ล่าสุด กรรมการสิทธิมนุษยชนอย่างน้อยหนึ่งรายออกมาเปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยกับรายงานถึงขั้นที่บอกว่ากรรมการที่ลงชื่อรับรองต้องรับผิดชอบกับปัญหาที่จะตามมาเลยทีเดียว
ในกรณีของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรายงาน แม้คำวิจารณ์บางส่วนจะมีเนื้อหาพัวพันกับเรื่องที่อยู่นอกรายงานออกไป ตัวอย่างเช่นที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดนี้ หรือความคลางแคลงใจต่อบทบาทของคณะกรรมการในช่วงที่ผ่านมา แต่คำวิจารณ์หลายข้อก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้โดยตรง โดยเฉพาะส่วนที่เป็นการเสนอคำอธิบายเหตุการณ์ทั้งหมด และการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์การชุมนุมแต่ละกรณี
โดยอุดมคติของการเขียนรายงานแบบนี้คือการรวบรวมและประเมินข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาและปราศจากฝักฝ่ายให้มากที่สุด แต่เมื่ออ่านให้ถี่ถ้วน รายงานฉบับนี้กลับเจือปนไปด้วยอคติหลายอย่างจนน่าตกใจ
หนึ่งในคำวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงที่สุดคือรายงานฉบับนี้ไม่ตรวจสอบการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม คำวิจารณ์แบบนี้เข้าใจได้เพราะข้อถกเถียงที่ทุกฝ่ายในสังคมไทยเถียงกันเรื่องนี้มากที่สุดคือใครฆ่าใคร ทำไมเขาถึงถูกฆ่า ผู้ฆ่ามีเหตุผลในการฆ่าแค่ไหน ยิ่งกว่านั้นคือการฆ่าหลายกรณีโหดเหี้ยมจนสังคมต้องการข้อเท็จจริงมาตั้งแต่แรก ซ้ำการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายต่าง ๆ ก็ผลักให้เรื่องนี้อยู่กลางแสงไฟมากขึ้นไปอีก เช่นกรณี 6 ศพวัดปทุมวนามราม
คำถามคือทำไมกรรมการสิทธิไม่พูดถึงกรณีเหล่านี้แม้แต่ครั้งเดียว?
แม้กรรมการสิทธิจะไม่ได้ตอบคำถามนี้ไว้โดยตรง แต่ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พ.ศ.2542 มาตรา 22 ระบุขอบเขตในการทำงานของกรรมการสิทธิเอาไว้ว่ามีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการแก้ไขได้เฉพาะเรื่องที่ไม่ได้เป็นคดีอยู่ในศาล รวมทั้งเรื่องที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาหรือยังไม่ได้มีคำสั่งเด็ดขาด บทบัญญัติมาตรานี้ทำให้การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนคดีในศาลหรือคดีที่ศาลตัดสินแล้วเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง
โชคดีสำหรับกรรมการสิทธิชุดนี้ก็คือหลังสลายการชุมนุมผ่านไปสามปี การเสียชีวิตที่คนสงสัยเรื่องการละเมิดสิทธิกลายเป็นคดีที่ศาลกำลังพิจารณา หรือไม่ก็ตัดสินไปแล้ว กรอบการทำงานของกรรมการสิทธิที่เขียนขึ้น ภายใต้อุดมการณ์ที่เชิดชูความเป็นสถาบันพิเศษของศาล กลายเป็นเกราะป้องกันการตรวจสอบผู้ละเมิดสิทธิได้เท่า ๆ กับเป็นข้ออ้างให้กรรมการสิทธิไม่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิในเวลาเดียวกัน
เป็นไปได้อย่างไรที่กฎหมายกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทย ยกเว้น การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในคดีที่ไปถึงมือศาลหรือศาลตัดสินแล้วแบบนี้ การตรวจสอบเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ไม่ใช่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย จึงไม่ได้มีอะไรเกี่ยวพันกับอำนาจศาลอย่างเด็ดขาดจนถึงขั้นต้องเขียนกฎหมายห้ามการตรวจสอบการละเมิดสิทธิอย่างที่ทำกัน
การเขียนรายงานภายใต้การยกเว้นไม่พูดถึงคดีหลายคดีเป็นเทคนิคที่ทำให้รายงานนี้ไม่ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมทุกเรื่องไปโดยปริยาย
นอกจากการเขียนรายงานภายใต้การยอมรับว่าจะไม่แตะคดีในศาลแล้ว การเลือกใช้หลักฐานตามอำเภอใจยังเป็นวิธีที่กรรมการสิทธิเขียนรายงานฉบับนี้ด้วย เพราะในบรรดาหลักฐานทั้งหมดที่อ้างว่าได้ใช้ในการจัดทำรายงานนั้น กรรมการสิทธิไม่ได้ชี้แจงว่าให้น้ำหนักกับหลักฐานชิ้นไหน / ด้วยสาเหตุอะไร รวมทั้งไม่ได้แสดงให้เห็นว่าได้ใช้หลักฐานอย่างได้สัดส่วนและครอบคลุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการชุมนุมจริงหรือไม่จริง
ขณะที่กรรมการสิทธิอธิบายหลักฐานด้านพยานบุคคลว่ามีผู้มาให้การเพียง 184 คน จากที่เชิญไป 1,036 คน กลับไม่ปรากฎการแจกแจงการใช้หลักฐานอื่นในลักษณะเดียวกันนี้ การอ้างว่ารายงานเก็บข้อเท็จจริงจากสื่อมวลชน เว็บไซต์ และคลิป, การลงพื้นที่คุยกับพยานและเจ้าหน้าที่, การเยี่ยมผู้ต้องหาคดีความมั่นคง, ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งการให้ปากคำของบุคคลและแกนนำฝ่ายต่างๆ กร่ะทำไปโดยไม่มีรายละเอียดของหลักฐานที่ใช้และเกณฑ์ในการวินิจฉัยหลักฐาน ซึ่งถ้าหลากหลาย ก็ย่อมมีข้อขัดแย้งกัน
เพื่อให้ความเป็นธรรมกับกรรมการสิทธิในประเด็นนี้ ควรระบุไว้ด้วยว่ารายงานของกรรมการสิทธิกล่าวถึงความยากลำบากในการรวบรวมหลักฐานไว้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นการไม่มีอำนาจในการเรียกบุคคลมาให้การ การไม่ได้รับความร่วมมือขณะลงพื้นที่ หรือการที่ผู้ให้การจงใจหลบเลี่ยงไม่ให้การในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ
ด้วยหลักฐานที่จำกัดจำเขี่ยแบบนี้ การหายไปของคำอธิบายว่ากรรมการสิทธิเชื่อหลักฐานไหนและเพราะอะไรทำให้รายงานฉบับนี้มีลักษณะพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม่ใช่รายงานที่เขียนขึ้นบนการเลือกใช้หลักฐานตามอำเภอใจ ปัญหาคือถ้าการใช้หลักฐานเป็นไปตามอำเภอใจจริงดังที่กล่าวมา อะไรคือหลักประกันว่ากรรมการสิทธิจะไม่ได้เขียนรายงานตามข้อสรุปที่มีล่วงหน้าไว้แล้วในใจ?
การเขียนรายงานภายใต้ขอบข่ายของหลักฐานที่คับแคบและอธิบายไมได้แบบนี้เป็นเพดานให้รายงานฉบับนี้เสี่ยงต่อการเลือกข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันข้อสรุปมากกว่าจะเป็นการสรุปบทเรียนจากข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนสมบูรณ์
น่าสังเกตด้วยว่ากรรมการสิทธิในรายงานฉบับนี้ทุ่มเทความพยายามอย่างสูงไปเพื่อการสร้างคำอธิบายภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหมด การทำอย่างนี้โดยตัวเองแล้วไม่ผิด แต่ความผิดของการทำแบบนี้ในกรณีนี้คือกรรมการสิทธิเขียนคำอธิบายโดยไม่แตะรายละเอียดของข้อเท็จจริงซึ่งเป็นหัวใจของการตรวจสอบและประเมินเหตุการณ์แต่ละกรณี
ในแง่นี้แล้ว รายงานฉบับนี้เลี่ยงการตรวจสอบข้อเท็จจริงรายกรณีโดยบิดประเด็นไปเป็นการประเมินเหตุการณ์โดยวิธีเทียบเคียงกับผลที่เกิดแก่สถานการณ์การชุมนุมทั้งหมดตลอดเวลา
การไม่ปฏิบัติหน้าที่พื้นฐานในการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนเป็นเทคนิคที่ทำให้รายงานนี้เป็นเครื่องมือที่ดีในการปกปิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างเช่นเมื่อต้องตรวจสอบการละเมิดสิทธิในการประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงและพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน กรรมการสิทธิกลับเบี่ยงประเด็นไปอภิปรายว่าผู้ชุมนุมมีพฤติกรรมรุนแรงตั้งแต่การเทเลือดไปจนถึงการประท้วงตามสถานที่ราชการและการปิดถนน หรือเมื่อต้องตรวจสอบการละเมิดสิทธิกรณีปิดสถานีโทรทัศน์พีทีวี กรรมการสิทธิก็ไปอภิปรายเรื่องพีทีวีมีพฤติกรรมยั่วยุและปลุกระดมมวลชน
ด้วยการเปลี่ยนประเด็นเป็นการอภิปรายพฤติกรรมผู้ชุมนุมและพฤติกรรมของพีทีวี กรรมการสิทธิก็ได้โอกาสที่จะไม่ต้องตอบคำถามที่ต้องตอบหลายข้อ นั่นคือการไม่ตอบคำถามที่ต้องตอบในกรณีกฎหมายความมั่นคงว่าการใช้กฎหมายแบบนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ รวมทั้งไม่ตอบคำถามที่ต้องตอบกรณีพีทีวีว่าการปิดสถานีโทรทัศน์เป็นหรือไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากการหลีกเลี่ยงไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงรายกรณีด้วยวิธีบิดประเด็นแล้ว การสร้างคำอธิบายเหตุการณ์ของกรรมการสิทธิก็โน้มเอียงจะมีลักษณะที่เป็นไปเพื่อรับรองการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย รายงานตอนหนึ่งพูดถึงการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่าเกิดเพราะผู้ชุมนุมปิดการจราจรและคุกคามทหารในบริเวณที่ชุมนุม ข้อเท็จจริงนี้อาจอธิบายได้อีกแบบว่าผู้ชุมนุมมีมากจนลงไปถนนตามสภาพ ส่วนทหารต่างหากที่ต้องถูกตั้งคำถามว่าทำไมต้องเข้ามาอยู่ในระยะประชิดผู้ชุมนุม?
การเลือกใช้คำอธิบายแบบแรกทั้งที่มีคำอธิบายเหตุการณ์เดียวกันไปแบบอื่นได้อีกมากคือปัญหาของรายงานฉบับนี้ด้วยเหมือนกัน
ควรระบุด้วยว่ากรรมการสิทธิสร้างคำอธิบายที่เต็มไปด้วยคำคลุมเครือแต่มีผลสร้างภาพประทับบางแบบ ตัวอย่าง เช่น การอภิปรายว่า “นปช.ใช้สัญลักษณ์ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง” หรือ “นปช.มีแนวโน้มจะนำไปสู่การใช้กำลัง” ล้วนนำไปสู่ความรู้สึกว่าการชุมนุมของนปช.ไม่ใช่เป็นการชุมนุมที่รัฐธรรมนูญรองรับ ความไม่ระมัดระวังในการใช้คำแบบนี้ทำให้น่าสงสัยว่าทำไมกรรมการสิทธิทำเหมือนไม่รู้ว่าสัญลักษณ์ที่รุนแรงนั้นไม่ใช่ความรุนแรง และความรุนแรงที่ยังเป็นแค่แนวโน้มย่อมไม่เป็นเหตุให้รัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน
เมื่ออ่านรายงานฉบับนี้จบลง ผู้อ่านคงไม่เข้าใจมากนักว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์ปี 2553 เกิดขึ้นอย่างไร แต่ประโยชน์ที่จะได้คือการศึกษาวิธีเขียนรายงานให้เอื้อต่อการละเมิดสิทธิครั้งใหญ่และซับซ้อนที่สุดของประเทศในเวลานั้น นอกจากนั้นคือการตระหนักว่ากรรมการสิทธิแทบไม่มีอำนาจเมื่ออยู่ต่อหน้าศาล ไม่มีแม้กระทั่งอำนาจในการเรียกเจ้าหน้าที่ให้ปากคำในฐานะพยาน
สังคมไทยต้องการกรรมการสิทธิที่ดีกว่านี้และกฎหมายที่ให้อำนาจกรรมการสิทธิมากกว่านี้ในเวลาเดียวกัน
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ