะเกิดความล่าช้า และอาจจะเกิดความเสียหายและไม่ทันการณ์ได้ ทั้งนีได้มีการส่งรายงานดังกล่าวไปยังรัฐบาลแล้ว และจะมีการดำเนินการต่อไปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่หากต้องการให้คณะทำงานของ ป.ป.ช.ไปให้ข้อมูล ก็จะมีการดำเนินการหากมีการแจ้งมา

 

 

            “ส่วนใครจะรับฟังหรือไม่อย่างไรนั้นก็แล้วแต่ เพราะ ป.ป.ช.ได้ทำหน้าที่อย่างดีแล้ว และงานนี้ถือว่าเสร็จสิ้น ต่อไปคือหน้าที่ของรัฐบาล ส่วนตัวคิดว่าข้อเสนอแนะดังกล่าว น่าจะเป็นประโยชน์ และอยากให้รัฐบาลเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดให้ภาคอื่น ๆ ร่วมเสนอแนะและตรวจสอบด้วย เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ของประเทศชาติที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน” ศ.ดร.พลายพล กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: