‘น้ำยาบ้วนปาก’มีประโยชน์จริงหรือไม่ ช่วยรักษาเหงือก-ฟันหรือแค่บ้วนเงินทิ้ง

ภาพกราฟฟิก โดย ชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ 19 ก.ย. 2556 | อ่านแล้ว 45351 ครั้ง

หากสำรวจผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำความสะอาดอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งสบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน จะพบว่ามีมากมายหลายยี่ห้อ ล้วนแต่สรรพคุณที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงราคาที่มากน้อยตามแต่การผลิตและกระบวนการทางการตลาด ขณะที่มีผลิตภัณฑ์ประกอบอย่างอื่นที่มีมูลค่ามากมายอีกหลายชนิด อาทิ ครีมทาตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นตัว น้ำยาบ้วนปาก ฯลฯ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ตลาดน้ำยาบ้วนปากมีมูลค่าทางการตลาดมากถึง 1,000 ล้านบาท โดยมีแบรนด์หรือผู้ผลิตอยู่ไม่กี่ราย แต่หากดูจากโฆษณาที่ปรากฏในสื่อต่าง ๆ ณ ปัจจุบัน นับว่ามีการแข่งขันกันสูงมาก และมีผลิตภัณฑ์ออกมาหลากหลายชนิดมากจนสร้างความสับสนให้ผู้บริโภค ที่ไม่ทราบว่า มีความจำเป็นต้องใช้หรือไม่ หากต้องการใช้จะเลือกใช้ยี่ห้ออะไรดีราคาที่มีความเหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร จะได้รับผระโยชน์ตามที่มีการโฆษณาจริงหรือไม่ หากไม่ใช้จะเกิดผลต่อปากและฟันอย่างไร ฯลฯ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิคุ้มครองปผู้บริโภค จึงมีการสำรวจตลาดน้ำยาบ้วนปากทุกยี่ห้อ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค

น้ำยาบ้วนปากจำเป็นหรือไม่จำเป็น

หากนำคำถามว่า “จำเป็นหรือไม่จำเป็น ให้ไปถามทันตแพทย์” ก็จะได้คำตอบทั้งจำเป็นและไม่จำเป็น โดยมีปัจจัยเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปาก ด้วยการแปรงฟันมาเป็นตัวตัดสิน กล่าวคือ หากคุณแปรงฟันได้ถูกวิธี ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ น้ำยาบ้วนปากก็ไม่มีความจำเป็นอะไรเลย แต่หากคนที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ และแปรงฟันไม่ค่อยถูกวิธี น้ำยาบ้วนปากก็เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมในการป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปากได้บ้าง

อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดปัญหาในช่องปาก ไม่ว่าจะฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือมีกลิ่นปาก (ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนหันมาใช้น้ำยาบ้วนปาก) ควรต้องพบทันตแพทย์เพื่อรักษาอาการเหล่านั้นที่ต้นเหตุเสียก่อน เพราะน้ำยาบ้วนปากไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย หากไม่รักษาให้ถูกวิธี

ประเภทของน้ำยาบ้วนปาก

การสำรวจตลาดทั่วไปจากห้างค้าปลีกและร้านสะดวกซื้อ นิตยสารฉลาดซื้อพบผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากหลายชนิด ซึ่งแบ่งประเภทได้ 5 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ช่วยกลบกลิ่นและสร้างความสดชื่นในช่องปาก ด้วยน้ำมันหอมระเหย 2) กลุ่มที่ผสมสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ร่วมกับฟลูออไรด์ 3) กลุ่มที่ผสมสารเพื่อลดปัญหาในช่องปากบางประการ เช่น ลดการเสียวฟัน ลดคราบหินปูน (ฟันขาว) 4) กลุ่มสำหรับเด็ก และ 5) ครอบจักรวาล คือรวมกลุ่ม 1-3 ไว้ในขวดเดียวกัน

1) กลุ่มที่ช่วยกลบกลิ่นและสร้างความสดชื่นในช่องปาก ด้วยน้ำมันหอมระเหย

กลิ่นหอมที่ได้จากน้ำยาบ้วนปากในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) ซึ่งไม่เพียงให้กลิ่นหอมและความรู้สึกเย็นสดชื่น ยังมีฤทธิ์ระงับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ด้วย โดยน้ำมันหอมระเหยที่นิยมใช้ได้แก่ Methyl Salicylate, Thymol, Menthol, Eucalyptol, Peppermint oil,  Clove oil (น้ำมันกานพลู) เป็นต้น

น้ำยาบ้วนปากกลุ่มนี้ช่วยกลบกลิ่นปากได้ราว 2 - 3 ชั่วโมง หลังใช้ (เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยช่วยระงับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค) แต่กลิ่นหอมที่เกิดจากน้ำยาบ้วนปากจะอยู่ได้ไม่นานประมาณ 20 นาที ก็จะจางไปเนื่องจากน้ำมันหอมระเหยจะออกฤทธิ์ได้ดีในแอลกอฮอล์ น้ำยาบ้วนปากกลุ่มนี้ จึงผสมแอลกอฮอล์ในความเข้มข้นที่ 10-30 เปอร์เซนต์ ซึ่งทำให้เกิดภาวะแสบร้อนที่ไม่พึงประสงค์ หลายคนจึงใช้น้ำยาบ้วนปากได้ไม่นานเท่าที่คำแนะนำระบุ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพลดลงไป ปัจจุบันจึงมีสูตรไร้แอลกอฮอล์ออกมาเป็นทางเลือก

ยาสีฟันในกลุ่มนี้ไม่มีผลในการลดภาวะฟันผุ

2) กลุ่มที่ผสมสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ร่วมกับฟลูออไรด์

การเติมสารฆ่าเชื้อหรือระงับเชื้อจุลินทรีย์ลงในน้ำยาบ้วนปาก ก็เพื่อลดจำนวนจุลินทรีย์ในปากลง เนื่องจากจุลินทรีย์ก่อให้เกิดกลิ่นปาก แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้องคือใช้ในระยะเวลาที่ไม่นานพอ ที่สารจะถูกดูดซับไว้ในช่องปาก ก็แทบไม่มีผลอะไรในการระงับเชื้อ ดังนั้นต้องใช้ให้ตรงตามคำแนะนำ

ปัจจุบันสารฆ่าเชื้อหรือระงับเชื้อที่นิยมใช้ ได้แก่ กลุ่มน้ำมันหอมระเหย อย่าง ไธมอล หรือ เมนทอล  และกลุ่ม Quaternary ammonium salts ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีและไม่เป็นพิษ ในความเข้มข้นที่ใช้ (ไม่เกิน 0.5เปอร์เซนต์) ตัวที่ควรรู้จัก คือ Cetylpyridinum chloride (เซธิลไพริดิเนียม คลอไรด์)

น้ำยาบ้วนปากสูตรไร้แอลกอฮอล์ หรือที่โฆษณาว่า สดชื่นไม่แสบปาก จะนิยมใส่สาร Cetylpyridinum chloride เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อ แทนการใช้กลุ่มน้ำมันหอมระเหยที่จะออกฤทธิ์ได้ไม่ดีหากไม่ใช้แอลกอฮอล์ในการทำละลาย ส่วนข้อเสียของ Cetylpyridinum chloride คือจะให้รสขมติดปาก ดังนั้นในการผลิตจึงต้องมีการใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลเพื่อช่วยปรับรสชาติ

สำหรับฟลูออไรด์ที่ผสมในน้ำยาบ้วนปาก จะมีผลในการป้องกันฟันผุได้จริง แต่ต้องใช้ให้ถูกต้องคือ อมหรือกลั้วปากให้นานอย่างน้อย 1 นาที และไม่บ้วนน้ำตาม (เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพไม่ควรดื่มน้ำหรือกินอาหาร หลังการบ้วนปากเป็นเวลา 30 นาทีด้วย)

น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ซึ่งเป็นคำเตือนที่ต้องระบุไว้บนฉลากสินค้า ปกติคนเราจะได้รับฟลูออไรด์จากน้ำดื่ม และยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์อยู่แล้ว (เพราะเราแปรงฟันทุกวัน) การรับเพิ่มจากน้ำยาบ้วนปากก็มีข้อต้องระวังคือ หากรับฟลูออไรด์มากไป อาจเกิดปัญหาฟันตกกระได้ แต่สำหรับในคนที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้ง่าย เช่น มีฟันผุเกิดขึ้นใหม่ทุกปี ต้องไปอุดฟันบ่อย ๆ หรือคนที่กินขนมหวาน น้ำอัดลมมาก ๆ การแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์อย่างเดียวอาจไม่พอ ก็สามารถเพิ่มน้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ได้ ผู้สูงอายุที่มีปัญหาเหงือกร่น การแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ร่วมกับการใช้น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์จะป้องกันฟันผุที่รากฟันได้ด้วยเช่นกัน

3) กลุ่มที่ผสมสารเพื่อลดปัญหาในช่องปากบางประการ เช่น เสียวฟัน ลดคราบหินปูน (ฟันขาว)

จากการสำรวจพบว่า น้ำยาบ้วนปากในกลุ่มที่ลดอาการเสียวฟัน จะใช้สาร Potassium Nitrate เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ ร่วมกับการใช้สารฆ่าเชื้อ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการเสียวฟันได้ แต่ไม่ควรเพิกเฉยต่ออาการเสียวฟันซึ่งส่อให้เห็นว่าสุขภาพฟันกำลังมีปัญหา ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาที่ต้นเหตุด้วย ส่วนกลุ่มที่ลดคราบหินปูน และช่วยลดคราบต่าง ๆ ที่มาติดฟันจนดูเหมือนว่าช่วยทำให้ฟันขาวขึ้น นิยมใช้ สาร Zinc Chloride, Zinc Lactate หรือ Zinc Citrate เป็นสารออกฤทธิ์สำคัญ

4) น้ำยาบ้วนปากสำหรับเด็ก

กลุ่มนี้ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันฟันผุสำหรับเด็ก สารออกฤทธิ์ตัวสำคัญจึงเป็นสารฟลูออไรด์ ซึ่งจะไม่มีสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ และไม่มีแอลกอฮอล์ผสม และเนื่องจากผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดปัจจุบัน แทบไม่มีที่ผสมแต่เพียงฟลูออไรด์อย่างเดียว โดยไม่ผสมสารฆ่าเชื้อร่วมด้วย ดังนั้นหากไม่ต้องการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ต้องการแต่ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุอย่างเดียว ก็สามารถเลือกใช้น้ำยาบ้วนปากในกลุ่มสำหรับเด็กได้ ห้ามใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี และสำหรับเด็กที่ฟันผุมาก ผู้ปกครองอาจเสริมด้วยน้ำยาบ้วนปากสำหรับเด็กหลังการแปรงฟันได้ แต่ถ้าเด็กได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างดีแล้ว น้ำยาบ้วนปากก็ไม่จำเป็น

5) กลุ่มครอบจักรวาล (Total care)

กลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า โทเทิล แคร์ คือดูแลหมดทุกสิ่งอย่าง ทั้งฆ่าเชื้อ ทำให้ปากสดชื่น ป้องกันฟันผุ ลดคราบหินปูน และลดเสียวฟัน ซึ่งไม่จำเป็นเท่าไหร่ ควรเลือกใช้ให้ตรงตามความต้องการดีกว่า

‘น้ำยาบ้วนปาก’เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่

จากหนังสือพิมพ์ Periodontology 2000 ระบุว่า น้ำยาบ้วนปากตัวแรก เกิดขึ้นที่ประเทศจีน ประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคนั้นการรักษาปัญหากลิ่นปากเรื้อรัง ที่เกิดจากโรคเหงือกอักเสบ แพทย์ได้แนะนำให้กลั้วปากด้วยปัสสาวะเด็ก

ที่กรีก ฮิปโปเครติส บิดาแห่งการแพทย์ แนะนำให้กลั้วปากด้วยส่วนผสมของเกลือ สารส้มและน้ำส้มสายชู ในคู่มือทันตกรรมที่มีชื่อเสียง ซึ่งตีพิมพ์ในประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ.1530 เขียนถึงสิ่งที่ทำงานใกล้เคียงกับน้ำยาบ้วนปากในปัจจุบัน โดยระบุว่า “หลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ให้กลั้วปากด้วยไวน์หรือเบียร์ เพื่อชะล้างสิ่งที่ติดฟันและทำให้ฟันผุ ผลิตกลิ่นเหม็นและทำลายฟัน”

ย้อนไปปี ค.ศ. 1895 เมื่อ Joseph and Jordan Lambert นำของเหลวที่ช่วยกำจัดเชื้อโรค ที่นำมาจากการผ่าตัดและไปผลิตเป็นน้ำยาบ้วนปาก การผสมผสานของ thymol, menthol, eucalyptol และ methyl salicylate จึงเกิดขึ้น นักธุรกิจคู่นี้ใช้ชื่อน้ำยาบ้วนปากว่า Listerine และขายให้แก่ทันตแพทย์ในปีนั้นเอง

“Listerine ถูกผลิตขึ้นในศตวรรษที่ 19 เพื่อฆ่าเชื้อโรค มันถูกกลั่นออกมาในรูปแบบของน้ำยาทำความสะอาดพื้นและรักษาโรคหนองใน” (ที่มา  http://therabreaththailand.com/article10.php)

แอลกอฮอล์ในน้ำยาบ้วนปาก

เคยมีผู้สงสัยว่า น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งในช่องปากหรือไม่ เพราะโรคมะเร็งในช่องปากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การสูบบุหรี่ รองลงมาคือ การดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ  ณ ปัจจุบันผลการวิจัยที่ออกมายังไม่สามารถฟันธงได้ เพราะผลการวิจัยมีทั้งที่ระบุว่า อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง และระบุว่าไม่เป็นปัจจัยเสี่ยง ในประเทศไทยจึงยังไม่มีการสรุปในประเด็นดังกล่าว แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องมีข้อแนะนำว่า สำหรับคนที่สูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากอยู่แล้ว ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ผสม

ประสิทธิภาพในการลดกลิ่นปาก

จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปาก จะช่วยลดกลิ่นปากได้ชั่วคราว โดยจะควบคุมกลิ่นปากได้ประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น ไม่ใช่ใช้ตอนเช้าควบคุมได้ไปจนถึงเย็น เพราะฉะนั้นอาจใช้น้ำยาบ้วนปากได้เป็นครั้งคราว กรณีที่ต้องการความมั่นใจ แต่หากจะใช้เพื่อระงับกลิ่นปาก ป้องกันไม่ให้มีกลิ่นปาก ควรป้องกันด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การทำความสะอาดลิ้น เพราะฝ้าขาวบนลิ้นเป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก ขณะเดียวกันควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน ถ้ามีกลิ่นปากก็ต้องหาสาเหตุว่ามาจากตรงไหน เช่น ฟันผุ เป็นโรคเหงือก โรคระบบทางเดินอาหาร ทอนซิลอักเสบ หรือ ไซนัส ก็ควรแก้ที่ต้นเหตุจะดีกว่า เพราะน้ำยาบ้วนปาก เพียงระงับกลิ่นปากชั่วคราว แต่ไม่ได้แก้ที่สาเหตุของการเกิดกลิ่นปาก

น้ำยาบ้วนปากกับเด็ก

เด็กไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำยาบ้วนปาก โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากเลยทุกประเภท ไม่ว่าจะมีแอลกอฮอล์หรือไม่มีแอลกอฮอล์ เพราะการควบคุมการกลืนยังไม่ดี ขณะที่บ้วนปากเด็กอาจกลืนกินน้ำยาบ้วนปากลงไปด้วย น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ผสม จึงมีคำเตือนห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ซึ่งความจริงน้ำยาบ้วนปากของเด็ก มักจะใช้ชนิดที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ โดยผู้ปกครองจะซื้อให้เด็กใช้ในกรณีที่ลูกฟันผุมาก ๆ แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้ หากให้เด็กแปรงฟันให้สะอาด ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ (ข้อมูลจาก ท.ญ.นนทินี ตั้งเจริญดี ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านทันตสุขภาพ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขที่มา http://202.183.204.137/km/?p=558)

อย่างไรก็ตามหากผู้บริโภคดูแลสุขภาพเหงือกและฟันให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เป็นโรคเกี่ยวกับฟัน ฟันผุ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับเหงือกแล้ว เชื่อว่าน้ำยาบ้วนปากจะเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่เกินความจำเป็นก็เป็นได้ เนื่องจากราคาต่อขวดนับว่าสูงอยู่ทีเดียว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการบ้วนเงินทิ้งไปเปล่า ๆ นั่นเอง

 

 

ขอบคุณภาพประกอบข่าวบางส่วนของ Google

 

ภาพกราฟฟิก โดย ชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: